ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทธ. 37/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และนายทะเบียนหลักทรัพย์ตามโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 25, 2017 15:22 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 37/2560

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์

ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และนายทะเบียนหลักทรัพย์

ตามโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรม

เพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน

_______________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 223 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ผู้ประกอบการ” หมายความว่า ผู้ประกอบการตามข้อ 3

“โครงการทดสอบ” หมายความว่า โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน (Regulatory Sandbox)

“ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับตำแหน่งข้างต้นที่เรียกชื่ออย่างอื่น และให้หมายความรวมถึงบุคคล ที่ได้ทำสัญญาให้มีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการจัดการด้วย ทั้งนี้ เฉพาะในหน่วยหรือส่วนงานที่ประกอบการเป็นสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หรือให้บริการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ ตามโครงการทดสอบ แล้วแต่กรณี

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้

(1) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการเป็นสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หรือการให้บริการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ แล้วแต่กรณี ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบการเป็นสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และการให้บริการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ ตามโครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการเกี่ยวกับตลาดทุน

(2) ผู้ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้ประกอบการตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของการประกอบการเป็นสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หรือการให้บริการ เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ ตามโครงการทดสอบ แล้วแต่กรณี

ข้อ 4 ในการดำเนินการตามโครงการทดสอบ ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ โดยได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 223 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการเป็นสำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ หรือการให้บริการเป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งแนวทางที่ออกตามประกาศดังกล่าว

ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ประกอบการจะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวทางเดียวกัน ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจกำหนดตามประเภทของผู้ประกอบการหรือประเภทผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนก็ได้

(2) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ประกอบการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบการมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น

(3) เพื่อให้สำนักงานสามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ ให้ผู้ประกอบการยื่นรายงานหรือแสดงเอกสารใดตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราวต่อสำนักงาน ภายในระยะเวลา ที่สำนักงานกำหนด

หมวด 1

ข้อกำหนดทั่วไป

_____________________

ข้อ 6 ผู้ประกอบการต้องจัดให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับลักษณะการประกอบการในเรื่องต่าง ๆ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) รวบรวมและประเมินข้อมูลของผู้ใช้บริการให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบการ โดยอย่างน้อยต้องครอบคลุมถึงข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าทรัพย์สินของผู้ใช้บริการที่เกี่ยวกับการประกอบการ

(2) มีกระบวนการดำเนินงานและระบบควบคุมภายในที่ครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่องดังนี้

(ก) การจัดการ รวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่มีความมั่นคงปลอดภัย ถูกต้องครบถ้วน โดยพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของลักษณะหรือวิธีการที่ใช้สร้าง เก็บรักษาหรือสื่อสารข้อมูล โดยต้องมั่นใจได้ว่าข้อมูลดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสามารถระบุหรือแสดงตัวผู้ส่งและผู้รับข้อมูลได้

(ข) การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน จำเป็น และเพียงพอ แก่ผู้ใช้บริการ

(ค) การรักษาความลับของผู้ใช้บริการ

(ง) การรับและจัดการข้อร้องเรียนของผู้ใช้บริการ

(จ) การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT risk) และความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber risk) ที่เพียงพอ โดยต้องให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญ (confidentiality) ความถูกต้องเชื่อถือได้ของข้อมูลและระบบสารสนเทศ (integrity) และความพร้อมใช้งานของระบบสารสนเทศที่ใช้บริการ (availability)

(ฉ) การป้องกันผู้ประกอบการ ผู้บริหารและพนักงานของผู้ประกอบการ จากการแสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

(3) กรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบการต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งมีความสามารถและประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบการ

(4) มีการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบว่าการประกอบการนี้เป็นการประกอบการ ตามโครงการทดสอบซึ่งมีข้อจำกัด ความเสี่ยง และเงื่อนไข ที่แตกต่างจากการประกอบการของผู้ประกอบการในลักษณะเดียวกันที่มิได้เข้าร่วมโครงการทดสอบ และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการก่อนด้วย

(5) มีข้อตกลงกับผู้ใช้บริการทุกรายซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่องดังนี้

(ก) การกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขในการประกอบการอย่างชัดเจน และต้องไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการจำกัด ขัดขวางหรือลิดรอนสิทธิของผู้ใช้บริการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(ข) ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการต่อความเสียหายที่อาจเกิดจากการประกอบการ

(ค) แนวทางหรือวิธีการในการจัดการทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบการ (ถ้ามี)

(ง) แนวทางหรือวิธีการในการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการยุติการประกอบการและช่องทางการติดต่อกับผู้ประกอบการ

(6) จัดส่งรายงานผลการทดสอบและความคืบหน้าในการประกอบการต่อสำนักงานตามแผนการรายงานที่ได้แสดงไว้

ข้อ 7 ผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามแผนการรองรับการออกจากโครงการทดสอบ (exit strategy) ตามที่ได้แสดงไว้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ใช้บริการและผลกระทบต่อตลาดทุนโดยรวมเป็นสำคัญ

หมวด 2

ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับการประกอบการเป็น

สำนักหักบัญชีหลักทรัพย์และ

ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์

_____________________

ข้อ 8 สำนักหักบัญชีหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบงานดังต่อไปนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

(1) ระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แบบ delivery versus payment (DVP) โดยต้องกำหนดจุดเวลาเพื่อการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่ให้ถือว่าเป็นที่สุด (finality of settlement) ด้วย

(2) ระบบการจัดการ รวบรวม ประมวลผล เก็บรักษา และเรียกดูข้อมูลเกี่ยวกับการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ที่มีความรัดกุม

ข้อ 9 ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบงานดังต่อไปนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

(1) ระบบงานด้านการรับฝาก ถอน และโอนหลักทรัพย์ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวมีความถูกต้องครบถ้วน ตรงต่อความเป็นจริง มีความรัดกุมและเป็นปัจจุบัน รวมทั้งสามารถนำหลักทรัพย์ไปใช้งานภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

(2) ระบบการจัดการ รวบรวม ประมวลผล เก็บรักษา และเรียกดูข้อมูลเกี่ยวกับการรับฝาก ถอน และโอนหลักทรัพย์ และข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับการประกอบการในงานของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์

(3) ระบบตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลที่สั่งให้ดำเนินการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ในบัญชีของผู้ใช้บริการเป็นผู้ใช้บริการเองหรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ใช้บริการ

ประกาศ ณ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ