หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday October 2, 2001 14:34 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 31/2544
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการ
กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ" หมายความว่า กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ
"ประกาศ ที่ กน. 46/2541" หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 46/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2541
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
"กองทุนปิด" หมายความว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการ
"กองทุนเปิด" หมายความว่า กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการ
"ผู้ดูแลผลประโยชน์" หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
"ตลาดหลักทรัพย์" หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ในการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ให้เป็นไปตามประกาศนี้ และประกาศ ที่ กน. 46/2541 แต่ทั้งนี้
(1) มิให้นำความในข้อ 12 และข้อ 23 แห่งประกาศ ที่ กน. 46/2541 มาใช้บังคับ
(2) ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจพิจารณาผ่อนผันหรือสั่งการให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 24 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ข้อ 26 ข้อ 31ข้อ 40 ข้อ 41 และข้อ 42 แห่งประกาศ ที่ กน. 46/2541 เป็นประการอื่นได้
ข้อ 3 ในการยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ บริษัทจัดการที่ประสงค์จะยื่นคำขอดังกล่าวต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน การยื่นคำขอดังกล่าวอาจยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนปิดหรือกองทุนเปิดก็ได้
ข้อ 4 ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์รายใดมิได้เป็นสมาชิกศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่บริษัทจัดการประสงค์จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์นั้น ให้บริษัทจัดการจัดให้มีข้อความระบุไว้ในร่างสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์เพื่อให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ดังกล่าวสามารถฝากหลักทรัพย์ในต่างประเทศโดยทำสัญญาแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สิน ซึ่งมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ฝากหลักทรัพย์เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
ข้อ 5 เมื่อบริษัทจัดการได้ดำเนินการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศแล้ว ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอให้พิจารณารับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในสิบห้าวันนับแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทุนรวมดังกล่าว
ข้อ 6 ในกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์สั่งไม่รับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อเลิกกองทุนรวมดังกล่าว
(ก) ยุติการรับคำสั่งซื้อ และคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการสั่งไม่รับหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์ สำหรับกรณีกองทุนเปิด
(ข) แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนทราบ โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนรวมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบด้วย ทั้งนี้ ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการสั่งไม่รับหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์
(ค) จำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของกองทุนรวมดังกล่าวภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการสั่งไม่รับหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อรวบรวมเงินเท่าที่สามารถกระทำได้เพื่อชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ
(ง) ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามสัดส่วนจำนวนเงินที่รวบรวมได้ตาม (ค)ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนภายในสิบวันทำการนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการสั่งไม่รับหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์ และเมื่อได้ดำเนินการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนแล้วให้ถือว่าเป็นการเลิกกองทุนรวมนั้น
เมื่อได้ดำเนินการตาม (ก) ถึง (ง) แล้ว หากมีหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินคงเหลืออยู่จากการดำเนินการตาม (ค) ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการชำระบัญชีของกองทุนรวม
ข้อ 7 ในการจัดการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ให้บริษัทจัดการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไปลงทุนในต่างประเทศตามข้อ 8 เว้นแต่ ในกรณีเป็นการฝากเงินของกองทุนรวมไว้ในบัญชีเงินฝากในประเทศเพื่อสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงานของกองทุนรวม รอการลงทุน รักษาสภาพคล่องของกองทุน หรือสำหรับการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกันนี้
ข้อ 8 ในการจัดการลงทุน ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือ ตราสารทางการเงินอื่นใด หรือหาดอกผลโดยการฝากเงิน ซึ่งผู้ออกหลักทรัพย์หรือตราสารการเงินอื่นใดและผู้รับเงินฝากต้องเป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายของประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือของประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ Federation International des Bourses de Valeurs (FIBV) ทั้งนี้ หากเป็นการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้น หุ้นดังกล่าวต้องเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ Federation International des Bourses de Valeurs (FIBV) ด้วย
ธุรกรรมการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินอื่นใด หรือธุรกรรมการฝากเงินตามวรรคหนึ่งต้องเกิดขึ้นในประเทศที่มีหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือในประเทศที่มีตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เป็นสมาชิกของ Federation International des Bourses de Valeurs (FIBV)
ข้อ 9 การลงทุนตามข้อ 8 ต้องเป็นไปตามอัตราส่วนและข้อกำหนดที่สำนักงานประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่บริษัทจัดการขอจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งประสงค์จะไม่ดำรงอัตราส่วนตามที่สำนักงานประกาศกำหนด โดยระบุความประสงค์ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในโครงการที่ยื่นขอต่อสำนักงานและในหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม รวมทั้งมีคำเตือนเป็นพิเศษเกี่ยวกับความเสี่ยงของกองทุนรวมดังกล่าวในหนังสือชี้ชวนด้วย ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(2) ในกรณีที่บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศให้เป็นกองทุนรวมที่ประสงค์จะไม่ดำรงอัตราส่วนตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ตามมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการนั้น และได้แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบถึงความเสี่ยงของการไม่ดำรงอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าวก่อนการลงมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2544
(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ