การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday April 12, 2001 11:42 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                        ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 16/2544
เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
__________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 6 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 4/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"ประกาศที่ กน. 14/2543" หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 14/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2543
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
"บริษัทจดทะเบียน" หมายความว่า บริษัทที่มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์
"ตลาดหลักทรัพย์" หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน" หมายความว่า การซื้อหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้โดยมีสัญญาที่จะขายคืนหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้นั้นตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญา
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนตามข้อดังต่อไปนี้แห่งประกาศที่ กน. 14/2543
(1) ข้อ 6/2 เว้นแต่ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6
(2) ข้อ 6/3 ถึงข้อ 6/12
ข้อ 3 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สิน ที่มิใช่หลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (1) ถึง (7) มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สิน ที่มิใช่หลักทรัพย์และทรัพย์สินตาม (1) ถึง (7) ซึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(1) ตราสารแห่งทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่บริษัทจดทะเบียนเป็นผู้ออก(2) ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือพันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรองผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน หรือที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลหรือผู้ค้ำประกัน(3) ตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้ออก ผู้รับรองผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน (ก) บริษัทจดทะเบียน(ข) รัฐวิสาหกิจ(ค) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมิได้เป็นธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศตาม (จ)(ง) ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น(จ) ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศ ซึ่งธนาคารต่างประเทศดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรก (category) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน(4) เงินฝากที่บุคคลตาม (3) (ค) (ง) และ (จ) เป็นผู้รับฝากไว้(5) ตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ธนาคารต่างประเทศดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรก (category) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน(6) ตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรก (category) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน(7) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมการรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกัน ตาม (2) (3) และ (5) ต้องเป็นการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยโดยไม่มีข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สลักหลัง หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข
ในกรณีที่มีการรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกัน ตาม (2) (3) และ (5)ให้คำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามความรับผิดหรือภาระผูกพันของผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลังหรือผู้ค้ำประกัน แต่ในกรณีอื่นให้คำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามความรับผิดของผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ทั้งนี้ ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ให้รวมคำนวณเงินฝากที่บุคคลที่ต้องรับผิดหรือมีภาระผูกพันดังกล่าวได้รับฝากไว้ด้วย
ข้อ 4 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
อัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิ
ข้อ 5 ภายใต้บังคับข้อ 3 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่บุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในขณะใดขณะหนึ่ง มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ ให้นับหลักทรัพย์และทรัพย์สินที่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน ตามธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนรวมในอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าวด้วย
การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง มิให้นับตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน และพันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลหรือผู้ค้ำประกัน ตามข้อ 3(2) รวมในอัตราส่วนดังกล่าวทั้งนี้ ให้นำความในข้อ 3 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน หรือบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และให้นับเงินฝากในธนาคารดังกล่าวรวมในอัตราส่วนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศให้นับอัตราส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศหรือธนาคารต่างประเทศดังกล่าวเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน และเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศดังกล่าว รวมกัน
การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคสาม มิให้นับเงินฝากในบัญชีเงินฝากเพื่อการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) ตามโครงการรับแลกเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินของ 16 สถาบันการเงินเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบัตรเงินฝากที่ออกโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามโครงการธนาคารกรุงไทยรับแลกเปลี่ยนตั๋วบริษัทเงินทุน 42 บริษัท (คปต. 42) รวมในอัตราส่วนดังกล่าว
ข้อ 6 ในกรณีที่บริษัทจัดการใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทใดที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทนั้น และการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเหตุให้การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของบริษัทดังกล่าวมีมูลค่าเกินอัตราส่วนที่กำหนดในประกาศนี้ ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดข้างต้นภายในหนึ่งเดือนนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ตลาดหลักทรัพย์ติดประกาศเครื่องหมาย XR ไว้ที่หุ้นของบริษัทนั้น หรือนับตั้งแต่วันถัดจากวันแรกที่ผู้ซื้อหุ้นหมดสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ข้อ 7 ในกรณีที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในประกาศนี้และข้อ 6/2 แห่งประกาศที่ กน. 14/2543 หากต่อมาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวโดยมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินมาเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้ เว้นแต่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประสงค์ให้บริษัทจัดการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นเพื่อให้มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น และวันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมสาเหตุ และส่งให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบภายในสามวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด พร้อมทั้งจัดทำสำเนาไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
ข้อ 8 ในกรณีที่บริษัทจัดการรับชำระหนี้เพื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินแทนการรับชำระหนี้ตามตราสารแห่งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดให้บริษัทจัดการสามารถรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ และการรับชำระหนี้นั้นเป็นผลให้มูลค่าของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในประกาศนี้และข้อ 6/2 แห่งประกาศที่ กน. 14/2543 บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ดังกล่าวต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น และวันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมสาเหตุ รวมทั้งวันที่ได้มาซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้นั้น และส่งให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในสามวันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้มาซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น
ข้อ 9 ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากบริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในประกาศนี้และข้อ 6/2 แห่งประกาศที่ กน. 14/2543 บริษัทจัดการจะยังคงไว้ซึ่งการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้ แต่ถ้ามีการจำหน่ายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวที่เกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในประกาศนี้ได้เพียงจำนวนที่เหลือเท่านั้น
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2544
(นายประสงค์ วินัยแพทย์)
รองเลขาธิการ
รักษาการแทนเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ