ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทลธ. 48/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน (ฉบับที่ 7)

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 30, 2017 14:27 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทลธ. 48/2560

เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

(ฉบับที่ 7)

_________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 100 มาตรา 103(10) มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 133 วรรคสอง และมาตรา 134 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และมาตรา 18 มาตรา 23(3) และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 23 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 23 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

(2) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และปฏิบัติต่อผู้ลงทุนทุกรายอย่างเป็นธรรม ด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ

(3) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน

(4) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่กำหนดโดยสำนักงาน สมาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตลาดทุนที่สำนักงานยอมรับ”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 1 การมีลักษณะต้องห้าม ของหมวด 7 ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ข้อ 28 ข้อ 29 ข้อ 30 และข้อ 31 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ส่วนที่ 1

การมีลักษณะต้องห้าม

ข้อ 28 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมาย หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดทุน หรือมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามที่กำหนดไว้ในข้อ 29 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1

(2) มีประวัติการถูกลงโทษหรือถูกดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2

(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม หรือตลาดเงินหรือตลาดทุนโดยรวม ในเรื่องที่มีนัยสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 31 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

ข้อ 29 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1

(1) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หรือเป็นบุคคลล้มละลาย

(2) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

(3) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงานหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่สำนักงานกล่าวโทษ หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอการลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี

(ก) ความผิดตามมาตรา 289 ประกอบกับมาตรา 90 (เฉพาะที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชน) หรือมาตรา 306 ถึงมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(ข) ความผิดตามมาตรา 92 ถึงมาตรา 100 มาตรา 125 ประกอบกับมาตรา 16 (เฉพาะที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชน) หรือมาตรา 145 ถึงมาตรา 150 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(ค) ความผิดตามมาตรา 85 ถึงมาตรา 90 หรือมาตรา 77 ประกอบกับมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

(4) เป็นบุคคลที่สำนักงานปฏิเสธหรือถอนการแสดงรายชื่อของบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เนื่องจากเป็นผู้ที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารบริษัท

ข้อ 30 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2

(1) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอาญาแผ่นดินเกี่ยวกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอการลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี

(2) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นในลักษณะเดียวกัน และยังไม่พ้นสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

(3) เป็นบุคคลที่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน หรือบุคลากรที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริการทางการเงิน จัดการหรือรับเงินทุนของลูกค้า เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ และอยู่ระหว่างเวลาที่ยังไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้อีก ทั้งนี้ เฉพาะลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) การทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริต หลอกลวง หรือฉ้อโกงเกี่ยวกับทรัพย์สิน

(ข) การบริหารงานที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแล หรือบริหารงานหรือจัดการงานที่ไม่เหมาะสม

(ค) การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการเอาเปรียบ

(4) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ถูกคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง หรือศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ หรือถูกสำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือมีลักษณะที่ทำให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุด หรือถูกดำเนินการอื่นในทำนองเดียวกัน อันเป็นผลให้ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนหรือกรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้

(ข) การดำเนินการตาม (ก) สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในฐานะบุคลากรในตำแหน่งที่มีผลกระทบถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่พิจารณา

(ค) เหตุของการดำเนินการตาม (ก) เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว ในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือขาดความระมัดระวัง ขาดความซื่อสัตย์สุจริต หรือขาดจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

ข้อ 31 ให้กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

(1) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมประพฤติผิดต่อหน้าที่หรือการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม ขาดความรับผิดชอบและความรอบคอบ เอาเปรียบผู้ลงทุน หรือ ขาดจรรยาบรรณหรือมาตรฐานในการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งกำหนดโดยสำนักงาน สมาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนที่สำนักงานยอมรับ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

(2) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลหรือกิจการที่ตนมีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ภายใต้ การตรวจสอบดูแล (ถ้ามี) กระทำการใดหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือธุรกิจทรัสต์โดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ การดำเนินธุรกิจ หรือลูกค้าของธุรกิจนั้น

(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมอันส่อไปในทางไม่สุจริตที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น เช่น การแสวงหาหรือเบียดบังผลประโยชน์ใดโดยมิชอบเพื่อตนเอง บริษัทหลักทรัพย์หรือบุคคลอื่น โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ตนดำรงอยู่ หรือการทุจริตการสอบ เป็นต้น”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 33 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 33 สำหรับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่ดำรงตำแหน่งตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 8 หรือข้อ 9 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน หากปรากฏว่ามีลักษณะต้องห้ามตามส่วนที่ 1 ให้สำนักงานดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 ตามข้อ 29 หรือลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 30(1) หรือ (2) ให้สำนักงานสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ

(2) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 30(3) หรือ (4) ให้สำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามแต่เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามนั้น

(3) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 31 สำนักงานอาจสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามสมควรแก่กรณี”

ข้อ 4 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่มีพฤติกรรมซึ่งมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 238 และมาตรา 240 ถึงมาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 จนเป็นเหตุให้เกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1

(1) คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งเห็นควรให้นำมาตรการลงโทษปรับทางแพ่งมาใช้บังคับกับบุคคลดังกล่าว โดยมีการแจ้งเป็นหนังสือ

(2) สำนักงานกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวน

ข้อ 5 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนใดที่ถูกสำนักงานสั่งพัก หรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบหรือถูกสำนักงานสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่ด้วยเหตุของการมีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการ กำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ในความผิดที่อาจใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งได้ ให้บุคลากรนั้นยังคงถูกพัก เพิกถอน หรือห้ามปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบกำหนดเวลาหรือเงื่อนไขตามที่กำหนด

ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ