ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 55/2544
เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวม
ที่ลงทุนในต่างประเทศ
_____________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 31/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2544 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม"กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ" หมายความว่า กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ
"ผู้ดูแลผลประโยชน์" หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ประกาศนี้มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนเปิดที่ปรากฏเหตุตามลักษณะเดียวกันกับที่กำหนดไว้ในข้อ 46 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 46/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2541 และบริษัทจัดการต้องดำเนินการเพื่อเลิกกองทุนเปิดนั้นตามที่กำหนดในข้อดังกล่าวข้อ 3 ในการจัดการกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ซึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(1) ตราสารแห่งทุนหรือตราสารทางการเงินอื่นใดที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ Federation International des Bourses de Valeurs (FIBV)
(2) ตราสารแห่งหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนหรือตราสารทางการเงินอื่นใดที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน
(3) ตราสารแห่งหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนหรือตราสารทางการเงินอื่นใดที่บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานเป็นผู้ออก ผู้รับรอง รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ การรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกันดังกล่าวต้องเป็นการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยโดยไม่มีข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สลักหลัง หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข
(4) เงินฝากในสถาบันการเงินที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน
การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง มิให้นับตราสารที่ขายในต่างประเทศที่เป็นตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตร ที่ออกโดยรัฐบาลต่างประเทศรวมในอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในอัตราส่วนดังกล่าว
การลงทุนในกรณีอื่นใดนอกจากกรณีตามวรรคหนึ่ง ข้อ 4 และข้อ 5 เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม แต่การลงทุนในกรณีดังกล่าวซึ่งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมด้วย
ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน หรือตราสารทางการเงินอื่นใดที่มีการรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกัน ให้คำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามความรับผิดหรือภาระผูกพันของผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แต่ในกรณีอื่นให้คำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามความรับผิดของผู้ออกตราสารนั้นและให้รวมคำนวณเงินฝากที่บุคคลที่ต้องรับผิดหรือมีภาระผูกพันดังกล่าวได้รับฝากไว้ด้วย
ข้อ 4 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศได้ ไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้
(1) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
(2) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของทุกกองทุนรวมที่บริษัทจัดการอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของแต่ละกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจพิจารณาผ่อนผันให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามอัตราส่วนการลงทุนตาม (1) และ (2) เป็นประการอื่นได้ มิให้นำอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภทกองทุนรวมหน่วยลงทุน
ข้อ 5 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภทกองทุนรวมหน่วยลงทุนได้ ไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้
(1) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกองทุนใดกองทุนหนึ่งได้ ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
(2) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของทุกกองทุนรวมที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ ไม่เกินร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
(3) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกองทุนใดกองทุนหนึ่งได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น
(4) ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนได้ ไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
ข้อ 6 ให้บริษัทจัดการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
อัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศซึ่งเป็นกองทุนรวมประเภทกองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ
ข้อ 7 อัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศที่ประสงค์จะไม่ดำรงอัตราส่วนดังกล่าว (specific fund)
ข้อ 8 ในกรณีที่บริษัทจัดการใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทใดที่กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทนั้น และการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเหตุให้การลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นของบริษัทดังกล่าวมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 3 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 3 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่มีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดไว้แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรสำนักงานอาจพิจารณาผ่อนผันระยะเวลาการแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนที่เกินกำหนดดังกล่าวได้
ข้อ 9 ในกรณีที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 หากต่อมาหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวโดยมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินมาเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้ ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น และวันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมสาเหตุ และส่งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ทราบภายในสามวันทำการนับแต่วันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมทั้งจัดทำสำเนาไว้ที่บริษัทจัดการเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้
ข้อ 10 ในกรณีที่บริษัทจัดการรับชำระหนี้เพื่อกองทุนรวมด้วยหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดการกองทุนรวมในกรณีที่ผู้ออกตราสารแห่งหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องผิดนัดชำระหนี้ และการรับชำระหนี้นั้นเป็นผลให้มูลค่าของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุนรวมเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 6 บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ดังกล่าวต่อไปได้ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานโดยระบุชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้น และวันที่หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่าเกินอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดพร้อมสาเหตุ รวมทั้งวันที่ได้มาซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้นั้น และส่งให้สำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้มาซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่น
ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-