หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับมูลค่าต่อหน่วยและการคำนวณจำนวนหน่วยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday December 19, 2005 07:17 —ประกาศ ก.ล.ต.

                ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สข. 41/2548
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับมูลค่าต่อหน่วยและการคำนวณ
จำนวนหน่วยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
__________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 และ ข้อ 18 (1) แห่งประกาศคณะกรรมการ
กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้ง
และจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
“มูลค่าต่อหน่วย” หมายความว่า มูลค่าต่อหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งคำนวณโดยนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยทั้งหมด ณ วันที่คำนวณมูลค่าต่อหน่วยนั้น“จำนวนหน่วย”หมายความว่า จำนวนหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ“วันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date)” หมายความว่า วันคำนวณจำนวนหน่วยเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิก ซึ่งเป็นวันที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลและคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดไว้ในสัญญาแต่งตั้งบริษัท
“การชดเชยมูลค่า” หมายความว่า การเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกที่ยังคงมีสมาชิกภาพอยู่ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง หรือการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกที่สิ้นสมาชิกภาพซึ่งมีมูลค่าเท่ากับส่วนต่างของมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องกับมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องแทนการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วย
ข้อ 2 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลคำนวณมูลค่าต่อหน่วยโดยสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินที่มิได้เกิดจากผลการดำเนินงาน ให้นำมาคำนวณเป็นจำนวนหน่วย แต่ในกรณีที่เป็นจำนวนที่ไม่มีนัยสำคัญ ให้นำมาคำนวณเป็นมูลค่าต่อหน่วยได้
ข้อ 3 มูลค่าต่อหน่วยที่ตราไว้ต้องมีมูลค่าสิบบาท
เมื่อมีการจดทะเบียนกองทุนตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 แล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลคำนวณจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกครั้งแรกในวันที่บริษัทได้รับเงินสะสมและเงินสมทบครั้งแรกเข้ากองทุนพร้อมทั้งข้อมูลทะเบียนสมาชิกที่ครบถ้วนแล้ว โดยใช้มูลค่าต่อหน่วยที่ตราไว้ตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งเป็นมูลค่าในการคำนวณ
ข้อ 4 ในการคำนวณจำนวนหน่วยหรือมูลค่าต่อหน่วย การปรับปรุงรายการ การแก้ไขมูลค่าต่อหน่วยและการชดเชยมูลค่า ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของบรรดาสมาชิกกองทุนเป็นสำคัญ และบริษัทต้องดำเนินการดังกล่าวต่อสมาชิกกองทุนแต่ละรายอย่างเท่าเทียมกัน เว้นแต่โดยผลของกฎหมายทำให้บริษัทจัดการไม่สามารถปฏิบัติต่อสมาชิกแต่ละรายได้อย่างเท่าเทียมกัน หรือโดยเงื่อนไขและปัจจัยของสมาชิกแต่ละรายแตกต่างกันอันเป็นเหตุให้บริษัทจัดการไม่สามารถปฏิบัติเช่นนั้นได้ หรือบริษัทจัดการได้ดำเนินการตามแนวทาง (guideline) ที่สำนักงานกำหนดไว้
ข้อ 5 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดให้มีวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ของแต่ละกองทุนอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน และในการคำนวณเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิก ให้ใช้มูลค่าต่อหน่วย ณ สิ้นวันคำนวณจำนวนหน่วยที่จะถึงเร็วที่สุด โดยให้เพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกภายในสองวันทำการถัดจากวันคำนวณจำนวนหน่วย
ข้อ 6 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจเลื่อนวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ได้ ในกรณีที่ปรากฏเหตุดังต่อไปนี้
(1) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่สามารถ
เปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ
(2) มีประกาศสำนักงานให้บริษัทเลื่อนวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ออกไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิก หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบตลาดการเงิน
(3) เมื่อมีเหตุจำเป็นทำให้บริษัทไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุน หรือไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม โดยบริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นไว้ในสัญญาแต่งตั้งบริษัท
ข้อ 7 ในกรณีที่มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว และหากมูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้องนั้นต่างจากมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องตั้งแต่ร้อยละ 0.5 ของมูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้องและตั้งแต่หนึ่งสตางค์ขึ้นไป ให้บริษัทจัดส่งรายงานให้แก่คณะกรรมการกองทุนภายในเดือนถัดจากเดือนที่แก้ไขมูลค่าต่อหน่วยหรือการชดเชยมูลค่าเสร็จสิ้น โดยรายงานดังกล่าวต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) มูลค่าต่อหน่วยที่ไม่ถูกต้อง
(2) มูลค่าต่อหน่วยที่ถูกต้อง
(3) สาเหตุที่ทำให้มูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้อง
(4) การดำเนินการของบริษัทจัดการเมื่อพบว่ามูลค่าต่อหน่วยไม่ถูกต้องในระหว่างที่แก้ไขมูลค่าต่อหน่วย บริษัทจัดการต้องจัดทำมาตรการป้องกันและอาจหยุดการคำนวณเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยได้ไม่เกินเจ็ดวันทำการติดต่อกัน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุน
ข้อ 8 ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนหน่วย มูลค่าต่อหน่วย และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เปิดเผยจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อหน่วยเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมสี่ตำแหน่ง
โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
(2) เปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนเป็นตัวเลขโดยมีทศนิยมสองตำแหน่ง
โดยใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักสากล
ข้อ 9 ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2548
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากการรับรองและจัดส่งความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยผู้รับรองมูลค่าต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในสองวันทำการถัดจากวันคำนวณจำนวนหน่วยหรือวันสุดท้ายของเดือน แต่ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ สน. 24/2546 เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับมูลค่าต่อหน่วยและการคำนวณจำนวนหน่วยของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้บริษัทจัดการต้องเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกภายในวันทำการถัดจากวันคำนวณจำนวนหน่วยซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การรับรองมูลค่าอาจยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ดังนั้น เพื่อให้กรอบระยะเวลาในการรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินและการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกเป็นไปด้วยความเหมาะสมและปฏิบัติได้ จึงต้องแก้ไขให้ระยะเวลาของการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยเป็นภายในสองวันทำการถัดจากวันคำนวณจำนวนหน่วย แต่ด้วยประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้โดยผลของบทเฉพาะกาลตามข้อ 23 แห่งประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ดังนั้น หากต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฉบับดังกล่าวแล้วต้องดำเนินการโดยการออกเป็นประกาศฉบับใหม่แทน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ