ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 10/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 4)

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 17, 2018 15:14 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 10/2561

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและ

การส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ฉบับที่ 4)

___________________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5(1) ประกอบกับข้อ 46 และข้อ 47 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 16/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 10/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณา และการส่งเสริมการขายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558

“ข้อ 16/1 การโฆษณากองทุนรวม ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนใต้ชื่อกองทุนรวมในจุดแรกที่สามารถเห็นได้ชัดเจนดังต่อไปนี้ ด้วยตัวอักษรที่มีขนาดไม่เล็กกว่าขนาดตัวอักษรส่วนใหญ่ในโฆษณา เว้นแต่เป็นกรณีการโฆษณาผ่านสื่อที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่โดยผู้ประกอบธุรกิจได้จัดให้มีช่องทางที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับคำเตือนดังกล่าว

(1) กรณีเป็นกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนเพียงครั้งเดียวโดยถือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้จนครบกำหนดอายุของทรัพย์สิน หรืออายุของรอบการลงทุนของกองทุนรวม หรือครบอายุของกองทุนรวม หรือกองทุนรวมที่ระบุว่าจะเลิกกองทุนหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่าตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมีการกำหนดห้ามผู้ถือหน่วยลงทุนขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลาใด ๆ ต้องจัดให้มีคำเตือนว่า “ผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนนี้ในช่วงเวลา (ระบุ x วัน/เดือน/ปี) ได้ ดังนั้น หากมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก”

(2) กรณีเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบกระจุกตัว และมิใช่กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีคำเตือนดังนี้

(ก) คำเตือนเกี่ยวกับการกระจุกตัวอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง แล้วแต่กรณี ดังนี้

1. กรณีที่มีการลงทุนแบบกระจุกตัวในตราสารของผู้ออกตราสาร คู่สัญญา หรือบุคคลอื่นที่มีภาระผูกพันตามตราสารหรือสัญญานั้น รายใดรายหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ต้องจัดให้มีคำเตือนว่า “กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออก”

คำว่า “ตราสาร” ตามวรรคหนึ่ง (2) (ก) 1. วรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงตราสารดังนี้

1.1 ตราสารหนี้ภาครัฐไทย

1.2 ตราสารภาครัฐต่างประเทศที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

1.3 เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากที่ผู้รับฝากหรือผู้ออกตราสารมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

2. กรณีที่มีการลงทุนในกิจการที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมหรือของกิจการที่มีลักษณะเทียบเคียงได้กับกิจการที่อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยเป็นการลงทุนในทรัพย์สินดังนี้ รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ต้องจัดให้มีคำเตือนว่า “กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม”

2.1 หุ้น

2.2 หน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน เฉพาะที่สอดคล้องกับหมวดอุตสาหกรรมดังกล่าว

2.3 หน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ โดยให้นับรวมกับทรัพย์สินตาม 2.1 และ 2.2 ที่อยู่ในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

การพิจารณาหมวดอุตสาหกรรมตามวรรคหนึ่ง (2) วรรคหนึ่ง 2. ให้พิจารณาตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศกำหนด

3. กรณีที่มีการลงทุนแบบกระจุกตัวในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ต้องจัดให้มีคำเตือนว่า

“กองทุนนี้ลงทุนกระจุกตัวในตราสารที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่อง”

(ข) คำเตือนเพิ่มเติมต่อจากคำเตือนตามวรรคหนึ่ง (2) (ก) ว่า “จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก”

(3) กรณีเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีคำเตือนว่า “กองทุนนี้ไม่ถูกจำกัดความเสี่ยงด้านการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป จึงเหมาะกับ ผู้ลงทุนที่รับผลขาดทุนระดับสูงได้เท่านั้น”

เพื่อประโยชน์ตามข้อนี้

(1) คำว่า “ตราสารหนี้ภาครัฐไทย” “ตราสารภาครัฐต่างประเทศ” “เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก” และ “ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับความหมายของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน

(2) “หน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า หน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานซึ่งอยู่ในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(ข) กองทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานตามวรรคหนึ่ง (2) (ก) 2. วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด

(3) “หน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่าหน่วยของกองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอยู่ในรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(ข) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(ค) กองทรัสต์หรือกองอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือในกิจการที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ