ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 13/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนของที่ปรึกษาการลงทุนและที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและข้อกำหนดกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 17, 2018 15:39 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 13/2561

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนของ

ที่ปรึกษาการลงทุนและที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

และข้อกำหนดกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

_________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 109 วรรคหนึ่ง และมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (2) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 19 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 4/2561 เรื่อง การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 17 มกราคม 2561 และข้อ 1(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 59/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์และกำหนดเวลาในการยื่นรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 13/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและข้อกำหนดกรณี ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน หรือที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

“ประกาศการดำรงเงินกองทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน

(3) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

“ผู้มีภาระผูกพัน” หมายความว่า ผู้ที่มีภาระผูกพันในการชำระหนี้ตามตราสารทางการเงินในฐานะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี

“หน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ” หมายความว่า หน่วยของโครงการจัดการลงทุน (collective investment scheme) ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวม แต่ไม่รวมถึงโครงการจัดการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) หรือในอสังหาริมทรัพย์หรือในกิจการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวต้องจัดตั้งโดยได้รับอนุญาต จดทะเบียน หรือการดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกันจากหน่วยงานกำกับดูแลหลัก (home regulator) ของประเทศกลุ่มอาเซียนที่ลงนามร่วมกันใน Memorandum of Understanding Concerning Cooperation and Exchange of Information on Cross-border Offers of ASEAN Collective Investment Schemes to Non-retail Investors หรือ Memorandum of Understanding on Streamlined Authorisation Framework for Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes ที่มีอำนาจกำกับดูแลโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว

“การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ตามตราสารหรือสัญญา

“กรมธรรม์ประกันภัย” หมายความว่า กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพ (professional indemnity insurance)

หมวด 1

การคำนวณและการรายงานการดำรงเงินกองทุน

ส่วนที่ 1

สินทรัพย์สภาพคล่องและกรมธรรม์ประกันภัย

ที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุน

ข้อ 4 สินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถใช้ในการดำรงเงินกองทุน ได้แก่ สินทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพันดังต่อไปนี้ และต้องไม่มีลักษณะเป็นการลงทุนระยะสั้นโดยมีเจตนาเพื่อการขายต่อหรือแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างของราคา

(1) เงินสด

(2) เงินฝากหรือบัตรเงินฝากของสถาบันการเงินที่สามารถขอไถ่ถอนได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องกำหนดเวลาการไถ่ถอน

(3) ตราสารหนี้ภาครัฐไทยดังนี้

(ก) ตั๋วเงินคลัง

(ข) พันธบัตรรัฐบาล

(ค) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

(ง) พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือหุ้นกู้ ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้มีภาระผูกพัน

ในกรณีที่ตราสารหนี้ตามวรรคหนึ่ง (3) วรรคหนึ่ง มีอายุคงเหลือเกินกว่า 10 ปี ตราสารหนี้ดังกล่าวต้องมีการซื้อขายโดยเฉลี่ยทุก 2 สัปดาห์และมีอัตราการเปลี่ยนมือ (turnover) ย้อนหลัง 3 เดือนล่าสุดโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.25 ของยอดคงค้าง

(4) ตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะทำนองเดียวกับตราสารหนี้ภาครัฐไทยตามวรรคหนึ่ง (3) ซึ่งมีรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศเป็นผู้มีภาระผูกพัน

(5) ตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน พันธบัตรและหุ้นกู้ แต่ไม่รวมถึงตราสารหนี้ที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง และหุ้นกู้ที่ผู้ถือมีภาระผูกพัน

ในกรณีที่ตราสารหนี้ตามวรรคหนึ่ง (5) วรรคหนึ่ง มีอายุคงเหลือเกินกว่า 3 เดือน ตราสารหนี้ดังกล่าวต้องมีการซื้อขายโดยเฉลี่ยทุก 2 สัปดาห์และมีอัตราการเปลี่ยนมือย้อนหลัง 3 เดือน ล่าสุดโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.25 ของยอดคงค้าง

(6) หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายชื่อในการคำนวณดัชนี SET100

(7) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน

(8) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีกำหนดระยะเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนไว้ไม่เกิน 90 วัน และมีนโยบายการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(ก) มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทตามวรรคหนึ่ง (1) ถึง (7) ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องตามวรรคหนึ่ง (2) (4) หรือ (5) สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวต้องมีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 6 ด้วย

(ข) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (8) (ก)

(9) หน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศที่มีลักษณะในทำนองเดียวกับสินทรัพย์ในวรรคหนึ่ง (7) หรือ (8)

ในกรณีที่ระยะเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (8) หรือหน่วยตามวรรคหนึ่ง (9) ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับหน่วยลงทุนดังกล่าวเกินกว่า 60 วัน ให้นำมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าว มาคำนวณการดำรงเงินกองทุนได้เพียงร้อยละ 50 ของมูลค่าของทรัพย์สินนั้น

ข้อ 5 สินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อ 4 วรรคหนึ่ง (3) (4) และ (5) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(1) เป็นตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

(2) ในกรณีที่มีการจ่ายผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว ผลตอบแทนนั้นต้องอยู่ในรูปของอัตราดอกเบี้ยคงที่หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว

(3) ในกรณีเป็นตราสารหนี้ที่มีการรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกันตราสาร ต้องเป็นการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยโดยไม่มีข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สลักหลัง หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข แล้วแต่กรณี

ข้อ 6 สินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อ 4 วรรคหนึ่ง (2) (4) และ (5) ต้องมีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ (investment grade)

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามวรรคหนึ่งให้หมายถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร เว้นแต่ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวไม่มีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ ตราสาร ให้พิจารณาเลือกใช้ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้มีภาระผูกพัน ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้มีภาระผูกพันดังกล่าวเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นให้หมายความรวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือสนับสนุน (support credit rating) ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินจากแนวโน้มที่ธนาคารดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลเมื่อมีกรณีจำเป็น

ข้อ 7 การใช้กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อการดำรงเงินกองทุน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยครบถ้วนดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้กระทำไปในนามของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) ให้ใช้กรมธรรม์ประกันภัยได้เฉพาะรายการการดำรงเงินกองทุนตามข้อ 4 วรรคหนึ่ง (3) ของประกาศการดำรงเงินกองทุนในส่วนที่เกินกว่ารายการตามข้อ 4 วรรคหนึ่ง (2) ของประกาศดังกล่าว

(3) ในกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมิได้ครอบคลุมความเสียหายย้อนหลังนับแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ ให้คำนวณมูลค่าของกรมธรรม์ประกันภัยในการดำรงเงินกองทุนได้เพียงร้อยละ 50 ของจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย

ส่วนที่ 2

การคำนวณเงินกองทุน

ข้อ 8 ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณอัตราหรือมูลค่าของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามประกาศการดำรงเงินกองทุนปีละ 2 ครั้ง โดยให้คำนวณทุกวันทำการสุดท้ายของเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม

ข้อ 9 ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนในวันทำการสุดท้ายของแต่ละไตรมาส เว้นแต่กรณีที่ปรากฏเหตุที่อาจทำให้มูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ดังกล่าวใหม่ตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญอันอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัย ให้คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ดังกล่าวในวันทำการที่เกิดเหตุการณ์นั้น

(2) เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัย ให้คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ดังกล่าวในวันทำการนั้น

(3) ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหุ้น ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์ทุกสิ้นวันทำการ

(4) ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อมีการเปิดเผยมูลค่าของหน่วยลงทุนหรือหน่วยดังกล่าวแล้ว ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์นั้นทุกวันทำการ

ส่วนที่ 3

การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน

และการจัดเก็บข้อมูล

ข้อ 10 ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานการดำรงเงินกองทุนต่อสำนักงานตามแบบรายงานการดำรงเงินกองทุนและคำอธิบายประกอบการรายงานดังกล่าวที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) กรณีการดำรงเงินกองทุนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของแต่ละปี ให้ยื่นรายงานภายในวันที่ 7 กรกฎาคมของปีนั้น

(2) กรณีการดำรงเงินกองทุนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคมของแต่ละปี ให้ยื่นรายงานภายในวันที่ 7 มกราคมของปีถัดไป

ข้อ 11 ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการให้มีเอกสารเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนไว้ ณ ที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจในลักษณะที่พร้อมเรียกดูหรือจัดให้สำนักงานตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวด 2

การดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจ

ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

ข้อ 12 ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนพร้อมด้วยสาเหตุ โดยยื่นต่อสำนักงานภายใน 2 วันทำการนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

(2) จัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงานภายใน 10 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถแก้ไขเงินกองทุนให้เป็นไปตามประกาศดำรงเงินกองทุนได้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ

(3) ดำเนินการตามแผนหรือแนวทางการแก้ไขที่ได้แจ้งต่อสำนักงานตาม (2) เพื่อให้สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามที่ประกาศการดำรงเงินกองทุนกำหนดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชน

(4) มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงานทราบภายใน 2 วันทำการนับแต่วันที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามแผนหรือแนวทางแก้ไขที่ได้แจ้งต่อสำนักงานตาม (2)

ข้อ 13 ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตามประกาศ การดำรงเงินกองทุนหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการตามข้อ 12(3) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังต่อไปนี้ จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

(1) ให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่

(2) ขยายระยะเวลาการให้บริการแก่ลูกค้ารายเดิมของผู้ประกอบธุรกิจ

(3) กระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน การดำเนินงานหรือการปฏิบัติตามข้อตกลงกับลูกค้า ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 14 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ภายในระยะเวลาตามข้อ 12(3) หรือไม่มีเงินกองทุนติดต่อกันเกินกว่า 5 วันทำการ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ระงับการประกอบธุรกิจในประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ

(2) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการระงับการประกอบธุรกิจตาม (1) โดยไม่ชักช้า

(3) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

ประกาศ ณ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ