ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 14/2561
เรื่อง ข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถ
ดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้
(ฉบับที่ 2)
______________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ท้ายบทนิยามคำว่า “ประกาศการดำรงเงินกองทุน” ในข้อ 1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 31/2557 เรื่อง ข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557 ดังต่อไปนี้
““กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (6) ของข้อ 3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 31/2557 เรื่อง ข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(6) การเพิ่มมูลค่าเงินทุนที่รับบริหารให้แก่ลูกค้าบัญชีกองทุนส่วนบุคคล หรือการเปิดบัญชีกองทุนส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้ารายใหม่ เว้นแต่เป็นกรณีที่เกิดจากการจ่ายเงินสะสมของลูกจ้างหรือการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างสำหรับลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 31/2557 เรื่อง ข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 5 ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรากฏเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อ 4 ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ และได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ดำเนินธุรกิจ ได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นกรณีดังนี้
(ก) การป้องกันความเสี่ยงโดยรวมในเงินลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์หรือการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่
(ข) การดำเนินการตามความจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าได้รับความเสียหาย การใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน หรือเพื่อเปลี่ยนตราสารที่ครบกำหนดไถ่ถอนกับผู้ออกตราสารดังกล่าว
(ค) การบริหารเงินสะสมและเงินสมทบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วในขณะนั้น หรือการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพ
(2) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีไว้เพื่อตนเอง เว้นแต่เป็นกรณีใดหนึ่งดังนี้
(ก) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากเงินลงทุนหรือภาระผูกพันของบริษัทหลักทรัพย์
(ข) การมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นไม่ทำให้บริษัทหลักทรัพย์มีภาระผูกพันหรือก่อหนี้เพิ่มเติมในภายหลัง
(3) โอนทรัพย์สินของลูกค้าในบัญชีเงินสดไปยังบริษัทหลักทรัพย์อื่นเพื่อการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าให้แล้วเสร็จภายในสิบวันทำการนับแต่วันที่ปรากฏเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อ 4 เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันระยะเวลาจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ให้บริษัทหลักทรัพย์รายเดิมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น
(4) กรณีเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ให้ดำเนินการดังนี้ด้วย
(ก) ดำเนินการให้ลูกค้าแต่ละรายเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหลักทรัพย์โดยตรง
(ข) โอนบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าแต่ละรายไปยังบริษัทหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งประเภทใดดังนี้เป็นผู้ให้บริการแทน ทั้งนี้ ตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้
1. บริษัทหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่สามารถให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนได้
2. บริษัทหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมซึ่งเป็นผู้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น ๆ
(ค) ดำเนินการตาม (4) (ก) และ (ข) ให้แล้วเสร็จภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ปรากฏเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อ 4 เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันระยะเวลาจากสำนักงานเนื่องจาก มีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น
(5) กรณีเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ดำเนินการดังนี้ด้วย
(ก) กรณีจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ติดต่อลูกค้าโดยเร็วเพื่อสอบถามความประสงค์ของลูกค้าว่าจะให้จัดการทรัพย์สินของลูกค้าอย่างไร ระหว่างวิธีการใดวิธีการหนึ่งดังนี้
1. เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเพื่อให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นโดยตรง
2. ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นเข้าจัดการกองทุนส่วนบุคคลแทน
ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเพื่อให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่อไป
ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือเปลี่ยนบริษัทหลักทรัพย์ที่จัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อ 4
(ข) กรณีจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทหลักทรัพย์ติดต่อคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเร็ว และดำเนินการเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์อื่นเข้าจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแทน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ปรากฏเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อ 4
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันระยะเวลาในการดำเนินการตาม (5) วรรคหนึ่ง (ก) วรรคสาม หรือ (ข) ได้ ทั้งนี้ ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะขอผ่อนผันระยะเวลาดังกล่าวยื่นคำขอเป็นหนังสือพร้อมแสดงเหตุผลต่อสำนักงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนครบกำหนดระยะเวลานั้น
ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (5) วรรคหนึ่ง ให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว
(6) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการดำเนินการตาม (1) (3) (4) หรือ (5) แล้วแต่กรณี โดยไม่ชักช้า
(7) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ”
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561
(นายรพี สุจริตกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่มา: http://www.sec.or.th/