ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กน. 13/2561
เรื่อง การกำหนดการจัดการลงทุนโดยการให้บริการออกแบบ
การลงทุนที่ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
__________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
คำว่า “ผู้แนะนำการลงทุน” และ “ผู้วางแผนการลงทุน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
คำว่า “ผู้จัดการกองทุน” และ “นักวิเคราะห์การลงทุน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน แต่ไม่รวมถึงผู้ที่ได้รับความเห็นชอบการเป็นบุคลากรดังกล่าวด้วยคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งผู้จัดการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งดูแลรับผิดชอบสูงสุดในสายงานที่เกี่ยวกับการลงทุน หรือสายงานที่เกี่ยวกับตลาดทุน แล้วแต่กรณี
“การให้บริการออกแบบการลงทุน” หมายความว่า การให้คำแนะนำและกำหนดแผนการลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์จากหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะมีการลงทุนในทรัพย์สินอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม
“บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบการให้บริการออกแบบการลงทุนตามประกาศนี้
“ระบบอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยในการวิเคราะห์และคัดเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อประกอบการให้บริการออกแบบการลงทุน
ข้อ 2 การให้บริการออกแบบการลงทุนของบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามข้อ 3 โดยมีการรับบริหารจัดการทรัพย์สิน (portfolio management) ให้ได้รับการผ่อนผันไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ในช่วงระยะเวลาที่ได้รับความเห็นชอบดังกล่าว
ข้อ 3 ในกรณีบุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ประสงค์จะขอรับความเห็นชอบเป็นผู้ให้บริการออกแบบการลงทุน ให้บุคคลดังกล่าวยื่นคำขอรับความเห็นชอบต่อสำนักงาน พร้อมเอกสารหลักฐานตามแนวทางและวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
(1) เป็นนิติบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(2) มีความพร้อมในการให้บริการในเรื่องดังนี้
(ก) มีเงินทุน และบุคลากร ที่สามารถรองรับการให้บริการตลอดเวลาที่ให้บริการอย่างเหมาะสมและเพียงพอ
(ข) มีการดำเนินการเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า โดยมีรายละเอียดครอบคลุมการดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 4
(ค) มีการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงปลอดภัย
(3) ไม่มีประวัติว่าเคยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอรับความเห็นชอบการให้บริการออกแบบการลงทุนมาก่อน
ให้สำนักงานพิจารณาคำขอรับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งภายใน 30 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ในการให้ความเห็นชอบดังกล่าว ให้สำนักงานกำหนดระยะเวลาในการให้ความเห็นชอบได้ไม่เกินวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ข้อ 4 บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้ ในระหว่างการให้บริการด้วย
(1) มีกระบวนการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้าในเรื่องต่าง ๆ โดยครบถ้วนดังนี้
(ก) การสำรวจและทำความเข้าใจลูกค้า (explore & understand) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการประเมินระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ และเป้าหมายในการลงทุนของลูกค้า
(ข) การกำหนดโครงสร้างการลงทุน (portfolio construction) โดยจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เหมาะสม (asset allocation) และสอดคล้องกับผลการประเมินระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ และเป้าหมายในการลงทุนของลูกค้า
(ค) การลงทุนตามแผนจัดสรรการลงทุน (portfolio implementation) ซึ่งมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์
(ง) การติดตามและปรับปรุงการลงทุน (monitoring & rebalancing) ให้สอดคล้องกับผลการประเมินระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ และเป้าหมายในการลงทุนของลูกค้า โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์
(จ) การรายงานภาพรวมการลงทุนของลูกค้า (consolidated reporting) โดยจัดทำและจัดส่งรายงานการลงทุนให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกค้ามีข้อมูลที่เพียงพอต่อการติดตามผลการดำเนินงาน รวมถึงการทบทวนและประเมินคุณภาพของการให้บริการ กระบวนการติดต่อและให้บริการตาม (1) วรรคหนึ่งต้องครอบคลุมถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินเพื่อการลงทุนของลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ โดยอย่างน้อยต้องมีการกำหนดกรอบกลยุทธ์การลงทุน การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ และการตัดสินใจลงทุนที่คำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ รวมถึงนโยบายในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม
(2) จัดให้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการให้บริการตามที่กำหนดใน (1) (ค) และ (ง) ซึ่งต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์การลงทุน หรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถเทียบเท่ากับบุคคลดังกล่าวที่สำนักงานยอมรับ เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดกระบวนการและปัจจัยในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของระบบดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และมีมาตรการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) มีการแบ่งแยกหน่วยงานที่ให้บริการซื้อขาย (distribution) ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการกำหนดกระบวนการและปัจจัยในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ของระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างชัดเจน
(4) มีผู้แนะนำการลงทุนหรือผู้วางแผนการลงทุนเป็นผู้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนตามแนวทางที่กำหนดในระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยบุคคลดังกล่าวต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหน้าที่ของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน โดยอนุโลม
(5) จัดให้มีโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการที่สอดคล้องกับคุณภาพการให้บริการในฐานะผู้มีวิชาชีพ
(6) มีการแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบก่อนใช้บริการเกี่ยวกับลักษณะ ขอบเขต และเงื่อนไขในการให้บริการ รวมถึงสิทธิต่าง ๆ ของลูกค้า
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการให้บริการตาม (6) วรรคหนึ่ง อย่างมีนัยสำคัญ ต้องแจ้งลูกค้าเพื่อทบทวนหรือปรับปรุงข้อตกลงในการให้บริการกับลูกค้าทันที
(7) มีกระบวนการให้บริการแก่ลูกค้าที่คำนึงถึงเรื่องดังนี้
(ก) การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน จำเป็น และเพียงพอแก่ลูกค้า
(ข) การรักษาความลับของลูกค้า
(ค) การรับและจัดการข้อร้องเรียนของลูกค้า
(8) มีการจัดส่งรายงานข้อมูลในการให้บริการต่อสำนักงานตามแบบและวิธีการที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
(9) มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้กับผู้รับฝากทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการใน การให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล เว้นแต่กรณีที่บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์อันเป็นตราสารหนี้หรือหน่วยลงทุน บุคคลดังกล่าวอาจเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้กับตนเองก็ได้โดยต้องแจ้งให้สำนักงานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันเริ่มดำเนินการดังกล่าว
(10) มีการจัดเก็บเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของลูกค้าไว้ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ
(11) จัดให้มีการกำกับดูแลเพื่อให้การให้บริการเป็นไปตามประกาศนี้ รวมทั้งดูแลให้การให้บริการเป็นไปตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
ข้อ 5 ในกรณีที่บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบประสงค์จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินการตามข้อ 4(1) (2) หรือ (5) ไปจากที่เคยแสดงไว้ต่อสำนักงานอย่างมีนัยสำคัญ ต้องยื่นขอรับความเห็นชอบต่อสำนักงานล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันที่จะมีการเปลี่ยนแปลง และหากสำนักงานไม่ทักท้วงภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบตั้งแต่วันครบกำหนดระยะเวลานั้น
ข้อ 6 ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบได้เมื่อ
(1) การให้บริการไม่เป็นไปตามรายละเอียดที่แสดงไว้ในข้อ 3 วรรคหนึ่ง (2)
(2) บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบไม่ดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 4 หรือข้อ 5
(3) การให้บริการอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ลงทุนหรือตลาดทุนในวงกว้าง
ข้อ 7 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
ประกาศ ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
(นายวรวิทย์ จำปีรัตน์)
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่มา: http://www.sec.or.th/