ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กลธ. 18/2561
เรื่อง การกำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการและ
ผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจ
สินทรัพย์ดิจิทัล
___________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10(1) มาตรา 28 และมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้ และรวมถึงตารางแนบท้ายที่กำหนดตามประกาศนี้
“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทดังต่อไปนี้
(1) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
(2) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล
(3) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
(4) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล
(5) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี
(6) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล
“ผู้ออกโทเคนดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ออกโทเคนดิจิทัลตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน
“ผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้ที่สนใจจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
“ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
“ผู้จัดการ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารงานของบริษัท
“ผู้อำนวยการฝ่าย” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบงานในระดับส่วนงานภายในบริษัท
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า
(1) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(2) ธุรกิจหลักทรัพย์
(3) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(4) ธุรกิจประกันภัย
(5) ธุรกิจสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
ข้อ 3 สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้อง ตามประกาศนี้ และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว
หมวด 1
การแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารของ
ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
___________________
ข้อ 4 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้
(1) เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามตารางคุณสมบัติของกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่แนบท้ายประกาศนี้
(2) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน หมวด 2 และหมวด 3
ข้อ 5 ผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ 4 ได้แก่ ผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่ทำหน้าที่ต่อไปนี้
(1) รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการบริหาร กำหนด ควบคุมและกำกับดูแลนโยบายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
(2) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการติดต่อและให้บริการลูกค้า
(3) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
(4) รับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการ
หมวด 2
ลักษณะต้องห้ามของกรรมการหรือผู้บริหาร
ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
___________________
ข้อ 6 กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(2) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กระทำโดยทุจริต
(3) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
(4) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น เว้นแต่จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนด
(5) เคยถูกถอดถอนจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้จัดการ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น
(6) เป็นข้าราชการการเมือง
(7) เป็นข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสำนักงาน ก.ล.ต. เว้นแต่
(ก) เป็นกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
(ข) เป็นกรณีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
หมวด 3
การมีลักษณะต้องห้ามอื่นของกรรมการหรือผู้บริหาร
ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
___________________
ข้อ 7 กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นดังต่อไปนี้ด้วย
(1) มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมาย หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1
(2) มีประวัติการถูกลงโทษหรือถูกดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 9 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2
(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม หรือตลาดเงิน ตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม ในเรื่องที่มีนัยสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3
ข้อ 8 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1
(1) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
(2) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
(3) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงาน ก.ล.ต. หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษ หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามมาตรา 66 ประกอบกับมาตรา 26 (เฉพาะที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชน) หรือมาตรา 82 ถึงมาตรา 91 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
(4) เป็นบุคคลที่สำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิเสธหรือถอนการแสดงรายชื่อของบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกสินทรัพย์ดิจิทัลเนื่องจากเป็นผู้ที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารบริษัท
(5) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 103(1) ถึง (7) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(6) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ข้อ 9 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2
(1) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดอาญาแผ่นดินเกี่ยวกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน โดยศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษ และพ้นจากการรอการลงโทษมาแล้วไม่ถึง 3 ปี
(2) เป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นในลักษณะเดียวกัน และยังไม่พ้น 3 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
(3) เป็นบุคคลที่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของสถาบันการเงิน เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ และอยู่ระหว่างเวลาที่ยังไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้อีก ทั้งนี้ เฉพาะลักษณะต้องห้ามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) การทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริต หลอกลวง หรือฉ้อโกงเกี่ยวกับทรัพย์สิน
(ข) การบริหารงานที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่เป็นไปตามคำสั่งของหน่วยงานกำกับดูแล หรือบริหารงานหรือจัดการงานที่ไม่เหมาะสม
(ค) การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นการเอาเปรียบ
(4) เป็นบุคคลที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) ถูกคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง หรือศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในผู้ออกโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือถูกสำนักงาน ก.ล.ต.สั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือมีลักษณะที่ทำให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุด หรือถูกดำเนินการอื่นในทำนองเดียวกัน อันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารในผู้ออกโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
(ข) การดำเนินการตาม (ก) สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีผลกระทบถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่พิจารณา
(ค) เหตุของการดำเนินการตาม (ก) เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว ในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือขาดความระมัดระวัง ขาดความซื่อสัตย์สุจริต
(5) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ข้อ 10 ให้กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3
(1) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมประพฤติผิดต่อหน้าที่หรือการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม ขาดความรับผิดชอบและความรอบคอบ เอาเปรียบผู้ลงทุน หรือขาดจรรยาบรรณหรือมาตรฐานในการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพซึ่งกำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. สมาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น
(2) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลหรือกิจการที่ตนมีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบดูแล (ถ้ามี) กระทำการใดหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ การดำเนินธุรกิจ หรือลูกค้าของธุรกิจนั้น
(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมอันส่อไปในทางไม่สุจริตที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วม หรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น เช่น การแสวงหาหรือเบียดบังผลประโยชน์ใดโดยมิชอบเพื่อตนเอง ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบุคคลอื่น โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่ตนดำรงอยู่ เป็นต้น
(4) เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
หมวด 4
การขอรับความเห็นชอบและการให้ความเห็นชอบ
___________________
ส่วนที่ 1
การขอรับความเห็นชอบ
___________________
ข้อ 11 ในการยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ส่วนที่ 2
การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลง
___________________
ข้อ 12 การให้ความเห็นชอบกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสิ้นสุดลงเมื่อบุคคลนั้นมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในหมวด 7
หมวด 5
หน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
___________________
ข้อ 13 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายงานการแต่งตั้งและการสิ้นสุดการแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ผ่านระบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว
หมวด 6
หน้าที่ของกรรมการหรือผู้บริหารของ
ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
___________________
ข้อ 14 กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
(2) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายอย่างเป็นธรรม ด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ
(3) ปฏิบัติหน้าที่หรือดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน
(4) ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามจรรยาบรรณและมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพที่กำหนดโดยสำนักงาน ก.ล.ต. สมาคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตลาดทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ
ข้อ 15 ในกรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 14 ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการมีลักษณะต้องห้ามในกลุ่มที่ 3 ตามหมวด 7
หมวด 7
ผลของการมีลักษณะต้องห้าม
___________________
ส่วนที่ 1
ข้อกำหนดทั่วไปในการพิจารณาลักษณะต้องห้าม
___________________
ข้อ 16 ในกรณีที่กรรมการหรือผู้บริหารที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์สินทรัพย์ดิจิทัลได้ยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ใช้เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวได้
ข้อ 17 ในกรณีที่ผู้มีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4(1) ให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลง
(2) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามตามหมวด 2 หมวด 3 ลักษณะต้องห้ามตามกลุ่มที่ 1 ตามข้อ 8 หรือลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 9(1) หรือ (2) ให้สำนักงาน ก.ล.ต. สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ
(3) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 9(3) (4) หรือ (5) ให้สำนักงาน ก.ล.ต.สั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามแต่เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามนั้น
(4) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 10 สำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามสมควรแก่กรณี
ข้อ 18 ในการใช้ดุลยพินิจปฏิเสธการให้ความเห็นชอบตามข้อ 16 พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามข้อ 17(3) และ (4) แล้วแต่กรณี ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจดำเนินการ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้แทนหรือประกอบการดำเนินการดังกล่าวได้
(1) กำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวในคราวต่อไป โดยระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกิน 10 ปี สำหรับการพิจารณาการมีลักษณะต้องห้ามในแต่ละกรณี
(2) กำหนดระยะเวลาการสั่งพักการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในตำแหน่งเดิมต่อไปได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอความเห็นชอบ
(3) ในกรณีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 10 มีลักษณะไม่ร้ายแรง หรือเกิดขึ้นมาแล้วเกินกว่า 10 ปีนับถึงวันที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ก.ล.ต. อาจไม่ยกกรณีดังกล่าวขึ้นพิจารณาเป็นเหตุในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบ การพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจลดระดับการดำเนินการเป็นการเปิดเผยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวก็ได้
ส่วนที่ 2
การพิจารณาลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3
___________________
ข้อ 19 ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 10 หรือการพิจารณาดำเนินการตามข้อ 16 ให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำปัจจัยดังต่อไปนี้ มาใช้ประกอบการพิจารณา
(1) บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา
(2) การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว
(3) ผลกระทบหรือความเสียหายต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัท หรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมที่พิจารณา
(4) การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัท หรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงิน ตลาดทุน หรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลโดยรวม หรือแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันมิให้เกิดข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมทำนองเดียวกันนั้นซ้ำอีก
(5) พฤติกรรมอื่นของผู้ถูกพิจารณาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน ก.ล.ต.
(6) ประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ข้อ 20 ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งเสนอความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับการพิจารณาเหตุของการพักหรือเพิกถอน การให้ความเห็นชอบกรรมการหรือผู้บริหารที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 10 หรือพิจารณาให้ความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามความในหมวดนี้ หรือพิจารณาวางแนวทางและให้ความเห็นต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ในการดำเนินการ ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากตลาดเงิน ตลาดทุนหรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนไม่เกิน 5 คนซึ่งไม่เป็นเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนจำนวน 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หลักทรัพย์ หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำนวน 2 คน ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการและให้สำนักงาน ก.ล.ต. แต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน ก.ล.ต. คนหนึ่งเป็นเลขานุการกรรมการรายใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาในลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อการให้ความเห็นอย่างเป็นกลาง ให้ผู้นั้นแจ้งการมีส่วนได้เสียนั้นและห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว
ข้อ 21 เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจสั่งการของสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหมวดนี้มีความชัดเจนและผ่านกระบวนการทบทวนตามสมควร ในการแจ้งเหตุในการสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเนื่องจากการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตามข้อ 10 สำนักงาน ก.ล.ต. จะกระทำได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง
(2) เสนอข้อเท็จจริงรวมทั้งคำชี้แจงของผู้ถูกพิจารณา (ถ้ามี) ให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และหากคณะกรรมการประสงค์จะให้ผู้ถูกพิจารณาชี้แจงเพิ่มเติม ให้สำนักงาน ก.ล.ต. จัดให้มีการชี้แจงเช่นนั้น
ในการปฏิบัติอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
ข้อ 22 สำนักงาน ก.ล.ต. อาจไม่ดำเนินการตามข้อ 21 วรรคหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการพิจารณาอื่นที่ทำให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจง และเคยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นในรูปองค์คณะที่มีผู้มีความรู้ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจในตลาดทุนเป็นองค์คณะด้วยหรือโดยองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องมาอย่างเพียงพอแล้ว หรือ
(2) คณะกรรมการได้กำหนดแนวทางพิจารณาดำเนินการสำหรับกรณีที่มีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันกับกรณีที่พิจารณานี้ไว้ชัดเจนเพียงพอแล้ว
ประกาศ ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
(นายวรวิทย์ จำปีรัตน์)
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่มา: http://www.sec.or.th/