ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 3, 2018 14:26 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ กธ. 19/2561

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจ

สินทรัพย์ดิจิทัล

______________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10(1) มาตรา 30 และมาตรา 31 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทดังต่อไปนี้

(1) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี

(2) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล

(3) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี

(4) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล

(5) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี

(6) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล

“ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

“ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่

“ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่

“ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวทางเดียวกัน

ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจกำหนดตามประเภทธุรกิจหรือประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้

(2) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้และหากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้

(3) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกระทำการที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลขอความเห็นชอบการดำเนินการใดตามประกาศนี้ก่อนการดำเนินการนั้นก็ได้

(4) เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ โดยต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจนเกินสมควร ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดให้เป็นไปตามกรอบดังต่อไปนี้

(ก) ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต. อาจกำหนดให้ดำเนินการภายในวันทำการที่เกิดกรณีดังกล่าวได้

(ข) ในกรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้กำหนดระยะเวลาอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่อง และประเด็นที่เกี่ยวข้อง

หมวด 1

บททั่วไป

______________________

ข้อ 4 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีข้อตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดจากการให้บริการ ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะเป็นการตัดหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับลูกค้า อันเนื่องจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากร ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศนี้

ข้อ 5 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดส่งงบการเงินที่จัดทำขึ้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 3 เดือนนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี และให้ประกาศงบการเงินดังกล่าวบนเว็บไซต์ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวด้วยงบการเงินประจำรอบปีบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งนี้ การจัดทำบัญชี ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสถาบันวิชาชีพที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นชอบและข้อกำหนดเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

(2) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(3) เป็นกิจการที่ไม่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ฐานะของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเป็นกิจการที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถจัดให้มีระบบในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเพียงพอ

ข้อ 7 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีช่องทางให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าถึงข้อมูล (application program interface) เกี่ยวกับรายการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภท ซึ่งรวมถึงข้อมูลการเสนอซื้อเสนอขาย ข้อมูลการจับคู่คำสั่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน ราคาและปริมาณการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยน และข้อมูลของผู้ที่ทำรายการซื้อขาย

หมวด 2

โครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร

______________________

ข้อ 8 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากร ที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องการพิจารณาความเหมาะสมและเพียงพอตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงลักษณะ ขนาด ปริมาณ ความซับซ้อน และความหลากหลาย ของธุรกิจและบริการ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจและบริการดังกล่าวด้วย

ข้อ 9 ภายใต้บังคับข้อ 37 และข้อ 42 โครงสร้างการบริหารจัดการและระบบงานตามข้อ 8 ต้องครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การกำหนดโครงสร้างองค์กร บทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินงานของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรที่ชัดเจน

(2) ระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีความเหมาะสม น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ

(3) ระบบตรวจสอบและควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงเรื่อง ดังนี้

(ก) การรักษาความลับ

(ข) การรับและจัดการข้อร้องเรียน

(ค) การป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริหาร หรือพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจ แสวงหาประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

(4) การบริหารและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุกด้านอย่างรัดกุม โดยต้องมีมาตรการอย่างเพียงพอที่จะป้องกันและจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

(5) ระบบงานและมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

(6) ระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดย

(ก) ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ภายใต้การดูแลรักษาหรือจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจัดทำบัญชีของลูกค้าแยกแต่ละราย ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน และเก็บรักษาทรัพย์สิน ในระบบที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และต้องมีแผนการจัดการทรัพย์สินของลูกค้าที่เหมาะสม

(ข) จัดให้มีการจ่ายผลตอบแทนจากการถือสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้าอย่างเป็นธรรมโดยต้องเปิดเผยเงื่อนไขและวิธีการให้ลูกค้าทราบ

(7) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพซึ่งรวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยของระบบงานและข้อมูล (security) ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล (integrity) และความพร้อมใช้ของระบบงาน (availability) โดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT risk) และความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber risk)

(8) ระบบการจัดการและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้ และปลอดภัย โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อ 11

(9) ระบบงานในการดูแลการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ (proprietary trading) ซึ่งเหมาะสมและเพียงพอที่สามารถป้องกันมิให้มีการลงทุน

(ก) ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ

(ข) เป็นผลให้การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลผิดไปจากสภาพปกติของตลาด

(ค) มีลักษณะเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้มีวิชาชีพ

(ง) ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ลูกค้าหรือความไม่เป็นธรรมกับลูกค้า

(10) ระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (compliance)

(11) ระบบงานเพิ่มเติมสำหรับการให้บริการที่มีลักษณะเฉพาะ

ข้อ 10 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีบุคลากรในจำนวนที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจ โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ อย่างเหมาะสมซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีประวัติในทางที่เสื่อมเสีย

ข้อ 11 ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีระบบการจัดการและจัดเก็บที่รัดกุม เป็นระเบียบ และพร้อมนำข้อมูล มาใช้งานหรือตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาอันสมควร

(2) ระบบตาม (1) ต้องสามารถป้องกัน

(ก) การแก้ไข การสูญหาย หรือการถูกทำลาย อย่างไม่เหมาะสม

(ข) การใช้หรือการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า หรือข้อมูลที่ไม่เปิดเผยหรือยังไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป

(3) จัดให้มีบุคลากรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการเก็บรักษาข้อมูล เพื่อให้การจัดการและจัดเก็บข้อมูลเป็นไปตามระบบใน (1) และสามารถป้องกันกรณีตาม (2) ได้

(4) จัดเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน

หมวด 3

การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน

______________________

ข้อ 12 ในหมวดนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ทั้งนี้ มิให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

“เงินกองทุน” หมายความว่า ผลรวมของ

(1) ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ปรากฏในงบการเงินล่าสุดซึ่งมีวิธีการคำนวณตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี

(2) ทุนที่ออกและชำระแล้ว ซึ่งรวมส่วนเกินมูลค่าหุ้นและหักส่วนลดมูลค่าหุ้นแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอันเนื่องมาจากการเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่ถูกนับรวมเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นในการจัดทำงบการเงินงวดล่าสุด

ข้อ 13 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท สำหรับการประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล

(2) ไม่น้อยกว่า 12.5 ล้านบาท สำหรับการประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล

(3) ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท สำหรับการประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล กรณีที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้

ในความครอบครอง หรือหากมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง

(4) ไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาท สำหรับการประกอบธุรกิจดังนี้

(ก) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล

(ข) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล กรณีที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง

(5) ไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท สำหรับการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีหรือการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลกรณีที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง

ข้อ 14 ให้ผู้ประกอบสินทรัพย์ดิจิทัลจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ข้อ 15 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามข้อ 13 ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามที่กำหนดในข้อ 13 และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

(2) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภท โดยไม่ชักช้า

(3) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ข้อ 16 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหยุดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท และมีหนังสือแจ้งความประสงค์นั้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตามความในข้อ 13 และ 14

ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง ส่งเอกสารหรือรายงานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความสามารถในการดำรงเงินกองทุน ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร

หมวด 4

การดูแลรักษาความปลอดภัยของ

ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

______________________

ข้อ 17 นอกจากที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในส่วนนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ออกตามประกาศดังกล่าว โดยอนุโลม

ข้อ 18 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการทดสอบการเจาะระบบ (penetration test) กับระบบงานสำคัญก่อนเริ่มให้บริการและภายหลังจากเริ่มให้บริการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยบุคคลที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกิน 90 วัน นับจากวันที่สิ้นสุดกระบวนการทดสอบ

ข้อ 19 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการตรวจสอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT audit) ก่อนเริ่มให้บริการและภายหลังเริ่มให้บริการแล้วอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งโดยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและเป็นอิสระ และรายงานผลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับผลการทดสอบอย่างเป็นทางการ แต่ไม่เกิน 90 วันนับจากวันที่สิ้นสุดกระบวนการทดสอบ

หมวด 5

การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า

______________________

ข้อ 20 ในการติดต่อหรือให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ให้ลูกค้าทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ และพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการดังกล่าว

(1) ข้อมูลโดยทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

(2) ลักษณะ ขอบเขต และเงื่อนไขการให้บริการที่เสนอต่อลูกค้า

(3) ช่องทางการให้บริการ และการติดต่อสื่อสาร

(4) สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และเงื่อนไข ที่ลูกค้ามีหรือต้องปฏิบัติเมื่อใช้บริการ

(5) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี)

(6) วิธีปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นไปตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนดขึ้น

ข้อ 21 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่มีระบบการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม รวมทั้งกระทำในเวลาที่เหมาะสม โดยข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารต้องชัดเจน น่าเชื่อถือ และไม่ทำให้ลูกค้าสำคัญผิด

ข้อ 22 ในการให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับลูกค้าอย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด โดยต้องเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการหรือตัดสินใจลงทุน

หมวด 6

การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า

______________________

ข้อ 23 ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้าเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ทำความรู้จักลูกค้า

(2) จัดประเภทลูกค้า

(3) ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า

(4) พิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล อาจดำเนินการผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นได้

ข้อ 24 ในการทำความรู้จักกับลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ 23 เพื่อระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง

ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอื่นใด ที่อาจทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ

ข้อ 25 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลที่ได้รับตามข้อ 23 ให้เป็นปัจจุบันในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่ถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ประกอบการให้บริการกับลูกค้าได้โดยไม่ชักช้า

ข้อ 26 ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพิจารณาจากข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) ฐานะทางการเงิน

(2) ประสบการณ์ในการลงทุน

(3) ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน

(4) วัตถุประสงค์ในการลงทุน

(5) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ข้อ 27 ในการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ 26 เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการเกี่ยวกับการลงทุน ที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้าก็ได้

(1) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน

(2) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่รับการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน

เมื่อได้ทำการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้า ซึ่งต้องกระทำโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

ข้อ 28 ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธการให้ข้อมูลตามข้อ 26 จนทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถประเมินความเหมาะสมในการลงทุนของลูกค้าได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการ

ข้อ 29 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดูแลให้ลูกค้าลงทุนให้เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน

ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะลงทุนโดยไม่เป็นไปตามผลการประเมินความเหมาะสม

ในการลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ลูกค้าตระหนักถึงความเสี่ยงจากการลงทุน

ข้อ 30 ในการพิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลง

ในการใช้บริการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ 26 เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการที่สอดคล้องกับความสามารถดังกล่าวของลูกค้า

ในกรณีที่ไม่สามารถประเมินหรือพบข้อจำกัดเกี่ยวกับความสามารถของลูกค้า

ในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการไม่ว่าในขณะใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธการให้บริการหรือจำกัดขอบเขตการให้บริการ

ข้อ 31 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้า ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นผู้ทำหน้าที่ ดังกล่าว หรือดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นที่มีบุคลากรที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการแทน หรือจัดให้มีช่องทางที่ลูกค้าสามารถติดต่อกับบุคลากรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้

(2) พิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตามข้อมูลที่ได้จากการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนตามข้อ 26

(3) ดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะแนะนำให้แก่ลูกค้าหรือที่ลูกค้าสนใจลงทุน โดยมีข้อมูลอย่างน้อยตามข้อ 33 อย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด

(4) ดำเนินการให้มีการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าให้เป็นไปตามหน้าที่ซึ่งผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติ

(5) ดูแลให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้า โดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังนี้

(ก) มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลแก่ลูกค้าอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สมเหตุสมผล และไม่ทำให้สำคัญผิด

(ข) มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นอย่างดี ก่อนตัดสินใจใช้บริการ

(6) ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุน โดยต้องให้เวลาลูกค้าอย่างเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าศึกษาข้อมูลและตัดสินใจใช้บริการผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องควบคุมและป้องกันมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันความถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการเกี่ยวกับการลงทุนของลูกค้า จนกว่าจะได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ

ในระหว่างรอการตรวจสอบ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเตือนให้ลูกค้าใช้ความระมัดระวัง

ในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนหรือทำธุรกรรมด้วย

ข้อ 32 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการต่อลูกค้า และต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าผู้ทำหน้าที่แนะนำบริการของ

ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรู้และเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเป็นอย่างดี และสามารถนำเสนอข้อมูลนั้นได้

ข้อ 33 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ 31 ได้แก่ข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะ โครงสร้าง เงื่อนไข และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล

(2) ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

(3) สภาพคล่องของสินทรัพย์ดิจิทัล

(4) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัล (ถ้ามี)

(5) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล

(6) ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

(7) ข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการให้บริการ (ถ้ามี)

(8) ข้อมูลอื่นที่จำเป็นซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน (ถ้ามี)

หมวด 7

การดำเนินการเมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการ

__________________

ข้อ 34 เมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการตามความประสงค์ของลูกค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการด้วยความรวดเร็วตามสภาพ และดูแลตรวจสอบให้การให้บริการนั้นตรงตามความประสงค์ของลูกค้า

(2) ดำเนินการให้การให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมเป็นไปตามกลไกตลาดและได้รับเงื่อนไขดีที่สุดตามสภาพตลาด (duty of best execution) ด้วย

(3) รายงานหรือแจ้งผลการดำเนินการให้ลูกค้าทราบโดยมีรายละเอียดอย่างเพียงพอภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

หมวด 8

ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ

______________________

ส่วนที่ 1

การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและ

การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล

______________________

ข้อ 35 ในส่วนนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล

ข้อ 36 ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลกับเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซีที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น

ข้อ 37 ห้ามผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง

ข้อ 38 ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีระบบงานเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) ระบบคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการซื้อขาย

(2) ระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

ข้อ 39 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล

(2) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการชำระราคาและการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล

(3) กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องการกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ข้อ 40 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มีระบบการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่องดังนี้

(ก) มีระบบที่สามารถรองรับปริมาณการซื้อขายได้อย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถตรวจสอบความสามารถในการชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้บริการได้ก่อนมีการส่งคำสั่งซื้อขาย

(ข) มีระบบชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง ปลอดภัย น่าเชื่อถือ

(ค) มีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายแก่ลูกค้า ซึ่งรวมถึงข้อมูลก่อนทำรายการซื้อขาย (ถ้ามี) (pre-trade information) และข้อมูลภายหลังทำรายการซื้อขาย (post-trade information) อย่างเพียงพอ รวดเร็ว และเหมาะสม (transparency)

(ง) มีระบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำรายการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อติดตามและตรวจสอบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในภายหลัง (audit trail)

(จ) มีระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

(ฉ) มีระบบเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาซื้อขายอย่างเพียงพอและเป็นปัจจุบัน

(2) จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) ขั้นตอนและวิธีการในการเปิดรับลูกค้าที่ชัดเจนและเป็นธรรม (fair access) และต้องกำหนดประเภทลูกค้าให้เหมาะสมกับประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อขาย

(ข) ประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถซื้อขายได้บนระบบที่ให้บริการ รวมถึงข้อจำกัดหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ของสินทรัพย์ดิจิทัลในแต่ละประเภท รวมถึงกฎเกณฑ์ในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

(ค) ขั้นตอนการชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล

(ง) ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่ลูกค้า

ส่วนที่ 2

การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและ

การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล

______________________

ข้อ 41 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลต้องให้ข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อขาย โดยอย่างน้อยต้องมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบราคาที่เสนอซื้อขาย เงื่อนไข ระยะเวลาการซื้อขาย และเหตุแห่งการปฏิเสธไม่รับซื้อขายอย่างชัดเจนด้วย

ข้อ 42 ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัลเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้า

ประกาศ ณ วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

(นายวรวิทย์ จำปีรัตน์)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ