การผ่อนผันเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการและการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 13, 2007 15:08 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 36/2550
เรื่อง การผ่อนผันเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการและ
การคิดค่าธรรมเนียมการจัดการ
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 วรรคหนึ่ง และข้อ 18(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และข้อ 18(6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 1/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
“กองทุนรวมหน่วยลงทุน” หมายความว่า กองทุนรวมหน่วยลงทุนตามที่กำหนดในข้อ 4(2)(ก) แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นกองทุนรวมก่อนวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2549
“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
ข้อ 2 มิให้นำความในข้อ 25 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมหน่วยลงทุนที่เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เฉพาะการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการรับผลประโยชน์ตอบแทนจากบุคคลใด ๆ อันเนื่องมาจากการใช้บริการของบุคคลดังกล่าวในการจัดการกองทุน
(1) กองทุนรวมหน่วยลงทุนนั้นมีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ
(2) โครงการหรือหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมหน่วยลงทุนได้เปิดเผยข้อมูลไว้ว่าบริษัทจัดการอาจได้รับเงินค่าตอบแทนจากกองทุนรวมต่างประเทศเนื่องจากการนำเงินของกองทุนรวมดังกล่าวไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ
(3) บริษัทจัดการได้นำเงินค่าตอบแทนที่ได้รับเนื่องจากการนำเงินของกองทุนรวมหน่วยลงทุนนั้นไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ (loyalty fee หรือ rebate) เข้าเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมหน่วยลงทุน
หากบริษัทจัดการได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้บริษัทจัดการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการ (management fee) ได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่โครงการหรือหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมหน่วยลงทุนนั้นระบุว่าบริษัทจัดการจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการจัดการ ให้บริษัทจัดการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการได้ ไม่เกินกว่าอัตราที่บริษัทจัดการจะได้รับเป็นค่าตอบแทนจากกองทุนรวมต่างประเทศ
(2) กรณีที่โครงการหรือหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมหน่วยลงทุนนั้นระบุว่าบริษัทจัดการจะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการด้วย ให้บริษัทจัดการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการได้ไม่เกินกว่าผลรวมของอัตราค่าธรรมเนียมที่ระบุไว้ดังกล่าวและอัตราที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนจากกองทุนรวมต่างประเทศ
ทั้งนี้ ให้ถือว่าข้อมูลที่บริษัทจัดการเปิดเผยเกี่ยวกับการรับเงินค่าตอบแทนจากกองทุนรวมต่างประเทศที่ปรากฏในโครงการหรือหนังสือชี้ชวนตามวรรคหนึ่ง (2) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 76 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
ข้อ 3 ให้บริษัทจัดการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการตามข้อ 2 วรรคสอง และที่มาของการคิดค่าธรรมเนียมดังกล่าวซึ่งสืบเนื่องจากการดำเนินการตามข้อ 2 วรรคหนึ่ง (3)
ตามวิธีการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหน่วยลงทุนดังกล่าวทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายในโอกาสแรกที่สามารถกระทำได้ และ
(2) ระบุไว้ในรายงานทุกรอบระยะเวลาหกเดือน และรายงานรอบปีบัญชี ของกองทุนรวมหน่วยลงทุนนั้น ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับแบบแสดงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากกองทุน
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2550
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เนื่องจากในการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน
รวมหน่วยลงทุน บริษัทจัดการบางแห่งมีการรับเงินค่าตอบแทน (loyalty fee หรือ rebate) จากกองทุนรวมต่างประเทศนั้น แทน
การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ (management fee) จากกองทุนรวมหน่วยลงทุน อย่างไรก็ตาม เมื่อประกาศที่กำหนดหลัก
เกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ใช้บังคับ เป็นผลให้บริษัทจัดการไม่สามารถรับเงินค่าตอบแทนดัง
กล่าวโดยตรงได้อีกต่อไป ในขณะที่บริษัทจัดการยังคงมีต้นทุนในการบริหารจัดการกองทุนรวมหน่วยลงทุนอยู่ จึงจำเป็นต้องผ่อนผันให้
บริษัทจัดการสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการจากกองทุนรวมหน่วยลงทุนนั้นได้ และถือว่าข้อมูลเกี่ยวกับการรับเงินค่าตอบแทน
ที่บริษัทจัดการเปิดเผยไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมหรือหนังสือชี้ชวน เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ