ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่ ทธ. 60/2561
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการมอบหมายให้บุคคลอื่น
เป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้อง
กับการประกอบธุรกิจ
______________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 100 วรรคสอง มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และข้อ 16 วรรคหนึ่ง (6) แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 และข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวงการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 25/2556 เรื่อง การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 41/2556 เรื่อง การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556
(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 42/2558 เรื่อง การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
(4) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 45/2559 เรื่อง การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559
(5) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 56/2559 เรื่อง การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2559
(6) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 47/2560 เรื่อง การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“งานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ” หมายความว่า งานที่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรืองานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุน หรือการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ และผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ
“ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ และผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุม ดูแล และจัดการหน่วยธุรกิจเกี่ยวกับการแนะนำการลงทุน การวางแผนการลงทุน การวิเคราะห์การลงทุนหรือผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน การจัดการลงทุน การจัดการสาขาของผู้ประกอบธุรกิจ การดูแลบัญชีของลูกค้าเพื่อการตัดสินใจแทนลูกค้า การปฏิบัติการ การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน การตรวจสอบกิจการภายใน หรือการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
“ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ และให้หมายความรวมถึงกองทุน ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
“งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์” (central utility function) หมายความว่า งานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจซึ่งหากผู้ให้บริการหยุดให้บริการ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ หรือไม่สามารถให้บริการได้อย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดทุนโดยรวม เนื่องจากมีผู้ให้บริการจำนวนน้อยรายหรืออาจไม่สามารถหาผู้ให้บริการรายอื่นมาให้บริการแทนได้ในทันที
“บริษัทในเครือ” หมายความว่า บริษัทที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีโครงสร้างการถือหุ้นระหว่างกันไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
(2) บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจด้วยการมีอำนาจควบคุมระหว่างกัน
(3) บริษัทที่มีผู้มีอำนาจควบคุมกิจการเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจ
“อำนาจควบคุมกิจการ” หมายความว่า อำนาจควบคุมกิจการตามบทนิยามคำว่า “อำนาจควบคุมกิจการ” ที่กำหนดในมาตรา 89/1
ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น
(2) ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานว่าผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้หรือข้อกำหนดที่สำนักงานออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศนี้ หรือผู้รับดำเนินการไม่สามารถดำรงคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้รับดำเนินการ ตามข้อกำหนดในประกาศนี้หรือตามข้อกำหนดที่สำนักงานออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นแก้ไข กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้หรือข้อกำหนดที่สำนักงานออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศนี้ หรือสั่งระงับการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีดังต่อไปนี้
(1) การตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่มีประกาศกำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
(2) การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในเรื่องที่มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามประกาศอื่นอยู่แล้ว
ข้อ 6 ในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) มีนโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ ตามที่กำหนดในหมวด 1
(2) มีการมอบหมายงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 2
(3) ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในหมวด 3
หมวด 1
นโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติในการมอบหมาย
ให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ
______________________________
ข้อ 7 ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดนโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติและดูแลให้บุคลากรของตนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
(1) กำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยนโยบายดังกล่าวต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามที่กำหนดใน
ข้อ 8 พร้อมทั้งต้องมีการพิจารณาทบทวนความมีประสิทธิภาพและความเหมาะสมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือในทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
(2) กำหนดมาตรการรองรับที่ทำให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้
(3) กำหนดมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
(4) กำหนดมาตรการตรวจสอบดูแลให้ผู้รับดำเนินการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยอย่างน้อยต้องสามารถควบคุมให้ผู้รับดำเนินการไม่มีลักษณะที่จะทำให้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ
(5) จัดให้มีทรัพยากรที่จำเป็นและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลการดำเนินงานของผู้รับดำเนินการและบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(6) พิจารณาคัดเลือกผู้รับดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ
ข้อ 8 นโยบายในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการตามข้อ 7(1) ต้องระบุรายละเอียดและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ขอบเขตและลักษณะงานที่จะให้ดำเนินการ
(2) หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับดำเนินการซึ่งมีรายละเอียดของแนวทางการพิจารณาในเรื่องดังนี้
(ก) ฐานะทางการเงิน ซึ่งต้องกำหนดในลักษณะที่จะทำให้สามารถกลั่นกรองหรือคัดเลือกผู้รับดำเนินการที่ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นได้ว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน
(ข) ความสามารถและความพร้อมในการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องกำหนดในลักษณะที่จะทำให้สามารถกลั่นกรองหรือคัดเลือกผู้รับดำเนินการที่มีระบบงานในการดำเนินการที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ
(ค) ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และชื่อเสียงในทางธุรกิจ
(ง) ความพร้อมของผู้รับดำเนินการในกรณีที่รับดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจหลายราย
(จ) ประวัติการถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในเรื่องที่เกี่ยวกับงานที่จะให้ดำเนินการ
(ฉ) ความเกี่ยวข้องกับกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจ
(ช) ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการอยู่ในต่างประเทศ ต้องพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลง หรือความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และกฎหมายของประเทศของผู้รับดำเนินการ ตลอดจนความซับซ้อนในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจที่อยู่ในต่างประเทศของผู้รับดำเนินการด้วย
(3) หลักเกณฑ์การทบทวนและการเปลี่ยนตัวผู้รับดำเนินการ
(4) แนวทางการพิจารณาในกรณีที่ผู้รับดำเนินการจะให้บุคคลอื่นรับดำเนินการช่วง ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องดังนี้
(ก) กรณีที่เป็นการมอบหมายงานจัดการลงทุนของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ งานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรืองานบริหารความเสี่ยงในการลงทุนดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์หรือไม่และไม่ว่าในทอดใด ต้องมีขั้นตอนการขออนุมัติจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจเป็นรายกรณีทุกครั้งก่อนดำเนินการดังกล่าว และต้องดำเนินการให้บุคคลอื่นที่รับดำเนินการช่วงเป็นบุคคลตามข้อ 12 ข้อ 16 ข้อ 17 หรือข้อ 18 แล้วแต่กรณี
(ข) กรณีที่เป็นการมอบหมายงานที่มิใช่งานจัดการลงทุนของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ งานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรืองานบริหารความเสี่ยงในการลงทุนดังกล่าว ต้องดำเนินการดังนี้
1. หากเป็นงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ต้องกำหนดให้บุคคลที่รับดำเนินการช่วงไม่ว่าในทอดใด เป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามข้อ 12
2. หากเป็นงานที่มิใช่งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ต้องมีขั้นตอนการขออนุมัติจากผู้ประกอบธุรกิจเป็นรายกรณีทุกครั้งก่อนดำเนินการดังกล่าว
(5) แนวทางการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมตามระดับความสำคัญของงานที่ให้ดำเนินการ
(6) ระบบรักษาความปลอดภัยของผู้รับดำเนินการในการดูแลรักษาข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจและลูกค้า
ข้อ 9 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการมอบหมายงานจัดการลงทุนของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรืองานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และงานบริหารความเสี่ยงใน การลงทุนดังกล่าว ให้บุคคลเดียวกันเป็นผู้รับดำเนินการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามข้อ 7(3) ที่ครอบคลุมถึงการแยกส่วนการปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารจัดการ รวมทั้งระบบงานและมาตรการอื่นใดเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น
หมวด 2
หลักเกณฑ์การมอบหมายงาน
______________________________
ข้อ 10 ในการมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การมอบหมายงานในหมวดนี้ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการด้วยความสมเหตุสมผลและไม่มีผลเสมือนเป็นการไม่ประกอบธุรกิจ รวมทั้งต้องเป็นไปตามหลักการในการมอบหมายงานดังต่อไปนี้ไม่ว่าจะมีการมอบหมายกี่ทอดก็ตาม
(1) มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อลูกค้าและดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ
(2) ดำเนินการโดยไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของทางการหรือทำให้ประสิทธิภาพในการกำกับดูแลของผู้ประกอบธุรกิจและสำนักงานลดลง
ข้อ 11 ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก่อนการมอบหมายให้ดำเนินการดังกล่าว
ส่วนที่ 1
การมอบหมายงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์
______________________________
ข้อ 12 ในการมอบหมายงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องมอบหมายให้บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเป็นผู้รับดำเนินการเท่านั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด ในกรณีที่การมอบหมายงานตามวรรคหนึ่งเป็นงานจัดการลงทุนของกองทุนรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรืองานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บุคคลที่ได้รับความเห็นชอบดังกล่าวต้องเป็นบุคคลตามข้อ 16 ข้อ 17 หรือข้อ 18 แล้วแต่กรณี
ข้อ 13 มิให้นำความในข้อ 7(2) และ (4) ข้อ 8(2) ข้อ 20(1)(ข) และข้อ 22(1) มาใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจที่มีการมอบหมายงานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ให้กับบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ส่วนที่ 2
การมอบหมายงานที่มิใช่งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์
______________________________
ข้อ 14 ในการมอบหมายงานที่มิใช่งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาคัดเลือกผู้รับดำเนินการที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
(1) มีความพร้อมในด้านบุคลากรและระบบงานในการดำเนินงานอย่างเพียงพอที่จะทำให้งานของผู้ประกอบธุรกิจเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยต้องมีระบบที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) ระบบการบริหารความเสี่ยง
(ข) ระบบการควบคุมภายใน
(ค) ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ล่วงรู้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล รวมทั้งเพื่อป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร
(ง) ระบบการรองรับเหตุฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนและผู้รับผิดชอบในแต่ละกรณีไว้อย่างชัดเจน
(2) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน
(3) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ
ข้อ 15 ในการมอบหมายงานจัดการลงทุนของกองทุน ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ระบุรายละเอียดของการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานดังกล่าวอย่างชัดเจนไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม หรือต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี
(2) จัดให้มีการรายงานการควบคุมดูแลผู้รับดำเนินการไว้ในรายงานการกำกับดูแลการปฏิบัติงานประจำปี (annual compliance report)
ข้อ 16 ในการมอบหมายงานจัดการลงทุนของกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้รับดำเนินการต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล และในกรณีที่งานจัดการลงทุนดังกล่าวมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บุคคลดังกล่าวต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย
ข้อ 17 ในการมอบหมายงานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้รับดำเนินการต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าที่มอบหมายให้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อน
ข้อ 18 ในการมอบหมายงานจัดการลงทุนของกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรืองานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้แก่ผู้รับดำเนินการต่างประเทศ ผู้รับดำเนินการดังกล่าวต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วน
(1) สามารถประกอบธุรกิจจัดการลงทุนได้โดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศที่บุคคลดังกล่าวประกอบธุรกิจอยู่
(2) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดังนี้ และหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวตั้งอยู่ในประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแลการจัดการลงทุนที่สำนักงานยอมรับ
(ก) หน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) โดยหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นพหุภาคีประเภท Signatory A ใน Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (MMOU)
(ข) หน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือกับสำนักงานในระดับไม่น้อยกว่าความช่วยเหลือที่กำหนดตาม MMOU และหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานได้ตามบันทึกความเข้าใจนั้น
ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการต่างประเทศอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลตามวรรคหนึ่ง (2) แต่หน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมิได้ตั้งอยู่ในประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแล การจัดการลงทุนที่สำนักงานยอมรับ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงได้ถึงความมีประสิทธิภาพและความเหมาะสมของมาตรการในการมอบหมายงานของผู้ประกอบธุรกิจ ระบบงานของผู้รับดำเนินการ และมาตรการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศดังกล่าว
ข้อ 19 ในการมอบหมายงานที่มิใช่งานที่มีผู้ให้บริการแบบรวมศูนย์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำกับดูแลการมอบหมายงานอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีการติดตามและทบทวนความเหมาะสมของการดำเนินการของผู้รับดำเนินการเป็นประจำ โดยอย่างน้อยต้องทบทวนทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในประกาศนี้ หรือคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้รับดำเนินการ
ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้รับดำเนินการขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้รับดำเนินการอีกต่อไป ต้องเปลี่ยนตัวผู้รับดำเนินการ หรือดำเนินการอื่นใดตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้รับดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้หรือข้อกำหนดที่สำนักงานออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศนี้
(2) จัดทำสรุปการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เสนอต่อผู้บริหารที่รับผิดชอบสูงสุดในการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ
(3) จัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจไว้ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยไม่ชักช้า
(4) จัดให้สำนักงานเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับดำเนินการได้ เมื่อสำนักงานร้องขอ
หมวด 3
เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติในการมอบหมายงาน
______________________________
ข้อ 20 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการทำสัญญามอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจเป็นลายลักษณ์อักษร โดยสัญญาดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับดำเนินการ โดยต้องระบุรายละเอียดอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) ความรับผิดต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้รับดำเนินการ
(ข) มาตรการที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องของผู้รับดำเนินการ ซึ่งต้องครอบคลุมถึงงานที่รับดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจ
(ค) การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การรักษาความลับ และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ และข้อมูลของลูกค้า
(ง) การกำหนดให้ผู้รับดำเนินการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน กำหนดเกี่ยวกับงานที่ได้รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว
(2) ให้ผู้รับดำเนินการยินยอมให้สำนักงานเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับดำเนินการ เรียกดู หรือตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้
(3) เหตุ เงื่อนไข และวิธีการ ในการเลิกสัญญาหรือระงับการดำเนินการ
(4) ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกเก็บ
ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการช่วง ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการให้ผู้รับดำเนินการจัดให้มีข้อสัญญาซึ่งมีรายละเอียดตามที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการมอบหมายงานกันกี่ทอดก็ตาม
ข้อ 21 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการจัดการเงินทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สัญญาตามข้อ 20 ต้องมีสาระสำคัญในเรื่องดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย
(1) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถสั่งการและกำหนดแนวทางการดำเนินการแก่ผู้รับดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่มอบหมาย
(2) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าตรวจสอบการดำเนินงานที่มอบหมายของผู้รับดำเนินการ เรียกดูหรือเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานที่มอบหมาย
(3) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของผู้รับดำเนินการที่อาจทำให้การมอบหมายงานไม่เป็นไปตามนโยบายการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการตามข้อ 7(1) และข้อ 8 หรืออาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถหรือความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ให้ผู้รับดำเนินการรายงานการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต่อผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่ชักช้า
(4) ในกรณีที่การมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการจัดการเงินทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าว เป็นงานจัดการลงทุนหรืองานบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับดำเนินการดังนี้
(ก) การกำหนดมาตรการที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องตามข้อ 20(1)(ข) ให้ครอบคลุมถึงการจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติงานสำรอง (alternate site) และจัดให้มีการทดสอบความพร้อมของศูนย์ปฏิบัติงานสำรองดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
(ข) ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการประสงค์จะมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการช่วงไม่ว่าในทอดใด ผู้รับดำเนินการต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ประกอบธุรกิจ ก่อนดำเนินการ
ข้อ 22 ในกรณีที่บริษัทในเครือของผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ทำสัญญามอบหมายงานกับผู้รับดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องมั่นใจได้ว่าสัญญาดังกล่าวจะรองรับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่ผู้รับดำเนินการมีต่อผู้ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ทำสัญญาด้วยตนเอง และผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการให้บริษัทในเครือมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายซึ่งผู้ประกอบธุรกิจกำหนดไว้ตามข้อ 8(2)
(2) ดำเนินการให้บริษัทในเครือกำหนดสาระสำคัญในสัญญาให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 20 รวมถึงข้อ 21 แล้วแต่กรณี และเพิ่มเติมข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ไว้ในสัญญาด้วย
(ก) ให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับประโยชน์ในงานที่บุคคลอื่นจะดำเนินการให้
(ข) ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจากผู้รับดำเนินการได้
(3) ตรวจสอบความถูกต้องของสัญญาให้เป็นไปตาม (2) และจัดเก็บสำเนาสัญญาดังกล่าวให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยไม่ชักช้า
ข้อ 23 ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจต่อสำนักงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการมอบหมายงานดังกล่าว และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งสำนักงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามแบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการช่วงไม่ว่าจะมีการมอบหมายงานกันกี่ทอดก็ตาม ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งต่อสำนักงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการเริ่มการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามแบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
ข้อ 24 ผู้ประกอบธุรกิจต้องรายงานสรุปการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ให้สำนักงานทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
หมวด 4
บทเฉพาะกาล
______________________________
ข้อ 25 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศที่ถูกยกเลิกโดยประกาศนี้และใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะมีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 26 การมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการตามประกาศที่ถูกยกเลิกโดยประกาศนี้ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจตามประกาศนี้
ให้ผู้ประกอบธุรกิจตามวรรคหนึ่งปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศนี้หรือตามข้อกำหนดที่สำนักงานออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศนี้ แต่ในกรณีที่นโยบายหรือสัญญาให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายหรือข้อสัญญาดังกล่าวให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561
(นายรพี สุจริตกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่มา: http://www.sec.or.th/