ประกาศแนวปฏิบัติที่ นป. 4/2561 เรื่อง ประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแลการจัดการลงทุนที่เป็นที่ยอมรับของสำนักงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 12, 2018 10:35 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศแนวปฏิบัติ

ที่ นป. 4/2561

เรื่อง ประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแลการจัดการลงทุนที่เป็นที่ยอมรับของสำนักงาน

__________________

ตามที่ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 60/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องมอบหมายงานจัดการลงทุนของกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรืองานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับดำเนินการต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแลการจัดการลงทุนที่สำนักงานยอมรับ นั้น

เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้นของผู้ประกอบธุรกิจ สำนักงานโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 4(1) ประกอบกับข้อ 18(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 60/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561จึงกำหนดแนวทางในการพิจารณายอมรับประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแลการจัดการลงทุนในระดับที่ได้มาตรฐานสากลหรือเทียบเคียงได้กับประเทศไทย รวมทั้งประกาศรายชื่อประเทศที่เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจได้มอบหมายงานจัดการลงทุนของกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรืองานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับดำเนินการต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่ตั้งอยู่ในประเทศที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานจะพิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 60/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561ในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว

(1) หน่วยงานกำกับดูแลผู้รับดำเนินการต่างประเทศตั้งอยู่ในประเทศที่ได้รับผลการประเมินมาตรฐานการกำกับดูแล Financial Sector Assessment Program (FSAP) ภายใต้มาตรฐานของ International Organization of Securities Commission (IOSCO) ในเรื่องที่เกี่ยวกับ Objectives and Principles of Securities Regulation หัวข้อเกี่ยวกับมาตรฐานการกำกับดูแลการจัดการโครงการจัดการลงทุน (collective investment scheme) ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวม (principle 24-27) ในระดับไม่ต่ำกว่า Broadly Implemented หรือเทียบเท่า เว้นแต่กรณีเป็นการมอบหมายงานจัดการลงทุนหรืองานจัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra Accredited Investor Mutual Fund) ที่ใช้กลยุทธ์การลงทุนในลักษณะเดียวกับของกองทุนประเภทเฮ็ดฟันด์ (hedge fund) ให้แก่ผู้รับดำเนินการต่างประเทศที่สามารถประกอบธุรกิจจัดการลงทุนของกองทุนประเภทเฮ็ดฟันด์ (hedge fund manager/adviser) ได้โดยชอบด้วยกฎหมายต่างประเทศที่บุคคลดังกล่าวประกอบธุรกิจอยู่ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถใช้ผลการประเมินหัวข้อเกี่ยวกับมาตรฐานการกำกับดูแลการจัดการกองทุนประเภทเฮ็ดจ์ฟันด์ (principle 28) แทนได้

เพื่อประโยชน์ตามข้อนี้

คำว่า “กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับความหมายของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ

(2) เคยผ่านการพิจารณาจากสำนักงานแล้วว่ามีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลการจัดการลงทุนที่สำคัญ เทียบเคียงได้กับหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมหรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี

ข้อ 2 ประเทศที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ เป็นประเทศที่สำนักงานพิจารณาแล้วว่าเป็นประเทศที่มีมาตรการกำกับดูแลการจัดการลงทุนที่ได้รับการยอมรับตามข้อ 1

ประกาศ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


แท็ก ตลาดทุน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ