ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 10/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 7, 2019 13:31 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 10/2562

เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอความยินยอม

ในการฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

_______________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 90/4 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 และกฎกระทรวงกำหนดหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ พ.ศ. 2559 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 20/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของ บริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ

“เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกันของผู้ประกอบธุรกิจ

“ผู้บริหารของลูกหนี้” หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของลูกหนี้อยู่ในวันที่มีการยื่นคำขอความยินยอม

“คำขอความยินยอม” หมายความว่า คำขอความยินยอมที่ยื่นต่อสำนักงานเพื่อใช้ประกอบการขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

“ทรัพย์สินของลูกค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่ถือว่าเป็นของลูกค้าตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ข้อ 3 ในกรณีที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ประสงค์จะยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการและลูกหนี้นั้นเป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิตอยู่แล้ว ก่อนได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือก่อนได้รับใบอนุญาตหรือจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ดังกล่าวยื่นคำขอความยินยอมต่อสำนักงานโดยแนบสำเนาหนังสือให้ความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย แล้วแต่กรณี เมื่อสำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าสำนักงานให้ความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบธุรกิจตามประกาศนี้แล้ว

ข้อ 4 เว้นแต่กรณีตามข้อ 3 ในกรณีที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ประสงค์จะยื่นคำขอความยินยอม สำนักงานจะให้ความยินยอมตามคำขอความยินยอมเมื่อลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ดังกล่าวสามารถแสดงได้ว่าลูกหนี้มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งรวมถึงการมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้และเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

(2) ต้องไม่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

(3) ต้องไม่ถูกศาลหรือนายทะเบียนมีคำสั่งให้เลิกหรือเพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ หรือมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคลนั้น หรือนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้ต้องเลิกกันด้วยเหตุอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าการชำระบัญชีของนิติบุคคลดังกล่าวจะเสร็จแล้วหรือไม่

(4) ต้องไม่เคยถูกศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการตามที่กำหนดในหมวด 3/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2561 ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนยื่นคำขอความยินยอม

(5) มีแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ที่มีความชัดเจนอย่างน้อยในเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลา การฟื้นฟูกิจการ แนวทางในการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้และการกลับมาดำเนินธุรกิจในอนาคต รวมถึงความเป็นไปได้ในการชำระหนี้คืนเจ้าหนี้

(6) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 หรือข้อ 9 แล้วแต่กรณี แล้วเสร็จในกรณีที่ลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำขอความยินยอม

ข้อ 5 ในการยื่นคำขอความยินยอมตามข้อ 4 ให้ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ยื่นคำขอความยินยอมต่อสำนักงานพร้อมเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

(1) ข้อความยืนยันว่าลูกหนี้มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อ 4(1) (2) (3) และ (4)

(2) แผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งแสดงรายละเอียดตามที่กำหนดในข้อ 4(5) และต้องแสดงหลักฐานเพิ่มเติมดังนี้

(ก) ในกรณีที่จะใช้แนวทางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเจ้าหนี้หรือส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ต้องแสดงหลักฐานว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าว ได้มีการบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้นระหว่างกันแล้ว

(ข) ในกรณีที่จะใช้แนวทางการหาแหล่งเงินทุนหรือผู้ร่วมทุนใหม่ ต้องแสดงหลักฐานที่มาของแหล่งเงินทุนใหม่ หรือหลักฐานว่าผู้ร่วมลงทุนรายใหม่มีเงินทุนหมุนเวียนของตนเองเพียงพอที่จะใช้เพื่อการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้หรือมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันการเงิน

(3) ชื่อและคุณสมบัติของผู้ทำแผน

(4) ต้องมีเอกสารและหลักฐานแสดงว่าลูกหนี้ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ 4(6) แล้ว

ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำขอความยินยอม ทั้งนี้ ในการยื่นคำขอความยินยอมของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบริษัทจัดการกองทุนรวม ให้ระบุชื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมนั้น เพื่อให้เข้าจัดการกองทุนรวมแทน รวมทั้งแนบหนังสือแสดงเจตจำนงของบริษัทจัดการกองทุนรวมรายใหม่มาพร้อมคำขอความยินยอมด้วย

ข้อ 6 ในกรณีที่ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นผู้ยื่นคำขอความยินยอม สำนักงานจะให้ความยินยอมตามคำขอความยินยอมต่อเมื่อลูกหนี้ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วนแล้วก่อนยื่นคำขอความยินยอม

(1) ระงับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภท เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้ ทั้งนี้ ต้องมีหนังสือแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการระงับการประกอบธุรกิจดังกล่าวด้วย

(ก) การป้องกันความเสี่ยงโดยรวมในเงินลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจหรือการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่

(ข) การขายหรือซื้อคืนหลักทรัพย์เพื่อการบังคับชำระหนี้ที่ลูกค้ามีต่อผู้ประกอบธุรกิจตามบัญชีมาร์จิ้นหรือบัญชีเงินสด แล้วแต่กรณี

(2) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีไว้เพื่อตนเอง เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้

(ก) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากเงินลงทุนหรือภาระผูกพันของผู้ประกอบธุรกิจ

(ข) การมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นไม่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีภาระผูกพันหรือก่อหนี้เพิ่มเติมในภายหลัง

(3) รวบรวมทรัพย์สินของลูกค้าคืนให้แก่ลูกค้า หรือโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปยังผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายอื่นที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ต้องมีการนำทรัพย์สินไปฝากไว้ในบัญชีของผู้ให้บริการรับฝากทรัพย์สินที่เป็นสถาบันการเงินรายอื่น ศูนย์รับฝากทรัพย์สิน หรือสำนักงานวางทรัพย์แทน

ในกรณีที่สำนักงานมีคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า เป็นอย่างอื่นเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าเป็นสำคัญ ผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการตามที่สำนักงานกำหนดแล้ว

(4) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าและความมั่นคงของระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ผู้ประกอบธุรกิจได้มีหนังสือแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการดำเนินการตาม (3) และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (3) ด้วย

ข้อ 7 ในกรณีที่ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นผู้ยื่นคำขอความยินยอม สำนักงานจะให้ความยินยอมตาม คำขอความยินยอมต่อเมื่อลูกหนี้ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วนแล้วก่อนยื่นคำขอความยินยอม

(1) ระงับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้ ทั้งนี้ ต้องมีหนังสือแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการระงับการประกอบธุรกิจดังกล่าด้วย

(ก) การป้องกันความเสี่ยงโดยรวมในเงินลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจหรือการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่

(ข) การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าเพื่อล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า

(2) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีไว้เพื่อตนเอง เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้

(ก) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากเงินลงทุนหรือภาระผูกพันของผู้ประกอบธุรกิจ

(ข) การมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นไม่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีภาระผูกพันหรือก่อหนี้เพิ่มเติมในภายหลัง

(3) โอนฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและทรัพย์สินของลูกค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายอื่นที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้ ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ต้องดำเนินการล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า และคืนทรัพย์สินคงเหลือ (ถ้ามี) ให้แก่ลูกค้า

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถคืนทรัพย์สินคงเหลือให้แก่ลูกค้าได้ตามวรรคหนึ่ง ต้องมีการนำทรัพย์สินดังกล่าวไปฝากไว้ในบัญชีของผู้ให้บริการรับฝากทรัพย์สินที่เป็นสถาบันการเงินรายอื่น ศูนย์รับฝากทรัพย์สิน หรือสำนักงานวางทรัพย์แทน

(4) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าและความมั่นคงของระบบการชำระราคาและส่งมอบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ประกอบธุรกิจได้มีหนังสือแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการดำเนินการตาม (3) และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (3) ด้วย

ข้อ 8 ในกรณีที่ลูกหนี้ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นผู้ยื่นคำขอความยินยอม สำนักงานจะให้ความยินยอมตามคำขอความยินยอมต่อเมื่อลูกหนี้ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วนแล้วก่อนยื่นคำขอความยินยอม

(1) ระงับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้

(ก) การดำเนินการตามความจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้รับความเสียหาย หรือการใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของกองทุนรวม ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน หรือเพื่อเปลี่ยนตราสารที่ครบกำหนดไถ่ถอนกับผู้ออกตราสารดังกล่าว

(ข) การบริหารเงินสะสมและเงินสมทบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วในขณะนั้น หรือการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพ

(ค) การรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุน ในกรณีเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวม

(2) แจ้งการยื่นคำขอความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้ถือหน่วยลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี แล้ว

ข้อ 9 นอกจากการดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 8 ผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้เพิ่มเติมแล้วก่อนยื่นคำขอความยินยอม

(1) ในกรณีที่เป็นการจัดการกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมได้ดำเนินการให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นเข้าจัดการกองทุนรวมแทนแล้ว ทั้งนี้ ในการคัดเลือกบริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่น ได้มีการคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญและได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมแต่ละกองแล้วด้วย

กรณีที่กองทุนรวมตามวรรคหนึ่งมีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย

(2) ในกรณีที่เป็นการจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงหรือได้ดำเนินการให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายอื่นเข้าจัดการกองทุนส่วนบุคคลแล้ว ทั้งนี้ ตามวิธีการที่ลูกค้าได้แจ้งความประสงค์ไว้

ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อลูกค้าเพื่อสอบถามความประสงค์ตามวรรคหนึ่งได้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรงแล้ว

(3) ในกรณีที่เป็นการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้ดำเนินการให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายอื่นเข้าจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ทั้งนี้ ตามความประสงค์ของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(4) ในกรณีที่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการให้ลูกค้าเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง และโอนบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุนรายอื่น หรือบริษัทจัดการกองทุนรวมซึ่งเป็นผู้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น แล้ว ทั้งนี้ ตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้

ผู้ประกอบธุรกิจได้แจ้งการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้ถือหน่วยลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี แล้ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 10 ในกรณีที่เจ้าหนี้ของลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 หรือข้อ 9 เป็นผู้ยื่นคำขอความยินยอม หากสำนักงานพิจารณาให้ความยินยอมตามคำขอความยินยอม สำนักงานอาจใช้อำนาจสั่งการให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ปฏิบัติตามความในข้อกำหนดดังกล่าวโดยอนุโลมภายในระยะเวลาที่สำนักงานเห็นสมควร

ข้อ 11 สำนักงานจะพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอความยินยอมทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอความยินยอมและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ ความยินยอมที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน

ข้อ 12 เมื่อลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอความยินยอมได้รับความยินยอมจากสำนักงานแล้ว ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับความยินยอม เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ หากไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ความยินยอมของสำนักงานเป็นอันสิ้นผลไป

ข้อ 13 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ