ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 14/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการให้บริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 12, 2019 13:47 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 14/2562

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการให้บริการสำหรับ

ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจ

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

___________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5(1) ประกอบกับข้อ 14 ข้อ 17 ข้อ 18 ข้อ 57 ข้อ 58 ข้อ 61 และข้อ 62 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐาน การประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ข้อ 11 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 51/2558 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ข้อ 12 และข้อ 25/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 6/2560 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และข้อ 56 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 94/2558 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 12/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 1/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 1/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“ประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยมาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 4 ข้อกำหนดในรายละเอียดตามประกาศนี้ กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

(1) ข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร ให้เป็นไปตามหมวด 1

(2) การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นหน่วยลงทุน ให้เป็นไปตามหมวด 2

(3) การให้บริการค้าตราสารหนี้ ให้เป็นไปตามหมวด 3

(4) การให้บริการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้เป็นไปตามหมวด 4

หมวด 1

ข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างการบริหารจัดการ

ระบบงาน และบุคลากร

ส่วนที่ 1

โครงสร้างองค์กรและความพร้อมด้านบุคลากร

ข้อ 5 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการแบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบหรือที่มีลักษณะการปฏิบัติงานที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ออกจากกันโดยอย่างน้อยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ติดต่อ ชักชวนหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์แก่ลูกค้า ออกจากหน่วยงานและบุคลากรที่ตัดสินใจลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) แบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากรที่ให้บริการด้านหลักทรัพย์ (front office) ออกจากหน่วยงานและบุคลากรที่ปฏิบัติการด้านหลักทรัพย์ (back office) และต้องจัดให้มีระบบ การสอบยันการปฏิบัติงานระหว่างบุคลากรในหน่วยงานดังกล่าว

ส่วนที่ 2

การบริหารและจัดการความเสี่ยง

ข้อ 6 ในการบริหารและจัดการความเสี่ยง ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดนโยบายหรือระเบียบวิธีปฏิบัติในการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับลักษณะและระดับความเสี่ยง ลักษณะการดำเนินธุรกิจ หรือแผนกลยุทธ์ของผู้ประกอบธุรกิจ โดยอย่างน้อยต้องครอบคลุมถึงเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การประเมินความเสี่ยง ได้แก่ การระบุความเสี่ยง การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการประเมินค่าความสี่ยง

(2) การจัดการกับความเสี่ยง

(3) การติดตามและทบทวนความเสี่ยง

(4) การรายงานผลการบริหารความเสี่ยง โดยต้องรายงานต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ

ในการกำหนดนโยบายหรือระเบียบวิธีปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ และต้องจัดให้มีการให้ความรู้และคำแนะนำแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บุคคลดังกล่าวเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งพิจารณาทบทวนความมีประสิทธิภาพและความเหมาะสมของนโยบายหรือระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนที่ 3

การจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับ

การประกอบธุรกิจ

ข้อ 7 ในการจัดให้มีระบบการจัดการและจัดเก็บข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีระบบการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(2) จัดให้มีระบบการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องล่วงรู้หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้

(3) จัดให้มีมาตรการป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากร

ข้อ 8 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดเก็บข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ โดยให้จัดเก็บตามระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคำขอเปิดบัญชีและการทำสัญญากับลูกค้า การตรวจสอบตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า ผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง และผู้มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมของลูกค้า หลักฐานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า วัตถุประสงค์การลงทุน ระดับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนของลูกค้า รวมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการปรับปรุงหรือทบทวนข้อมูลดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีเอกสารหลักฐานดังกล่าวและจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ทันที และต้องเก็บต่อไปอีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับแต่วันที่มีการปิดบัญชีหรือเลิกสัญญากับลูกค้า

(2) เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไม่ว่าจะดำเนินการในรูปแบบเอกสารหรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีเอกสารหลักฐานดังกล่าวและเก็บรักษาไว้ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีการซื้อขาย โดยในระยะเวลา 2 ปีแรกต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ทันที

ในกรณีที่เป็นการให้คำแนะนำ การรับส่งคำสั่งซื้อขาย หรือการเจรจาตกลงเกี่ยวกับการลงทุนทางโทรศัพท์ เครื่องบันทึกเสียงหรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใด ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดเก็บบันทึกการดำเนินการดังกล่าวด้วยเทปบันทึกเสียงหรือสิ่งบันทึกเสียงในรูปแบบอื่น เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือนนับแต่วันที่มีการดำเนินการดังกล่าว โดยหากมีข้อร้องเรียนและการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนยังไม่แล้วเสร็จ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดเก็บบันทึกดังกล่าวไว้ต่อไปจนกว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนแล้วเสร็จ

(3) รายงานหรือบทความการวิเคราะห์การลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดเก็บไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่เผยแพร่รายงานหรือบทความการวิเคราะห์ดังกล่าวให้แก่ลูกค้าโดยจัดเก็บไว้ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้ทันที

ในกรณีที่เป็นการให้คำแนะนำโดยผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการให้คำแนะนำ ทั้งบทวิเคราะห์หรือเอกสารประกอบการให้คำแนะนำอื่นใดไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่มีการให้คำแนะนำดังกล่าวในประเทศไทย

หมวด 2

การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์

ในตลาดทุนที่เป็นหน่วยลงทุน

ส่วนที่ 1

ข้อกำหนดทั่วไป

ข้อ 9 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีหลักฐานที่ลูกค้าสามารถใช้แสดงสิทธิในความเป็นเจ้าของหน่วยลงทุนและใช้อ้างอิงต่อบริษัทจัดการกองทุนรวมและบุคคลอื่นได้ ในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับเอกสารแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนที่ออกให้โดยบริษัทจัดการกองทุนรวม และในกรณีที่มีข้อจำกัดสิทธิของลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุข้อจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นในหลักฐานดังกล่าวด้วย

ส่วนที่ 2

การให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขาย

หน่วยลงทุน

ข้อ 10 ในกรณีที่โครงการจัดการกองทุนและหนังสือชี้ชวนกำหนดให้ระยะเวลาการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน แตกต่างจากระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของบริษัทจัดการกองทุนรวม ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) แจ้งให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจนถึงเวลาเปิดและปิดรับคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนที่แตกต่างจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนและหนังสือชี้ชวน สำหรับการขาย หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม

(2) ในกรณีที่ลูกค้ามีคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการซื้อขายหน่วยลงทุนกับผู้ประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าการส่งคำสั่งดังกล่าวจะมีผลเป็นการส่งคำสั่งของวันทำการถัดไป

ส่วนที่ 3

การให้บริการค้าหน่วยลงทุน

ข้อ 11 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการค้าหน่วยลงทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) แจ้งราคาเสนอซื้อขายและกำหนดเวลาที่ราคาเสนอซื้อขายจะสิ้นผลให้ลูกค้าทราบ โดยในกรณีที่การซื้อขายดังกล่าวมีเงื่อนไข ผู้ประกอบธุรกิจต้องชี้แจงเงื่อนไขให้ลูกค้าทราบโดยชัดเจน

(2) รับซื้อหรือเสนอขายตามราคาเสนอซื้อขาย โดยผู้ประกอบธุรกิจจะปฏิเสธไม่รับซื้อหรือขายได้เฉพาะกรณีที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขและเปิดเผยให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการปฏิเสธแก่ลูกค้าได้อย่างชัดเจน

(3) ในกรณีที่ได้รับแต่งตั้งจากบริษัทจัดการกองทุนรวมให้เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องให้แก่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมใด หากโครงการจัดการกองทุนรวมนั้นมีการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ดูแลสภาพคล่องไว้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าว

ส่วนที่ 4

การให้บริการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน

ข้อ 12 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) เพื่อให้การจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนเป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนตามข้อกำหนดในข้อ 56(1) แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวนทั้งนี้ ในกรณีที่ในหนังสือชี้ชวนไม่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนไว้ให้ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน วิธีการจองซื้อ และเงื่อนไขในการจัดสรรหน่วยลงทุนโดยเปิดเผยให้ลูกค้าทราบก่อนการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้นด้วย

(2) เพื่อให้การจัดการและจัดเก็บเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนเป็นไปตามข้อกำหนดในข้อ 56(4) แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน เข้าบัญชีเพื่อการจองซื้อหน่วยลงทุนของผู้เสนอขายหน่วยลงทุน หรือแยกเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนออกจากบัญชีทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจภายในวันทำการถัดจากวันที่ผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บเงินจากลูกค้าที่จองซื้อหน่วยลงทุนได้ โดยต้องไม่นำเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวไปใช้ในกิจการใด ๆ

(3) เพื่อให้การคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ลูกค้าเป็นไปตามข้อกำหนดในข้อ 56(5) แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ลูกค้าที่จองซื้อหน่วยลงทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรรภายใน 14 วันทำการนับแต่วันปิดการเสนอขายหากผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถคืนเงินให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องมีข้อกำหนดให้ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลานั้น

ส่วนที่ 5

การให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน

แบบไม่เปิดเผยชื่อ

ข้อ 13 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) ตามข้อ 57 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีระบบในการปฏิบัติงานที่ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับการปฏิบัติอย่างสุจริตและเป็นธรรมในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การจัดทำบัญชีรายชื่อลูกค้า

(2) การแยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ

(3) การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

(4) การจัดทำรายงานให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน

(5) การจัดส่งรายงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ลูกค้าในระยะเวลาที่เหมาะสม

ข้อ 14 ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งการเริ่มให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) ต่อสำนักงานเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าก่อนให้บริการแก่ลูกค้า

ข้อ 15 ในการให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) สำหรับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ตรวจสอบหรือดำเนินการให้มีการตรวจสอบว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดในบัญชีดังกล่าวถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าอัตราที่กำหนด

(2) แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบโดยพลันเมื่อปรากฏว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดในบัญชีนั้นถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้นให้ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุด้วยว่าเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามกรณีใด

(3) แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบ เมื่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดที่ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าอัตราที่กำหนด มีการลดสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนจนเป็นไปตามอัตราที่กำหนดแล้ว

(4) ไม่นับคะแนนเสียงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นในส่วนที่ต้องห้ามมิให้นับรวมจำนวนเสียงในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนในบัญชีดังกล่าว

(5) ไม่จ่ายเงินปันผลให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นในส่วนที่ต้องห้ามและยกเงินปันผลส่วนดังกล่าวให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน สำหรับกรณีการเกินสัดส่วนการถือ หน่วยลงทุนที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามที่ระบุไว้ในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวมการพิจารณาความเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ

หมวด 3

การให้บริการค้าตราสารหนี้

ข้อ 16 ในกรณีที่เป็นการให้บริการค้าตราสารหนี้ตามข้อ 61 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าราคาที่เสนอซื้อขายหลักทรัพย์เป็นราคาที่แน่นอน (firm quotation) หรือเป็นราคาที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ (indicative quotation) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอราคาซื้อขายหลักทรัพย์เป็นราคาที่แน่นอน ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) รับซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามราคาเสนอซื้อขายดังกล่าว โดยทำความเข้าใจกับลูกค้าให้ชัดเจนเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่ราคาเสนอซื้อขายจะสิ้นผล

(2) กรณีที่ราคาเสนอซื้อขายดังกล่าวมีเงื่อนไข ผู้ประกอบธุรกิจต้องชี้แจงเงื่อนไขให้ลูกค้าทราบอย่างชัดเจน โดยผู้ประกอบธุรกิจจะปฏิเสธไม่รับซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามราคาเสนอซื้อขายดังกล่าวได้เฉพาะกรณีที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการปฏิเสธแก่ลูกค้าอย่างชัดเจนด้วย

ข้อ 17 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจรับซื้อตราสารหนี้จากบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้แก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจกหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลอื่นเกี่ยวกับการเสนอขายตราสารหนี้ รวมทั้งส่งเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (fact sheet) ให้เป็นไปตามหน้าที่ซึ่งบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจำหน่ายตราสารหนี้และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกใหม่ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ด้วย ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจส่งเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของตราสารให้ลูกค้าก่อนที่ลูกค้าจะยืนยันการทำธุรกรรม

ข้อ 18 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจอาจไม่เป็นสมาชิกของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยตามข้อ 62 แห่งประกาศมาตรฐานการประกอบธุรกิจก็ได้

(1) ผู้ประกอบธุรกิจหยุดประกอบธุรกิจการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้หรือหยุดให้บริการเกี่ยวกับตราสารหนี้

(2) ผู้ประกอบธุรกิจได้มีหนังสือแจ้งหยุดตาม (1) ต่อสำนักงานแล้ว

(3) ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายตราสารหนี้คงค้างที่จะต้องรายงานต่อสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ข้อ 19 ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยต่อสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย โดยให้เป็นไปตามแบบ วิธีการ และระยะเวลาที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกำหนดเพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง ให้การรายงานข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้รวมถึงการรายงานการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตราสารหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกู้ยืมด้วย

หมวด 4

การให้บริการเป็นตัวแทนซื้อขาย

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 20 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่รับรองกับลูกค้าว่าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะ มีกำไรหรือผลตอบแทนในอัตราที่แน่นอน หรือรับรองว่าจะไม่มีผลขาดทุนในอัตราที่กำหนดแน่นอน เว้นแต่เป็นการให้คำรับรองตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด

(2) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งถึงฐานะดังกล่าวให้ลูกค้าทราบและลูกค้าได้แสดงความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 21 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ให้จัดเก็บหลักฐานดังกล่าวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 8

(1) หลักฐานเกี่ยวกับการรับส่งคำสั่งซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้า

(2) หลักฐานยืนยันการเรียกหลักประกันเพิ่มเติม ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเรียกให้ลูกค้านำทรัพย์สินมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม

(3) บัญชีแสดงรายการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าแต่ละรายผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งหลักฐานยืนยันการเรียกหลักประกันเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง ให้แก่ลูกค้าตามวิธีการที่ได้ตกลงไว้กับลูกค้าภายในวันทำการถัดจากวันที่มีการเรียกหลักประกันเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกิดขึ้นหลังเวลาปิดทำการซื้อขายภาคปกติ เป็นการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกิดขึ้นในวันทำการถัดจากวันที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นให้แก่ลูกค้า

ข้อ 22 ในการจัดทำบัญชีแสดงรายการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าแต่ละราย ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้

(1) ประเภทของลูกค้า โดยให้ระบุว่าเป็นผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายย่อย และในกรณีที่ลูกค้าเป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อขายเพื่อบุคคลอื่นหลายรายหรือหลายทอดผ่านบัญชีแบบไม่เปิดเผยชื่อ (omnibus account) ให้ระบุกรณีดังกล่าวไว้ด้วย

(2) ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสูงสุดที่ลูกค้าอาจมีได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง

(3) ฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าที่คงค้างอยู่ (open interest)

(4) จำนวนและประเภทของทรัพย์สินที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกัน หรือเพื่อชำระราคาและส่งมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อสัญญาครบกำหนด

(5) ผลกำไรขาดทุนจากฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าและมูลค่าหลักประกันคงเหลือภายหลังจากการปรับมูลค่าตามราคาตลาด (mark to market) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(6) จำนวนและประเภทของทรัพย์สินที่เกินกว่ามูลค่าหลักประกันรักษาสภาพ

ข้อ 23 ให้บรรดาคำสั่งหรือหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 12/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งหรือหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 24 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 12/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการสำหรับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2558 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ