ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่ ทน. 13/2562
เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม
และหน้าที่ของบริษัทจัดการ
(ฉบับที่ 6)
_________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 117 และมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 8 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 46/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 11/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 8 ข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 7 ให้มีข้อยกเว้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นบุคคลดังนี้
(ก) กองทุนดังนี้
1. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
2. กองทุนประกันสังคม
3. กองทุนการออมแห่งชาติ
4. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ
5. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
6. กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป
7. กองทุนอื่นใดที่สำนักงานพิจารณาว่ามีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนตาม 1. ถึง 6.
8. กองทุนต่างประเทศที่มีลักษณะตาม 1. ถึง 7.
(ข) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยนอกเหนือจากกองทุนตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
(ค) บุคคลซึ่งลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายใต้โครงการระหว่างประเทศโดยเป็นการลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนที่มิได้มีสัญชาติไทยหรือผ่านบัญชีแบบไม่เปิดเผยชื่อ (omnibus account)
(ง) บุคคลอื่นที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร
(2) กรณีที่เป็นการถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีลักษณะครบถ้วนตามข้อ 8/1 ดังนี้
(ก) กองทุนรวมอีทีเอฟ เฉพาะกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่หรือผู้ดูแลสภาพคล่องที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการ
“ผู้ลงทุนรายใหญ่” และ “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” ตาม (2) (ก) ให้หมายความถึงผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ดูแลสภาพคล่อง ตามที่กำหนดไว้ในประกาศที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและการจัดการกองทุนรวมอีทีเอฟ
(ข) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่มีการรับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของหน่วยลงทุนที่รองรับการรับโอนเงินดังกล่าว “เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ให้หมายความดังนี้
1. เงินที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพรับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
2. เงินที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพรับโอนต่อเนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพอื่น
3. ผลประโยชน์อันเกิดจากเงินตาม 1. และ 2.
(ค) กรณีอื่นนอกเหนือจากกรณีตาม (2) (ก) และ (ข) ซึ่งเป็นการถือหน่วยลงทุนที่มีระยะเวลาติดต่อกันไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่ ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควรโดยพิจารณาถึงประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวเป็นสำคัญ”
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 8/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 46/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
“ข้อ 8/1 กองทุนรวมที่จะได้รับการยกเว้นตามข้อ 8(2) ต้องมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้
(1) การถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินกว่าข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน ต้องมิได้เป็นไปโดยมุ่งแสวงหาประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากประโยชน์ทั่วไปที่พึงได้รับจากการลงทุน เช่น เงินปันผล หรือสิทธิออกเสียง เป็นต้น
(2) มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมรับทราบถึงการมีผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือเกินกว่าข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน ซึ่งอาจกระทบต่อการบริหารจัดการกองทุนรวมหรือการเลิกกองทุนรวมได้”
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562
(นายรพี สุจริตกุล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่มา: http://www.sec.or.th/