ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 20/2562 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 12)

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 10, 2019 15:43 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 20/2562

เรื่อง การลงทุนของกองทุน

(ฉบับที่ 12)

___________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 109 วรรคหนึ่ง และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (1) ของวรรคหนึ่งในข้อ 16 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 14/2560 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) จัดทำรายงาน โดยระบุอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าว และสาเหตุที่ไม่สามารถดำรงอายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุนดังกล่าวตามที่กำหนดในภาคผนวก 2 รวมทั้งจัดส่งต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานดังกล่าวไว้ที่ บริษัทจัดการ”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 14/2560 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 17 ในกรณีที่กองทุนมีการลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ แต่ต่อมาทรัพย์สินที่ลงทุนมีคุณสมบัติที่เปลี่ยนแปลงไปจนเป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นทรัพย์สินที่กองทุนสามารถลงทุนได้อีกต่อไป บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนและวันที่ทรัพย์สินขาดคุณสมบัติ และจัดส่งรายงานต่อผู้ดูแลผลประโยชน์หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) จำหน่ายทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาดังนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 20

(ก) 30 วันนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นขาดคุณสมบัติ กรณีเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน

(ข) 90 วันนับแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นขาดคุณสมบัติ กรณีเป็นกองทุนรวมหรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นนอกเหนือจากกองทุนตาม (ก)

(3) เมื่อบริษัทจัดการสามารถจำหน่ายทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติ หรือทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปจนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว บริษัทจัดการต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงวันที่ได้จำหน่ายทรัพย์สินนั้นออกไปหรือวันที่ทรัพย์สินมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ แล้วแต่กรณี และให้จัดส่งรายงานต่อผู้ดูแลผลประโยชน์หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่เกิดกรณีดังกล่าว

ในกรณีที่บริษัทจัดการไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินที่ขาดคุณสมบัติให้เป็นไปตาม (2) (ข) บริษัทจัดการต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามวรรคหนึ่ง พร้อมสาเหตุที่ไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าว และจัดส่งรายงานต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว

ในกรณีที่บริษัทจัดการได้ลงทุนในทรัพย์สินเพื่อกองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน ให้จัดส่งรายงานตามวรรคหนึ่ง (1) และ (3) วรรคหนึ่ง ต่อสำนักงานด้วย”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 18 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 2/2561 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 18 ในกรณีที่ทรัพย์สินในขณะที่กองทุนมีการลงทุนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด แต่ต่อมาการลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนเป็นเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน โดยมิได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเภท จำนวน อัตราส่วนการลงทุน และวันที่การลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน และจัดส่งรายงานดังกล่าวต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) ไม่ลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินที่เกินอัตราส่วนการลงทุนจนกว่าจะสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด

(3) แก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาดังนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 20

(ก) 30 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ในกรณีที่ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามประเภททรัพย์สิน (product limit) สำหรับการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามภาคผนวกดังนี้

1. ภาคผนวก 4-retail MF ส่วนที่ 3 ในข้อ 1

2. ภาคผนวก 4-UI ในข้อ 1

3. ภาคผนวก 4-AI ส่วนที่ 3 ในข้อ 1

4. ภาคผนวก 4-VAYU ส่วนที่ 3 ในข้อ 1

(ข) 90 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว สำหรับกรณีอื่นใดนอกเหนือจากกรณีตาม (3) (ก) หรือ (ค) เว้นแต่กรณีเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน บริษัทจัดการต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 30 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว

(ค) 180 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว สำหรับกรณีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่การลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนเนื่องจากมีการลดหรือเพิ่มจำนวนนายจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจนเป็นเหตุให้นายจ้างรายใดรายหนึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในส่วนของนายจ้างรายนั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(4) เมื่อบริษัทจัดการสามารถแก้ไขจนเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดแล้ว บริษัทจัดการต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงวันที่สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน แล้วแต่กรณี และจัดส่งรายงานดังกล่าวต่อผู้ดูแลผลประโยชน์หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนได้

ในกรณีที่บริษัทจัดการไม่สามารถแก้ไขให้ไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดตาม (3) (ก) (ข) หรือ (ค) บริษัทจัดการต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามวรรคหนึ่ง พร้อมสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าว และจัดส่งรายงานต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว

(5) ในกรณีที่กองทุนมีหุ้นของบริษัทใดโดยไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) ตามที่กำหนดในภาคผนวก 4-retail MF ภาคผนวก 4-AI ภาคผนวก 4-PVD หรือภาคผนวก 4-VAYU แล้วแต่กรณี นอกจากการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (3) และ (4) แล้ว บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังนี้ด้วย

(ก) งดเว้นการใช้สิทธิออกเสียงในหุ้นจำนวนที่เกินอัตราส่วนการลงทุน เว้นแต่กรณีจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(ข) ลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือลดการมีอำนาจควบคุม หรือยื่นคำขอผ่อนผันการทำคำเสนอซื้อ ในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน และการได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทดังกล่าวเป็นผลให้กองทุนได้มาหรือเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นจนถึงหรือข้ามจุดที่ต้องทำคำเสนอซื้อ

ในกรณีที่บริษัทจัดการได้ลงทุนในทรัพย์สินเพื่อกองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตลาดเงิน ให้จัดส่งรายงานตามวรรคหนึ่ง (1) และ (4) วรรคหนึ่ง ต่อสำนักงานด้วยความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้กับกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนเพียงครั้งเดียวโดยถือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้จนครบกำหนดอายุของทรัพย์สิน หรือครบอายุของรอบการลงทุนของกองทุนรวม หรือครบอายุของกองทุนรวม (กองทุน buy & hold)

(2) กองทุนรวมฟีดเดอร์ ในส่วนที่เป็นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของกองทุนต่างประเทศที่ไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) โดยให้ดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 18/1 หรือข้อ 18/2 แล้วแต่กรณี”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 18/1 และข้อ 18/2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 46/2560 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 18/1 ในกรณีกองทุนรวมฟีดเดอร์ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งก่อนวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้ หากปรากฏว่ามีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของกองทุนต่างประเทศไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) เป็นเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน

(1) จัดทำรายงานโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเภท จำนวน อัตราส่วนการลงทุน และวันที่การลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุน และจัดส่งรายงานดังกล่าวต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ

(2) ห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อขยายวงเงินสำหรับการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมฟีดเดอร์ดังกล่าวที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงานแล้ว จนกว่าการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของกองทุนต่างประเทศจะเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด

(3) ในกรณีที่มีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของกองทุนต่างประเทศที่มีผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการกองทุนดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับบริษัทจัดการกองทุนรวมตามภาคผนวก 6 และมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากกองทุนรวมฟีดเดอร์หรือผู้ถือหน่วยลงทุนในลักษณะที่ซ้ำซ้อนกับกองทุนรวมหรือกองทุนต่างประเทศ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงดังกล่าว รวมถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายนั้น ภายใน 30 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว

(4) ในกรณีที่อัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวมฟีดเดอร์เป็นไปตามที่กำหนดแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงวันที่อัตราส่วนเป็นไปตามที่กำหนด และจัดส่งรายงานดังกล่าวต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่อัตราส่วนการลงทุนเป็นไปตามที่กำหนด

ข้อ 18/2 ในกรณีกองทุนรวมฟีดเดอร์ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งหลังวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้ หากปรากฏว่ามีการลงทุนในหน่วยลงทุน ของกองทุนรวมหรือหน่วยของกองทุนต่างประเทศไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่คำนวณตามความมีส่วนได้เสียในกิจการที่ลงทุน (concentration limit) เป็นเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน

(1) ดำเนินการตามข้อ 18/1(1)

(2) แก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าวภายในโอกาสแรกโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลา 180 วันนับแต่วันครบระยะเวลาดังกล่าว

(3) หากบริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนได้ ให้จัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ จำนวน อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว รวมถึงวันที่อัตราส่วนเป็นไปตามที่กำหนด และจัดส่งรายงานดังกล่าวต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันครบระยะเวลาตาม (2)

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถแก้ไขอัตราส่วนการลงทุนได้ ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินที่เกินอัตราส่วนการลงทุนจนกว่าจะเป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด และให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำรายงานข้อมูลตามวรรคหนึ่งพร้อมสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าว และจัดส่งรายงานต่อสำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์ ทั้งนี้ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันครบระยะเวลาตาม (2)”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 21 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 14/2560 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) จัดทำรายงานเกี่ยวกับการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน พร้อมทั้งเหตุผลที่ทำให้มีการลงทุนไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน และจัดส่งรายงานต่อสำนักงาน รวมทั้งจัดส่งต่อผู้ดูแลผลประโยชน์หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุน ตลอดจนจัดเก็บสำเนารายงานไว้ที่บริษัทจัดการ”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกภาคผนวกดังต่อไปนี้ และให้ใช้ภาคผนวก 1 ภาคผนวก 3 ภาคผนวก 4-VAYU ภาคผนวก 5 ภาคผนวก 4-PVD ภาคผนวก 4-retail MF ภาคผนวก 2 และภาคผนวก 4-AI ท้ายประกาศนี้แทน

(1) ภาคผนวก 1 ภาคผนวก 3 ภาคผนวก 4-VAYU และภาคผนวก 5 ท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 28/2561 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

(2) ภาคผนวก 4-PVD และภาคผนวก 4-retail MF ท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 2/2561 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2561

(3) ภาคผนวก 2 และภาคผนวก 4-AI ท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 14/2560 เรื่อง การลงทุนของกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข้อ 7 ในกรณีที่กองทุนมีการลงทุนในทรัพย์สินใดไว้แล้วโดยชอบก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ต่อมาการลงทุนในทรัพย์สินนั้นไม่เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้โดยไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่ม ให้กองทุนดังกล่าวยังคงลงทุนในทรัพย์สินนั้นต่อไปได้ แต่หากทรัพย์สินนั้นได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ให้คงทรัพย์สินนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลืออยู่ และห้ามมิให้ลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินที่เกินอัตราส่วนการลงทุนจนกว่าจะสามารถแก้ไขให้เป็นไปตามอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนด

ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ