การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศโฆษณา

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 11, 2008 07:57 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                            11 กุมภาพันธ์  2551
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย
บริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ค้าหน่วยลงทุน หรือ
จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ กลต.น.(ว) 3/2551 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศโฆษณา
ด้วยสำนักงานได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 7/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขาย หน่วยลงทุนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุน ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551(“ประกาศโฆษณา”) โดยให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทนประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 62/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการโฆษณากิจการของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อส่งเสริมการขายและให้บริการเกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมและการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกัน และให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของประกาศ โฆษณาฉบับใหม่ได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจ ดังนี้
1. ผู้ถูกกำกับดูแล
ขยายขอบเขตการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงการโฆษณาของตัวแทนขายหน่วยลงทุน(LBDU) ให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศนี้ด้วย
2. แนวทางการให้ความเห็นชอบ
ปรับปรุงให้การโฆษณาสามารถกระทำได้โดยบริษัทหลักทรัพย์ไม่ต้อง ขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการโฆษณา เว้นแต่การโฆษณาที่เกี่ยวกับประมาณการผลตอบแทนในอนาคตต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อน ทั้งนี้ ในการโฆษณา บริษัทหลักทรัพย์ต้องตระหนักถึงความถูกต้องและความเหมาะสมของข้อมูลที่ใช้ในโฆษณาไม่ให้เป็นเท็จ เกินความจริง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด รวมทั้งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่น ๆ เช่น การระบุคำเตือน การโฆษณาระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม หรือการโฆษณาที่มีข้อความที่คัดลอกหรืออ้างอิงจากบทความอื่น เป็นต้น
3. หลักเกณฑ์ในการโฆษณา
3.1 ข้อมูลที่ใช้ในโฆษณาไม่ว่าจะเป็น ตัวเลข แผนภาพ เสียง หรือข้อความ ต้องไม่เป็นเท็จ เกินความจริง หรือทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิด ตัวอย่างของโฆษณาที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การโฆษณาที่ไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ในรายละเอียดโครงการและหนังสือชี้ชวน การโฆษณาที่ทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจได้ว่าจะไม่สูญเสียเงินลงทุนสำหรับกองทุนที่ไม่ใช่กองทุนรวมมีประกัน การแสดงผลการดำเนินงานในอดีตเฉพาะบางช่วงเวลาที่อาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่าผลการดำเนินงานในอดีตดีกว่าความเป็นจริง การโฆษณาอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เพื่อให้ผู้ลงทุนสำคัญผิดว่าคือ ผลการดำเนินงานของกองทุน เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ควรหลีกเลี่ยงคำกล่าวอ้างแบบไม่มีหลักฐาน และอาจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของกองทุน เช่น “ลงทุนคุ้มค่าที่สุด” “ผลการลงทุนที่น่าพอใจ” หรือ “ให้เงินลงทุนเติบโตสม่ำเสมอ”
3.2 ห้ามใช้ข้อมูลในลักษณะเป็นการเร่งรัดการซื้อหน่วยลงทุน เช่น “ลงทุนเดี๋ยวนี้ โอกาสเดียวได้รับผลตอบแทนสูง” “นี่เป็นเวลาลงทุนที่ดีที่สุด” “ซื้อหน่วยลงทุนก่อนที่จะสายเกินไป” “โอกาสสุดท้าย ก่อน IPO จะสิ้นสุด” หรือ “ซื้อหน่วยลงทุนภายในเดือนนี้จะได้รับ
ของสมนาคุณต่าง ๆ” เป็นต้น เนื่องจากผู้ลงทุนควรมีเวลาในการตัดสินใจลงทุนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ข้อห้ามดังกล่าวไม่ใช้กับการโฆษณาสำหรับกองทุน LTF และ RMF ในเรื่องระยะเวลาลงทุนเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีที่ลงทุน บริษัทหลักทรัพย์อาจระบุเงื่อนไขหรือระยะเวลาในการลงทุน LTF หรือ RMF เพื่อให้ผู้ลงทุนทำการลงทุนให้ทันต่อการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปีนั้นได้
4. การประมาณการผลตอบแทนในอนาคต
4.1 รูปแบบและเงื่อนไข
- การประมาณการผลตอบแทนในอนาคต สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ
(ก) การระบุตัวเลขผลตอบแทนที่แน่นอน
(ข) ระบุอัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาที่แน่นอน (auto redemption) ที่บริษัทจัดการมีเจตนาจ่ายคืนผู้ถือหน่วยลงทุนจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน
ตัวอย่าง
รูปแบบ การประมาณการผลตอบแทน
1. ระบุตัวเลขที่แน่นอน ผลตอบแทนประมาณ 4.00% ต่อปี
2. ระบุอัตรารับซื้อคืนอัตโนมัติ รับซื้อคืนหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 3.75% ต่อมูลค่าเงินลงทุน
ทั้งนี้ การประมาณการผลตอบแทนในอนาคตต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความสมเหตุสมผลตามหลักวิชาการ โดยข้อมูลที่นำมาใช้ในการประมาณการดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลล่าสุดและเป็นที่ยอมรับเป็นการทั่วไป
- การประมาณการผลตอบแทนข้างต้นสามารถกระทำได้สำหรับกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคลที่พอร์ตการลงทุนไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุโครงการหรือรอบการลงทุนเท่านั้น กล่าวคือ มีการถือทรัพย์สินที่ลงทุนตลอดอายุโครงการหรือรอบการลงทุน โดยต้องเปิดเผยรายละเอียด
พอร์ตการลงทุน เช่น ประเภททรัพย์สินที่จะลงทุน สัดส่วนการลงทุน ระยะเวลาลงทุน ผลตอบแทนของทรัพย์สิน ที่จะลงทุน และค่าใช้จ่าย เป็นต้น ไว้ในโฆษณา รวมทั้งในโครงการและหนังสือชี้ชวนหรือในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลการลงทุนได้
อย่างไรก็ตาม การประมาณการผลตอบแทนซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริง มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ผลตอบแทนตามที่ระบุไว้ หากสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนตระหนักว่าบริษัทหลักทรัพย์มิได้รับประกันผลตอบแทนแต่อย่างใด จึงต้องจัดให้มีคำเตือนเพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบว่าผู้ลงทุน
อาจไม่ได้รับผลตอบแทนหรืออัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามที่โฆษณาไว้
4.2 ขนาดและรูปแบบการนำเสนอ
- ตัวเลขประมาณการผลตอบแทนในอนาคตต้องไม่มีลักษณะที่โดดเด่นเกินข้อมูลอื่น ๆ ในโฆษณา และบริษัทหลักทรัพย์ต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาอื่นในโฆษณาด้วย เช่น ความเสี่ยง นโยบาย หรือข้อจำกัดการลงทุน เป็นต้น เนื่องจากการประมาณการผลตอบแทนเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนเท่านั้น การแสดงตัวเลขผลตอบแทนให้โดดเด่นกว่าข้อมูลอื่นอาจส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงหรือวัตถุประสงค์การลงทุน
- ข้อมูลประกอบเกี่ยวกับพอร์ตการลงทุนและขนาดคำเตือนตามข้อ 4.1 ต้องมีความชัดเจนและไม่เล็กไปกว่าตัวอักษรปกติของข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้ในโฆษณานั้น และต้องจัดไว้ใกล้กับตัวเลขประมาณการ โดยต้องอยู่ในหน้าเดียวกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบคำเตือนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน
ตัวอย่างที่ถูกต้อง
ผลตอบแทนประมาณ 2.93%
ตราสารที่ลงทุน ผลตอบแทนของตราสาร สัดส่วนการลงทุน ระยะเวลาลงทุน
ลงทุนใน LB 104A 4.17% ร้อยละ 89 1 ปี
เงินฝากประจำ 2.25% ร้อยละ 10 1 ปี
*หักค่าใช้จ่ายประมาณ 1% แหล่งที่มาของข้อมูล XXXX ณ วันที่ XXXXX
หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ถือหน่วยอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่โฆษณาไว้
ตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง
ผลตอบแทนประมาณ 2.93 %
ตราสารที่ลงทุน ผลตอบแทนของตราสาร สัดส่วนการลงทุน ระยะเวลาลงทุน
ลงทุนใน LB 104A 4.17% ร้อยละ 89 1 ปี
เงินฝากประจำ 2.25% ร้อยละ 10 1 ปี
*หักค่าใช้จ่ายประมาณ 1% แหล่งที่มาของข้อมูล XXXX ณ วันที่ XXXXX
หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ถือหน่วยอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่โฆษณาไว้
4.3 ช่องทางการนำเสนอ
การเผยแพร่โฆษณาเกี่ยวกับการประมาณการผลตอบแทน สามารถทำได้ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีเวลาศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลประกอบการพิจารณาได้อย่างเพียงพอก่อนตัดสินใจลงทุน ตลอดจนตระหนักในเรื่องความไม่แน่นอนของประมาณการผลตอบแทน ซึ่งสื่อบางประเภท เช่น วิทยุและโทรทัศน์มีข้อจำกัดเรื่องเวลา หรือข้อจำกัดในการนำเสนอภาพหรือข้อมูลที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้อย่างครบถ้วน หรือไม่สามารถนำข้อมูลกลับมาทบทวนได้
4.4 ผู้ขอความเห็นชอบการประมาณการผลตอบแทน
บริษัทจัดการต้องเป็นผู้จัดทำข้อมูลประกอบการประมาณการผลตอบแทนเพื่อขอความเห็นชอบต่อสำนักงานก่อนการโฆษณาเท่านั้น ทั้งนี้ ตัวแทนขายหน่วยลงทุน (LBDU) สามารถนำข้อมูลดังกล่าวที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้วไปเผยแพร่ต่อได้ โดยห้ามเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว
5 การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลตอบแทนหรือผลการดำเนินงานในอดีต
5.1 ขนาดและรูปแบบการนำเสนอ
ตัวเลขผลตอบแทนหรือการดำเนินงานในอดีตต้องไม่มีลักษณะโดดเด่นเกินกว่าข้อมูลส่วนอื่นในโฆษณา เนื่องจากการโฆษณาในลักษณะที่เน้นการแสดงผลตอบแทนหรือการดำเนินงาน ในอดีตอย่างไม่เหมาะสมอันอาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ให้ความสำคัญต่อข้อมูลสาระสำคัญอื่น ๆ และทำให้เกิด
ความเข้าใจผิดได้ นอกจากนี้ ในการโฆษณาในเรื่องดังกล่าวต้องมีการระบุคำเตือนที่แสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนหรือผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนหรือผลการดำเนินงาน ในอนาคต และข้อความที่ระบุว่าการวัดผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนจัดทำขึ้นตามมาตรฐานของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (“สมาคมฯ”) โดยให้นำเสนอคำเตือนและข้อความดังกล่าวไว้ใกล้กับตัวเลขผลตอบแทนหรือผลการดำเนินงานในอดีตและอยู่ในหน้าเดียวกัน
5.2 ช่องทางการนำเสนอ
การนำเสนอผลการดำเนินงานในอดีตตามมาตรฐานสมาคมฯ นั้น ต้องระบุรายละเอียดค่อนข้างมาก เช่น ต้องแสดงผลตอบแทนในช่วงระยะเวลาอย่างน้อยตามที่สมาคมฯ กำหนด และต้องแสดงเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบ เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจและสามารถศึกษาข้อมูลได้อย่างถี่ถ้วน จึงใช้หลักการเดียวกับช่องทางการนำเสนอของการประมาณการผลตอบแทนในอนาคต คือ ผ่านทางสื่อสิ่งพิมพ์กับ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เท่านั้น
5.3 การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในอดีต
การคำนวณผลการดำเนินงานในอดีตเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบระหว่างกองทุนกับการลงทุนโดยวิธีอื่น บริษัทจัดการหรือตัวแทนขายหน่วยลงทุน (LBDU) ต้องคำนวณผลการดำเนินงานของกองทุนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสมาคมฯ และต้องระบุข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญที่สามารถทำให้
ผู้ลงทุนเข้าใจถึงความแตกต่างในลักษณะการลงทุนแต่ละประเภทอย่างชัดเจนไว้ในโฆษณาด้วย
6. กองทุนรวมมีประกัน
ในกรณีที่เป็นการโฆษณาสำหรับกองทุนรวมมีประกัน ต้องมีการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับ การประกันหรือผู้ประกันด้วย เช่น จำนวนเงินลงทุนหรือผลตอบแทนที่ประกัน ชื่อผู้ประกัน หรือระยะเวลาการประกัน เป็นต้น
7. การจัดอันดับและรางวัล
การแสดงข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดอันดับและรางวัลที่เกี่ยวกับการวัดผลการดำเนินงาน ในอดีตของกองทุนรวม ต้องจัดทำข้อมูลตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของสมาคมฯ และต้องมีคำเตือนเกี่ยวกับผลตอบแทนในอดีตตามที่กล่าวไว้แล้วในข้อ 5.1 โดยแสดงคำเตือนอยู่ใกล้ข้อมูลเกี่ยวกับรางวัลหรือการจัดอันดับ และอยู่ในหน้าเดียวกัน ทั้งนี้ การจัดอันดับหรือรางวัลที่ใช้อ้างอิงควรจัดทำโดยบุคคลที่สามที่มีความเป็นอิสระน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
8. การแสดงคำเตือน
การแสดงคำเตือนในทุกสื่อหรือผ่านเครื่องมือใด ๆ เช่น ป้ายโฆษณาบนรถประจำทางแผ่นพับ ปฏิทิน ของชำร่วย ตู้เอทีเอ็ม เว็บไซด์ หรือวิทยุ เป็นต้น ต้องมีความชัดเจนในรูปแบบการนำเสนอ ที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถสังเกตได้ง่าย เช่น ขนาดของคำเตือนในสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องมี ความคมชัด กล่าวคือ โทนสีที่ใช้ต้องมีความเข้มกว่าโทนสีของพื้นโฆษณา หรือความหนาของตัวอักษรควรเท่ากับความหนาของตัวอักษรส่วนใหญ่ เป็นต้น และขนาดไม่เล็กกว่าตัวอักษรส่วนใหญ่ที่ใช้ในโฆษณาหรือในกรณีสื่อวิทยุ การอ่านออกเสียงคำเตือนต้องมีความชัดถ้อยชัดคำ และอ่านออกเสียงด้วยความเร็ว ที่บุคคลทั่วไปสามารถรับฟังได้ทัน เป็นต้น
อนึ่ง การใส่คำเตือนในโฆษณามิได้เป็นหลักประกันว่าผู้ลงทุนจะไม่เกิดความเข้าใจผิด ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์ควรระมัดระวังในการใช้ข้อมูลในการโฆษณาเป็นประการสำคัญ
9. การแสดงข้อมูลเชิงอรรถ (foot note)
กรณีบริษัทหลักทรัพย์ใช้ข้อมูลเชิงอรรถในการโฆษณา ขนาดของข้อมูลเชิงอรรถ ต้องมีความคมชัดและผู้ลงทุนสามารถอ่านได้ชัดเจน เนื่องจาก ข้อมูลเชิงอรรถมีไว้เพื่อขยายความหรืออธิบายข้อมูลที่อ้างอิงโดยละเอียด ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญ ในขณะที่ข้อมูลเชิงอรรถบางชิ้น อาจเป็นข้อจำกัดในการลงทุน ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลเชิงอรรถควรอยู่ในหน้าเดียวกันกับข้อมูลที่อ้างอิง เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถอ่านข้อมูลเชิงอรรถได้อย่างครบถ้วนก่อนการตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม
10. บทลงโทษเชิง administrative sanction
หากบริษัทหลักทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามประกาศโฆษณา สำนักงานจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาลงโทษบริษัทหลักทรัพย์ทางอาญา หรือทาง administrative sanction ซึ่งตัวอย่างการลงโทษ ในกรณีหลังนี้ ได้แก่ การสั่งให้หยุดการโฆษณา การกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องขอความเห็นชอบ การโฆษณาครั้งต่อ ๆ ไปภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น
11. แนวทางปฏิบัติในการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนในโฆษณา
เพื่อให้การส่งเสริมการขายไม่เป็นการโน้มน้าวจูงใจทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด หรือเร่งรัดและดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาลงทุนโดยหวังจะได้รับของแจกแถม โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงหรือความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของตน การจัดรายการส่งเสริมการขายจะต้องไม่มีลักษณะกระตุ้น เร่งรัดการตัดสินใจของผู้ลงทุน โดยพิจารณาจากปัจจัย 3 ประการ ดังนี้
11.1 ระยะเวลาในการจัดรายการ
ต้องไม่น้อยกว่า 15 วันต่อเนื่อง เว้นแต่ 1) เป็นช่วงการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) หรือ 2) เป็นการเข้าร่วมงานที่จัดโดยผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ที่จะจัดรายการส่งเสริมการขาย (เช่น ไม่มีการถือหุ้นหรือบริหาร) และมีบริษัทหลายแห่งเข้าร่วม เช่น งาน Money Expo เป็นต้น นอกจากนี้ การแจกเอกสารหรือประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงรายการส่งเสริมการขายต้องกระทำก่อนหรือเริ่มไม่ช้ากว่าวันแรกของการจัดรายการส่งเสริมการขายนั้น
11.2 มูลค่าของสมนาคุณ ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำของผู้ซื้อแต่ละราย โดยมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำที่ใช้ในการคำนวณ ได้แก่
1) มูลค่าขั้นต่ำที่กำหนด เช่น กำหนดให้ซื้อไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท
2) กรณีกำหนดมูลค่าซื้อเป็นช่วง ให้ใช้จำนวนขั้นต่ำของช่วง เช่น มูลค่าซื้อ 10,000 - 50,000 บาท ให้คำนวณมูลค่าของสมนาคุณจากจำนวนขั้นต่ำของช่วง คือ 10,000 บาท และ
3) กรณีกำหนดให้ผู้ลงทุนชำระเงินเป็นงวด ๆ ให้คำนวณมูลค่าของสมนาคุณจากจำนวนเงินรวมที่ผู้ลงทุนได้ชำระแล้ว เช่น ผู้ลงทุนจะซื้อหน่วยลงทุนทุกเดือน เดือนละ 10,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ณ สิ้นเดือนมีนาคม มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำที่สามารถนำมาคำนวณมูลค่าของสมนาคุณ คือ 30,000 บาท
ทั้งนี้ หากบริษัทระบุมูลค่าของสมนาคุณที่แจกในการประชาสัมพันธ์ ให้ใช้มูลค่าของสมนาคุณดังกล่าวในการเปรียบเทียบ
11.3 จำนวนของสมนาคุณที่จัดเตรียมไว้
ต้องไม่จำกัดจำนวน เว้นแต่ได้แจ้งผู้ซื้อแล้วว่าเป็นการรวบรวมรายชื่อ
เพื่อจับฉลาก หรือสุ่มหาผู้ได้รับของสมนาคุณ ซึ่งของสมนาคุณที่มอบให้แก่ผู้ได้รับเลือกแต่ละรายต้องมีมูลค่าเป็นไปตามข้อ 11.2 ทั้งนี้ ผู้ซื้อตามเงื่อนไขเดียวกันต้องมีสิทธิเท่ากัน เช่น ห้ามกำหนดว่าจะแจกของสมนาคุณให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุน 100 รายแรกเท่านั้น
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ที่ประสงค์จะจัดรายการส่งเสริมการขายที่มีลักษณะเป็นไปตามปัจจัย 3 ประการข้างต้น สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องยื่นเรื่องให้สำนักงานพิจารณาก่อน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2263-6042
โทรสาร 0-2263-6303

แท็ก กองทุนรวม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ