หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการโฆษณาเพื่อส่งเสริม การขายหน่วยลงทุนและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 6, 2008 08:14 —ประกาศ ก.ล.ต.

                             ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สข/น. 7/2551
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการโฆษณาเพื่อส่งเสริม
การขายหน่วยลงทุนและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง
กับการจัดการกองทุน
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 98(10) และมาตรา 139(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 18(6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 1/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 62/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการโฆษณากิจการของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อส่งเสริม
การขายและให้บริการเกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมและการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล
“กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุเฉพาะเจาะจง” หมายความว่า กองทุนรวมที่ระบุอสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนไว้อย่างชัดเจนตามประกาศสำนักงานว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
“การโฆษณา” หมายความว่า การทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่เป็นการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุน การให้บริการหรือการดำเนินกิจการจัดการกองทุน หรือการให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ค้าหน่วยลงทุน หรือจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน โดยทางข้อความ ภาพ
เสียง หรือเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจความหมายได้ ไม่ว่าจะกระทำผ่านสื่อหรือเครื่องมือใด ๆ แต่ไม่รวมถึงการให้ข้อมูลโดยผ่านหนังสือชี้ชวนหรือที่มีวัตถุประสงค์เป็นการให้ความรู้หรือแจ้งข้อเท็จจริงโดยมิได้มุ่งเน้นให้เป็นการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนหรือการให้บริการหรือดำเนินกิจการจัดการกองทุน หรือการให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ค้าหน่วยลงทุน หรือจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน เช่น เอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนทั่ว ๆ ไป เป็นต้น
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวม และบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“บริษัทหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทดังต่อไปนี้
(1) บริษัทจัดการ และ
(2) บริษัทหลักทรัพย์ที่สามารถเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ค้าหน่วยลงทุน หรือจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน
“สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมวด 1
บททั่วไป
______________________
ข้อ 4 ให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถทำการโฆษณาได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการโฆษณาตามหมวด 2 ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนจึงจะโฆษณาได้
ข้อ 5 การโฆษณาไม่ว่าจะเป็นกรณีใด บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การโฆษณาในหมวด 3
หมวด 2
โฆษณาที่ต้องได้รับความเห็นชอบ
______________________
ข้อ 6 การโฆษณาดังต่อไปนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการโฆษณานั้น
(1) การโฆษณาเกี่ยวกับข้อมูลตัวเลขที่แสดงถึงประมาณการผลตอบแทนในอนาคต
(2) อัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน (auto redemption)
(3) การโฆษณาของบริษัทหลักทรัพย์ที่สำนักงานมีคำสั่งให้ต้องขอความเห็นชอบ การโฆษณาตามข้อ 19
ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ได้ส่งข้อมูลที่จะใช้ในการโฆษณาให้สำนักงานพิจารณาแล้ว หากสำนักงานมิได้ทักท้วงภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับข้อมูลดังกล่าว ให้ถือว่าบริษัทหลักทรัพย์ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้โฆษณาเช่นนั้นได้
ข้อ 7 การโฆษณาตามข้อ 6(1) และ (2) ที่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ต้องเป็นไปตามลักษณะดังนี้
(1) ต้องเป็นการโฆษณาสำหรับกองทุนประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) กองทุนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะถือทรัพย์สินที่ลงทุนตลอดอายุโครงการจัดการกองทุนรวมหรือตลอดรอบการลงทุนในแต่ละรอบ หรือตลอดอายุของสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(ข) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุเฉพาะเจาะจง
(2) การโฆษณาดังกล่าวต้องกระทำผ่านสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
(3) ตัวเลขประมาณการผลตอบแทนในอนาคต หรืออัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน (auto redemption) ต้องไม่มีลักษณะที่โดดเด่นเกินกว่าข้อมูลอื่นในการโฆษณานั้น ทั้งนี้ การนำเสนอตัวเลขประมาณการผลตอบแทนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุเฉพาะเจาะจงตาม (1)(ข) ต้องแสดงในรูปอัตราเงินปันผล (dividend yield)
(4) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุเฉพาะเจาะจงตาม (1)(ข) ตัวเลขประมาณการตาม (3) ต้องไม่เกินกว่าสามรอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ หากการลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นการลงทุนในสิทธิการเช่า ต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนด้วยว่าตัวเลขประมาณการนั้นไม่รวมส่วนที่เป็นเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน
(5) ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนตาม (1)(ก) โดยมีการแสดงข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลอย่างเดียวกับข้อมูลที่ปรากฏในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน หรือสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี
(ก) ประเภททรัพย์สินที่จะลงทุน
(ข) อัตราผลตอบแทนของทรัพย์สินที่จะลงทุนแต่ละชนิด
(ค) สัดส่วนการลงทุน
(ง) ระยะเวลาการลงทุน
(จ) ค่าใช้จ่ายของกองทุน
(6) ในกรณีที่เป็นการโฆษณาสำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุเฉพาะเจาะจงตาม (1)(ข) จะต้องปรากฏว่าข้อมูลดังต่อไปนี้ ได้มีการแสดงและเปิดเผยไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวนแล้ว
(ก) ประมาณการรายได้และค่าใช้จ่าย (projection) ของกองทุนรวมซึ่งมีการระบุข้อมูลในลักษณะดังนี้
1. มีการระบุสมมติฐานที่สำคัญที่ใช้อ้างอิงอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย รวมทั้งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการคาดการณ์ในอนาคตและความเสี่ยงที่อาจทำให้ผลตอบแทนหรือผลการดำเนินการของกองทุนรวมไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ และ
2. มีการระบุประมาณการรายได้จากค่าเช่าที่ได้รับการรับรองจากผู้ประเมินค่าทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(ข) ข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความไวต่อการเปลี่ยนแปลง (sensitivity analysis) โดยผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีหรือที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานหรือบุคคลอื่นใดตามที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ และข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์ดังกล่าวมีการเปิดเผยสมมติฐานที่ใช้อ้างอิงอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย
(7) ต้องมีข้อความดังต่อไปนี้อธิบายประกอบตัวเลขประมาณการผลตอบแทนในอนาคต หรือประกอบอัตรารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งล่วงหน้าซึ่งระบุเวลาแน่นอน (auto redemption)
(ก) กรณีที่เป็นกองทุนรวมตาม (1)(ก) ให้มีคำเตือนประกอบว่า “หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามอัตราที่โฆษณาไว้” หรือ “หากไม่สามารถลงทุนให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้เนื่องจากสภาวะตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจัดการอาจไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามอัตราที่โฆษณาไว้” แล้วแต่กรณี
(ข) กรณีที่เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุเฉพาะเจาะจงตาม (1)(ข) ให้มีข้อความประกอบว่า “อัตราเงินปันผลดังกล่าวคำนวณจากราคาเสนอขายหน่วยลงทุน ณ ราคาที่......บาท และจากอัตราการให้เช่าพื้นที่ (occupancy rate) ที่ ....% ซึ่งเป็นเพียงการแสดงการประมาณการสำหรับรอบระยะเวลา.... ปี สิ้นสุด ณ วันที่.....และไม่อาจรับรองผลได้”
(8) ข้อมูลตาม (5) และข้อความตาม (7) ต้องแสดงอยู่ในหน้าเดียวกันกับข้อมูลตาม (3) และขนาดตัวอักษรของข้อมูลตาม (5) และข้อความตาม (7) ต้องมีความชัดเจนและไม่เล็กไปกว่าตัวอักษรปกติของข้อมูลส่วนใหญ่ในการโฆษณา
หมวด 3
หลักเกณฑ์การโฆษณา
______________________
ข้อ 8 บริษัทหลักทรัพย์จะโฆษณาเกี่ยวกับกองทุนรวมใดได้ต่อเมื่อได้มีการยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมนั้นต่อสำนักงานแล้ว และในกรณีที่คำขอจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้นยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ต้องจัดให้มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่ากองทุนรวมดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมจากสำนักงาน
ข้อ 9 ในกรณีที่เป็นการโฆษณาสำหรับกองทุนรวมมีประกันหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับการประกันหรือผู้ประกันของกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวด้วย
ข้อ 10 การโฆษณาที่มีการจัดรายการของสมนาคุณ สิทธิ หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ผู้ลงทุนที่ได้ทำการลงทุนในหน่วยลงทุน การโฆษณาการจัดรายการดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อการจัดรายการนั้นมีระยะเวลา มูลค่าและจำนวนของสมนาคุณ สิทธิหรือประโยชน์อื่นใด อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ข้อ 11 ข้อมูลที่ใช้ในการโฆษณา ต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลที่เป็นเท็จ เกินความจริง หรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
(2) ข้อมูลและตัวเลขประมาณการผลตอบแทนในอนาคต เว้นแต่เป็นประมาณการผลตอบแทนในอนาคตที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหมวด 2
(3) ข้อมูลในลักษณะที่เป็นการเร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุน เว้นแต่เป็นการโฆษณาของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่เร่งรัดให้ผู้ลงทุนทำการลงทุนเพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ทันภายในปีภาษีนั้น
ข้อ 12 การโฆษณาโดยมีข้อความที่เป็นการคัดลอกหรืออ้างอิงเฉพาะบางส่วนของข้อความ บทความ คำกล่าวของบุคคลใด ๆ หรือผลการดำเนินงานในอดีต ข้อความที่คัดลอกหรืออ้างอิงนั้นต้องตรงต่อความเป็นจริง และต้องเป็นการคัดลอกหรืออ้างอิงสาระสำคัญอย่างครบถ้วน โดยไม่มีการตัดทอนหรือต่อเติมข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ ต้องระบุแหล่งที่มาและวันที่เผยแพร่ของข้อความที่คัดลอกหรืออ้างอิงนั้นอย่างชัดเจน
ข้อ 13 การโฆษณาที่แสดงข้อมูลผลตอบแทนหรือผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การโฆษณาที่มีการระบุผลตอบแทนหรือผลการดำเนินงานที่เป็นตัวเลขในอดีตให้กระทำผ่านสื่อสิ่งพิมพ์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น
ทั้งนี้ การแสดงข้อมูลดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะที่โดดเด่นเกินกว่าข้อมูลส่วนอื่นในโฆษณานั้นและต้องจัดให้มีข้อความดังต่อไปนี้ประกอบด้วย
(ก) คำเตือนที่ระบุว่า “ผลการดำเนินงานในอดีตของ (ให้ระบุว่าเป็นกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล) มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต” โดยคำเตือนดังกล่าวให้แสดงอยู่ในหน้าเดียวกันกับข้อมูลผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน
(ข) ข้อความที่ระบุให้เห็นว่า การวัดผลการดำเนินงานของกองทุน จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานที่กำหนดโดยสมาคม โดยแสดงในลำดับถัดจากข้อความตาม (ก) และอยู่ในหน้าเดียวกัน
(2) การคำนวณผลตอบแทนหรือผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนต้องจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานที่กำหนดโดยประกาศสมาคม
(3) โฆษณาที่แสดงการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในอดีตระหว่างกองทุน จะกระทำได้ต่อเมื่อการเปรียบเทียบนั้นเป็นไปตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานที่กำหนดโดยสมาคม
(4) การโฆษณาที่แสดงการเปรียบเทียบหรือแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนกับการลงทุนโดยวิธีอื่น ต้องระบุข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญที่สามารถทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจถึงความแตกต่างในลักษณะการลงทุนแต่ละประเภทอย่างชัดเจน
ข้อ 14 การโฆษณาเกี่ยวกับอันดับหรือรางวัลที่บริษัทหลักทรัพย์หรือกองทุนได้รับ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่เป็นการโฆษณาเกี่ยวกับอันดับหรือรางวัลที่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุน จะทำได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) อันดับหรือรางวัลที่ระบุไว้ในโฆษณา เป็นข้อมูลที่ผู้จัดอันดับหรือผู้ให้รางวัล จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานที่กำหนดโดยสมาคม
(ข) มีการแสดงข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้ไว้ในหน้าเดียวกัน
1. อันดับ ชื่อรางวัล หรือประเภทรางวัลที่ได้รับ
2. วันเวลาหรือช่วงระยะเวลาที่ได้รับรางวัล
3. ชื่อสถาบันที่เป็นผู้ให้รางวัลหรือเป็นผู้จัดอันดับรางวัล
4. ข้อความตามข้อ 13(1) (ก) และ (ข)
(2) กรณีที่เป็นการโฆษณาเกี่ยวกับอันดับหรือรางวัลอื่นใดนอกเหนือจาก (1) ให้บริษัทหลักทรัพย์แสดงข้อมูลเฉพาะตาม (1)(ข) 1.ถึง 3.
ข้อ 15 การโฆษณาเกี่ยวกับกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อความหรือคำเตือนอย่างน้อยดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ข้อความที่ระบุช่องทางในการขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือหนังสือชี้ชวน
(2) คำเตือนว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”
(3) การโฆษณาเกี่ยวกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนที่แสดงว่า ผู้ลงทุนควรศึกษาคู่มือภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี และ
(4) ในกรณีที่เป็นการโฆษณาที่มีการระบุว่ากองทุนรวมได้รับอนุมัติจากสำนักงานแล้ว
ต้องจัดให้มีข้อความที่เป็นคำเตือนว่า “การที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้อนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ..... เมื่อวันที่ ........มิได้เป็นการแสดงว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้รับรองถึงความครบถ้วนและถูกต้องของข้อมูลในการเสนอขาย
และมิได้ประกันราคาหรือผลตอบแทนของกองทุนรวม”
ข้อ 16 การแสดงข้อความหรือคำเตือนตามข้อ 15 หรือคำเตือนในเรื่องใด ๆ ผ่านสื่อหรือเครื่องมือทุกประเภท บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีความชัดเจนในรูปแบบการนำเสนอ และต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกับข้อมูลส่วนใหญ่ในโฆษณานั้น ๆ เช่น ตัวอักษรต้องคมชัด และสามารถมองเห็นหรือรับฟังได้อย่างชัดเจน เป็นต้น ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการแสดงข้อมูลเชิงอรรถในการโฆษณาด้วยโดยอนุโลม
ข้อ 17 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์มอบหมายให้บุคคลธรรมดาซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนเพื่อทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทำการโฆษณาเกี่ยวกับหน่วยลงทุนนั้น เว้นแต่เป็นการมอบหมายให้เผยแพร่หรือแจกเอกสารหรือสื่อโฆษณาที่บริษัทหลักทรัพย์จัดทำขึ้นเอง
ข้อ 18 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานว่าบริษัทหลักทรัพย์ทำการโฆษณาไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การโฆษณาในหมวดนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของสำนักงานที่จะสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) หยุดการโฆษณา
(2) แก้ไขข้อมูลในการโฆษณา
(3) ชี้แจงเพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง
(4) กระทำการหรือไม่กระทำการใด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนดที่จะทำให้การรับรู้ข้อมูลมีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริงหรือไม่คลาดเคลื่อน
ข้อ 19 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุนจากการรับรู้ข้อมูล สำนักงานมีอำนาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ถูกสั่งการตามข้อ 18 ต้องขอความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการโฆษณาแต่ละครั้งได้
ประกาศ ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อกำกับดูแลให้การโฆษณาที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนตลอดจนการให้บริการที่
เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุน มีความเหมาะสมทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการขายหน่วย
ลงทุนหรือการจัดการกองทุนที่ตรงต่อความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน และไม่ทำให้สำคัญผิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ