ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สข/น. 4 /2551
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน
(ฉบับที่ 8)
______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 140 วรรคสองและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41
มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 16 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 12 ข้อ 18(1) (2) และ (4) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และข้อ 18(6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 1/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน(ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 24 เมษายน 2550 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นบทนิยามคำว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน” “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนายจ้างเดียว” และ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลายนายจ้าง” ก่อนบทนิยามคำว่า “ตลาดหลักทรัพย์” ในข้อ 3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
“ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายการลงทุนมากกว่าหนึ่งนโยบาย โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนายจ้างเดียวหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลายนายจ้างก็ได้
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนายจ้างเดียว” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลูกจ้างของนายจ้างเพียงรายเดียว
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลายนายจ้าง” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลูกจ้างของนายจ้างหลายราย”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 116 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 116 ให้นำความในข้อ 76(2) มาใช้บังคับกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลโดยอนุโลม”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 130 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 130 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลคำนวณมูลค่าต่อหน่วยโดยสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเงินที่มิได้เกิดจากผลการดำเนินงานให้นำมาคำนวณเป็นจำนวนหน่วย”
ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของข้อ 131 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
“ในกรณีที่ปรากฏว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพใดหรือนโยบายการลงทุนใดของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ไม่มีสมาชิกเหลืออยู่จนเป็นเหตุให้ไม่มีมูลค่าต่อหน่วยที่สามารถนำมาคำนวณจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกใหม่ที่สมัครเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือนโยบายการลงทุนได้ ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับการคำนวณจำนวนหน่วยให้กับสมาชิก”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 133 และข้อ 134 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 133 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจัดให้มีวันคำนวณจำนวนหน่วยของแต่ละกองทุนอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน และในการคำนวณเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกให้ใช้มูลค่าต่อหน่วย ณ สิ้นวันคำนวณจำนวนหน่วยที่จะถึงเร็วที่สุดที่ผ่านการรับรองจากผู้รับรองมูลค่าแล้ว โดยเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกภายในสามวันทำการนับแต่วันคำนวณจำนวนหน่วย เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศ บริษัทอาจขอผ่อนผันระยะเวลาการเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยจากสำนักงานได้
ข้อ 134 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจเลื่อนวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ได้ในกรณีที่ปรากฏเหตุดังต่อไปนี้
(1) ตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ
(2) มีประกาศสำนักงานให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเลื่อนวันคำนวณจำนวนหน่วย (trade date) ออกไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิก หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบตลาดการเงิน
(3) เมื่อมีเหตุจำเป็นทำให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุน หรือไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม โดยบริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุน เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นไว้ในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(4) ในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน เมื่อมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
(ก) ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์แต่ละแห่งเกินกว่าร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ
(ข) มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรีและทำให้ไม่สามารถโอนเงินออกจากประเทศหรือรับโอนเงินจากต่างประเทศได้ตามปกติ”
ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 137 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 137 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องจัดให้มีการรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยผู้รับรองมูลค่าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นบุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานให้เป็นผู้รับรองมูลค่า และ
(2) ไม่มีส่วนได้เสียอันมีนัยสำคัญกับบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจนทำให้ขาดความเป็นอิสระในการทำหน้าที่รับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เว้นแต่บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการกองทุนทราบและได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการกองทุนแล้ว”
ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น ส่วนที่ 5 หลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ในหมวด 2 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของภาค 3 การจัดการกองทุนส่วนบุคคลแห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 1/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
“ส่วนที่ 5
หลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่มีหลายนโยบายการลงทุน
__________________________
ข้อ 146 ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการดังต่อไปนี้แยกตามแต่ละนโยบายการลงทุนแทนการดำเนินการในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งกองทุน
(1) การคำนวณมูลค่าต่อหน่วยตามข้อ 130 และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนหน่วย มูลค่าต่อหน่วย และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 136
(3) การรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 137
ข้อ 147 ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลดำเนินการดังต่อไปนี้แยกตามแต่ละนโยบายการลงทุนที่บริษัทรับจัดการเพิ่มเติมด้วย
(1) การเปิดเผยข้อมูลเมื่อมีการลงนามในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลแล้วตามข้อ 114
(2) การจัดทำและส่งรายงานต่อสำนักงานตามข้อ 122(3)
(3) การส่งรายงานตามข้อ 126
(4) การจัดทำงบดุลและการเก็บรักษาตามข้อ 127
(5) การดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้จากการรับชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอื่นตามข้อ 143
(6) การดำเนินการกับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 145”
ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อให้มีบทบัญญัติที่รองรับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุนตามพระราช
บัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 และเพื่อให้ระยะเวลาการคำนวณเพื่อเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยให้แก่สมาชิกของ
บริษัทจัดการและการรับรองความถูกต้องของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสอดคล้องกันและสามารถปฏิบัติได้ จึงมีความจำ
เป็นต้องออกประกาศฉบับนี้