ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สม. 5/2563
เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล
การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ
(ฉบับที่ 58)
______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (2/2) ของข้อ 17 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สม. 46/2560 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 47) ลงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560
“(2/2) “กองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมเพื่อการออม ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (5) ของข้อ 18 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 67/2562 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 57) ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(5) การจดทะเบียนกองทุนรวม
(ก) กรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีอายุไม่เกินหนึ่งปี และมิใช่กองทุนรวมตาม (ค) ทุกจำนวนเงิน 100 ล้านบาท หรือเศษของ 100 ล้านบาท ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตรา 1,000 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 75,000 บาท เว้นแต่กองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำ
(ข) กรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีอายุเกินหนึ่งปี และมิใช่กองทุนรวมตาม (ค) ทุกจำนวนเงิน 100 ล้านบาท หรือเศษของ 100 ล้านบาท ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตรา 2,000 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 150,000 บาท เว้นแต่กองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำ
(ค) กรณีที่เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทุกจำนวนเงิน 100 ล้านบาท หรือเศษของ 100 ล้านบาท ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตรา 10,000 บาทการคำนวณเงินทุนของกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณจากจำนวนเงินทุนอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) จำนวนเงินทุนจดทะเบียนในกรณีที่เป็นกองทุนรวมซึ่งระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมว่าจะเสนอขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
(ข) จำนวนเงินทุนโครงการในกรณีที่เป็นกองทุนรวมอื่นใดนอกจาก (ก)กองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามวรรคหนึ่ง (ก) หรือ (ข) ไม่รวมถึงกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุนตามกรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวของผู้ลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (7) ของข้อ 18 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 28/2547 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สบ. 67/2562 เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ (ฉบับที่ 57) ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(7) คำขอแก้ไขรายการทางทะเบียนเพื่อเพิ่มจำนวนเงินทุน
(ก) กรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีอายุไม่เกินหนึ่งปี และมิใช่กองทุนรวมตาม (ค) ทุกจำนวนเงิน 100 ล้านบาท หรือเศษของ 100 ล้านบาท ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตรา 1,000 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 75,000 บาท เว้นแต่กองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำ
(ข) กรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีอายุเกินหนึ่งปี และมิใช่กองทุนรวมตาม (ค) ทุกจำนวนเงิน 100 ล้านบาท หรือเศษของ 100 ล้านบาท ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตรา 2,000 บาท โดยเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท แต่ไม่เกิน 150,000 บาท เว้นแต่กองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำ
(ค) กรณีที่เป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทุกจำนวนเงิน 100 ล้านบาท หรือเศษของ 100 ล้านบาท ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตรา 10,000 บาท การคำนวณเงินทุนตามวรรคหนึ่ง (ก) หรือ (ข) ให้ใช้ราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนคูณกับจำนวนหน่วยลงทุนที่สามารถเสนอขายเพิ่มเติมได้ โดยให้คำนวณแต่ละคำขอจากจำนวนเงินทุนอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) จำนวนเงินทุนโครงการที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่เป็นกองทุนรวมไม่ได้ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมว่าจะเสนอขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียว
(ข) ส่วนต่างระหว่างจำนวนเงินทุนโครงการและจำนวนเงินทุนจดทะเบียน
ในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนจากกองทุนรวมปิดเป็นกองทุนรวมเปิดหรือเปลี่ยนจากกองทุนรวมเปิดที่เสนอขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวเป็นกองทุนรวมเปิดที่เสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมได้การคำนวณเงินทุนตามวรรคหนึ่ง (ค) ให้ใช้ราคาที่เสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมคูณกับจำนวนหน่วยลงทุนที่สามารถเสนอขายเพิ่มเติมได้ โดยให้คำนวณจากจำนวนเงินทุนจดทะเบียน ที่เพิ่มขึ้น
กองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามวรรคหนึ่ง (ก) หรือ (ข) ไม่รวมถึงกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุนตามกรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวของผู้ลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562”
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563
(นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่มา: http://www.sec.or.th/