ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่ ทน. 46/2563
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแก้ปัญหา
สภาพคล่อง เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 16/6 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 109 วรรคหนึ่ง มาตรา 117 มาตรา 119 และมาตรา 124 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
“ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่ แต่ไม่รวมถึงกองทุนส่วนบุคคลซึ่งบริษัทหลักทรัพย์รับจัดการเงินทุนของผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่
“ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่
“ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง” หมายความว่า ตราสารหนี้ที่ไม่มีลักษณะพิเศษ (plain bond) ซึ่งได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือผู้ออกอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าอันดับที่ลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated)
“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“ประกาศเกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ รวมถึงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนดังกล่าว
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมที่ประสงค์จะเสนอขายเฉพาะต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ตามหลักเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุน
ข้อ 3 ในการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามประกาศนี้ บริษัทจัดการต้องปฏิบัติตามประกาศเกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม โดยอนุโลม เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในประกาศนี้ หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว
ข้อ 4 มิให้นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนและการใช้สิทธิเกี่ยวกับหน่วยลงทุนตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ มาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่จัดตั้งตามประกาศนี้
ข้อ 5 กองทุนรวมที่จะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งตามประกาศนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือกองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ ตามที่ระบุไว้ในโครงการ (auto redemption)
(2) ยื่นคำขอจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมต่อสำนักงานภายในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564
(3) ชื่อของกองทุนรวมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) ระบุข้อความ “กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19” ไว้ในชื่อ
(ข) ระบุข้อความ “ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย” ไว้ในส่วนท้ายของชื่อ
(4) เริ่มมีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมในครั้งแรก ทั้งนี้ ไม่ให้นำอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการลงทุนของกองทุนมาใช้บังคับภายในระยะเวลา 6 เดือนดังกล่าว
(5) ในกรณีที่จะลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงที่ผู้ออกมีวัตถุประสงค์ในการนำเงินที่ได้จากการขายตราสารหนี้ไปไถ่ถอนตราสารหนี้เดิมก่อน บริษัทจัดการต้องจัดให้มีกลไกที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ออกตราสารหนี้จะนำเงินไปใช้ตามที่ระบุไว้ เช่น การนำเงินที่ใช้ในการชำระราคาตราสารหนี้ไปฝากในบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา โดยกำหนดเงื่อนไขในการสั่งจ่าย (escrow account) เป็นต้น
ข้อ 6 ให้บริษัทจัดการดำเนินการยกเลิกการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามประกาศนี้ หากครบกำหนดระยะเวลาเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกของกองทุนรวมแล้ว ปรากฏว่ากองทุนรวมมีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ถึง 10 ราย
ข้อ 7 ในกรณีที่กองทุนรวมตามประกาศนี้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม และมีพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ บริษัทจัดการจะดำเนินการให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันที่มีพฤติการณ์ว่าผู้ออกตราสารหนี้หรือลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ เป็นผู้มีสิทธิในเงินได้สุทธิจากทรัพย์สินอื่นที่ได้จากการรับชำระหนี้ก็ได้ ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว บริษัทจัดการไม่ต้องนำตราสารหนี้หรือสิทธิเรียกร้องนั้นมารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
ข้อ 8 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมตามสิทธิที่พึงได้รับ และเพื่อให้มีมาตรฐานการดำเนินงานเป็นอย่างเดียวกัน ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการถือปฏิบัติได้
(1) การขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน การเพิ่มหรือลดจำนวนหน่วยลงทุน การชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุน ตลอดจนเมื่อเกิดการคำนวณจำนวนหน่วยลงทุนหรือมูลค่าผิด
(2) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ลงทุน
(3) การควบหรือรวมกองทุนรวม
(4) การรับชำระหนี้ด้วยหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นของกองทุนรวม
(5) การดำเนินการให้กองทุนรวมดำรงสภาพคล่องและวิธีปฏิบัติในกรณีที่ไม่สามารถดำรงสภาพคล่องได้ตามที่กำหนด
(6) ข้อกำหนดอื่นใดเกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน หรือเพื่อให้มีมาตรฐานการดำเนินงานเป็นอย่างเดียวกัน
ข้อ 9 นอกจากที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้เพื่อให้เกิด ความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการปฏิบัตินั้นได้
ข้อ 10 ในกรณีที่มีปัญหาอันเนื่องมาจากการอนุโลมใช้ประกาศเกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดแนวทาง (guideline) ในรายละเอียดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ และเมื่อมีการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว ให้ถือว่าบริษัทจัดการได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว
ข้อ 11 ในกรณีที่ปรากฏเหตุดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมได้
(1) มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการหรือข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว
(2) มีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามที่ระบุไว้ในโครงการ
ในกรณีที่สำนักงานสั่งเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที
ข้อ 12 เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนรวมเป็นไปตามนโยบายหรือหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้นหรือเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน ในกรณีที่ปรากฏ ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งการให้บริษัทจัดการกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามที่สำนักงานเห็นสมควรภายในระยะเวลาที่กำหนด
(1) กองทุนรวมมีการจัดการที่มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามที่ประกาศเกี่ยวข้องกำหนด แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการจัดการกองทุนรวมนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติหรือหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(2) การจัดการกองทุนรวมอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
(3) การจัดการกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม
(4) การจัดการกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน
(5) การดำเนินการของกองทุนรวมไม่สอดคล้องกับโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานอำนาจสั่งการตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงการสั่งการในเรื่องดังนี้
(1) ชี้แจง หรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม
(2) แก้ไขลักษณะของกองทุนรวมให้ถูกต้อง
(3) ระงับการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม
ข้อ 13 ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
(นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่มา: http://www.sec.or.th/