ประกาศแนวปฏิบัติ
ที่ นป. 3/2563
เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำรงสภาพคล่องของกองทุนรวม
ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้
__________________
ตามที่ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 87/2558 เรื่อง การลงทุนของกองทุน ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (“ประกาศ ที่ ทน. 87/2558”) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนรวมต้องไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องโดยรวมในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน นั้น
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้นของบริษัทจัดการกองทุนรวม สำนักงานโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 4 ข้อ 9(2) และข้อ 13 แห่งประกาศ ที่ ทน. 87/2558 จึงกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการดำรงสภาพคล่องของกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ให้เพียงพอในสถานการณ์ต่าง ๆ และมีความสอดคล้องกับนโยบายการรับซื้อและชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศและภาคผนวกแนบท้ายประกาศฉบับนี้
“กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ประเภทกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสมที่มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารหนี้
“กองทุนรวมเพื่อการออม” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมระยะยาวของผู้ลงทุนซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง “กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป” และ “กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศ ที่ ทน. 87/2558
คำว่า “กองทุนรวมตลาดเงิน” “กองทุนรวมตราสารหนี้” และ “กองทุนรวมผสม” หมายความว่า กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสม ตามประกาศ ที่ ทน. 87/2558
ข้อ 2 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ ให้ใช้บทนิยามตามภาคผนวกแนบท้ายประกาศนี้ และคำศัพท์ตามภาคผนวกของประกาศ ที่ ทน. 87/2558 ประกอบการพิจารณาการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้สำหรับกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ แต่ไม่รวมถึงกองทุนรวมประเภทดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
(2) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(3) กองทุนรวมเพื่อการออม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุนตามกรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวของผู้ลงทุนตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562
(4) กองทุนรวมที่กำหนดระยะเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนไว้แน่นอนเป็นการล่วงหน้า (auto redemption)
(5) กองทุนรวมที่กำหนดระยะเวลาเปิดรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเกินกว่า 14 วัน
ข้อ 4 บริษัทจัดการกองทุนรวมควรดำเนินการให้กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องให้เพียงพอและสอดคล้องกับนโยบายการรับซื้อและชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน รวมถึงดำเนินการเพื่อให้กองทุนรวมดังกล่าวสามารถกลับมาดำรงสภาพคล่องได้ตามอัตราส่วนขั้นต่ำที่ควรดำรง ทั้งนี้ ตามแนวทางปฏิบัติในภาคผนวกที่แนบท้ายประกาศแนวปฏิบัตินี้
ข้อ 5 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัตินี้จนครบถ้วน สำนักงานจะพิจารณาว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ปฏิบัติตามประกาศ ที่ ทน. 87/2558 ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนรวมต้องไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องโดยรวมในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนแล้ว ทั้งนี้ หากบริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการต่างจากแนวทางปฏิบัตินี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าการดำเนินการนั้นยังคงอยู่ภายใต้หลักการและข้อกำหนดของประกาศ ที่ ทน. 87/2558 ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนรวมต้องไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องโดยรวมในการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563
(นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่มา: http://www.sec.or.th/