ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 64/2563 เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจและข้อกำหนดในกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 9, 2020 15:01 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 64/2563

เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุน

ของผู้ประกอบธุรกิจและข้อกำหนดในกรณี

ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

______________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และมาตรา 14 วรรคสอง (2) มาตรา 19 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 26/2563 เรื่อง การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ลงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และข้อ 1(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 59/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์และกำหนดเวลาในการยื่นรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 31/2557 เรื่อง ข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 84/2558 เรื่อง ข้อกำหนดสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ไม่สามารถดำรงฐานะทางการเงินได้ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558

(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 50/2560 เรื่อง การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2560

(4) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 51/2560 เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2560

(5) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 14/2561 เรื่อง ข้อกำหนดสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561

(6) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 61/2562 เรื่อง การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562

(7) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 62/2562 เรื่อง การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ข้อ 3 ในประกาศนี้

?ผู้ประกอบธุรกิจ? หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

?ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์? หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

?ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า? หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

?ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

?ประกาศการดำรงเงินกองทุน? หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจ

?ดำรงเงินกองทุน? หมายความว่า ดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

?รายงานการคำนวณเงินกองทุน? หมายความว่า รายงานดังต่อไปนี้

(1) รายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ

(2) รายงานการคำนวณส่วนของผู้ถือหุ้น

(3) รายงานประกอบการคำนวณเงินกองทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

?กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ? หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

หมวด 1

การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน

______________

ข้อ 4 ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามแบบและคำอธิบายประกอบการรายงานการคำนวณเงินกองทุนที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน

ข้อ 5 ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำและยื่นรายงานการคำนวณเงินกองทุนต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ โดยรายงานทุกฉบับต้องมีการลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องโดยบุคคลผู้มีอำนาจลงนาม

(1) กรณีเป็นผู้ที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิตามประกาศการดำรงเงินกองทุน ให้จัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเป็นรายวันให้เสร็จสิ้นภายในวันทำการถัดไป และยื่นรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของวันทำการสุดท้ายของเดือนต่อสำนักงานภายใน 5 วันทำการแรกของเดือนถัดไป

(2) กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใดมีการคำนวณรายการหนี้สินด้อยสิทธิหรือสัญญาเช่าที่ไม่ต้องนับรวมไว้ในการคำนวณหนี้สินรวม หรือมีรายการเงินกู้ยืม หุ้นกู้ หรือภาระผูกพันใดที่สามารถนับรวมไว้ในการคำนวณหนี้สินพิเศษ เป็นครั้งแรกหรือทุกครั้งที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นยื่นรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิและจัดส่งสำเนาสัญญาที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินหรือภาระผูกพันนั้นเพิ่มเติมต่อสำนักงานภายในกำหนดเวลาดังนี้

(ก) ในวันทำการถัดจากวันที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการคำนวณรายการดังกล่าวเป็นครั้งแรก

(ข) ในวันทำการถัดจากวันที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าวในแต่ละครั้ง

(3) กรณีเป็นผู้ที่มีหน้าที่ต้องดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นตามประกาศการดำรงเงินกองทุน ให้จัดทำรายงานการคำนวณส่วนของผู้ถือหุ้นของทุกวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน และยื่นรายงานต่อสำนักงานภายใน 10 วันทำการแรกของเดือนถัดไป เว้นแต่กรณีที่ปรากฏเหตุที่อาจทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ให้จัดทำและยื่นรายงานดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

(4) กรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้จัดทำรายงานประกอบการคำนวณเงินกองทุนสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของทุกวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน และ ยื่นรายงานต่อสำนักงานภายใน 10 วันทำการแรกของเดือนถัดไป

ให้ผู้ประกอบธุรกิจเก็บรักษารายงานการคำนวณเงินกองทุนตามวรรคหนึ่ง พร้อมหลักฐานที่ใช้ประกอบการคำนวณรายงานดังกล่าวไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานตรวจสอบได้ หรือพร้อมที่จะจัดส่งให้แก่สำนักงานเมื่อได้รับการร้องขอในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถยื่นรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามวรรคหนึ่ง ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาจขอผ่อนผันโดยยื่นคำขอพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามคู่มือสำหรับประชาชนต่อสำนักงานก่อนครบกำหนดเวลาการยื่นรายงานดังกล่าว ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน

ข้อ 6 เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจใดมีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเมื่อสิ้นวันหนึ่งวันใดเท่ากับหรือน้อยกว่า 1.5 เท่าของเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำรงไว้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นดำเนินการดังต่อไปนี้ เว้นแต่สำนักงานจะกำหนดให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น

(1) ยื่นรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของวันที่เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของผู้ประกอบธุรกิจเท่ากับหรือน้อยกว่าอัตราดังกล่าวและของทุกวันถัดไปต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเท่ากับหรือน้อยกว่าอัตราดังกล่าว จนกว่าผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้มากกว่าอัตราดังกล่าวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 วันทำการติดต่อกัน และผู้ประกอบธุรกิจได้ยื่นรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิของ 2 วันทำการนั้นต่อสำนักงานแล้ว

(2) ยื่นรายงานชี้แจงสาเหตุที่เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิลดจนถึงอัตราดังกล่าว พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการดำเนินการที่ผู้ประกอบธุรกิจจะกลับมาดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิได้ ต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิเท่ากับหรือน้อยกว่าอัตราดังกล่าว

ข้อ 7 เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับหรือน้อยกว่า 1.1 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้นที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำรงไว้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นยื่นรายงานชี้แจงสาเหตุที่ส่วนของผู้ถือหุ้นลดจนถึงอัตราดังกล่าว และวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของส่วนของผู้ถือหุ้นในอนาคต รวมถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 1 ปีนับแต่วันที่ยื่นรายงานชี้แจง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการดำเนินการที่ผู้ประกอบธุรกิจจะกลับมาดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นได้มากกว่าอัตราดังกล่าว

ให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นรายงานตามวรรคหนึ่ง ภายใน 2 วันทำการนับแต่วันที่รู้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นลดจนถึงอัตราดังกล่าว และทุกวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือนจนกว่าผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นได้มากกว่าอัตราดังกล่าว เว้นแต่สำนักงานจะกำหนดให้ปฏิบัติเป็นประการอื่น

ข้อ 8 ให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ต่อสำนักงานในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

หมวด 2

ข้อกำหนดในกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

ข้อ 9 ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 10 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดทำและยื่นแผนการแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนต่อสำนักงานภายใน 30 วันนับแต่วันแรกที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถดำรงเงินกองทุนได้ไม่น้อยกว่า 7 วันทำการติดต่อกัน

(2) ดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนที่ได้ยื่นต่อสำนักงานตาม (1) เพื่อให้สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุน ภายในระยะเวลาที่กำหนดในแผนดังกล่าวซึ่งต้องไม่เกิน 90 วันนับแต่วันแรกที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันระยะเวลาในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้ โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะขอผ่อนผันระยะเวลาดังกล่าวยื่นคำขอ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามคู่มือสำหรับประชาชนต่อสำนักงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน

ข้อ 11 ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการตามข้อ 10 ห้ามผู้ประกอบธุรกิจนั้นดำเนินการดังต่อไปนี้ จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนและได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ

(1) เพิ่มวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ลูกค้า เว้นแต่เป็นการซื้อหลักทรัพย์ที่ลูกค้าได้วางเงินไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ หรือเป็นการขายหลักทรัพย์ของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองของบริษัทหลักทรัพย์แล้ว

(2) ให้บริการหรือเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแก่ลูกค้ารายใหม่

(3) เพิ่มเงินลงทุนของบริษัท (portfolio) เว้นแต่เป็นการลงทุนดังนี้

(ก) การลงทุนในเงินฝาก หรือหน่วยลงทุนกองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ

(ข) การลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินลงทุนหรือภาระผูกพันของบริษัทที่มีอยู่ก่อนหรือในวันแรกที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

(ค) การลงทุนเนื่องจากมีภาระผูกพันในฐานะเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้ทำการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนดังกล่าวไว้แล้วอย่างเต็มจำนวน

(ง) การลงทุนเนื่องจากเกิดความผิดพลาดในการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ลูกค้า (error port)

(4) สลักหลัง รับอาวัล หรือให้การรับรองตั๋วเงิน หรือเป็นผู้ค้ำประกันในนิติกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจแก่ลูกค้า เว้นแต่ลูกค้าได้วางเงินสดเป็นหลักประกันเต็มจำนวนไว้กับผู้ประกอบธุรกิจ

(5) กระทำอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน การดำเนินงาน หรือการปฏิบัติตามข้อตกลงกับลูกค้า ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานกำหนด

ในกรณีที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ห้ามดำเนินการดังนี้ด้วย

(1) เพิ่มยอดหนี้คงค้างของลูกค้าบัญชีมาร์จิ้นหรือลูกค้าที่ยืมหลักทรัพย์จากยอดหนี้คงค้างที่ปรากฏในวันแรกที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่เป็นการเพิ่มยอดหนี้คงค้างเนื่องจากเหตุใดเหตุหนึ่งดังนี้

(ก) ดอกเบี้ยค้างรับ

(ข) หลักทรัพย์ที่ลูกค้ายืมมีมูลค่าสูงขึ้น

(ค) การซื้อหลักทรัพย์เพื่อนำมาคืนการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต

(2) ทำสัญญารับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มเติมจากสัญญาที่มีผลผูกพันอยู่ก่อนวันที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

(3) เพิ่มมูลค่าเงินทุนที่รับบริหารให้แก่ลูกค้าบัญชีกองทุนส่วนบุคคล หรือเปิดบัญชีกองทุนส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้ารายใหม่ เว้นแต่เป็นกรณีที่เกิดจากการจ่ายเงินสะสมของลูกจ้างหรือการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างสำหรับลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ในกรณีที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ห้ามให้บริการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยไม่มีการวางหลักประกันขั้นต้น (initial margin) เต็มจำนวนก่อนส่งคำสั่งซื้อสัญญา ซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ลูกค้าด้วย

ข้อ 12 ในกรณีที่ปรากฏเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 13 ข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 16 และข้อ 17 แล้วแต่กรณี

(1) ไม่สามารถยื่นแผนการแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนต่อสำนักงานตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 10 วรรคหนึ่ง (1) หรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี

(2) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนได้ตามแผนและระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 10 วรรคหนึ่ง (2) หรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี

(3) มีเงินกองทุนต่ำกว่า 0 ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ

(4) มีการผิดนัดชำระราคาหรือส่งมอบหลักทรัพย์ต่อสำนักหักบัญชีหรือต่อลูกค้า

ในกรณีเป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือผิดนัดชำระหนี้ต่อสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือต่อลูกค้าในกรณีประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 13 ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ปรากฏเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 12 ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้และได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นกรณีดังนี้

(ก) การป้องกันความเสี่ยงโดยรวมในเงินลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจหรือการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่

(ข) การดำเนินการตามความจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าได้รับความเสียหาย การใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน หรือเพื่อเปลี่ยนตราสารที่ครบกำหนดไถ่ถอนกับผู้ออกตราสารดังกล่าว

(ค) การบริหารเงินสะสมและเงินสมทบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วในขณะนั้น หรือการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพ

(2) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีไว้เพื่อตนเอง เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้

(ก) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ป้องกันความเสี่ยงจากเงินลงทุนหรือภาระผูกพันของผู้ประกอบธุรกิจ

(ข) การมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นไม่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีภาระผูกพันหรือก่อหนี้เพิ่มเติมในภายหลัง

(3) ดำเนินการดังนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 10 วันทำการนับแต่วันที่ปรากฏเหตุตามข้อ 12

(ก) กรณีผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ให้โอนทรัพย์สินของลูกค้าในบัญชีเงินสดไปยังผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อื่นเพื่อการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

(ข) กรณีผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้โอนทรัพย์สินและฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายอื่นตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้

(4) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้

ข้อ 14 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน ใบทรัสต์ของทรัสต์ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวม หรือหลักทรัพย์อื่นที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ที่มีลักษณะการลงทุนทำนองเดียวกับหน่วยลงทุน ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมจากการดำเนินการตามข้อ 13 ด้วย

(1) ดำเนินการให้ลูกค้าแต่ละรายเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหน่วยลงทุน ใบทรัสต์ หรือหลักทรัพย์อื่นโดยตรง

(2) โอนบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าแต่ละรายไปยังผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งประเภทใดดังนี้เป็นผู้ให้บริการแทน ทั้งนี้ ตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้

(ก) ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน

(ข) ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมซึ่งเป็นผู้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น ๆ

(3) ดำเนินการตาม (1) และ (2) ให้แล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ปรากฏเหตุตามข้อ 12

ข้อ 15 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมจากการดำเนินการตามข้อ 13 ด้วย

(1) กรณีจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ติดต่อลูกค้าโดยเร็วเพื่อสอบถามความประสงค์ของลูกค้าว่าจะให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดการทรัพย์สินของลูกค้าอย่างไร ระหว่างวิธีการใดวิธีการหนึ่งดังนี้

(ก) เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเพื่อให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นโดยตรง

(ข) ดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลอื่นเข้าจัดการกองทุนส่วนบุคคลแทน

ในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเพื่อให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่อไป

ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือเปลี่ยนผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่จัดการกองทุนส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ปรากฏเหตุตามข้อ 12

(2) กรณีจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเร็ว และดำเนินการเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุน ส่วนบุคคลอื่นเข้าจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแทน โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ปรากฏเหตุตามข้อ 12

ข้อ 16 ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการดำเนินการตามข้อ 13(1) และ (3) ข้อ 14 หรือข้อ 15 แล้วแต่กรณี โดยไม่ชักช้า

ข้อ 17 ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามข้อ 13(3) ข้อ 14 หรือข้อ 15 ให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น

ประกาศ ณ วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

(นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ