ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ. 29/2563
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจ
สินทรัพย์ดิจิทัล
(ฉบับที่ 7)
___________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10(1) มาตรา 30 และมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในบทนิยามคำว่า ?ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล? ในข้อ 2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
??ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทดังต่อไปนี้
(1) การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
(2) การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล
(3) การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี
(4) การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล
(5) การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี
(6) การเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล
(7) การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซี
(8) การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล
(9) การเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซี
(10) การเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล?
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
?ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นการประกอบกิจการที่มีลักษณะครบถ้วนดังนี้
(ก) เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง เป็นประโยชน์ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
(ข) ไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เว้นแต่จะแสดงได้ว่าสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(ค) เป็นกิจการที่ไม่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ฐานะของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือเป็นกิจการที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถจัดให้มีระบบในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเพียงพอ
(2) ในกรณีอื่นนอกจาก (1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นรายกรณี?
ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อ 7 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 7/3 ในหมวด 1 บททั่วไป แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?ข้อ 7/3 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะไม่ประกอบธุรกิจหรือหยุดประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.
ในการพิจารณาอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงาน ก.ล.ต. อนุญาตเมื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแสดงได้ว่ามีการเตรียมความพร้อมเพื่อคืนทรัพย์สินให้แก่ลูกค้า หรือเก็บรักษาไว้ ในระบบที่มั่นคงปลอดภัยและไม่ได้รับผลกระทบในระหว่างการหยุดประกอบธุรกิจเป็นการชั่วคราวให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งสำหรับธุรกิจทุกประเภทรายงานจำนวนทรัพย์สินของลูกค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรักษาไว้ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบเป็นรายวัน โดยให้ได้รับยกเว้นการเก็บรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามข้อ 7/1?
ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 1/1 การประกอบธุรกิจในฐานะผู้มีวิชาชีพ
ข้อ 7/4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?หมวด 1/1
การประกอบธุรกิจในฐานะผู้มีวิชาชีพ
___________________
ข้อ 7/4 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังต่อไปนี้
(1) ประกอบธุรกิจและให้บริการแก่ลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และใช้ความรู้ความสามารถ และความชำนาญ ด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวังตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ
(2) ให้บริการอย่างมีคุณภาพ และปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันโดยคำนึงถึงประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขของลูกค้า
(3) ไม่กระทำการใดที่จะเป็นผลให้ลูกค้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดหรือหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่ลูกค้าแจ้งว่ามีข้อจำกัดหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายนั้น
(4) ไม่รับหรือให้ค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าในรูปเงิน สิ่งของ หรือบริการยิ่งกว่าค่าตอบแทนหรือประโยชน์ปกติที่พึงได้รับหรือให้เนื่องจากการประกอบธุรกิจ?
ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของข้อ 8 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบงานที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรายงานการเปลี่ยนแปลงระบบงานดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยไม่ชักช้า
(1) ระบบการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และระบบชำระราคาและส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล
(2) ระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ซึ่งรวมถึงระบบรับฝากและถอนทรัพย์สินทั้งที่เป็นเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล
(3) ระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
(4) ระบบงานที่รองรับการรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า?
ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ค) ใน (6) ของข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?(ค) ในกรณีที่เป็นการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการสูญหาย การทุจริต และการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อ 10/4?
ข้อ 8 ให้ยกเลิกความใน (10) ของข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
?(10) ระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล(compliance) ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล?
ข้อ 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 10/1 ข้อ 10/2 ข้อ 10/3 ข้อ 10/4 และข้อ 10/5 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?ข้อ 10/1 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (introducing broker agent) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดขอบเขตและหน้าที่ของผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าไว้อย่างชัดเจน โดยต้องไม่ปฏิบัติงานซึ่งเป็นธุรกิจหลักของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในเรื่องดังนี้
(ก) พิจารณาวงเงินการใช้บริการ หรืออนุมัติการเปิดบัญชีเพื่อการใช้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
(ข) ให้คำแนะนำในการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล
(ค) รับคำสั่งซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลจากลูกค้า
(ง) รับจัดการหรือเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า
(2) จัดให้มีมาตรการในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และควบคุมการดำเนินงานของผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าในการทำหน้าที่ตามขอบเขตที่กำหนด รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยความถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง และไม่ทำให้ลูกค้าสำคัญผิด
(3) กำหนดและเปิดเผยอัตราและวิธีการคำนวณการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าไว้อย่างชัดเจน (ถ้ามี) เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามข้อนี้ ให้คำว่า ?ผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า? หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่แนะนำรายชื่อลูกค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการใช้บริการอันเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือทำหน้าที่ติดต่อชักชวนให้ลูกค้ามาใช้บริการอันเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนสำหรับการแนะนำรายชื่อลูกค้าหรือการติดต่อชักชวนลูกค้านั้นหรือไม่
ข้อ 10/2 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่แต่งตั้งผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าตามข้อ 10/1 มีหน้าที่รายงานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบเป็นรายไตรมาส ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ข้อ 10/3 ในการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแยกทรัพย์สินที่อยู่ในการดูแลรักษาไว้ในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ทรัพย์สินประเภทเงิน ให้ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยต้องระบุอย่างชัดเจนในบัญชีเงินฝากว่าเป็นการดำเนินการโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อประโยชน์ของลูกค้า
(2) ทรัพย์สินประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล หรือทรัพย์สินอื่น ให้แยกในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเก็บรักษาโดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หรือนำไปฝากไว้กับบุคคลอื่น ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าตามวรรคหนึ่ง เป็นทรัพย์สินเพื่อการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแยกทรัพย์สินดังกล่าวในลักษณะตามวรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) โดยอนุโลมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปฝากไว้กับบุคคลอื่น และเปิดเผยความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการฝากดังกล่าวให้ลูกค้าทราบ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดจากการสูญหายหรือเสียหายจากการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว
ข้อ 10/4 ในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเก็บไว้ในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้นที่กำหนดให้การโอนสินทรัพย์ดิจิทัลกระทำโดยบุคคลที่ได้รับมอบหมายร่วมกันยืนยันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ทั้งนี้ บุคคลที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวต้องไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือบุตรบุญธรรม
(ข) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(ค) คู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา หรือคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาของบุคคลตาม (ก) หรือ (ข)
(2) เมื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไปเป็นระยะเวลา 5 วันติดต่อกัน ให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งต้องเก็บไว้ในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้นไปฝากไว้กับผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อ 10/5 ภายใน 45 วันนับแต่วันที่มีการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นไม่มีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนำสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวไปเก็บไว้ในระบบที่มีลักษณะตาม (1)เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประสงค์จะนำสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งมีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง (2) บางส่วนไปเก็บไว้ในระบบที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง (1) ให้สามารถกระทำได้
ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดของลูกค้า
ข้อ 10/5 ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลตามข้อ 10/4 วรรคหนึ่ง (2) ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศที่ผู้ให้บริการนั้นมีสถานประกอบการตั้งอยู่
(2) มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความพร้อม และได้รับการยอมรับในการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล
(3) มีระบบงานและมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์
(4) มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) ที่มีประสิทธิภาพ
(5) มีการแยกสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้บริการแต่ละรายออกจากสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล
(6) มีระบบถ่วงดุลหรือมาตรการควบคุมการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยอย่างน้อยต้องกำหนดให้การโอนสินทรัพย์ดิจิทัลกระทำโดยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันยืนยันการทำธุรกรรม โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามข้อ 10/4 วรรคหนึ่ง (1) รวมทั้งมีการเก็บหรือขอหลักฐานเพื่อยืนยันการทำธุรกรรมจากผู้สั่งการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ
(7) มีระบบที่สามารถรองรับการกำหนดเงื่อนไขในการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลเกี่ยวกับขนาดธุรกรรมหรือการจำกัดปริมาณธุรกรรม ณ ช่วงเวลาใด ได้ตามความประสงค์ของผู้ใช้บริการ
(8) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน
(9) ไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดี
(10) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากรรมการหรือผู้บริหารมีประวัติการถูกลงโทษหรือถูกดำเนินการ หรืออยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษหรือถูกดำเนินการในลักษณะที่เป็นการหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน
ในกรณีที่ผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลมีการตั้งตัวแทนช่วง ตัวแทนช่วงนั้นต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามวรรคหนึ่งด้วย?
ข้อ 10 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 11/1 ในหมวด 2 โครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?ข้อ 11/1 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานระบบสารสนเทศร่วมกันบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลตามความต้องการของผู้ใช้งาน (cloud computing) ดังต่อไปนี้ ให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้จัดส่งข้อมูลในรูปแบบที่สามารถอ่านได้ (readable format) ทั้งนี้ เมื่อได้รับการร้องขอจากสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นครั้งคราว
(1) ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการระบบสารสนเทศร่วมกันบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลตามความต้องการของผู้ใช้งาน (cloud computing provider)
(2) ข้อมูลการเข้าใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
(3) ข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บไว้หรือประมวลผลโดยผู้ให้บริการตาม (1)?
ข้อ 11 ให้ยกเลิกชื่อหมวด 3 การคำนวณและรายงานการคำนวณเงินกองทุน และความในข้อ 12 ถึงข้อ 16 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 27/2563 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
?หมวด 3
การดำรงเงินกองทุน และการดำเนินการ
กรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุน
___________________
ข้อ 12 ในหมวดนี้และภาคผนวกท้ายประกาศนี้
?ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล
?นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล
?ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้ค้าโทเคนดิจิทัล
?ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล
?ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นที่ปรึกษาโทเคนดิจิทัล
?ดำรงเงินกองทุน? หมายความว่า ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพ แล้วแต่กรณี
?ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-1? หมายความว่า ดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกลุ่ม 1 ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้
?ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-2? หมายความว่า ดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกลุ่ม 2 ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้
?ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-3? หมายความว่า ดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกลุ่ม 3 ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้
?เงินกองทุนขั้นต้น? หมายความว่า เงินกองทุนขั้นต้นตามที่กำหนดในกลุ่ม 2 ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้
?เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน? หมายความว่า เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงานตามที่กำหนดในกลุ่ม 2 ของภาคผนวก การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้
?เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจ? หมายความว่า เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจตามที่กำหนดในกลุ่ม 2 ของภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้
?เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก? หมายความว่า ทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(1) เงินฝาก บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน หรือตราสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับเงินฝาก
(2) ข้อตกลงที่เป็นไปตามหลักชะรีอะฮ์ (Shariah) และมีลักษณะที่เทียบเคียงได้กับเงินฝาก โดยคู่สัญญาที่เทียบเคียงได้กับผู้ฝากสามารถเรียกคืนเงินต้นจากคู่สัญญาฝ่ายที่เทียบเคียงได้กับผู้รับฝากได้เต็มจำนวน ณ เวลาใด ๆ
(3) สลากออมทรัพย์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(4) สลากออมสินพิเศษที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารออมสิน
ข้อ 13 ความในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังต่อไปนี้
(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(2) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต
(3) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งมีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจ
(4) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่มิได้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น และมีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนตามประกาศใดประกาศหนึ่งดังนี้
(ก) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(ข) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนและที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ข้อ 14 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 15 และข้อ 16
(1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ เนื่องจากอยู่ระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบความพร้อมก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ
(2) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ประกอบธุรกิจหรือหยุดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทเป็นการชั่วคราว และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว
ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามวรรคหนึ่ง ส่งเอกสารหรือรายงานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความสามารถในการดำรงเงินกองทุน ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะเวลาดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร
ส่วนที่ 1
การดำรงเงินกองทุน
___________________
ข้อ 15 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-1 เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
(1) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองซึ่งมีลักษณะดังนี้ ให้ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-2
(ก) ไม่มีการประกอบธุรกิจอื่น หรือหากมีการประกอบธุรกิจอื่นต้องไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง
(ข) เป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง ทั้งนี้ หากมีการประกอบธุรกิจอื่นต้องไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง
(2) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น และไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองไม่ว่าจะเกิดจากการประกอบธุรกิจประเภทใด ให้ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-3
(3) ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง และมีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้ร่วมด้วย ให้ดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-1 และดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-3 ด้วย
(ก) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครองแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไปได้ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกค้าเป็นรายครั้ง
(ข) ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นที่ไม่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในความครอบครอง แต่ไม่รวมถึงผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
ในการดำรงเงินกองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการโดยครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้
ข้อ 16 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลคำนวณและจัดทำรายงานการคำนวณเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ส่วนที่ 2
การดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุน
___________________
ตอนที่ 1
การดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-1
___________________
ข้อ 16/1 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-1และไม่สามารถดำรงเงินกองทุนดังกล่าว ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ระงับการประกอบธุรกิจทุกประเภทจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
(2) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการระงับการดำเนินธุรกิจทุกประเภทโดยไม่ชักช้า
(3) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้
ตอนที่ 2
การดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-2
___________________
ข้อ 16/2 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-2 และไม่สามารถดำรงเงินกองทุนในส่วนที่เป็นเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนพร้อมด้วยสาเหตุ โดยยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในวันทำการถัดจากวันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
(2) จัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 7 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถแก้ไขจนสามารถดำรงเงินกองทุนได้ ให้จัดส่งรายงานการแก้ไขดังกล่าวให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่สามารถแก้ไขเงินกองทุนได้แทนการจัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขนั้น
ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอาจขอผ่อนผันระยะเวลาในการจัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการ ที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชน
(3) ดำเนินการตามแผนหรือแนวทางดังกล่าวเพื่อให้สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้โดยเร็ว และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในแผนหรือแนวทางนั้นซึ่งต้องไม่เกินกว่า 30 วันนับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
(4) มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้
(5) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ภายในระยะเวลาตาม (3) ให้ดำเนินการตามข้อ 16/4 โดยอนุโลม
ข้อ 16/3 ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการตามข้อ 16/2(3) ห้ามมิให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้
(1) ให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่
(2) ลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม เว้นแต่เป็นการลงทุนในทรัพย์สินดังนี้
(ก) เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก
(ข) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่ไม่มีการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับต่างประเทศ โดยต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารสภาพคล่องของผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น
(ค) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง
(3) ในกรณีเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ห้ามรับจัดการเงินทุนของลูกค้าเพิ่มเติม
ข้อ 16/4 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนขั้นต้นหรือเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจ หรือไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุน ส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน ตามระยะเวลาที่กำหนดในแผนหรือแนวทางตามข้อ 16/2(3) หรือระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 16/5 หรือไม่สามารถดำรงฐานะทางการเงินตามกฎหมายอื่นที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ต้องระงับการประกอบธุรกิจ ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ระงับการประกอบธุรกิจในประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนหรือฐานะทางการเงินดังกล่าวได้ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นการดำเนินการตามความจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้รับความเสียหาย หรือการใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของลูกค้าในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน
(2) แจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนหรือฐานะทางการเงิน พร้อมด้วยสาเหตุและการระงับการประกอบธุรกิจตาม (1) เป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่สำนักงาน ก.ล.ต. และลูกค้า ภายในวันทำการถัดจากวันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
(3) ในกรณีเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ติดต่อลูกค้าโดยเร็วเพื่อสอบถามความประสงค์ของลูกค้าว่าจะให้จัดการทรัพย์สินของลูกค้าอย่างไร ระหว่างวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ ทั้งนี้ หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการ ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว
(ก) เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเพื่อให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นโดยตรง
(ข) ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมดำเนินการเพื่อให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายอื่นเข้าจัดการทรัพย์สินได้
ในกรณีที่ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ ให้ดำเนินการตาม (3) วรรคหนึ่ง (ก)
ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมดำเนินการจัดการทรัพย์สินของลูกค้าตามวิธีการใน (3) วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
ให้ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดิมแจ้งการดำเนินการตาม (3) วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม เป็นลายลักษณ์อักษรต่อลูกค้าโดยไม่ชักช้า
(4) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้
ข้อ 16/5 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถขอผ่อนผันระยะเวลาในการดำเนินการตามข้อ 16/2(3) ได้ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชนโดยต้องยื่นคำขอต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ โดยให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาผ่อนผันได้เมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร
ตอนที่ 3
การดำเนินการกรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-3
___________________
ข้อ 16/6 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนโดยวิธี NC-3และไม่สามารถดำรงเงินกองทุนดังกล่าว ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนพร้อมด้วยสาเหตุ โดยยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายใน 2 วันทำการนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้
(2) จัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ภายใน 10 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถแก้ไขเงินกองทุนได้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ
(3) ดำเนินการตามแผนหรือแนวทางการแก้ไขที่ได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตาม (2) เพื่อให้สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชน
(4) มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบภายใน 2 วันทำการนับแต่วันที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามแผนหรือแนวทางแก้ไขที่ได้แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตาม (2)
ข้อ 16/7 ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถดำรงเงินกองทุนหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการตามข้อ 16/6(3) ห้ามมิให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้
(1) ให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่
(2) ขยายระยะเวลาการให้บริการแก่ลูกค้ารายเดิมของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
(3) กระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะการเงิน การดำเนินงานหรือการปฏิบัติตามข้อตกลงกับลูกค้า ทั้งนี้ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ข้อ 16/8 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ภายในระยะเวลาตามข้อ 16/6(3) หรือไม่มีเงินกองทุนติดต่อกันเกินกว่า 5 วันทำการ ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ระงับการประกอบธุรกิจในประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ
(2) แจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงการระงับการประกอบธุรกิจตาม (1) โดยไม่ชักช้า
(3) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้
ตอนที่ 4
การดำเนินการกรณีที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้
___________________
ข้อ 16/9 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ระงับการประกอบธุรกิจและสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามข้อ 16/1 ข้อ 16/4 และข้อ 16/8 ยื่นคำขออนุญาตกลับมาประกอบธุรกิจต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมเอกสารหลักฐานตามที่ระบุในคู่มือสำหรับประชาชน ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาคำขออนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำขอ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน?
ข้อ 12 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 7/1 การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย ข้อ 34/1 ข้อ 34/2 ข้อ 34/3 และข้อ 34/4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?หมวด 7/1
การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย
__________________
ส่วนที่ 1
การโฆษณา
__________________
ข้อ 34/1 ความในส่วนนี้ไม่ใช้บังคับกับการโฆษณาดังต่อไปนี้
(1) การโฆษณาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการให้ความรู้ ทำความเข้าใจ หรือแจ้งข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุน การให้บริการ หรือภาพรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละประเภทหรือโดยรวม
(2) การโฆษณาชี้ชวนให้ซื้อโทเคนดิจิทัลโดยการจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน
ข้อ 34/2 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะจัดให้มีการโฆษณา ต้องดำเนินการให้การโฆษณานั้น มีความเหมาะสมทั้งในด้านเนื้อหา สัดส่วนของเนื้อหา และวิธีการนำเสนอ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการโฆษณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ
(2) ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
(3) ไม่มีลักษณะชี้นำหรือประกันผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือเป็นการแสดงผลการดำเนินงานในอดีตอย่างเหมาะสมหรือเป็นการประมาณการผลตอบแทนในอนาคตที่มีลักษณะครบถ้วนดังนี้
(ก) มีข้อมูลประกอบการประมาณการอย่างเหมาะสม
(ข) มีข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประมาณการผลตอบแทนในแต่ละเงื่อนไข
(ค) ข้อมูลตาม (ก) และ (ข) อยู่ในรูปแบบที่ลูกค้าสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องโดยไม่สำคัญผิด
(4) มีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสม และมีการแจ้งสถานที่สำหรับการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
(5) หากเป็นการโฆษณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหรือจะเสนอขายโทเคนดิจิทัลก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ข้อมูลที่โฆษณาต้องเป็นข้อมูลที่สามารถดำเนินการได้โดยชอบ และต้องจัดให้มีข้อความที่แสดงว่าเป็นการโฆษณาในระหว่างที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลยังไม่มีผลใช้บังคับ
(6) หากเป็นการโฆษณาโดยใช้หรืออ้างอิงข้อมูลของบุคคลอื่น จะต้องเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน โดยต้องมีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
(7) ในกรณีที่เป็นการโฆษณาการจัดรายการส่งเสริมการขาย ข้อมูลที่โฆษณาต้องมีข้อมูลของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เสนอขายรวมอยู่ด้วย โดยข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเป็นเนื้อหาหลัก และข้อมูลการจัดรายการส่งเสริมการขายเป็นข้อมูลประกอบที่มีสาระเป็นส่วนน้อย
(8) ดูแลให้ผู้จัดทำโฆษณาร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผู้จัดให้มีการโฆษณาเพื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดำเนินการให้เป็นไปตาม (1) ถึง (7)
ข้อ 34/3 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้ข้อความ คำเตือน หรือข้อมูลใด ๆ ในการโฆษณาสามารถรับฟังหรือมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยมีความเหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอ และต้องให้ความสำคัญในการแสดงคำเตือนในเรื่องต่าง ๆ เช่นเดียวกับการแสดงข้อความหรือข้อมูลส่วนใหญ่ในโฆษณานั้น ๆ ด้วย
ส่วนที่ 2
การส่งเสริมการขาย
__________________
ข้อ 34/4 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอาจจัดให้มีการส่งเสริมการขายได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ไม่เป็นการจูงใจหรือเร่งรัดลูกค้าโดยใช้การส่งเสริมการขาย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยไม่คำนึงถึงข้อมูลที่เป็นพื้นฐานซึ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน
(2) ไม่เป็นการชิงโชคหรือจับฉลากเพื่อสุ่มหาผู้ได้รับของสมนาคุณ สิทธิ หรือประโยชน์อื่นใด
(3) มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ลูกค้าจะได้รับของสมนาคุณ สิทธิ หรือประโยชน์อื่นใด ที่มีความชัดเจน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่ทำให้สำคัญผิด เหมาะสม และเป็นธรรม
(4) มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าเป็นการทั่วไปในระยะเวลาที่เหมาะสมเกี่ยวกับการส่งเสริมการขาย?
ข้อ 13 ให้ยกเลิกความในข้อ 39 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
?ข้อ 39 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล
(2) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการชำระราคาและการส่งมอบสินทรัพย์ดิจิทัล
(3) กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่องการกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ทั้งนี้ ในกรณีที่การกำหนดหลักเกณฑ์นั้นอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือประโยชน์ได้เสียของผู้ใช้บริการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลดังกล่าว และเสนอรายงานการรับฟังความคิดเห็นนั้นต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยเมื่อผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเสนอหลักเกณฑ์เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับหลักเกณฑ์และเอกสารหลักฐานประกอบคำขอที่ถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือประชาชน?
ข้อ 14 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 1/1 ของหมวด 8 ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ ข้อ 40/1 ข้อ 40/2 และข้อ 40/3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?ส่วนที่ 1/1
การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและ
การเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล
__________________
ข้อ 40/1 ในส่วนนี้
?ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล
ข้อ 40/2 เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้าในการใช้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องเปิดเผยให้ลูกค้าทราบถึงรูปแบบการทำธุรกรรมซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำมาให้บริการแก่ลูกค้าได้ในแต่ละกรณี และรายงานให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบถึงการกำหนดและการแก้ไขรูปแบบการทำธุรกรรมดังกล่าวก่อนการให้บริการแก่ลูกค้า
ข้อ 40/3 ในการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย
(1) กำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาให้บริการแก่ลูกค้าและดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีลักษณะที่ครบถ้วนดังนี้
(ก) ไม่ตั้งอยู่ในเขตดินแดนหรือประเทศที่ไม่มีมาตรการหรือประยุกต์ใช้ข้อแนะนำของ Financial Action Task Force (FATF) ในการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงเขตดินแดนหรือประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว (Non-Cooperative Countries & Territories หรือ NCCTs)
(ข) มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
(ค) สามารถให้บริการได้โดยชอบด้วยกฎหมายในประเทศที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีสถานประกอบการตั้งอยู่
(ง) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะไม่สามารถดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้ใช้บริการได้อย่างปลอดภัย
(2) เปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของตนเองกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่คัดเลือกตาม (1) ให้ลูกค้าทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจใช้บริการเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำว่า ?ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล? ให้หมายความรวมถึง ศูนย์กลางหรือเครือข่ายที่จัดให้มีการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำมาให้บริการแก่ลูกค้าด้วย?
ข้อ 15 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 3 การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล ข้อ 43 ถึงข้อ 49 และส่วนที่ 4 การวิเคราะห์การลงทุน ในสินทรัพย์ดิจิทัล ข้อ 50 ข้อ 51 ข้อ 52 ข้อ 53 และข้อ 54 ของหมวด 8 ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
?ส่วนที่ 3
การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและ
การเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล
___________________
ข้อ 43 ในส่วนนี้
?ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล? หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นผู้จัดการเงินทุนโทเคนดิจิทัล
ข้อ 44 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าทำสัญญารับจัดการเงินทุนต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) เสนอนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนซึ่งได้จากการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
(2) เปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเข้าทำสัญญาต่อผู้ลงทุนอย่างเพียงพอและภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
ข้อ 45 ในการรับจัดการเงินทุน ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องทำสัญญารับจัดการเงินทุนเป็นลายลักษณ์อักษรกับลูกค้า ในการนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจประกาศกำหนดรายการอันเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาดังกล่าวได้
ข้อ 46 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อลูกค้าได้เฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลดังต่อไปนี้
(1) สินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกและเสนอขายโดยชอบในประเทศไทย
(2) สินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบให้ซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่างประเทศ
ข้อ 47 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ และระบบงาน ซึ่งครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญและรักษาผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า
(2) ป้องกันไม่ให้มีการใช้ข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงานล่วงรู้ข้อมูลจากการให้บริการลูกค้า และไม่ให้มี การเปิดเผยข้อมูลนั้นให้บุคคลอื่นได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว
ข้อ 48 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีการวัดผลการดำเนินงานในการจัดการเงินทุนเพื่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผยผลการดำเนินงานตลอดจนข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับความเป็นไปของการจัดการเงินทุนนั้น เช่น รายละเอียดการลงทุน และค่าใช้จ่าย ในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น ต่อลูกค้าด้วยวิธีการที่เพียงพอที่จะทำให้ลูกค้ารับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยเหมาะสมกับสถานการณ์การวัดผลการดำเนินงานและการคำนวณมูลค่ายุติธรรมของทรัพย์สินที่จัดการเพื่อลูกค้า ให้เป็นไปตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือสมควร ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีอำนาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนดตามวรรคสองได้
ข้อ 49 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(1) การจัดการลงทุนโดยใช้ความสามารถเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกค้าอย่างเต็มที่ โดยคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า
(2) ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฐานะความเป็นผู้มีวิชาชีพจัดการเงินทุน
ส่วนที่ 4
การวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
___________________
ข้อ 50 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดให้มีการวิเคราะห์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับลูกค้าต้องจัดให้มีระบบงานและมาตรการเพิ่มเติมจากที่กำหนดในข้อ 9 ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) มาตรการป้องกันมิให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนนำข้อมูลที่มีนัยสำคัญและยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ไปหาประโยชน์หรือเปิดเผยต่อบุคคลอื่น
(2) มาตรการป้องกันมิให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนรับค่าตอบแทนจากบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียกับการวิเคราะห์การลงทุนนั้น
(3) ระบบควบคุมดูแลให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ โดยไม่ถูกครอบงำหรือได้รับอิทธิพลจากผู้ออกสินทรัพย์ดิจิทัลหรือบุคคลที่มีส่วนได้เสีย ในการจัดทำการวิเคราะห์การลงทุน
(4) ระบบควบคุมดูแลให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เป็นไปตามประเภทหรือขอบเขตการวิเคราะห์การลงทุนตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 51 ในกรณีที่เป็นการวิเคราะห์การลงทุนโดยใช้ข้อมูลของบุคคลอื่น ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาคัดเลือกข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน
(2) ตรวจสอบและระบุแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมได้
(3) ดูแลให้การใช้ข้อมูลเป็นไปตามกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูล
ข้อ 52 การวิเคราะห์การลงทุนที่จัดทำในรูปบทวิเคราะห์หรือรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรอื่นใด ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีการกำหนดลักษณะความเสี่ยงและความเหมาะสมในการลงทุนอย่างครบถ้วน
(2) มีการแสดงข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ที่ชัดเจน โดยข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นปัจจุบัน ไม่มีลักษณะที่อาจทำให้สำคัญผิด และมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ
(3) ไม่อ้างอิงกับข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาหรือที่มีการปฏิเสธว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
(4) ไม่มีลักษณะเป็นการกระตุ้นหรือยุยงให้ลูกค้าใช้บริการเพื่อลงทุนหรือทำธุรกรรมบ่อยครั้ง หรือเร่งรัดให้มีการใช้บริการเพื่อการลงทุนหรือเข้าทำธุรกรรม
(5) จัดทำโดยอาศัยหลักการหรือหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
(6) ในสาระที่เป็นการตีความ คาดการณ์ ประเมิน หรือความเห็น จะต้องมีการระบุลักษณะเช่นนั้นไว้อย่างชัดเจน และต้องแสดงเหตุผลหรือที่มาของการตีความ คาดการณ์ ประเมิน หรือความเห็นนั้นด้วย
ข้อ 53 ในการเผยแพร่การวิเคราะห์การลงทุนไม่ว่าช่องทางหรือวิธีการอื่นใด ที่จัดทำในรูปบทวิเคราะห์หรือรูปแบบลายลักษณ์อักษรอื่นใด ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของการวิเคราะห์การลงทุนก่อนนำไปเผยแพร่
(2) จัดให้บุคลากรที่ทำหน้าที่แนะนำการลงทุนทำความเข้าใจและนำบทวิเคราะห์การลงทุนนั้นไปใช้ประกอบการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้อย่างเหมาะสม
(3) นำเสนอการวิเคราะห์การลงทุนที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภท โดยให้พิจารณาจากข้อมูลของลูกค้าที่ได้จากการทำความรู้จักลูกค้าตามหมวด 6
(4) เมื่อมีการเสนอการวิเคราะห์การลงทุนตาม (3) แล้ว ต้องมีการนำเสนอการวิเคราะห์การลงทุนต่อลูกค้านั้นอย่างต่อเนื่อง ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ลงทุนหรือความต้องการของลูกค้า
ข้อ 54 ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องมีการมอบหมายบุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนผ่านสื่อไว้อย่างชัดเจน โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์อย่างเพียงพอที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนดังกล่าวได้?
ข้อ 16 ให้เพิ่มภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศนี้เป็นภาคผนวกการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลท้ายประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ข้อ 17 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าที่กำหนดในประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่า 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 18 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ แยกทรัพย์สินประเภทเงิน สินทรัพย์ดิจิทัล หรือทรัพย์สินอื่น แล้วแต่กรณี ที่อยู่ในการดูแลรักษาของตนเอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่า 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 19 ในกรณีที่การโฆษณาหรือการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขให้การโฆษณาหรือการส่งเสริมการขายดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนด
ในประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่า 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 20 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการเป็นนายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัลรายงานการกำหนดรูปแบบการทำธุรกรรมซึ่งนำมาให้บริการแก่ลูกค้าในปัจจุบันให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 21 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563
(นายพิชิต อัคราทิตย์)
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่มา: http://www.sec.or.th/