ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 49/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล(ฉบับที่ 2)

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 22, 2021 11:26 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 49/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล(ฉบับที่ 2)
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551  และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
                    ข้อ 1   ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 9/1 ในส่วนที่ 1 บททั่วไป ของหมวด 2 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับการจัดการกองทุนรวม แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 11/2564
เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย
กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564
?ข้อ 9/1   บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดแนวทางการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าวซึ่งต้องครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
                    (1)  โครงสร้างการบริหารและจัดการความเสี่ยงและการกำกับดูแล
                    (2)  การบริหารและจัดการความเสี่ยงในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์กองทุนรวม
                    (3)  การติดตามความเสี่ยงและปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนรวม
                    (4)  เครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม
                    (5)  การทดสอบผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนรวมในกรณีที่เกิดเหตุการณ์
ที่มีนัยสำคัญ (stress test)
                    ในการกำหนดแนวทางตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของบริษัทจัดการกองทุนรวม และได้รับการพิจารณาทบทวนความมีประสิทธิภาพและความเหมาะสมจากคณะกรรมการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเมื่อปรากฏเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนรวมอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่ชักช้า?
                    ข้อ 2   ให้ยกเลิก (1) (2) และ (3) ของข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 11/2564  เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุน
ที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 29 มกราคม
พ.ศ. 2564
                    ข้อ 3   ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 3/1 เครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ข้อ 25/1 ข้อ 25/2 ข้อ 25/3 และข้อ 25/4 ของหมวด 2 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับ
การจัดการกองทุนรวม แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 11/2564  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564
?ส่วนที่ 3/1
เครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
ข้อ 25/1   เพื่อประโยชน์ในการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีเครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องมือดังกล่าวที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นตามข้อ 25/2 และข้อ 25/3
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมแสดงได้ว่า กองทุนรวมใดไม่มีความเสี่ยงด้าน
สภาพคล่อง  ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีเครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง
                    ข้อ 25/2   เครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมตามข้อ 25/1 ต้องเป็นไปตามหลักการโดยครบถ้วนอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1)  มีการกำหนดให้ผู้ที่ทำรายการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในวันที่มีปริมาณการซื้อ
หรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมถึงระดับมีนัยสำคัญ หรือมีการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนเกินจำนวนที่กำหนด หรือมีการขายหน่วยลงทุนก่อนครบระยะเวลาที่กำหนด เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการทำธุรกรรมของกองทุนรวมเพื่อรองรับการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนนั้นได้
                    (2)  บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถจำกัดปริมาณการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของ
แต่ละกองทุนรวมให้สอดคล้องกับสภาพคล่องของกองทุนรวมในแต่ละขณะได้
                    (3)  กรณีทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือไม่สามารถจำหน่ายได้ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเลือกใช้วิธีการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนให้สอดคล้องกับกรณีดังกล่าว
                    (4)  บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนได้หากเห็นว่ามีความจำเป็นและการดำเนินการดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
ข้อ 25/3   ในการจัดให้มีเครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมตามข้อ 25/1  ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามวิธีการดังต่อไปนี้
(1)  กำหนดให้ผู้ลงทุนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือ
หลายอย่างดังนี้
(ก)  การกำหนดค่าธรรมเนียมการขายคืนที่ไม่เป็นไปตามปริมาณหรือระยะเวลา
ที่กำหนด (liquidity fee)
(ข)  การปรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิด้วยสูตรการคำนวณที่สะท้อนต้นทุนในการ
ซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม (swing pricing)
(ค)  การเพิ่มค่าธรรมเนียมการซื้อขายหน่วยลงทุนที่สะท้อนต้นทุนในการซื้อขายทรัพย์สินของกองทุนรวม (anti-dilution levies ? ADLs)
(2)  กำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในการรับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน โดยวิธีการ
อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างดังนี้
(ก)  การกำหนดระยะเวลาที่ต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนการขายคืนหน่วยลงทุน
(notice period)
                           (ข)  การกำหนดเพดานการขายคืนหน่วยลงทุน (redemption gate)
(3)  กำหนดวิธีการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนในกรณีทรัพย์สินที่กองทุนรวมมีการลงทุนโดยมีนัยสำคัญต่อมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือไม่สามารถจำหน่ายได้ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล เมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถใช้วิธีการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนโดยบันทึกมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็น 0 และ
ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ณ วันที่ได้บันทึกมูลค่าดังกล่าวเป็นผู้มีสิทธิที่จะได้รับเงิน
ภายหลังจากที่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้
(4)  กำหนดให้บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถระงับการซื้อขายหน่วยลงทุน ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้
(ก)  ตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ
(ข)  บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาแล้ว มีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผล
ว่าจำเป็นต้องระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนโดยได้รับความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์ อันเนื่องจาก
เหตุจำเป็นตามกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้  ทั้งนี้ การระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนต้องไม่เกินกว่า 5 วันทำการ
เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันเวลาดังกล่าวจากสำนักงาน
           1.  ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุนรวม
ได้อย่างสมเหตุสมผล
                                     2.  ไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมได้อย่างเป็นธรรม
และเหมาะสม
                                     3.  มีเหตุจำเป็นอื่นใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
                              ในกรณีที่มีการระงับการซื้อขายหน่วยลงทุนตาม (4) (ข) วรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งให้สำนักงานทราบโดยทันที  ทั้งนี้ หากเป็นการระงับการซื้อขายหน่วยลงทุน
เกินกว่า 1 วันทำการ สำนักงานอาจพิจารณาสั่งการให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการโดยประการใด ๆ
เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมหรือเพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจการจัดการกองทุนรวม
                           (ค)  กองทุนรวมได้ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศ และมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนรวมอย่างมีนัยสำคัญ
                1.  ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ  ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนในหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์
แห่งนั้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
                2.  มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรี
และทำให้ไม่สามารถโอนเงินออกจากประเทศหรือรับโอนเงินจากต่างประเทศได้ตามปกติ
                3.  มีเหตุที่ทำให้กองทุนรวมไม่ได้รับชำระเงินจากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ที่ลงทุนไว้ตามกำหนดเวลาปกติ ซึ่งเหตุดังกล่าวอยู่เหนือการควบคุมของบริษัทจัดการกองทุนรวม
และผู้ดูแลผลประโยชน์เห็นชอบด้วยแล้ว
                    ข้อ 25/4   ในการจัดให้มีเครื่องมือการบริหารและจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
ของกองทุนรวมตามประกาศนี้ หากปรากฏว่าการดำเนินการตามเครื่องมือดังกล่าวจะขัดหรือแย้งกับ
การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้  ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้น
การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ขัดหรือแย้งนั้น
                    (1)  กรณีที่เป็นเครื่องมือการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องตามข้อ 25/3(1) ได้แก่ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุน และการเก็บค่าธรรมเนียม
ในเรื่องดังกล่าวที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                    (2)  กรณีที่เป็นเครื่องมือการจัดการความเสี่ยงด้านสภาพคล่องตามข้อ 25/3(2) หรือ (4) ได้แก่ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน และการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือขายคืน
หน่วยลงทุนในเรื่องดังกล่าวที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์?
ข้อ 4   ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มเติมในข้อ 1 และข้อ 3 ของประกาศนี้ ภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565
ข้อ 5   ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
                                 ประกาศ  ณ  วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564



          (นางสาวรื่นวดี  สุวรรณมงคล)
          เลขาธิการ
          สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
          ประธานกรรมการ
          คณะกรรมการกำกับตลาดทุน




          ที่มา: http://www.sec.or.th/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ