- ร่าง -
ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 39/2564 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษและผู้ลงทุนรายใหญ่
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้ยกเลิก (1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2560 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 (2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2562 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562 ข้อ 2 ในกรณีที่ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกหลักทรัพย์ การเสนอขายหลักทรัพย์ หรือการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ โดยประกาศดังกล่าวมิได้กำหนดบทนิยามคำว่าผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น ให้คำดังกล่าวมีความหมายตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ข้อ 3 ในประกาศนี้ ?เงินฝาก? หมายความว่า ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ (1) เงินฝาก บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน หรือตราสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ที่ผู้รับฝากเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน หรือเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายต่างประเทศ (2) ข้อตกลงที่มีลักษณะที่เทียบเคียงได้กับทรัพย์สินตาม (1) ที่เป็นไปตามหลักชะรีอะฮ์ (Shariah) โดยคู่สัญญาฝ่ายที่เทียบเคียงได้กับผู้รับฝากเป็นธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือเป็นสถาบัน การเงินตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ คู่สัญญาที่เทียบเคียงได้กับผู้ฝากต้องสามารถเรียกคืนเงินต้นจากคู่สัญญาฝ่ายที่เทียบเคียงได้กับผู้รับฝากได้เต็มจำนวน ณ เวลาใด ๆ (3) สลากออมทรัพย์ สลากออมสินพิเศษ หรือตราสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ที่ออกโดยสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ?นิติบุคคลร่วมลงทุน? (venture capital) หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจการร่วมลงทุน ในวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) และจำกัดลักษณะของผู้ลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย ?กิจการเงินร่วมลงทุน? (private equity) หมายความว่า กิจการที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ และมีลักษณะที่ครบถ้วนดังต่อไปนี้ (1) มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนร่วมกันของผู้ลงทุนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยจำกัดลักษณะของผู้ลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย (2) มีการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการเงินทุนและทรัพย์สิน ที่เกิดจากเงินทุน (3) มีนโยบายการลงทุนในกิจการอื่นผ่านการเข้าทำสัญญาการลงทุนในหุ้น หรือการสนับสนุนทางการเงินที่ก่อให้เกิดสิทธิในการได้มาซึ่งหุ้นของกิจการนั้นในภายหลัง โดยมีส่วน ในการกำกับดูแลแผนธุรกิจ การดำเนินงานหรือการปรับปรุงการดำเนินงาน หรือการดำเนินการอื่นใด ในลักษณะที่สะท้อนถึงการมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจของกิจการดังกล่าว ?พนักงาน? หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่บริษัทเนื่องจากการจ้างแรงงาน โดยได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง หรือสิ่งของอื่นใดเป็นการตอบแทนการทำงาน คำว่า ?ผู้บริหาร? ?ผู้ถือหุ้นรายใหญ่? ?บริษัทย่อย? และ ?บริษัทร่วม? ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนตามประกาศนี้ ให้สำนักงาน มีอำนาจกำหนดแนวทาง (guideline) ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้ เพื่อให้เกิด ความชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ลงทุนได้ ข้อ 5 ผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ ผู้ลงทุนที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการลงทุน (professional investor) ดังต่อไปนี้ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย (2) ธนาคารพาณิชย์ (3) ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น (4) บริษัทเงินทุน (5) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (6) บริษัทหลักทรัพย์ (7) บริษัทประกันวินาศภัย (8) บริษัทประกันชีวิต (9) กองทุนรวม (10) กองทุนส่วนบุคคลซึ่งบริษัทหลักทรัพย์รับจัดการเงินทุนของผู้ลงทุนดังนี้ (ก) ผู้ลงทุนตาม (1) ถึง (9) หรือ (11) ถึง (24) หรือ (26) (ข) ผู้ลงทุนตาม (25) ทั้งนี้ เฉพาะในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทดังกล่าว (ค) ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติด้านฐานะทางการเงินเทียบเท่าผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (11) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (12) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (13) กองทุนประกันสังคม (14) กองทุนการออมแห่งชาติ (15) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (16) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (17) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (18) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (19) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (20) นิติบุคคลประเภทบรรษัท (21) นิติบุคคลซึ่งมีผู้ลงทุนตาม (1) ถึง (20) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด (22) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับผู้ลงทุนตาม (1) ถึง (21) หรือ (23) หรือ (26) (23) ผู้ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน ได้แก่ (ก) ผู้จัดการกองทุน หรือผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน (ข) นักวิเคราะห์การลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน (ค) ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor) ดังนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในธุรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่ออกตามประกาศเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์โดยวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SME) หรือวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) หรือหลักทรัพย์ที่เสนอขายผ่านผู้ให้บริการ ระบบคราวด์ฟันดิง (crowdfunding portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน 1. ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน 2. ผู้ให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง (crowdfunding portal) ที่ได้รับ ความเห็นชอบจากสำนักงาน 3. ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติด้านความรู้หรือประสบการณ์ และคุณสมบัติ ด้านฐานะการเงิน อย่างครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในตารางแนบท้ายประกาศ (24) กิจการที่ประกอบธุรกิจในลักษณะเงินร่วมลงทุน ได้แก่ นิติบุคคลร่วมลงทุน และกิจการเงินร่วมลงทุน (25) บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทดังกล่าว (ก) กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน (ข) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ค) บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงบุคคลที่เคยมีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งข้างต้น ซึ่งพ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่เกิน 3 เดือน (26) ผู้ลงทุนอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ข้อ 6 ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ได้แก่ ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติด้านความรู้หรือประสบการณ์ และคุณสมบัติด้านฐานะการเงิน อย่างครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในตารางแนบท้ายประกาศ ในการพิจารณาคุณสมบัติด้านความรู้หรือประสบการณ์ นอกจากการได้รับวุฒิบัตร ตามหลักสูตรที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในตารางท้ายประกาศแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารการเงินและการลงทุนอื่นที่ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษต้องได้รับวุฒิบัตรได้ ข้อ 7 ผู้ลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติด้านความรู้หรือประสบการณ์ และคุณสมบัติด้านฐานะการเงิน อย่างครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในตารางแนบท้ายประกาศ ให้นำความในข้อ 6 วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ 8 ให้ถือว่าผู้ลงทุนที่มีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้ ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ไม่น้อยกว่า 9 เดือน เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ตามประกาศนี้ จนกว่าจะได้รับ การจัดประเภทลูกค้าในรอบถัดไป (1) มีการเปิดบัญชีเพื่อการลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ และได้รับการจัดประเภท ลูกค้าจากบริษัทหลักทรัพย์ให้เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ แล้วแต่กรณี ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2560 เรื่อง การกำหนด บทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 (2) มีการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน (รวมถึงการลงทุนคงค้าง) ในบัญชีตาม (1) การจัดประเภทลูกค้าตามวรรคหนึ่ง (1) หมายถึง การจัดประเภทลูกค้าตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ข้อ 9 ในกรณีที่มีประกาศฉบับใดอ้างอิงความหมายของคำว่า ?ผู้ลงทุนสถาบัน? ?ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ? หรือ ?ผู้ลงทุนรายใหญ่? ตามประกาศดังต่อไปนี้ ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงความหมายของคำว่า ?ผู้ลงทุนสถาบัน? ?ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ? หรือ ?ผู้ลงทุนรายใหญ่? แล้วแต่กรณี ตามที่กำหนดในประกาศนี้ (1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 9/2555 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 (2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2560 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ข้อ 10 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2560 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ มีผลใช้บังคับ หรือที่ยังมีผลใช้บังคับเนื่องจากบทเฉพาะกาลของประกาศดังกล่าว ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออก หรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ ข้อ 11 ให้บรรดาข้อจำกัดการโอนหลักทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงานโดยอ้างอิงความหมายของคำว่า ?ผู้ลงทุนสถาบัน? ?ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ? หรือ ?ผู้ลงทุนรายใหญ่? ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2560 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ยังคงมีผลเป็นการจำกัดการโอนหลักทรัพย์ให้อยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนตามความหมายดังกล่าวต่อไป เว้นแต่ผู้ออกหลักทรัพย์ได้แจ้งต่อสำนักงานว่าประสงค์จะอ้างอิงความหมายของคำดังกล่าวตามข้อกำหนดในประกาศนี้ ข้อ 12 ในกรณีที่สำนักงานได้รับคำขออนุญาตหรือคำขออนุมัติตามหลักเกณฑ์ที่ออกโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไว้แล้วในวันก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากหลักเกณฑ์ในการอนุญาตหรืออนุมัติดังกล่าวกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติผู้ลงทุนไว้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2560 เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ให้การพิจารณาคุณสมบัติของผู้ลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามประกาศดังกล่าวต่อไป เว้นแต่ผู้ยื่นคำขออนุญาตหรืออนุมัติได้แจ้งต่อสำนักงานว่าประสงค์จะให้การพิจารณาคุณสมบัติผู้ลงทุนเป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศนี้ ข้อ 13 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564 (นายพิชิต อัคราทิตย์) ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่มา: http://www.sec.or.th/