ประกาศแนวปฏิบัติที่ นป. 1/2565 เรื่อง การดำเนินการและตรวจสอบรายการที่มีเหตุสงสัยว่าจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การถอนหรือโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 14, 2022 15:17 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศแนวปฏิบัติที่ นป. 1/2565 เรื่อง การดำเนินการและตรวจสอบรายการที่มีเหตุสงสัยว่าจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การถอนหรือโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า
                    ตามที่ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
และที่แก้ไขเพิ่มเติม (?ประกาศที่ กธ. 19/2561?) กำหนดให้ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ไม่มีระบบอัตโนมัติสำหรับการถอนหรือโอนเงินของลูกค้าหรือไม่ใช้ระบบอัตโนมัติสำหรับธุรกรรมใด
จากบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า และมีเหตุสงสัยว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การอนุมัติ ลงนาม หรือตรวจสอบ การถอนหรือโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีดังกล่าวตั้งแต่ 2 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป แล้วแต่กรณี ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และต้องตรวจสอบข้อมูลรายการที่มีเหตุสงสัยทุกรายการ นั้น
                     เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดข้างต้น สำนักงาน ก.ล.ต. โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 3(2) ประกอบกับข้อ 10/6 วรรคสาม (3) แห่งประกาศที่ กธ. 19/2561 จึงกำหนดแนวปฏิบัติ
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการดำเนินการและตรวจสอบข้อมูลรายการที่มีเหตุสงสัยว่า
จะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การถอนหรือโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์
ของลูกค้า ดังต่อไปนี้
                    ข้อ 1   ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการและตรวจสอบข้อมูล
รายการที่มีเหตุสงสัยว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การอนุมัติ ลงนาม หรือตรวจสอบ การถอนหรือโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า ตามแนวทางปฏิบัตินี้จนครบถ้วน สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ปฏิบัติตามข้อ 10/6
วรรคสาม (3) แห่งประกาศที่ กธ. 19/2561 แล้ว  ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการแตกต่างจากแนวทางปฏิบัตินี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า
การดำเนินการและการตรวจสอบข้อมูลรายการที่มีเหตุสงสัยนั้นยังคงเป็นไปตามหลักการและ
ข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ดังกล่าว

ข้อ 2   ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการดำเนินการและตรวจสอบรายการที่มีเหตุสงสัยว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การอนุมัติ ลงนาม หรือตรวจสอบ การถอน
หรือโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า  โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
                    (1)  การติดตามรายการถอนหรือโอนเงินของลูกค้าแต่ละรายทุกรายการที่เกิดขึ้น
ในรอบ 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบข้อมูลรายการที่มีเหตุสงสัยว่าจะเป็นการถอนหรือโอนเงินหลายครั้ง
ในเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อให้การถอนหรือโอนเงินนั้นมีจำนวนเงินที่ไม่ต้องอนุมัติ ลงนาม หรือตรวจสอบ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด  ทั้งนี้ ตามตัวอย่างที่ปรากฏในเอกสารแนบท้ายประกาศแนวทางปฏิบัตินี้
                    (2)  การแจ้งเตือน (alert) ไปยังบุคคลผู้รับผิดชอบและหน่วยงานกำกับดูแล
การปฏิบัติงาน (compliance) เมื่อเกิดรายการที่มีเหตุสงสัยตาม (1) เพื่อให้รายการที่มีเหตุสงสัยนั้น
ได้ถูกอนุมัติ ลงนาม หรือตรวจสอบ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
                    (3)  การจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้เกิดรายการที่มีเหตุสงสัยในลักษณะเดิมซ้ำอีก เช่น การขึ้นรายชื่อลูกค้าที่ต้องเฝ้าระวัง (watch list) เพื่อติดตามพฤติกรรมของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
หรือการลงโทษบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ตามระเบียบของผู้ประกอบธุรกิจ
สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น
ประกาศ  ณ  วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565



          (นางสาวรื่นวดี  สุวรรณมงคล)
          เลขาธิการ
          สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เอกสารแนบท้าย
                                       ประกาศแนวปฏิบัติ ที่ นป. 1/2565
เรื่อง การดำเนินการและตรวจสอบรายการที่มีเหตุสงสัยว่าจะหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม
หลักเกณฑ์การถอนหรือโอนเงินของลูกค้าจากบัญชีเปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า


1.  ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีระบบอัตโนมัติสำหรับการถอนหรือโอนเงินของลูกค้า
หรือไม่ใช้ระบบอัตโนมัติสำหรับธุรกรรมใด ๆ จากบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า
หมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการกำหนดขั้นตอนสำหรับการถอนหรือโอนเงิน
ของลูกค้าไม่ว่าจะด้วยวิธีการรับคำสั่งผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถ
เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ใช่ลูกค้าเข้ามาแก้ไขเปลี่ยนแปลงการทำธุรกรรมถอนหรือโอนเงินของลูกค้า
โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของลูกค้าหรือทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย ผู้ประกอบธุรกิจ
สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องดำเนินการและตรวจสอบรายการที่มีเหตุสงสัยว่าจะมี
การหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การอนุมัติ ลงนาม หรือตรวจสอบ การถอนหรือโอนเงิน
ของลูกค้าจากบัญชีดังกล่าวตั้งแต่ 2 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป แล้วแต่กรณี

2.  การติดตามและดำเนินการรายการถอนหรือโอนเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท / ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ในรอบ 24 ชั่วโมง
-          ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการติดตาม (monitor) การทำรายการในแต่ละครั้งของลูกค้า
แต่ละรายในรอบ 24 ชั่วโมง
-          หากพบว่าการทำรายการสุดท้ายของลูกค้าที่จะทำให้มีจำนวนเงินที่ถอนรวมกับยอดเงินที่ถอน
ก่อนหน้าในรอบ 24 ชั่วโมง มีจำนวนยอดเงินรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท
หรือตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่าเป็นการทำการถอนหรือโอนเงินที่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
?          กรณียอดเงินรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท มีการลงนามหรืออนุมัติ
โดยผู้มีอำนาจอย่างน้อย 2 คน ก่อนดำเนินการทำรายการถอนหรือโอนเงินให้แก่ลูกค้า
?          กรณียอดเงินรวมตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป มีการลงนามหรืออนุมัติโดยผู้มีอำนาจอย่างน้อย
2 คน และผ่านการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบอีก 1 คนที่เป็นอิสระจากการบริหารจัดการ
ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ ก่อนดำเนินการทำรายการถอนหรือโอนเงินให้แก่ลูกค้า

ตัวอย่างที่ 1  ลูกค้านาย ก ถอนเงินในวันเดียวกันในเวลาไล่เลี่ยกันในรอบระยะเวลา 00.00 น. ? 24.00 น.
รายการที่ (1) เวลา 08.02 น. ถอนเงิน 7 แสนบาท
รายการที่ (2) เวลา 15.30 น. ถอนเงิน 6 แสนบาท
รายการที่ (3) เวลา 20.15 น. ถอนเงิน 8 แสนบาท
การติดตามและดำเนินการ
>>>  ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการติดตามและพบว่าการทำรายการที่ (3) จะทำให้
การถอนหรือโอนเงินของลูกค้านาย ก มีจำนวนเงินรวมกับยอดการถอนหรือโอนเงินในรายการที่
(1) และ (2) ในรอบ 24 ชั่วโมงเกินกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท  ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจึงมีหน้าที่รวมรายการถอนหรือโอนเงินตั้งแต่รายการที่ (1) - (3) โดยต้อง
มีการลงนามหรืออนุมัติโดยผู้มีอำนาจอย่างน้อย 2 คน ก่อนทำรายการถอนหรือโอนเงิน
ในรายการที่ (3) ให้แก่ลูกค้า  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ตัวอย่างที่ 2  ลูกค้านาย ข ถอนเงินในวันเดียวกันในเวลาไล่เลี่ยกันในรอบระยะเวลา 00.00 น. ? 24.00 น.
รายการที่ (1) เวลา 05.05 น. ถอนเงิน 10 ล้านบาท
รายการที่ (2) เวลา 10.30 น. ถอนเงิน 10 ล้านบาท
รายการที่ (3) เวลา 17.45 น. ถอนเงิน 20 ล้านบาท
รายการที่ (4) เวลา 21.16 น. ถอนเงิน 10 ล้านบาท
การติดตามและดำเนินการ
>>>  ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีการติดตามและพบว่าการทำรายการที่ (4) จะทำให้
การถอนหรือโอนเงินของลูกค้านาย ข มีจำนวนเงินรวมกับยอดการถอนหรือโอนเงินในรายการที่
(1) ? (3) ในรอบ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป  ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
จึงมีหน้าที่รวมรายการถอนหรือโอนเงินตั้งแต่รายการที่ (1) - (4)  โดยต้องมีการลงนาม
หรืออนุมัติโดยผู้มีอำนาจอย่างน้อย 2 คน และมีการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่เป็นอิสระ
1 คน ก่อนทำรายการถอนหรือโอนเงินในรายการที่ (4) ให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม
หลักเกณฑ์ที่กำหนด


          ที่มา: http://www.sec.or.th/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ