13 มีนาคม 2551
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง
ที่ กลต.ธ.(ว) 9/2551
เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และสำนักงานได้มีหนังสือเวียนที่ กลต.ธ.(ว) 15/2550 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2550 ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว นั้น
ปัจจุบัน ธปท. ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงาน ขอให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งในการใช้วงเงินที่สำนักงานได้รับจัดสรรจาก ธปท. ด้วย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2551 ดังนั้น เพื่อให้สำนักงานจัดสรรวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบริษัทหลักทรัพย์มีความคล่องตัวในการทำธุรกรรมดังกล่าว สำนักงานจึงได้ออกประกาศที่ สธ/น. 8/2551 เรื่อง การรายงานการลงทุนในทรัพย์สินต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 12 มีนาคม 2551 พร้อมทั้งยกเลิกหนังสือเวียนที่ กลต.ธ.(ว) 15/2550 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ลงวันที่ 19 มีนาคม 2550 และกำหนดแนวทางการปฏิบัติกรณีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้แทน
1. บริษัทหลักทรัพย์จะต้องขออนุมัติวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน (Foreign Investment Allotment : FIA) ซึ่งเป็นระบบที่จะอนุมัติวงเงินในลักษณะ real time โดยบริษัทหลักทรัพย์หนึ่ง ๆ จะสามารถลงทุนในต่างประเทศภายใต้วงเงินสูงสุดไม่เกินบริษัทละ 50 ล้านดอลลาร์สรอ. โดยระบบดังกล่าวจะจัดสรรวงเงินลงทุนให้ครั้งละไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สรอ. และสามารถขอจัดสรรเพิ่มได้เมื่อใช้วงเงินที่จัดสรรไปแล้วถึง 4 ล้านดอลลาร์สรอ. และสำนักงานจะเรียกวงเงินจัดสรรดังกล่าวคืนหากวงเงินที่ได้รับจัดสรรไม่ได้ถูกใช้ไปภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับอนุมัติ
2. เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ได้ซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศและได้นำเงินออกไปนอกประเทศ หรือเมื่อมีการขายหลักทรัพย์และนำเงินกลับคืนมาในประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ต้องรายงานการใช้วงเงินผ่านระบบ FIA อย่างช้าภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทมีการชำระราคาการลงทุนดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานที่ สธ/น. 8/2551
3. สำนักงานไม่ได้มีการกำหนดกรอบการลงทุนสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ในทำนองเดียวกับหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตราสารที่บริษัทเลือกลงทุนจะมีผลต่อการคำนวณและความสามารถในการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องของบริษัท ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์จึงต้องมั่นใจว่าตนมีความพร้อมในการลงทุน โดยควรจัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งจัดให้มีระบบงานที่รัดกุมเพื่อรองรับการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งอย่างน้อยควรประกอบด้วย credit risk, market risk และ foreign exchange risk
4. บริษัทหลักทรัพย์จะต้องแจ้ง (1) นโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานในการลงทุนต่างประเทศ และ (2) นโยบาย ระบบ และขั้นตอนการบริหารจัดการความเสี่ยงตามที่กล่าวในข้อ 3. ให้สำนักงานภายใน 30 วันนับจากวันที่เริ่มทำการลงทุนในต่างประเทศ
5. บริษัทหลักทรัพย์ต้องแบ่งแยกพอร์ตเพื่อการลงทุน และเพื่อการค้าอย่างชัดเจน
6. บริษัทหลักทรัพย์จะต้องรายงานข้อมูลการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเช่นเดียวกับแนวทางการรายงานปัจจุบันตามรูปแบบและวิธีการที่ ธปท. กำหนด
7. ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ออกตราสารทางการเงินสกุลบาท (structured note) อ้างอิงตัวแปรต่างประเทศขายแก่บุคคลทั่วไป หากบริษัทหลักทรัพย์ต้องการบริหารความเสี่ยงโดย back-to-back กับต่างประเทศโดยการซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้ถือว่าการซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นถือเป็นการลงทุนและนับเป็นวงเงินของลูกค้า แต่หากเป็นการบริหารความเสี่ยงโดยการทำธุรกรรม derivatives กับต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท. ก่อน
ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก ธปท. ได้จากฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ โทรศัพท์ 0-2356-7345-6 หรือติดต่อสำนักงานได้ที่ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์ โทรศัพท์ 0-2695-9548 หรือผ่านทาง E-mail address: seccom@sec.or.th
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายประเวช องอาจสิทธิกุล)
ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส
เลขาธิการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาประกาศสำนักงานที่ สธ/น. 8/2551 เรื่อง การรายงานการลงทุนในทรัพย์สิน ต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์
ลงวันที่ 12 มีนาคม 2551
ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์
โทรศัพท์ 0-2695-9548
โทรสาร 0-2695-9757