ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็น
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
__________________________
โดยที่ข้อ 3(1) ของประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 14/2544 เรื่อง คุณสมบัติของผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ลงวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2544 กำหนด คุณสมบัติประการหนึ่งของผู้ดูแลผลประโยชน์ว่า ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ สำนักงานจึงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแนวทางการพิจารณาและการดำเนินการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ อน. 3/2544 เรื่อง การขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ลงวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2544
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ อน. 4/2547 เรื่อง การขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2547
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“ผู้ดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน
“ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียน” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์จากสำนักงาน
“สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาต และจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน
“ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน” หมายความว่า บุคคลที่ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนตั้งให้เป็นตัวแทนในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับฝากทรัพย์สินของกองทุนรวม
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ที่ประสงค์จะขอให้สำนักงานขึ้นทะเบียนรายชื่อเป็นผู้มี คุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) สามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ ควบคุมการประกอบธุรกิจของบุคคลดังกล่าว และไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่เสื่อมลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันที่สำนักงานพิจารณาคุณสมบัติเพื่อการขึ้นทะเบียน รายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์
(2) ภายในระยะเวลาสามปีย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ต้องไม่มีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลนั้น หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของประเทศไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการประกอบธุรกิจ ที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวงฉ้อฉลหรือทุจริต
(3) ภายในระยะเวลาสามปีย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ต้องไม่มีประวัติการดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะอันเป็นการหลอกลวงหรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตหรือแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าหรือขาดความรอบคอบ หรือสะท้อนถึงวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่น่าเชื่อถือ
(4) แสดงได้ว่ามีหรือจะมีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย
(ก) ระบบการแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมออกจากทรัพย์สินของผู้ดูแล ผลประโยชน์และระบบการดูแลรวมทั้งการเก็บรักษาทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดจนการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการนำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปใช้โดยทุจริต
(ข) ระบบการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวม ตลอดจนข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระบบการควบคุมการรับจ่ายทรัพย์สิน ของกองทุนรวม
(ค) ระบบการตรวจสอบและตรวจนับทรัพย์สินของกองทุนรวมเพื่อความถูกต้องครบถ้วน
(ง) ระบบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อแสดงรายการและจำนวนทรัพย์สินของกองทุนรวม ตลอดจนการบันทึกรายการรับหรือจ่ายทรัพย์สินของกองทุนรวมแต่ละกองทุนรวม
(จ) ระบบการดูแลและติดตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินของกองทุนรวม
(ฉ) ระบบการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการเก็บรักษาความลับของกองทุนรวม
(ช) ระบบในการควบคุมดูแลการกำหนดมูลค่าทรัพย์สินต่าง ๆ ที่กองทุนรวม ลงทุนให้เป็นไปตามหลักความยุติธรรมและความสม่ำเสมอ (fairness and consistency) สำหรับทุกกองทุนรวมที่ตนเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สมาคมประกาศกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(ซ) ระบบในการควบคุมดูแลการเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนและการยกเลิกจำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม รวมทั้งระบบในการตรวจสอบและการรับรองความถูกต้องของการคำนวณ และการประกาศมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืน
หน่วยลงทุน ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม และตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานประกาศกำหนด
(ฌ) ระบบในการควบคุมดูแลการลงทุนและอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวม
ให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวม และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานประกาศกำหนด
(ญ) ระบบในการรับและดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ถือหน่วยลงทุน
(ฎ) ในกรณีที่ผู้ขอขึ้นทะเบียนประสงค์จะตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน ผู้ขอขึ้นทะเบียนดังกล่าวต้องแสดงได้ว่ามีระบบดังต่อไปนี้
1. ระบบการพิจารณาคัดเลือกตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินมีระบบงานเกี่ยวกับ
การเก็บรักษาทรัพย์สินตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และ
วิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล
2. ระบบการติดต่อประสานงานกับตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินเพื่อให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ดูแลผลประโยชน์
ของกองทุนรวมได้อย่างถูกต้องครบถ้วน
3. ระบบการดูแลให้ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตาม
ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วย หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนิน
การเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรับฝากไว้
4. บุคคลที่ผู้ขอขึ้นทะเบียนจะตั้งให้เป็นตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินต้องเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้
4.1 เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงาน
4.2 เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
4.3 เป็นผู้ที่สามารถประกอบธุรกิจการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินได้
โดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งที่กองทุนรวมได้ลงทุนไว้ หรือเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ได้โดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศที่ผู้รับฝากทรัพย์สินตั้งอยู่
(5) แสดงได้ว่ามีหรือจะมีความพร้อมด้านบุคลากรของหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับลักษณะงานที่รับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ สุจริต และมีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปในการประกอบวิชาชีพ
กรรมการ ผู้จัดการ และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในสายงานเกี่ยวกับการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดใน (2) และ (3)
ในกรณีที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์หรือธุรกิจ ประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต แล้วแต่กรณี เป็นผู้ยื่นคำขอรับการขึ้นทะเบียนรายชื่อ
ผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง
ผู้จัดการสาขา และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในสายงาน เกี่ยวกับการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศตามวรรคสามต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับบุคคลตามวรรคสอง
ข้อ 4 ในการขอให้สำนักงานพิจารณาคุณสมบัติเพื่อการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ให้ผู้ที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนยื่นคำขอต่อสำนักงานตามแบบ 121-1 พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอท้ายประกาศนี้ ทั้งนี้ ให้ยื่นพร้อมด้วยสำเนาคำขอ และสำเนาเอกสารหลักฐานประกอบคำขอจำนวนอย่างละสองชุด และสำนักงานจะพิจารณาคำขอดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐาน ถูกต้องครบถ้วน
ข้อ 5 ก่อนเริ่มประกอบธุรกิจเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ให้ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียน รายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์แจ้งให้สำนักงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามสิบวัน ก่อนวันเริ่มประกอบธุรกิจ โดยแสดงให้สำนักงานมั่นใจได้ว่าผู้ดูแลผลประโยชน์ได้จัดให้มีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ตามข้อ 3(4) และมีความพร้อมด้านบุคลากร ของหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ตามข้อ 3(5) และเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้วจึงจะเริ่มประกอบธุรกิจได้
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ที่สำนักงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีระบบงานที่มีความพร้อมตามข้อ 3(4) และมีความพร้อมด้านบุคลากรตามข้อ 3(5) อยู่แล้วในขณะที่ยื่นคำขอ
การเปลี่ยนแปลงระบบงานตามข้อ 3(4) ผู้ดูแลผลประโยชน์ต้องแจ้งให้สำนักงานทราบ
ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหากสำนักงานไม่ทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่ วันถัดจากวันที่สำนักงานได้รับแจ้ง ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบงานได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบงานอย่างเร่งด่วน ผู้ดูแลผลประโยชน์อาจแจ้งต่อสำนักงาน เพื่อขอทราบผลการพิจารณาก่อนครบระยะเวลาสิบห้าวันก็ได้
ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนรายใดที่ประสงค์จะตั้งตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินโดยที่ยังไม่เคยผ่านการพิจารณาคุณสมบัติตามข้อ 3(4) (ฎ) จากสำนักงาน ให้ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนดังกล่าวดำเนินการตามวรรคสาม โดยอนุโลม
ข้อ 6 ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดูแลผลประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับฝาก ทรัพย์สินของกองทุนรวม ให้ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนดำเนินการตามที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรับฝากไว้ โดยอนุโลม
ข้อ 7 ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนต้องไม่ยินยอมให้ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินตั้งตัวแทนช่วง เว้นแต่ในกรณีที่กองทุนรวมมีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศและตัวแทนช่วงสามารถเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินได้โดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศดังกล่าว
ข้อ 8 ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนต้องดำรงคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อ 3 หากไม่สามารถดำรงคุณสมบัติดังกล่าวได้ ให้ผู้นั้นแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบพร้อมทั้งแสดงเหตุผลที่ทำให้ตน ไม่สามารถดำรงคุณสมบัติดังกล่าวได้ภายในวันทำการถัดจากวันที่ไม่สามารถดำรงคุณสมบัตินั้น และเมื่อสามารถดำรงคุณสมบัติดังกล่าวได้แล้ว ให้แจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบภายในวันทำการถัดจากวันดังกล่าว
ข้อ 9 ในกรณีที่ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งตามที่กำหนด ในข้อ 3 หรือมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรับฝากทรัพย์สินให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 6 สำนักงานอาจสั่ง ให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด หรืออาจสั่งการเป็น อย่างอื่นก็ได้
ในกรณีที่บุคคลใดไม่ดำเนินการตามคำสั่งของสำนักงานตามวรรคหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติ ตามข้อ 5 วรรคสี่หรือข้อ 6 สำนักงานอาจเพิกถอนการรับขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็น ผู้ดูแลผลประโยชน์ของบุคคลดังกล่าว
หากผู้ถูกเพิกถอนการรับขึ้นทะเบียนตามวรรคสองยังมีภาระหน้าที่ในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมใด ให้ผู้ถูกเพิกถอนการรับขึ้นทะเบียนรายนั้นส่งมอบทรัพย์สินและเอกสารที่เกี่ยวข้องในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รายใหม่ที่บริษัทจัดการจัดให้มีโดยพลัน
เมื่อสำนักงานแจ้งการดำเนินการหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนทราบเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ให้บุคคลดังกล่าวแจ้งการดำเนินการหรือคำสั่งนั้น ให้บริษัทจัดการที่ตั้งให้ตนเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันทำการถัดจากวันที่บุคคลนั้นได้รับแจ้งการดำเนินการหรือคำสั่งนั้นจากสำนักงาน
ข้อ 10 ผู้ได้รับการขึ้นทะเบียนรายใดประสงค์จะเลิกการประกอบธุรกิจเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ ให้ผู้นั้นแจ้งให้สำนักงานทราบก่อนวันเลิกประกอบธุรกิจเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการตามข้อ 9 วรรคสาม
ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2551
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้มีความ
เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยยกเลิกกำหนดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม