ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ ขส. 5/2566 เรื่อง โครงสร้างการจัดองค์กร อำนาจหน้าที่ วิธีดำเนินงาน และสถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 4, 2023 15:32 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ ขส. 5/2566 เรื่อง โครงสร้างการจัดองค์กร อำนาจหน้าที่ วิธีดำเนินงาน และสถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (?คณะกรรมการ ก.ล.ต.?)
ได้อนุมัติให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับภารกิจต่าง ๆ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (?สำนักงาน?) ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 7 (1) (2) และ (3)
แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่จะให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับดำเนินงานต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐ จึงสมควรประกาศโครงสร้างการจัดองค์กร อำนาจหน้าที่
วิธีดำเนินงาน และสถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารของสำนักงานให้ทราบทั่วกัน ดังนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ ขส. 1/2563 เรื่อง โครงสร้างการจัดองค์กร อำนาจหน้าที่ วิธีดำเนินงานและสถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ลงวันที่ 2 มีนาคม
พ.ศ. 2563
ข้อ 2 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 บัญญัติให้จัดตั้งสำนักงาน และกำหนดให้มีคณะกรรมการ ก.ล.ต. และต่อมาพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535 มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับตลาดทุนเพิ่มเติม
ข้อ 3 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้ง
โดยผ่านการคัดเลือกตามที่กำหนดในมาตรา 31/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6)
พ.ศ. 2562 จำนวนไม่น้อยกว่า 4 คนแต่ไม่เกิน 6 คนเป็นกรรมการ โดยในจำนวนนี้อย่างน้อย
ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านบัญชี และด้านการเงิน ด้านละ 1 คน และให้เลขาธิการ
เป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (?ตลาดหลักทรัพย์?) ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ การออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์
ต่อประชาชน การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับ
การซื้อขายหลักทรัพย์ อำนาจดังกล่าวรวมถึง

(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต

(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ

(4) ออกระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับเกี่ยวกับการพนักงาน ระบบพนักงานสัมพันธ์ การบรรจุ แต่งตั้งถอดถอน และวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน การกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ

(5) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(6) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ดังนี้

อำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540

(1) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(2) กำกับดูแลให้นิติบุคคลเฉพาะกิจปฏิบัติตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540

(3) กำหนดประเภทของสินทรัพย์ที่อนุญาตให้ทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และประเภทของหลักทรัพย์ที่จะออกเนื่องจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

(4) ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540

(5) กำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการต่าง ๆ ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540

(6) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการป้องกัน การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อำนาจหน้าที่ดังกล่าวรวมถึง

(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการขออนุญาต การขอจดทะเบียน การขอความเห็นชอบ การออกใบอนุญาต การรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ที่ได้จดทะเบียน หรือที่ได้รับความเห็นชอบ

(3) กำหนดขอบเขตและวิธีปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(4) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน อำนาจหน้าที่ดังกล่าวรวมถึง

(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการขออนุญาต การอนุญาต หรือการประกอบธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

(3) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 อำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีหน้าที่และอำนาจวางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับและควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลและผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชกำหนดดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการกำกับและควบคุมการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล และการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หน้าที่และอำนาจดังกล่าวรวมถึง (1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกและเสนอขาย โทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต การอนุญาต คำขอความเห็นชอบ การให้ความเห็นชอบ การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัล การยื่นแบบแสดงรายการ ข้อมูลประจำปี การยื่นคำขอต่าง ๆ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับความเห็นชอบ (3) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (4) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ข้อ 4 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกอบด้วยเลขาธิการเป็นประธานกรรมการ รองเลขาธิการซึ่งเลขาธิการมอบหมาย 1 คน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งโดยผ่านการคัดเลือกตามที่กำหนดในมาตรา 31/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 อีกไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2 คน ต้องมีประสบการณ์ในการบริหารกิจการบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการกำกับ ตลาดทุน

คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่น โดยต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. อำนาจและหน้าที่ดังกล่าวรวมถึง (1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดในเรื่องการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ การออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี นายทะเบียนหลักทรัพย์ สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ (2) รายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด (3) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือเพื่อให้เป็นไป ตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองลูกค้า การรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน หรือการควบคุมความเสี่ยง อันเกิดจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 5 สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงาน ทั้งนี้ ในการดำเนินกิจการดังกล่าวเลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และปฏิบัติงานอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 หรือตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวรวมถึงกรณีดังนี้ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน (1) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยนโอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้ (2) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินและลงทุนหาผลประโยชน์ (3) กำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียนและการยื่น คำขอต่าง ๆ (4) รับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงานกำหนด โดยที่สำนักงานได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แต่งตั้งนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2543 ให้เป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา สำนักงานจึงมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับและควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ข้อ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป โครงสร้างการดำเนินงานของสำนักงานโดยอนุมัติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. แบ่งออกเป็นส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้ (1) ฝ่ายกฎหมายผู้ประกอบธุรกิจ (2) ฝ่ายกฎหมายระดมทุน (3) ฝ่ายกฎหมายองค์กรและคดีปกครอง (4) ฝ่ายการเงินและบริหารทั่วไป (5) ฝ่ายกำกับการสอบบัญชี (6) ฝ่ายกำกับตลาด (7) ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน (8) ฝ่ายกำกับธุรกิจตัวกลาง (9) ฝ่ายกำกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (10) ฝ่ายกำกับรายงานทางการเงิน (11) ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (12) ฝ่ายขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (13) ฝ่ายคดี (14) ฝ่ายความเสี่ยงตลาดทุนและองค์กร (15) ฝ่ายงานเลขาธิการ (16) ฝ่ายจดทะเบียนตราสารทุน 1 (17) ฝ่ายจดทะเบียนตราสารทุน 2 (18) ฝ่ายจัดการและวิเคราะห์ข้อมูล (19) ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน 1 (20) ฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน 2 (21) ฝ่ายตรวจสอบภายใน (22) ฝ่ายตรวจสอบสินทรัพย์ดิจิทัล (23) ฝ่ายตราสารหนี้ (24) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (25) ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (26) ฝ่ายนโยบายผู้ประกอบธุรกิจ (27) ฝ่ายนโยบายระดมทุน (28) ฝ่ายนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงิน (29) ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน (30) ฝ่ายยุทธศาสตร์และการต่างประเทศ (31) ฝ่ายวิจัยและขับเคลื่อนข้อมูล (32) ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน (33) ฝ่ายสื่อสารองค์กร ทั้งนี้ รายละเอียดหน้าที่ของแต่ละส่วนงานเป็นไปตามเอกสารแนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 7 สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน รวมถึงการติดต่อสำนักงาน คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สามารถกระทำผ่านสำนักงานได้ตามสถานที่ติดต่อดังนี้

(1)          อาคารสำนักงาน เลขที่  333/3 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 0-2033-9999 โทรสาร 0-2033-9660
(2)          ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทรศัพท์  1207
(3)          เว็บไซต์  www.sec.or.th
(4)          ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ขอรับข้อมูลข่าวสาร  info@sec.or.th
สำหรับช่องทางในการยื่นคำขอหรือติดต่อสำนักงานหรือเลขาธิการ
โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565
ให้เป็นไปตามประกาศว่าด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 8   วันและเวลาทำงานปกติของสำนักงาน คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เวลา 8.30 นาฬิกา
ถึง 16.30 นาฬิกา เว้นแต่เป็นวันหยุดทำการประจำปี วันหยุดทำการกรณีพิเศษ หรือกรณีที่สำนักงาน
กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
วันหยุดประจำสัปดาห์ คือ วันเสาร์และวันอาทิตย์
วันหยุดทำการประจำปี และวันหยุดทำการกรณีพิเศษ ให้เป็นไปตามประกาศว่าด้วย
วันหยุดทำการของบริษัทหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประจำปี
ประกาศ  ณ  วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2566

(นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ