หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทหลักทรัพย์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 28, 2008 09:47 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ/น/ด/ข. 11 /2551
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดให้มีระบบการบริหาร
ความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทหลักทรัพย์
______________________
อาศัยอำนาจตามความใน
(1) ข้อ 4(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 และข้อ 25/1 แห่งประกาศ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 23/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(2) ข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 และข้อ 20/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กย. 26/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการ
ค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(3) ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 24/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการควบคุมการปฏิบัติงานในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(4) ข้อ 2(1) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547
(5) ข้อ 4(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 5/2539 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2539
(6) ข้อ 2 และข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กข. 42/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
“บริษัทหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล และการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์
“งานที่สำคัญ” หมายความว่า งานที่เกี่ยวกับการให้บริการ การทำธุรกรรม หรืองานอื่น ๆ ของบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งหากมีการหยุดชะงักอาจส่งผลกระทบต่อลูกค้า การดำเนินงาน ธุรกิจ ชื่อเสียง ฐานะและผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ
“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า ผู้ให้บริการเป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในนามของบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ให้บริการด้านงานสนับสนุนแก่บริษัทหลักทรัพย์
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับสถาบันการเงินที่มีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจหลักโดยตรงอยู่แล้วและสถาบันการเงินนั้นได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในภายหลัง หากหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมีข้อกำหนดหรือแนวทางปฏิบัติให้สถาบันการเงินนั้นปฏิบัติในลักษณะเดียวกับหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทหลักทรัพย์ตามประกาศนี้
ข้อ 3 เพื่อให้มั่นใจว่างานสำคัญของบริษัทหลักทรัพย์จะสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องหรือกลับมาดำเนินการในเวลาที่เหมาะสมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การปฏิบัติงานตามปกติของบริษัทหลักทรัพย์ต้องหยุดชะงัก บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการกำหนดนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท
ข้อ 4 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีมาตรการในการควบคุมและติดตามการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดไว้ในข้อ 3 และจัดสรรทรัพยากรเพื่อรองรับการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างเพียงพอ
ข้อ 5 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการระบุงานที่สำคัญ ตลอดจนประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้งานที่สำคัญหยุดชะงัก วิเคราะห์ผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของงานที่สำคัญ เพื่อให้สามารถกำหนดลำดับความสำคัญของการดำเนินการและทรัพยากรที่จะใช้ในการเรียกคืนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ 6 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) ซึ่งครอบคลุมงานที่สำคัญของบริษัทหลักทรัพย์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยอย่างน้อยต้องระบุถึงรายละเอียดในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อรองรับหรือเรียกคืนการดำเนินงานให้กลับสู่สภาวะปกติที่มีรายละเอียดเพียงพอที่บุคลากรหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทหลักทรัพย์สามารถปฏิบัติได้
(2) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานในกรณีที่มีการหยุดชะงักของงานที่สำคัญ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว
(3) การติดต่อสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดวิธีการและช่องทางการติดต่อสื่อสาร และข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบการติดต่อสื่อสาร แผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทหรือคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้รับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์มีการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการตามความในวรรคสองด้วย
ข้อ 7 บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานตามข้อ 6(2) และข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบการติดต่อสื่อสารตามข้อ 6(3) ให้เป็นปัจจุบัน
ข้อ 8 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ใช้บริการงานที่สำคัญจากผู้ให้บริการ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้แผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องตามข้อ 6 ครอบคลุมถึงกรณีที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งอาจทำให้การปฏิบัติงานตามปกติของผู้ให้บริการต้องหยุดชะงัก เว้นแต่บริษัทหลักทรัพย์มีการดำเนินการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการจะสามารถให้บริการงานที่สำคัญได้อย่างต่อเนื่องเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
ข้อ 9 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
(1) การทดสอบและทบทวนแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องตามข้อ 6
(2) การประเมินผลการทดสอบตาม (1) และการจัดทำรายงานผลการประเมิน โดยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งมีความรู้ความสามารถและมีความเป็นอิสระ
(3) การรายงานผลการทดสอบ ทบทวน และประเมินตาม (1) และ (2) ต่อคณะกรรมการบริษัทหรือคณะทำงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทให้รับผิดชอบในการปฏิบัติตามนโยบายการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร ระบบงานหรือปัจจัยอื่น ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการดำเนินการตาม (1) โดยเร็ว
ข้อ 10 ในกรณีที่เกิดการหยุดชะงักของงานที่สำคัญของบริษัทหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์แจ้งเหตุที่ทำให้งานที่สำคัญหยุดชะงักพร้อมรายละเอียดให้สำนักงานทราบในโอกาสแรกที่ทำได้โดยต้องไม่เกินวันทำการถัดจากวันที่เกิดการหยุดชะงักของงานที่สำคัญดังกล่าว และเมื่อการหยุดชะงักของงานที่สำคัญสิ้นสุดลงแล้ว ให้บริษัทหลักทรัพย์แจ้งให้สำนักงานทราบโดยเร็ว
ข้อ 11 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามข้อ 9 และข้อ 10 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าสองปีนับแต่วันที่จัดทำเอกสารหลักฐานนั้น โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้โดยเร็วเมื่อได้รับการร้องขอ
ข้อ 12 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2551
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ