กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 14, 2008 08:20 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน
_______________________
โดยที่สำนักงานได้จัดให้มีกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติสัญญา ซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ขึ้นเพิ่มเติมจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่มีอยู่เดิม จึงจำเป็นต้องปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการในการระงับ ข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของสำนักงานให้สามารถรองรับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์และข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงานมีความสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ผู้ลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จึงออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ อน. 25/2544 เรื่อง กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ อน. 22/2545 เรื่อง กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545
(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ อน. 7/2547 เรื่อง กระบวนการอนุญาโตตุลาการ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2547
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“ผู้ถูกร้อง” หมายความว่า
(1) บริษัทหลักทรัพย์
(2) ตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศ
(3) ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
(4) ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล
(5) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“ผู้ร้อง” หมายความว่า ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกร้อง รวมทั้งบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายดังกล่าว
“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“สำนักงาน”หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมวด 1
บททั่วไป
_____________________
ข้อ 4 การดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการนอกจากที่ได้ระบุไว้ในประกาศนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ
ข้อ 5 ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ สำนักงานจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ของสำนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ในงานธุรการให้กับอนุญาโตตุลาการ
หมวด 2
การเสนอข้อพิพาท
_____________________
ส่วนที่ 1
บททั่วไป
_____________________
ข้อ 6 ข้อพิพาทที่ผู้ร้องจะเสนอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกร้องไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงาน คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหลักทรัพย์
(2) เป็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องแต่ละรายเรียกร้องค่าเสียหายไม่เกินหนึ่งล้านบาท และ
(3) ในกรณีเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการให้บริการทางด้านหลักทรัพย์ หรือการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้อพิพาทดังกล่าวต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย
(ก) เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ผู้ร้องรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งข้อพิพาทนั้น แต่ทั้งนี้ ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันเกิดเหตุที่ใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องสิทธิ เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร
(ข) เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ตกลงรับ เข้ารับหรือใช้บริการ หรือเข้าทำสัญญา กับผู้ถูกร้องเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือธุรกิจหลักทรัพย์ หรือเป็นข้อพิพาทระหว่างสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับผู้ถูกร้อง โดยผู้ร้องต้องแสดงหลักฐานเป็นหนังสือหรือ ข้อสัญญาที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องตกลงยินยอมให้มีการเสนอข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน
(ค) เป็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ยื่นข้อร้องเรียนผ่านระบบการรับข้อร้องเรียน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับการรับข้อร้องเรียนของลูกค้า แล้วแต่กรณีแล้ว และปรากฏว่า
1. ผู้ร้องไม่ได้รับการติดต่อจากผู้มีหน้าที่แก้ไขข้อร้องเรียนตามที่ประกาศดังกล่าวกำหนดภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน
2. ผู้ร้องไม่ได้รับการแก้ไขข้อร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน เว้นแต่ผู้ร้องตกลงขยายระยะเวลาดังกล่าว หรือ
3. ผู้ร้องไม่ได้รับการแก้ไขข้อร้องเรียนให้เป็นที่พอใจ
ข้อ 7 ในการเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงาน ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทตามแบบ อญ. 1 ที่สำนักงานกำหนด พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบตามที่ระบุในแบบดังกล่าว และสำเนา คำร้องเสนอข้อพิพาทในจำนวนที่เพียงพอเพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง ทั้งนี้ ผู้ร้องอาจแสดงความประสงค์ขอให้สำนักงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนเริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการมาพร้อมกับการยื่นคำร้องเสนอ ข้อพิพาทก็ได้
ข้อ 8 ผู้ร้องหลายรายที่มีสิทธิเรียกร้องต่อผู้ถูกร้องเป็นแบบเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกัน และมีการเรียกร้องค่าเสียหายแต่ละรายไม่เกินหนึ่งล้านบาท ผู้ร้องเหล่านั้นอาจร่วมกันยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานได้ โดยทำเป็นหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินกระบวนการพิจารณาตามแบบ อญ. 2 ที่สำนักงานกำหนด เพื่อดำเนินการใด ๆ ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการแทนผู้ร้องทุกราย พร้อมทั้งระบุจำนวนอนุญาโตตุลาการกรณีที่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการมาพร้อมกับการยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทด้วย
ข้อ 9 เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตรวจคำร้องเสนอข้อพิพาทแล้ว เห็นว่า
(1) ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 7 และได้วางเงินประกันค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการครบถ้วนตามข้อ 32 แล้ว สำนักงานจะลงทะเบียนรับคำร้องเสนอข้อพิพาทและส่งสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาทดังกล่าวไปยังผู้ถูกร้องตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำร้องเสนอข้อพิพาท โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
(2) คำร้องเสนอข้อพิพาทไม่เป็นไปตามลักษณะในข้อ 6 สำนักงานจะแจ้งการ ไม่รับคำร้องและคืนคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้นไปยังผู้ร้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำร้องดังกล่าว
(3) คำร้องเสนอข้อพิพาทไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจน ให้ผู้ร้องแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ทั้งนี้ หากผู้ร้องไม่ดำเนินการภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินการต่อไปและสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น
ข้อ 10 เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาทแล้ว อาจยื่นคำคัดค้าน ข้อพิพาทตามแบบ อญ. 3 ที่สำนักงานกำหนด ต่อสำนักงานพร้อมแนบสำเนาคำคัดค้านข้อพิพาท ในจำนวนที่เพียงพอที่จะส่งให้แก่ผู้ร้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาท โดยให้ผู้ถูกร้องวางเงินประกันค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 32 มาพร้อมกับการยื่นคำคัดค้าน หรือภายในวันสุดท้ายที่อาจยื่นคำคัดค้านได้
ข้อ 11 ในกรณีที่คู่กรณีประสงค์จะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนในการดำเนินการใด ๆ ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรือประสงค์จะแต่งตั้งบุคคลใดเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ให้แจ้งชื่อและที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวเป็นหนังสือและยื่นต่อสำนักงาน
หมวด 3
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
________________
ข้อ 12 ในกรณีที่ผู้ร้องแสดงความประสงค์ขอให้สำนักงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนเริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการ สำนักงานจะแจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบความประสงค์ดังกล่าวไปพร้อมกับการส่งสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาทให้ผู้ถูกร้อง เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาทที่ผู้ร้องประสงค์จะไกล่เกลี่ย ให้ผู้ถูกร้องแจ้งให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือว่าประสงค์จะไกล่เกลี่ยหรือไม่ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาท และหากผู้ถูกร้องไม่แจ้งภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ประสงค์จะไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ ผู้ถูกร้องอาจยื่นคำคัดค้านข้อพิพาทมาพร้อมกับหนังสือแจ้งความประสงค์เรื่องการไกล่เกลี่ยข้างต้นได้
ข้อ 13 ในกรณีที่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นผลสำเร็จ ให้คู่กรณีทำสัญญาประนีประนอมตามแบบ อญ. 4 ที่สำนักงานกำหนด หากการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเกิดจากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้หรือสำนักงานเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะไกล่เกลี่ยต่อไป ให้คู่กรณีแจ้งต่อสำนักงานเพื่อขอยุติการไกล่เกลี่ย หรือสำนักงานสั่งให้ยุติการไกล่เกลี่ยดังกล่าว แล้วแต่กรณี และเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงานต่อไป
หมวด 4
การตั้งและการคัดค้านอนุญาโตตุลาการ
____________________
ข้อ 14 ในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ให้มีอนุญาโตตุลาการจำนวนหนึ่งคนเป็นผู้ชี้ขาด เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 15 โดยให้คู่กรณีเลือกรายชื่ออนุญาโตตุลาการจากทะเบียนรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ให้ผู้ร้องเลือกรายชื่ออนุญาโตตุลาการโดยเรียงลำดับตามความพอใจสามลำดับ และแจ้งรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ยื่นคำร้องเสนอ ข้อพิพาท หรือวันที่สิ้นสุดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเนื่องจากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลสำเร็จ แล้วแต่กรณี หากผู้ร้องไม่แจ้งรายชื่อภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไปและสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร
(2) เมื่อสำนักงานจัดส่งรายชื่ออนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องเลือกไว้สามชื่อให้แก่ผู้ถูกร้องแล้ว ให้ผู้ถูกร้องเลือกอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนจากรายชื่อทั้งสาม และแจ้งต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้ถูกร้องได้รับรายชื่อนั้น หากผู้ถูกร้องไม่แจ้งรายชื่ออนุญาโตตุลาการที่ตนเลือกไว้หนึ่งรายชื่อภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ถูกร้องประสงค์จะตั้งอนุญาโตตุลาการตามรายชื่อ ลำดับที่หนึ่งที่ผู้ร้องเลือกไว้
(3) ในกรณีที่ผู้ถูกร้องประสงค์จะคัดค้านรายชื่อทั้งสามที่ผู้ร้องเลือกไว้เนื่องจาก มีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นอิสระหรือความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการนั้น ให้ผู้ถูกร้องยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการพร้อมด้วยเหตุผลของการคัดค้านตามแบบ อญ. 6 ที่สำนักงานกำหนด ต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้ถูกร้องได้รับรายชื่อนั้น หากสำนักงาน เห็นว่าการคัดค้านดังกล่าวมีเหตุที่อาจกล่าวอ้างเพื่อคัดค้านอนุญาโตตุลาการได้ ให้ดำเนินการตาม (1) และ (2) โดยอนุโลมจนกว่าจะไม่สามารถเลือกอนุญาโตตุลาการจากรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานได้ แต่ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าไม่มีเหตุในการคัดค้านอนุญาโตตุลาการ สำนักงานจะแจ้งให้ผู้ถูกร้องเลือกอนุญาโตตุลาการจากรายชื่อที่ผู้ร้องเลือกไว้สามรายชื่อดังกล่าวภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่สำนักงานแจ้งการไม่มีเหตุคัดค้านให้ผู้ถูกร้องทราบ และหากผู้ถูกร้องไม่แจ้งรายชื่ออนุญาโตตุลาการที่ตนเลือกไว้หนึ่งรายชื่อภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ถูกร้องประสงค์ จะตั้งอนุญาโตตุลาการตามรายชื่อลำดับที่หนึ่งที่ผู้ร้องเลือกไว้
(4) หากคู่กรณีไม่สามารถเลือกอนุญาโตตุลาการจากทะเบียนรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานได้ หรือไม่สามารถเลือกอนุญาโตตุลาการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำร้องเสนอข้อพิพาทที่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การรับข้อพิพาท หรือวันที่สิ้นสุด การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเนื่องจากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลสำเร็จ ให้ถือว่าคู่กรณีไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป และสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร
ข้อ 15 ในกรณีที่มีผู้ร้องหลายรายร่วมกันยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทตามข้อ 8 และมีการเรียกร้องค่าเสียหายรวมกันเกินกว่าหนึ่งล้านบาท ผู้ร้องอาจแสดงความประสงค์ให้มีคณะอนุญาโตตุลาการที่ประกอบด้วยอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคนได้ โดยให้แสดงความประสงค์เช่นนั้นมาในคำร้องเสนอข้อพิพาท และผู้ถูกร้องอาจแสดงเจตนาว่าตกลงจะมีอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคนหรือไม่มาในคำคัดค้านตามข้อ 10 ในกรณีที่คู่กรณีตกลงกันให้มีคณะอนุญาโตตุลาการที่ประกอบด้วยอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคน ให้คู่กรณีเลือกอนุญาโตตุลาการจากทะเบียนรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ให้ผู้ร้องเลือกอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนโดยแจ้งรายชื่อให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำคัดค้านของผู้ถูกร้องหรือวันที่ สิ้นสุดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเนื่องจากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลสำเร็จ แล้วแต่กรณี หากผู้ร้องไม่แจ้งรายชื่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไปและสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร
(2) ให้ผู้ถูกร้องเลือกอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนโดยแจ้งรายชื่อให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำคัดค้านหรือวันที่สิ้นสุดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเนื่องจากการไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลสำเร็จ หากผู้ถูกร้องไม่แจ้งรายชื่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สำนักงานจะเป็นผู้เลือกอนุญาโตตุลาการให้ผู้ถูกร้องแทน
(3) ให้อนุญาโตตุลาการที่ได้รับเลือกตาม (1) และ (2) ร่วมกันเลือกอนุญาโตตุลาการอีกหนึ่งคนเพื่อทำหน้าที่เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ
หากผู้ถูกร้องปฏิเสธการมีอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคน หรือผู้ถูกร้องไม่แสดงเจตนาว่าตกลงจะมีอนุญาโตตุลาการสามคนหรือไม่ภายในกำหนดเวลา ให้ถือว่าผู้ถูกร้องประสงค์จะมีอนุญาโตตุลาการจำนวนหนึ่งคน และให้ผู้ร้องเลือกรายชื่ออนุญาโตตุลาการโดยเรียงลำดับตาม ความพอใจสามลำดับ และแจ้งรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งให้ผู้ร้องทราบถึงการปฏิเสธหรือการไม่แสดงเจตนาของผู้ถูกร้อง หากผู้ร้องไม่แจ้งรายชื่อภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป และสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำความในข้อ 14 (2) (3) และ (4) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 16 เมื่อมีการเลือกอนุญาโตตุลาการตามข้อ 14 หรือข้อ 15 แล้ว ให้คู่กรณีตั้งอนุญาโตตุลาการตามแบบ อญ. 5 หรือแบบ อญ. 5-1 ที่สำนักงานกำหนด แล้วแต่กรณี
ข้อ 17 อนุญาโตตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งต้องเปิดเผยให้คู่กรณีทราบถึงข้อเท็จจริงที่อาจเป็นเหตุสงสัยในความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ (ถ้ามี) เมื่อได้รับการแต่งตั้งและตลอดระยะเวลาที่ทำหน้าที่
ข้อ 18 หากปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุอันควรสงสัยในความเป็นอิสระหรือความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งรายใด คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการรายนั้นพร้อมด้วยเหตุผลของการคัดค้านตามแบบ อญ.6 ที่สำนักงานกำหนด ต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุนั้น ทั้งนี้ ต้องกระทำก่อนวันที่อนุญาโตตุลาการสั่งปิดการพิจารณาข้อพิพาทหากสำนักงานเห็นชอบกับการคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการเลือกอนุญาโตตุลาการใหม่โดยนำความในข้อ 14 หรือข้อ 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ดำเนิน กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการใหม่หากข้อพิพาทนั้นมีอนุญาโตตุลาการเพียงคนเดียวหรือ มีการคัดค้านอนุญาโตตุลาการทั้งคณะ แต่หากการคัดค้านไม่เป็นผลให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ การที่อนุญาโตตุลาการถูกคัดค้านหรืออนุญาโตตุลาการขอถอนตัว มิได้หมายถึงการยอมรับถึงความถูกต้องแห่งเหตุคัดค้าน
หมวด 5
กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการ
__________________
ข้อ 19 กระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการให้กระทำเป็นภาษาไทย
ข้อ 20 ไม่ว่าการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด หากอนุญาโตตุลาการเห็นสมควร อนุญาโตตุลาการอาจไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้นก็ได้
ข้อ 21 การสืบพยานจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาโดยลับ เว้นแต่คู่กรณีจะตกลงเป็นอย่างอื่น และให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้กำหนดว่าจะสืบพยานหรือฟังคำแถลงการณ์ด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือ หรือจะดำเนินกระบวนพิจารณาโดยรับฟังเพียงพยานเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นใดก็ได้
ข้อ 22 หากอนุญาโตตุลาการเห็นว่าจำเป็นและสมควร อาจขอความเห็นเกี่ยวกับข้อพิพาทจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรืออาจขอความเห็นชอบจากคู่กรณีให้มีผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความเห็นที่เกี่ยวข้องในข้อพิพาทได้ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญต้องมีความเป็นอิสระ และไม่มีส่วนได้เสียกับคู่กรณี อันอาจทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นได้อย่างเป็นกลาง และยุติธรรมให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้กำหนดค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินคนละ
ห้าหมื่นบาทต่อข้อพิพาท และค่าตอบแทนดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 36
ข้อ 23 ถ้าผู้ร้องไม่มาตามกำหนดนัดพิจารณานัดแรก และมิได้แจ้งเหตุขัดข้องเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเริ่มพิจารณา อนุญาโตตุลาการอาจสั่งจำหน่ายคำร้องเสนอข้อพิพาทเสีย หรือ หากอนุญาโตตุลาการเห็นสมควรอาจดำเนินกระบวนพิจารณาไปแต่ฝ่ายเดียวก็ได้ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาตามกำหนดนัดพิจารณานัดอื่นใดที่มิใช่กำหนดนัดพิจารณานัดแรก และมิได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนกระบวนพิจารณาหรือมิได้แจ้งเหตุขัดข้องเป็น
ลายลักษณ์อักษรก่อนเริ่มพิจารณา หากอนุญาโตตุลาการเห็นสมควรก็ให้ดำเนินกระบวนพิจารณา ไปแต่ฝ่ายเดียวกรณีผู้ถูกร้องขอเลื่อนกำหนดนัดพิจารณาและอนุญาโตตุลาการเห็นสมควรให้ เลื่อนกระบวนพิจารณาได้แต่ไม่เกินสองนัด โดยอนุญาโตตุลาการอาจคิดค่าใช้จ่ายจากผู้ถูกร้องตามความเป็นจริง (ถ้ามี) เพื่อจ่ายให้กับผู้ร้องก็ได้ โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิให้ถือเป็นค่าใช้จ่าย ตามข้อ 36
ข้อ 24 ถ้าคู่กรณีไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาเสนอต่ออนุญาโตตุลาการอีกให้อนุญาโตตุลาการสั่งปิดการพิจารณา
หมวด 6
คำชี้ขาด
_______________________
ข้อ 25 การทำคำชี้ขาดต้องให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ตั้งอนุญาโตตุลาการ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและสมควรให้เป็นดุลยพินิจของอนุญาโตตุลาการที่จะขยายระยะเวลาออกไปได้อีกแต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือคู่กรณีจะตกลงขยายระยะเวลาเป็นอย่างอื่น
ข้อ 26 ในกรณีที่เป็นข้อพิพาทที่มีอนุญาโตตุลาการสามคนเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท ให้อนุญาโตตุลาการมีคะแนนเสียงคนละหนึ่งเสียง และการทำคำชี้ขาดให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่สามารถทำคำชี้ขาดเนื่องจากไม่อาจหาเสียงข้างมากได้ ให้ประธานอนุญาโตตุลาการ เป็นผู้ทำคำชี้ขาดเพียงผู้เดียว
ข้อ 27 คำชี้ขาดจะต้องทำตามแบบ อญ.7 ที่สำนักงานกำหนด โดยสำนักงานจะส่งสำเนาคำชี้ขาดไปยังคู่กรณีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด
ข้อ 28 สำนักงานอาจเปิดเผยคำชี้ขาดต่อสาธารณชนโดยไม่เปิดเผยชื่อจริงของคู่กรณี เว้นแต่คู่กรณียินยอม
ข้อ 29 ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อความในคำชี้ขาด คู่กรณีฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้อนุญาโตตุลาการตีความข้อความดังกล่าว โดยยื่นผ่านสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คู่กรณีฝ่ายนั้นได้รับสำเนาคำชี้ขาด ทั้งนี้ ให้ถือว่าการตีความเป็นส่วนหนึ่งของคำชี้ขาดดังกล่าว
ข้อ 30 ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการมิได้ชี้ขาดในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญใดคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้อนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดเพิ่มเติม ในประเด็นนั้น โดยยื่นผ่านสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คู่กรณีฝ่ายนั้นได้รับสำเนาคำชี้ขาดในกรณีที่อนุญาโตตุลาการเห็นว่าประเด็นนั้นเป็นสาระสำคัญและยังมิได้ชี้ขาดไว้ให้ทำคำชี้ขาดในประเด็นนั้นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
หากอนุญาโตตุลาการเห็นว่าการทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมนั้นไม่อาจกระทำได้นอกจากจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงนั้นเพิ่มเติม อนุญาโตตุลาการอาจสั่งให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานมาสืบได้ ทั้งนี้ อนุญาโตตุลาการจะต้องทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ ได้รับคำร้อง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้เป็นดุลยพินิจของอนุญาโตตุลาการที่จะขยายเวลาออกไปได้อีกตามสมควรทั้งนี้ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
ข้อ 31 ให้อนุญาโตตุลาการส่งมอบสำนวนความและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้สำนักงานจัดเก็บ
หมวด 7
ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ และค่าใช้จ่ายอื่น
__________________
ข้อ 32 ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการให้คิดในอัตราร้อยละสองของค่าเสียหาย ที่เรียกร้อง ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่าห้าพันบาท โดยอนุญาโตตุลาการจะกำหนดผู้มีหน้าที่ในการชำระค่าป่วยการดังกล่าวในกรณีการร่วมกันยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทตามข้อ 8 ให้คิดค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการตามอัตราในวรรคหนึ่งจากค่าเสียหายที่เรียกร้องรวมกันทั้งหมด แต่ค่าป่วยการดังกล่าวไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อข้อพิพาท และในกรณีที่มีการตั้งอนุญาโตตุลาการสามคน ให้คิดค่าป่วยการตามอัตราดังกล่าว และอนุญาโตตุลาการแต่ละรายจะได้รับค่าป่วยการไม่เกินหนึ่งแสนบาทต่อข้อพิพาท
ข้อ 33 หากผู้ร้องไม่วางเงินประกันค่าป่วยการตามที่กำหนดในข้อ 9(1) ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป
ข้อ 34 อนุญาโตตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งจากคู่กรณีให้เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากสำนักงานในการพิจารณาข้อพิพาทครั้งละสองพันบาท แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสองหมื่นบาทในแต่ละข้อพิพาท
ข้อ 35 ในกรณีที่มีการยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ว่ากรณีใด หากอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้คู่กรณีฝ่ายใดเป็นผู้มีหน้าที่ชำระค่าป่วยการ อนุญาโตตุลาการจะคืนเงินประกันค่าป่วยการโดยไม่มีดอกเบี้ยให้แก่คู่กรณีตามจำนวนที่คู่กรณีไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าป่วยการ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำสั่งเช่นว่านั้น
ข้อ 36 ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการสำหรับ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการให้บริการทางด้านหลักทรัพย์ หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎที่ออก ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้คู่กรณีรับภาระฝ่ายละกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้ สำนักงานจะรับภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนของผู้ร้องตามที่สำนักงานเห็นสมควรค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักงานจะรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านั้นทั้งหมดเพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง สำนักงานจะถือว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการเริ่มตั้งแต่วันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ
ประกาศ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ