ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 21/2551
เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน
(ฉบับที่ 2)
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43
และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 10 ข้อ 18(6) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและ
จัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 13 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 13 การทำธุรกรรมเพื่อกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง บริษัทจัดการต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของกองทุนเป็นสำคัญ และบริษัทจัดการจะทำธุรกรรมเพื่อกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมเมื่อเป็นกรณีตามข้อ 14 หรือได้ ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 15 หรือได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์หรือ ความยินยอมจากลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี เมื่อเป็นกรณีตามข้อ 16 หรือข้อ 17 ทั้งนี้ การทำธุรกรรมเพื่อกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรณีตามข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 16 ข้อ 17 หรือกรณีอื่นใดนอกเหนือจากกรณีตามข้อดังกล่าว ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นธุรกรรมที่ดีที่สุดสำหรับกองทุน หรือจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อกองทุนในสถานการณ์ขณะนั้น
(2) เป็นธุรกรรมในลักษณะที่เป็นธรรมเนียมทางค้าปกติเสมือนเป็นการทำธุรกรรมกับคู่ค้าทั่วไปที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษ (at arm’s length transaction) และ
(3) ในกรณีที่เป็นธุรกรรมระหว่างกองทุนด้วยกันเองซึ่งกองทุนเหล่านั้นอยู่ภายใต้ การจัดการของบริษัทเดียวกัน (cross trade) ธุรกรรมที่จะทำนั้นต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) เป็นธุรกรรมที่มีความเหมาะสมต่อลักษณะ นโยบายการลงทุน และความจำเป็น ในการลงทุนของกองทุนดังกล่าว
(ข) ธุรกรรมดังกล่าวต้องไม่ใช่การซื้อขายหน่วยลงทุนระหว่างกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 126(3)
การทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องจัดทำข้อตกลงในการเข้าทำธุรกรรม เป็นลายลักษณ์อักษร และจัดทำบันทึกข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การพิจารณาของบริษัทจัดการว่าธุรกรรมดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมดังกล่าวได้
การทำธุรกรรมเพื่อกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความรวมถึง การที่บุคคลที่เกี่ยวข้องซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการกองทุนรวม”
ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 14 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 14 การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทจัดการกองทุนรวมกับกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทนั้น บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร และได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการทำธุรกรรมนั้น แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่กองทุนรวมจะซื้อหุ้นของบริษัทจัดการกองทุนรวมซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 126(2)”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 15 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 15 ในการทำธุรกรรมภายหลังจากการลงทุนครั้งแรก หากบริษัทจัดการกองทุนรวมจะลงทุนในหรือจำหน่ายไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 15/1 และข้อ 15/2 แล้ว”
ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 15/1 และข้อ 15/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้ เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
“ข้อ 15/1 การลงทุนในหรือจำหน่ายไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กับบุคคลที่เกี่ยวข้องภายหลังจากการลงทุนครั้งแรก หากมูลค่าของธุรกรรมดังกล่าวที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทำกับบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันภายในรอบระยะเวลาหกเดือนใดมีมูลค่ารวมกันตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาท หรือตั้งแต่ร้อยละสามของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมขึ้นไป แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ก่อนทำธุรกรรมดังกล่าว
(1) ในกรณีที่การขอมติกระทำโดยการส่งหนังสือขอมติไปยังผู้ถือหน่วยลงทุน ต้องได้รับมติเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของโครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าว
(2) ในกรณีที่การขอมติกระทำโดยการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน ต้องได้รับมติไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนที่เข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียง โดยในการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติดังกล่าว ต้องมีผู้ถือหน่วยลงทุนมาประชุมไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคนหรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ จำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนที่มาประชุมดังกล่าวต้องมีหน่วยลงทุนนับรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าว จึงจะเป็นองค์ประชุม
การนับมติตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมนับจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีส่วนได้เสียในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์รวมในมติดังกล่าว
ในกรณีที่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลตามข้อ 20(1)(ก)(ข)(ค)(ง)(จ)(ฉ)(ช) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแนบเอกสารการตรวจสอบและรับรองของผู้ดูแลผลประโยชน์ ของกองทุนรวมตามข้อ 15/2 ไปพร้อมกับหนังสือขอมติหรือหนังสือนัดประชุมตามวรรคหนึ่งด้วย
การพิจารณาความเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ข้อ 15/2 การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ภาหลังจากการลงทุนครั้งแรกกับบุคคลที่เกี่ยวข้องตามข้อ 20(1)(ก)(ข)(ค)(ง)(จ)(ฉ)(ช) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ตรวจสอบและรับรองเป็นลายลักษณอักษร ว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นธุรกรรมในลักษณะที่เป็นธรรมเนียมทางค้าปกติเสมือนเป็นการทำธุรกรรมกับลูกค้าทั่วไปที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษ (at arm’s length transactions) ตามข้อ 13(2)”
ข้อ 5 ให้ยกเลิก (ข) ใน (3) ของข้อ 20 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
(นายประสงค์ วินัยแพทย์)
รองเลขาธิการ
รักษาการเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดลักษณะของธุรกรรมที่กองทุนสามารถทำกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อ
กำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่กองทุนรวม
อสังหาริมทรัพย์จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจัดการกองทุนรวม
หรือของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจัดการกองทุนรวมให้มีความเหมาะสม