โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday May 13, 2005 23:42 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ ขส. 2/2548
เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร
________________________________
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้มีประกาศที่ ขส. 2/2547 เรื่อง โครงสร้างองค์กร และอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อำนาจหน้าที่ของสำนักงาน โครงสร้างการแบ่งส่วนงานภายในสำนักงาน หน้าที่ของแต่ละส่วนงาน และสถานที่ติดต่อของสำนักงาน มาเพื่อทราบโดยทั่วกันแล้ว นั้น
โดยที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้อนุมัติให้เพิ่มส่วนงานจำนวน 1 ส่วนงาน คือ ฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล เพื่อปฏิบัติงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมบรรษัทภิบาล กำกับดูแลการเข้าครอบงำกิจการ และดำเนินการออกประกาศหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของส่วนงานต่าง ๆ ของสำนักงาน เพื่อให้การบริหารจัดการสำนักงานเป็นไปโดยสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของสำนักงาน
สำนักงานจึงขอแจ้งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนงานขององค์กรและอำนาจหน้าที่ของส่วนงานภายในสำนักงานมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ โดยขอยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ ขส. 2/2547 เรื่อง โครงสร้างองค์กรและอำนาจหน้าที่ขององค์กร ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 และให้ใช้ประกาศนี้แทน ดังนี้
ข้อ 1 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“คณะกรรมการ ก.ล.ต.”)และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“สำนักงาน”) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2535 ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของประเทศ
ข้อ 2 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็น ประธานกรรมการ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินหกคนเป็นกรรมการ โดยในจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านการบัญชี และด้าน การเงินด้านละหนึ่งคน และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง องค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ การออกหรือเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อำนาจดังกล่าวรวมถึง
(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับคำขออนุญาต คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต
(3) วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
(4) ออกระเบียบ คำสั่ง และข้อบังคับเกี่ยวกับการพนักงาน ระบบพนักงานสัมพันธ์ การบรรจุแต่งตั้งถอดถอน และวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน การกำหนดเงินเดือนและเงินอื่น ๆ รวมตลอดถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ
(5) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ดังต่อไปนี้
อำนาจหน้าที่ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540
(1) กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(2) กำกับดูแลให้นิติบุคคลเฉพาะกิจปฏิบัติตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(3) กำหนดประเภทของสินทรัพย์และหลักทรัพย์ที่อนุญาตให้ทำการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(4) ออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(5) กำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินการต่างๆ ตามพระราชกำหนดดังกล่าว
(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือที่ปรึกษาเพื่อปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มอบหมาย
(7) วางระเบียบเกี่ยวกับการประชุมและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
(8) ปฏิบัติการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดดังกล่าวอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลในเรื่องสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายวงหน้า และการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า อำนาจหน้าที่ดังกล่าวรวมถึง
(1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
(2) กำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับการขออนุญาต การขอจดทะเบียน การขอความเห็นชอบ การออกใบอนุญาต การรับจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบ หรือการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบอนุญาต ที่ได้จดทะเบียน หรือที่ได้รับความเห็นชอบ
(3) กำหนดขอบเขตและวิธีปฏิบัติในการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
(4) กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว
ข้อ 3 สำนักงานมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการทั้งปวงของสำนักงาน ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวเลขาธิการต้องรับผิดชอบต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต.สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และปฏิบัติงานอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 หรือตามกฎหมายอื่น
อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานดังกล่าวรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน
(1) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองหรือมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ สร้าง ซื้อ จัดหา ขาย จำหน่าย เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม รับจำนำ รับจำนอง แลกเปลี่ยนโอน รับโอน หรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้
(2) กู้ยืมเงินหรือให้กู้ยืมเงินและลงทุนหาผลประโยชน์
(3) กำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ
(4) รับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. และสำนักงานกำหนดและโดยที่สำนักงานได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศกระทรวงการคลัง ลงวันที่ 29 มีนาคม 2543 ให้เป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2543 เป็นต้นมา สำนักงานจึงมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับและควบคุมโดยทั่วไปเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
ข้อ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป โครงสร้างการดำเนินงานของ
สำนักงานโดยอนุมัติของคณะกรรมการ ก.ล.ต. แบ่งออกเป็นส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้
(1) ฝ่ายกฎหมาย
(2) ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
(3) ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์
(4) ฝ่ายกำกับธุรกิจแนะนำการลงทุน
(5) ฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน
(6) ฝ่ายงานเลขาธิการ
(7) ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์
(8) ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน
(9) ฝ่ายตรวจสอบและคดี
(10) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
(11) ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ
(12) ฝ่ายบริหารทั่วไป
(13) ฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์
(14) ฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล
ข้อ 5 ฝ่ายกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่
(1) ให้คำปรึกษาและยกร่างกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน ซึ่งครอบคลุมถึงพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจ เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และกฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา และกฎหมายล้มละลาย เป็นต้น รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะและดำเนินการเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของสำนักงานตามที่กล่าวข้างต้น
(2) ดำเนินการและให้คำปรึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานทางปกครองของสำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นต้น ตลอดจนดำเนินการที่จำเป็นในกรณีที่สำนักงานหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นคู่กรณีทางปกครอง
(3) ให้คำปรึกษาและยกร่างข้อบังคับ ระเบียบ และคำสั่งต่าง ๆ ที่ใช้บังคับภายในสำนักงาน รวมทั้งความผูกพันตามสัญญาหรือหลักฐานอื่นใดระหว่างสำนักงานกับบุคคลภายนอก
(4) ปฏิบัติงานด้านเลขานุการและธุรการของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะอนุกรรมการกฎหมาย คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และอนุญาโตตุลาการ
(5) ประสานงานการปฏิบัติตามคำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือหมายเรียกพยานบุคคล ตลอดจนการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่พนักงานในการต่อสู้คดีตามที่กำหนดในข้อบังคับสำนักงาน
(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 6 ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน มีอำนาจหน้าที่
(1) กำกับดูแลบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งรวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การจัดการเงินร่วมลงทุน ตลอดจนตัวกลางที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้รับฝากทรัพย์สิน และกำกับดูแลบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งการดำเนินงานของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ตั้งแต่การเสนอแนะความเห็นในการออกใบอนุญาตใหม่หรือการจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบผู้บริหารและผู้ถือหุ้น รายใหญ่ และผู้จัดการกองทุนของผู้ได้รับใบอนุญาต การให้ความเห็นชอบผู้ดูแลผลประโยชน์และผู้รับฝากทรัพย์สิน การอนุมัติจัดตั้งและแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวม การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการในการจัดการลงทุน การตอบข้อหารือต่าง ๆ การพิจารณาข้อร้องเรียนของผู้ถือหน่วย ลงทุนและลูกค้า รวมถึงการดำเนินการภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การประกอบธุรกิจจัดการลงทุนงานในอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งมิให้หมายความรวมถึงการกำกับดูแลงานด้านทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ งานปฏิบัติการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการรายงานผลการ จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(2) รวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตาม (1)
(3) ตรวจสอบการดำเนินงานที่เกี่ยวกับบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตตาม (1) ให้มีระบบงานที่จำเป็นในการบริหารความเสี่ยงและมีระบบการควบคุมดูแลให้การจัดการลงทุนเป็นไปตามนโยบายการลงทุน
(4) การพัฒนากองทุนรวมรูปแบบใหม่ ๆ
(5) งานด้านวิเทศสหการที่เกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือทางด้านการออกและเสนอขายหน่วยลงทุนระหว่างประเทศ (cross-border) ภายใต้กรอบความร่วมมือและความตกลงระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคีในระดับภูมิภาค
(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 7 ฝ่ายกำกับธุรกิจนายหน้าและค้าหลักทรัพย์ มีอำนาจหน้าที่
(1) กำกับดูแลบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ และการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ บุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ ตั้งแต่ การเสนอแนะความเห็นในการออกใบอนุญาตใหม่หรือการจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการในการประกอบธุรกิจ การตอบ ข้อหารือต่าง ๆ รวมถึงการพิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
(2) กำกับดูแลการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งนี้ ตั้งแต่การพิจารณาให้ใบอนุญาตและให้ความเห็นชอบกฎเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึง การพิจารณาข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน
(3) รวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตาม (1) และ (2)
(4) ตรวจสอบการดำเนินงานบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตตาม (1) และ (2) รวมถึง การพิจารณาลงโทษทางบริหารกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่กำหนด
(5) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 8 ฝ่ายกำกับธุรกิจแนะนำการลงทุน มีอำนาจหน้าที่
(1) กำกับดูแลบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าค้าหรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่ปรึกษาการลงทุน บุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทที่ปรึกษาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบเป็นบริษัทจัดอันดับกองทุนรวมรวมทั้งการให้คำแนะนำและการขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท ตั้งแต่การเสนอแนะความเห็นในการออกใบอนุญาตใหม่หรือการจดทะเบียน การให้ความเห็นชอบผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การขึ้นทะเบียนบุคลากรซึ่งปฏิบัติงานให้คำแนะนำและขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของบุคลากรดังกล่าว
(2) กำกับดูแลบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนส่วนบุคคลในส่วนเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ งานปฏิบัติการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการรายงานผลการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งการดำเนินงาน ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานดังกล่าว
(3) รวบรวมและประมวลข้อมูลตามรายงานของบุคคลซึ่งจดทะเบียนหรือได้รับ
ใบอนุญาตดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตาม (1) และ (2)
(4) ดำเนินการทางทะเบียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งครอบคลุมถึง การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การเปลี่ยนแปลงกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(5) เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในเรื่องบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตระหนักถึงการรักษาและปกป้องสิทธิประโยชน์อันพึงได้รับ และตอบข้อหารือที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530
(6) พิจารณาข้อร้องเรียนและดำเนินการภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในส่วนที่เกี่ยวกับการให้คำแนะนำการลงทุนและการขายหลักทรัพย์ ไม่เหมาะสม
(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 9 ฝ่ายกำกับบัญชีตลาดทุน มีอำนาจหน้าที่
(1) พิจารณาให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(2) ส่งเสริมและพัฒนา รวมทั้งกำกับดูแลวิชาชีพบัญชีและการสอบบัญชีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน
(3) ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ส่วนงานต่าง ๆ ของสำนักงาน รวมทั้งบุคคลภายนอกเกี่ยวกับวิชาการบัญชี และวิธีปฏิบัติทางบัญชี
(4) ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของมาตรฐานการบัญชี และมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ
(5) ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีของนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(6) ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งติดตามให้มีการดำเนินการแก้ไขการกระทำต่าง ๆ ในกรณีที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือผู้ลงทุน
(7) ศึกษามาตรฐานการบัญชีต่างประเทศ รวมถึง ติดตามพัฒนาการเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชีในต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางการนำมาตรฐานการบัญชีสากล มาใช้กับบริษัทในตลาดทุน
(8) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 10 ฝ่ายงานเลขาธิการ มีอำนาจหน้าที่
(1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานประชาสัมพันธ์ และงานสารนิเทศ
(2) ปฏิบัติงานด้านเลขานุการและธุรการของคณะกรรมการ ก.ล.ต. และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน
(3) บริหารจัดการระบบฐานข้อมูลกลางและการเผยแพร่ข้อมูลด้านตลาดทุน และการดำเนินงานของสำนักงาน รวมทั้งการให้บริการข้อมูลและรับเรื่องร้องเรียนจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไป
(4) ดำเนินการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านการเงิน การลงทุน และตลาดทุนให้แก่นักลงทุนและประชาชนโดยทั่วไป
(5) ดำเนินการเกี่ยวกับงานวิเทศสัมพันธ์
(6) ดำเนินการเกี่ยวกับห้องสมุดของสำนักงาน
(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 11 ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ มีอำนาจหน้าที่
(1) กำกับดูแลการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการพิจารณาคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการเปิดเผยข้อมูลในตลาดแรก และดูแลการเปิดเผยข้อมูลภายหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ รวมถึงการติดตามดูแลการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และเป็นปัจจุบันเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนและตัดสินใจใช้สิทธิออกเสียง
(2) กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ในส่วนของการกำกับดูแลบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
(3) ศึกษาแนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์ ได้แก่ ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน รวมทั้งพิจารณาคำขอความเห็นชอบ และติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าว ตลอดจนการพิจารณาลงโทษผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง
(4) ตรวจสอบข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบการพิจารณาของสำนักงาน
(5) จัดทำระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน
(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 12 ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน มีอำนาจหน้าที่
(1) ตรวจสอบกิจการและการดำเนินงานของสำนักงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ข้อบังคับ คำสั่ง และพิธีปฏิบัติที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานกำหนด เพื่อให้มีระบบการควบคุมภายในที่รัดกุม ปลอดภัย
(2) ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแก้ไขให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(3) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 13 ฝ่ายตรวจสอบและคดี มีอำนาจหน้าที่
(1) ติดตาม รวบรวม และตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(2) รวบรวม และตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายความผิดอื่นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
(3) ดำเนินการป้องปราม หรือดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดโดยกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน หรือเสนอข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบปรับ
(4) พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(5) กำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์และศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในส่วนที่เกี่ยวกับระบบการซื้อขาย
(6) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 14 ฝ่ายทรัพยากรบุคคล มีอำนาจหน้าที่
(1) ศึกษา วางแผน และดำเนินการเกี่ยวกับการพนักงาน สวัสดิการ การจัดองค์งาน
และการพัฒนาพนักงาน
(2) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 15 ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มีอำนาจหน้าที่
(1) ศึกษา วางแผน วิเคราะห์ระบบงาน ออกแบบระบบงาน และพัฒนาระบบงานด้วยคอมพิวเตอร์
(2) ศึกษาและพัฒนาระบบการจัดเก็บและเรียกใช้ฐานข้อมูลโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ
(3) บำรุงรักษาระบบงานที่พัฒนาแล้วเสร็จ
(4) บริหารการใช้ข้อมูลในระบบเครือข่ายทั้งในและนอกสำนักงาน
(5) ศึกษาและจัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในงานของสำนักงาน
(6) ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะ และแก้ไขปัญหาของระบบคอมพิวเตอร์ภายในสำนักงาน รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์
(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 16 ฝ่ายบริหารทั่วไป มีอำนาจหน้าที่
(1) ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานพัสดุและงานธุรการทั่วไป
(2) ดำเนินการเกี่ยวกับการวางรูปและระเบียบการบัญชี การประมวลบัญชี ตลอดจนการจัดงบประมาณของสำนักงาน
(3) ดำเนินการเกี่ยวกับธุรการเงินและการลงทุนของสำนักงาน
(4) ดำเนินการ ศึกษา พัฒนาและควบคุมระบบการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล เอกสาร ข่าวสาร สถานที่และทรัพย์สินของสำนักงาน
(5) ตรวจสอบประวัติและพฤติการณ์ของลูกจ้างทดลองงานก่อนเข้าปฏิบัติงาน
(6) ติดตาม รวบรวม ข้อมูล ข่าวสาร เกี่ยวกับสถานการณ์หรือความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตพนักงานและ/หรือทรัพย์สินของสำนักงาน หรือมีผลกระทบในทางที่อาจเป็นหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสำนักงาน ทำการวิเคราะห์ ประเมิน
สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนะนโยบายหรือมาตรการที่จำเป็นในการรักษาความปลอดภัยสำนักงาน
(7) ดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับ ยับยั้ง ป้องกันภัยคุกคามที่อาจมีต่อสำนักงาน ภายใต้ขอบเขต ข้อจำกัดแห่งอำนาจหน้าที่ หรือเป็นไปตามกฎ ระเบียบ คำสั่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(8) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 17 ฝ่ายวิจัยและยุทธศาสตร์ มีอำนาจหน้าที่
(1) ศึกษา และติดตามพัฒนาการที่เกี่ยวกับตลาดทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีผลต่อตลาดทุนของประเทศ
(2) จัดทำแผนกลยุทธ์ในการปฏิบัติภารกิจของสำนักงาน
(3) กำหนดบทบาทและยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานด้านต่างประเทศของสำนักงาน
(4) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการกำกับและพัฒนาตลาดทุน ทั้งด้านสินค้าผู้ร่วมตลาด โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเพื่อการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน
(5) กำหนดนโยบายเพื่อการพัฒนา การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ รวมถึงการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจด้านตราสารหนี้และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
(6) จัดทำรายงานวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจและภาวะตลาดทุน ตลอดจนงานวิชาการอื่น
(7) ปฏิบัติงานและ/หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 18 ฝ่ายส่งเสริมบรรษัทภิบาล มีอำนาจหน้าที่
(1) ศึกษาแนวทางการเสริมสร้างบรรษัทภิบาลที่ดีของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งการออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งมาตรการเชิงบังคับ และมาตรการเชิงสนับสนุน
(2) กำกับดูแลการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ