การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย(ฉบับที่ 3)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday April 22, 2005 12:20 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กจ. 25/2548
เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์
ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย
(ฉบับที่ 3)
____________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 มาตรา 34(1) มาตรา 35 มาตรา 56 และมาตรา 64(2)
และ (3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 และข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 5 การขออนุญาตและการอนุญาตให้ออกและเสนอขายใบแสดงสิทธิที่ออกใหม่ ให้เป็นดังนี้
(1) ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัดดังต่อไปนี้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และ ข้อ 8 หรือข้อ 8/1 ให้ถือว่ากระทำได้โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว
(ก) ใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น เว้นแต่การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงนั้น จะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำตามประกาศ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่
(ข) ใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตร
(2) ในกรณีอื่นนอกจาก (1) ให้บริษัทที่ประสงค์จะเป็นผู้ออกใบแสดงสิทธิและบริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิงร่วมกันยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารหลักฐานต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด และชำระค่าธรรมเนียมคำขอในอัตราดังต่อไปนี้ ในวันยื่นคำขอ
(ก) การเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด คำขอละ 10,000 บาท
(ข) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่ไม่เข้าลักษณะตาม (ก)
1. ใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น คำขอละ 50,000 บาท
2. ใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร คำขอละ 10,000 บาท
ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตชี้แจงหรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมิได้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวไม่ประสงค์จะยื่นคำขออนุญาตอีกต่อไป
ข้อ 6 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาไปยังผู้ขออนุญาตตามข้อ 5(2) ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน กรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด
(2) ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน กรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1)”
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 “ข้อ 6/1 การเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ถือว่า
เป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด
(1) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น ในลักษณะเดียวกับ
การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่
(2) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้นกู้ ในลักษณะเดียวกับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 6 วรรคสอง ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่
(3) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ในลักษณะเดียวกับการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่ออกใหม่ และหุ้นที่ออกใหม่เพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิ
(4) การเสนอขายใบแสดงสิทธิที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตร ในลักษณะเดียวกับการเสนอขายพันธบัตรที่ออกใหม่ซึ่งได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 7 ผู้ออกใบแสดงสิทธิและบริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิงจะได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายใบแสดงสิทธิที่ออกใหม่ ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ออกใบแสดงสิทธิต้องมีลักษณะดังนี้
(ก) เป็นบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(ข) มีวัตถุประสงค์จำกัดเฉพาะการออกใบแสดงสิทธิที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามประกาศนี้
(ค) มีผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุมที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม
ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ โดยอนุโลม
(ง) แสดงได้ว่ามีกลไกในการดูแลรักษาและดำรงหลักทรัพย์อ้างอิงให้มีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนใบแสดงสิทธิทั้งหมดที่จำหน่ายได้แล้วและยังไม่ได้ไถ่ถอน โดยกลไกดังกล่าวจะต้องสามารถป้องกันมิให้มีการนำหลักทรัพย์อ้างอิงไปใช้เพื่อการอื่นได้
(2) บริษัทจดทะเบียนที่ออกหลักทรัพย์อ้างอิงต้องมีลักษณะดังนี้
(ก) มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์อ้างอิง
ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ใช้บังคับกับการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทนั้น ไม่ว่าหลักทรัพย์อ้างอิงที่ผู้ออกใบแสดงสิทธิใช้รองรับใบแสดงสิทธิจะเป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่หรือหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วของบริษัทจดทะเบียน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด ในลักษณะจำกัด หรือในกรณีที่ได้รับยกเว้น
2. ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะอื่นนอกจาก 1. ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน หรือในลักษณะทั่วไป
(ข) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนได้รับข้อมูลว่าบริษัทจดทะเบียนจะนำหลักทรัพย์ที่ขออนุมัติไปใช้เป็นหลักทรัพย์อ้างอิงของใบแสดงสิทธิ ในกรณีที่หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่
ผู้บริหารและผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนตกลงผูกพันที่จะรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองใบแสดงสิทธิที่ขออนุญาต โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนดตามมาตรา 59 โดยอนุโลมความในวรรคหนึ่ง (ข) มิให้ใช้บังคับกับการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด
(3) ใบแสดงสิทธิที่จะเสนอขายต้องมีลักษณะดังนี้
(ก) อ้างอิงหลักทรัพย์อ้างอิงเพียงหนึ่งประเภทที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนเพียงหนึ่งแห่ง และอัตราการอ้างอิงของหนึ่งหน่วยใบแสดงสิทธิต้องเท่ากับหนึ่งหลักทรัพย์อ้างอิง ทั้งนี้
หลักทรัพย์อ้างอิงต้องเป็นประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้
1. หุ้น
2. พันธบัตร หรือหุ้นกู้ แต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์
3. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น
(ข) มีอายุที่แน่นอน หากเป็นการอ้างอิงหลักทรัพย์ที่มีกำหนดอายุ และในกรณีเช่นว่านี้ อายุของใบแสดงสิทธิต้องครบกำหนดก่อนอายุของหลักทรัพย์อ้างอิง ทั้งนี้ การกำหนดอายุของใบแสดงสิทธิต้องคำนึงถึงการมีระยะเวลาที่เพียงพอให้ผู้ถือใบแสดงสิทธิที่ได้รับหลักทรัพย์อ้างอิงที่มีกำหนดอายุนั้นสามารถใช้สิทธิหรือได้รับประโยชน์ตามหลักทรัพย์ดังกล่าวได้
(ค) กำหนดให้ผู้ถือใบแสดงสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะเดียวกับที่ผู้ถือหลักทรัพย์อ้างอิงจะได้รับจากบริษัทจดทะเบียน ทั้งนี้ เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายในการจัดการของผู้ออกใบแสดงสิทธิแล้ว (เฉพาะกรณีที่ข้อกำหนดสิทธิยินยอมให้กระทำได้)
(ง) มีข้อจำกัดการโอนใบแสดงสิทธิซึ่งได้จดไว้กับสำนักงาน ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด เพื่อให้การโอนใบแสดงสิทธิในทอดต่อ ๆ ไป ยังคงลักษณะเป็นไปตามข้อ 6/1
(จ) มีข้อกำหนดสิทธิประกอบใบแสดงสิทธิที่เป็นไปตามข้อ 8 หรือข้อ 8/1 แล้วแต่กรณี”
ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 8/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจาก
หลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546
“ข้อ 8/1 ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ข้อกำหนดสิทธิของใบแสดงสิทธิต้องมีรายการและสาระสำคัญอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8(1) (5) (6) (7) (8) (9) และ (11)”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 9 เว้นแต่กรณีการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ให้ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ เสมือนการเสนอขายหลักทรัพย์อ้างอิงที่ออกใหม่ โดยอนุโลม”
ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (12) ของข้อ 12 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546
“(12) ข้อจำกัดการโอนแสดงว่าผู้ออกใบแสดงสิทธิจะไม่รับจดทะเบียนการโอนใบแสดงสิทธิไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนที่จดไว้กับสำนักงาน”
ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 13/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546“ข้อ 13/1 ในกรณีเป็นการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ผู้ได้รับอนุญาต
ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตโฆษณาการเสนอขายใบแสดงสิทธิต่อบุคคลเป็นการทั่วไป และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารที่เกี่ยวกับใบแสดงสิทธิที่จะเสนอขายหรือกำลังเสนอขาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจกจ่ายไปให้กับบุคคลเฉพาะเจาะจงหรือบุคคลเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การเสนอขายหุ้นดังกล่าวอยู่ภายในลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อ 6/1 เท่านั้น
(2) ในกรณีที่มีการแจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีข้อความที่ระบุถึงข้อจำกัดการโอนแสดงว่าผู้ได้รับอนุญาตจะไม่รับจดทะเบียนการโอนใบแสดงสิทธิไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนตามที่ระบุไว้ ซึ่งต้องเป็นข้อจำกัดการโอนเดียวกับที่ได้จดไว้กับสำนักงาน
(3) ในกรณีที่มีบุคคลใดแสดงความประสงค์ต่อผู้ได้รับอนุญาตที่จะลงทะเบียนการโอนใบแสดงสิทธิ ให้ผู้ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องของการโอนใบแสดงสิทธิหากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ลงทะเบียนการโอนใบแสดงสิทธิ เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก
ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีนายทะเบียนใบแสดงสิทธิ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้นายทะเบียนใบแสดงสิทธิปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย”
ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 15/1 ในหมวด 2 การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546
“ข้อ 15/1 ให้ผู้เสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัดได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน”
ข้อ 9 ให้ยกเลิกความในข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 30/2546 เรื่อง การเสนอขายใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 19 ให้ผู้เสนอขายใบแสดงสิทธิรายงานผลการขายและการไถ่ถอนใบแสดงสิทธิต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีการเสนอขายใบแสดงสิทธิในลักษณะจำกัด ให้รายงานต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันปิดการเสนอขายหรือวันสุดท้ายของการไถ่ถอนแต่ละครั้ง โดยแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
(ก) วันที่เสนอขายหรือวันที่ไถ่ถอนใบแสดงสิทธิ
(ข) ประเภท ลักษณะ และชื่อเฉพาะของใบแสดงสิทธิ(ถ้ามี)
(ค) จำนวนใบแสดงสิทธิที่เสนอขายทั้งหมด และจำนวนใบแสดงสิทธิที่ขายได้ทั้งหมด หรือจำนวนใบแสดงสิทธิทั้งหมดที่มีการไถ่ถอน
(ง) ราคาของใบแสดงสิทธิที่เสนอขายหรือที่มีการไถ่ถอน ในกรณีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นหุ้น ให้ระบุราคาตลาดของหุ้นนั้น วันที่ใช้ในการคำนวณ แหล่งอ้างอิงของราคาตลาด พร้อมทั้งวิธีการคำนวณราคาตลาดดังกล่าวด้วย
(จ) ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อใบแสดงสิทธิหรือผู้ถือใบแสดงสิทธิที่ได้รับการไถ่ถอน และในกรณีเป็นการรายงานผลการขายใบแสดงสิทธิ ให้ระบุจำนวนที่ผู้ซื้อใบแสดงสิทธิแต่ละรายได้รับจัดสรรด้วย
(ฉ) ชื่อ สถานที่ติดต่อ และหมายเลขโทรศัพท์ ของผู้รายงานผลการขายหรือผลการไถ่ถอน
(2) กรณีอื่นนอกจาก (1) ให้รายงานต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรายงานผลการขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน โดยให้รายงานเสมือนการรายงานผลการขายหลักทรัพย์อ้างอิง พร้อมทั้งแสดงรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบแสดงสิทธิที่เสนอขายหรือไถ่ถอนนั้นด้วย”
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2548
(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ