การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday July 19, 2006 08:29 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 29 /2549
เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน
_____________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 98(7)(ข) มาตรา 126(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 139(5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เรื่อง หลักเกณฑ์และกำหนดเวลา
ในการยื่นรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 และข้อ 2(1) ข้อ 9 ข้อ 10 ข้อ 18(6) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 44/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์การทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 18/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเพื่อบริษัทจัดการ ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2542
(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 33/2543 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2543
(4) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 49/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเพื่อบริษัทจัดการ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2543
(5) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 32/2544 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2544
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคล
“กองทุนรวมพิเศษ” หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศดังต่อไปนี้
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน
(3) ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง
“ที่ปรึกษา” หมายความว่า บุคคลที่รับให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแก่บริษัทจัดการเกี่ยวกับการลงทุน หรือการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุนรวม ในทุกลักษณะ
ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บุคคลดังต่อไปนี้
(1) บุคคลผู้รับผิดชอบสายงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคลตั้งแต่ตำแหน่งผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลขึ้นไปจนถึงตำแหน่งผู้จัดการ ในกรณีของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามข้อ 2(6) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2543) ออกตาม
ความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือที่เป็นบริษัทจัดการกองทุนรวม
(2) บุคคลผู้รับผิดชอบโดยตรงในงานเกี่ยวกับการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ในกรณีของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอื่นใดที่มิใช่กรณีตาม (1)
“บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับการอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์
“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทจัดการกองทุนรวมหรือบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
“บริษัทนายหน้า” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตหรือได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“บริษัทในเครือ” หมายความว่า บริษัทดังต่อไปนี้
(1) บริษัทที่ถือหุ้นของบริษัทจัดการ หรือนายจ้าง แล้วแต่กรณี ตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจัดการ หรือนายจ้างนั้น หรือ
(2) บริษัทที่บริษัทจัดการหรือนายจ้าง แล้วแต่กรณี ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
“ผู้จัดการกองทุน” หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่บริษัทจัดการมอบหมายให้มีอำนาจตัดสินใจลงทุนให้แก่กองทุน
“ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
“ผู้บริหาร” หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปรวมทั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าวด้วย
“ผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า นิติบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทจัดการกองทุนรวมให้ทำหน้าที่ในการบริหารหรือจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนรวมซื้อหรือเช่า
“ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” หมายความว่า บุคคลที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมอบหมายให้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ของกองทุนรวม
“พนักงาน” หมายความว่า พนักงานและลูกจ้างของบริษัทจัดการ และให้หมายความรวมถึงกรรมการผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นด้วย
“ราคาตลาด” หมายความว่า ราคาตราสารแห่งทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือราคาตราสารแห่งหนี้ที่เสนอโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย แล้วแต่กรณี
“สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน
“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และหน่วยงานอื่นตามที่สำนักงานกำหนด
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 4 ประกาศนี้มิให้นำมาใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว จำกัด ทั้งนี้ ข้อกำหนดในส่วนที่ 1 ของหมวด 1 ให้ใช้บังคับเฉพาะกับบริษัทจัดการกองทุนรวม และบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามข้อ 2(6) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
หมวด 1
การกระทำอันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทาง
ผลประโยชน์ และการดำเนินการของบริษัทจัดการ
ในเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว
_____________________
ข้อ 5 ให้การกระทำของบริษัทจัดการดังต่อไปนี้ เป็นการกระทำอันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนหรือลูกค้า ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 126(1) และมาตรา 139(5) แล้วแต่กรณี
(1) การที่บริษัทจัดการรับผลประโยชน์ตอบแทนจากบุคคลใด ๆ เพื่อบริษัทจัดการนั้นเอง อันเนื่องมาจากการใช้บริการของบุคคลดังกล่าวในการจัดการกองทุน
(2) การที่บริษัทจัดการซื้อขายทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญาเพื่อกองทุนใดที่มิใช่กองทุนรวมพิเศษ โดยมีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง และการทำธุรกรรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบกองทุนหรือทำให้กองทุนเสียประโยชน์ที่ดีที่สุดไป เว้นแต่เป็นการทำธุรกรรมที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 13
(3) การที่บริษัทจัดการกระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้บริษัทได้ซื้อขายทรัพย์สินหรือเข้าเป็นคู่สัญญาได้ก่อนกองทุน
ข้อ 6 บริษัทจัดการต้องบริหารจัดการกิจการของตนเองในเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่กองทุน ดังต่อไปนี้
(1) การลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทจัดการ (proprietary trading) ตามที่กำหนดในส่วนที่ 1
(2) การทำธุรกรรมของกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง (affiliated transaction) ตามที่กำหนดในส่วนที่ 2
(3) การรับผลประโยชน์ตอบแทนเนื่องจากการที่กองทุนใช้บริการบุคคลอื่น (soft commission) ตามที่กำหนดในส่วนที่ 3
(4) การลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของพนักงาน (staff dealing) ตามที่กำหนดในส่วนที่ 4
ให้บริษัทจัดการจัดให้มีระบบงานที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำตามวรรคหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่กองทุนได้ ทั้งนี้ ในกรณีของ (1) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 7 และกรณีของ (4) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 23(1) ด้วย
ส่วนที่ 1
การลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทจัดการ
(proprietary trading)
_____________________
ข้อ 7 เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับผู้ลงทุน หากบริษัทจัดการมีการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการเอง (proprietary trading) บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันมิให้การลงทุนหรือเข้าทำสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับกองทุน เว้นแต่บริษัทจัดการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้บริหารการลงทุนอย่างเป็นอิสระโดยบริษัทจัดการไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ไม่ว่าการลงทุนหรือเข้าทำสัญญานั้นจะดำเนินการโดยบริษัทจัดการเอง หรือโดยบุคคลอื่นที่บริษัทจัดการมอบหมาย การดำเนินการนั้นให้อยู่ภายใต้บังคับข้อ 8 ถึงข้อ 12 ด้วย
ในกรณีที่บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบงานตามวรรคหนึ่ง ระบบงานดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนบริษัทจัดการเริ่มลงทุนหรือลงทุนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการเอง (proprietary trading)
ข้อ 8 บริษัทจัดการจะลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการเอง (proprietary trading) ได้ ต่อเมื่อการลงทุนดังกล่าว มีลักษณะเป็นเงินทุนระยะยาวเกินกว่าหนึ่งปี เว้นแต่เป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เป็นการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากเพื่อบริหารสภาพคล่องของบริษัทจัดการ
(2) เป็นการลงทุนในตราสารที่มีอายุคงเหลือต่ำกว่าหนึ่งปี โดยบริษัทจัดการมีเจตนาที่จะถือตราสารดังกล่าวจนครบอายุของตราสารนั้น
(3) เป็นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการกองทุนรวมนั้นเอง ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทไม่สามารถรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม อันเนื่องมาจากการไม่สามารถจำหน่ายทรัพย์สินของกองทุนรวมเปิดนั้นได้อย่างสมเหตุสมผล หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นใดเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน
บริษัทจัดการจะจำหน่ายทรัพย์สินหรือเลิกสัญญาที่มีลักษณะเป็นเงินลงทุนระยะยาวตามวรรคหนึ่ง ก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงทุนหรือได้มาซึ่งทรัพย์สิน หรือวันที่สัญญามีผลใช้บังคับได้ เฉพาะในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องรายงานกรณีดังกล่าวต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่จำหน่ายทรัพย์สินหรือเลิกสัญญานั้น แล้วแต่กรณี ตามแบบที่สำนักงานแจ้งให้ทราบล่วงหน้ากำหนด
ข้อ 9 ในการซื้อหน่วยลงทุนตามข้อ 8(3) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจำหน่ายหน่วยลงทุนที่ได้มาตามข้อ 8(3) ในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้บริษัทรายงานการจำหน่ายหน่วยลงทุนต่อสำนักงาน ภายในวันทำการถัดจากวันที่จำหน่ายหน่วยลงทุนนั้นตามแบบที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 10 ในการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทจัดการ หากบริษัทได้ปฏิบัติตามข้อ 7 แล้ว ให้ถือว่าบริษัทได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 98(7)(ข)
ข้อ 11 ให้บริษัทจัดการจัดทำและส่งข้อมูลการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทต่อสำนักงาน โดยให้ส่งข้อมูลดังกล่าวไปพร้อมกับข้อมูลอื่นที่บริษัทจัดการมีหน้าที่ต้องส่งผ่านระบบรับส่งรายงานธุรกิจจัดการกองทุนรวม (Investment Management Reporting System) หรือระบบรับส่งการรายงานธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund and Provident Fund Reporting System) ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน
ให้บริษัทจัดการเปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุน ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจจะลงทุน แล้วแต่กรณี ทราบว่าการตรวจสอบข้อมูลตามวรรคหนึ่งอาจตรวจสอบได้ที่บริษัทจัดการ ตัวแทนของบริษัทจัดการ (ถ้ามี) และสำนักงาน ทั้งนี้ หากผู้ถือหน่วยลงทุน ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจจะลงทุน แล้วแต่กรณี ร้องขอ
บริษัทจัดการต้องเปิดเผยข้อมูลการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทต่อบุคคลดังกล่าวโดยไม่ชักช้า
ข้อ 12 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลมีการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทเอง บริษัทต้องจัดให้มีข้อความในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่แสดงว่า บริษัทอาจลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินเพื่อบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลเช่นเดียวกับที่ลงทุนในหลักทรัพย์หรือ
ทรัพย์สินเพื่อกองทุนส่วนบุคคล
ส่วนที่ 2
การทำธุรกรรมของกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(affiliated transaction)
_____________________
ข้อ 13 บริษัทจัดการจะทำธุรกรรมเพื่อกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเมื่อเป็นกรณีตามข้อ 14 หรือระบุไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน หรือได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนเมื่อเป็นกรณีตามข้อ 15 หรือได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์หรือความยินยอมจากลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี เมื่อเป็นกรณีตามข้อ 16 หรือข้อ 17 ทั้งนี้ การทำธุรกรรมเพื่อกองทุนกับบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรณีตามข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 16 ข้อ 17 หรือกรณีอื่นใดนอกเหนือจากกรณีตามข้อดังกล่าว ธุรกรรมเหล่านั้นต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นธุรกรรมที่เป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับกองทุนในสถานการณ์ขณะนั้น (best execution)
(2) เป็นธุรกรรมที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์กับกองทุน
(3) เป็นธุรกรรมในลักษณะที่เป็นธรรมเนียมทางค้าปกติเสมือนเป็นการทำธุรกรรมกับคู่ค้าทั่วไปที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษ (at arm’s length transactions) และ
(4) ในกรณีที่เป็นธุรกรรมระหว่างกองทุนด้วยกันเองซึ่งกองทุนเหล่านั้นอยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกัน (cross trade) ธุรกรรมที่จะทำนั้นต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายเป็นกองทุนรวม ธุรกรรมดังกล่าวต้องมีความเหมาะสมต่อลักษณะ นโยบายการลงทุน และความจำเป็นในการลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าว
(ข) ธุรกรรมดังกล่าวต้องไม่ใช่การซื้อขายหน่วยลงทุนระหว่างกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 126(3)
การทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องจัดให้มีเอกสารหรือหลักฐานอ้างอิงเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมดังกล่าวได้
ข้อ 14 การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทจัดการกองทุนรวมกับกองทุนรวมที่อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทนั้น บริษัทจะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่กองทุนรวมจะซื้อหุ้นของบริษัทจัดการกองทุนรวมซึ่งต้องห้าม
ตามมาตรา 126(2)
ข้อ 15 การซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ระบุไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวนว่าอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนนั้นเป็นของบุคคลดังกล่าว หรือเมื่อได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ข้อ 16 การทำธุรกรรมเพื่อกองทุนรวมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยธุรกรรมนั้นไม่มีราคาตลาดหรือใช้ราคาอื่นที่ไม่เป็นไปตามราคาตลาด บริษัทจัดการกองทุนรวมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการทำธุรกรรมในแต่ละครั้ง
ข้อ 17 การทำธุรกรรมเพื่อกองทุนส่วนบุคคลกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีดังต่อไปนี้ ต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี โดยความยินยอมดังกล่าวอาจกำหนดไว้ในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลก็ได้ ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องอธิบายให้ลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าใจถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ก่อนขอรับความยินยอมด้วย
(1) การลงทุนในตราสารที่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามข้อ 20(1)(ก) ถึง (ง) หรือตามข้อ 20(2)(ง) เป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน หรือการฝากเงินไว้กับบุคคลดังกล่าว แต่ไม่รวมถึงการฝากเงินในบัญชีเงินฝากเพื่อการดำเนินงาน
(2) การลงทุนในตราสารที่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามข้อ 20(2)(ก) ถึง (ค) เป็นผู้ออกตราสารนั้น
(3) การทำธุรกรรมกับบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(4) การทำธุรกรรมกับกองทุนที่อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกัน
(5) การทำธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนหรือการทำธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์กับบริษัทในเครือของบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(6) การทำธุรกรรมเพื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนายจ้างรายเดียว (single fund) กับ
บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกกรณี
ในกรณีที่ธุรกรรมตาม (1) ถึง (6) เป็นธุรกรรมที่ไม่มีราคาตลาด หรือที่ใช้ราคาอื่นที่ไม่เป็นไปตามราคาตลาด บริษัทจัดการต้องอธิบายเหตุของการไม่มีราคาตลาดหรือการใช้ราคาอื่นที่ไม่เป็นไปตามราคาตลาด แล้วแต่กรณี ตลอดจนที่มาของราคาที่บริษัทจัดการจะใช้ในการทำธุรกรรมดังกล่าว ต่อลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนขอรับความยินยอม ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทจัดการได้รับความยินยอมโดยการกำหนดไว้ในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้บริษัทจัดการระบุรายละเอียดดังกล่าวไว้ในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลด้วย
ข้อ 18 การทำธุรกรรมเพื่อกองทุนรวมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำข้อมูลเป็นรายเดือนตามแบบและเปิดเผยด้วยวิธีการตลอดจนระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด เว้นแต่เป็นการทำธุรกรรมเพื่อกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (non-retail fund) และกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ
(1) ธุรกรรมที่ทำโดยตรงกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยให้รวมถึงการซื้อขายหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นผ่านบริษัทนายหน้าซึ่งอยู่ในวิสัยที่บริษัทจัดการสามารถทราบได้ว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่เป็นการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากที่บุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นสถาบันการเงิน เป็นผู้ออกหรือคู่สัญญาเพื่อประโยชน์ในการบริหารสภาพคล่องของกองทุนนั้น
(2) การทำธุรกรรมในตลาดรอง (organized market) ผ่านบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นบริษัทนายหน้า
(3) การซื้อหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ดังกล่าว
(4) การซื้อหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้จัดการโครงการประมูลหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น (arranger)
(5) การซื้อตราสารแห่งหนี้หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน
(6) การซื้อขายหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ที่บุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้บริหารจัดการ
ข้อ 19 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายงานข้อมูลการทำธุรกรรมตามข้อ 18(1) ถึง (6) เป็นลายลักษณ์อักษรต่อลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล โดยรายงานดังกล่าวต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับวันที่ทำธุรกรรม ลักษณะของธุรกรรม มูลค่าของธุรกรรม ราคาต่อหน่วย (ถ้ามี) และอัตราส่วนการลงทุนโดยเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนส่วนบุคคล โดยระบุว่าธุรกรรมดังกล่าวเข้าลักษณะใดในข้อ 18(1) ถึง (6) เว้นแต่ลูกค้าหรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรให้รายงานข้อมูลการทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นประการอื่น
ข้อ 20 ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เข้าลักษณะเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดในประกาศนี้
(1) ในกรณีทั่วไป
(ก) บริษัทจัดการที่เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุน
(ข) บุคคลที่มิใช่หน่วยงานของรัฐซึ่งถือหุ้นในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
1. บุคคลที่ถือหุ้นของบริษัทจัดการเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจัดการ
2. บุคคลที่ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนของบุคคลตาม 1. เกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
หรือจำนวนหุ้นส่วนของบุคคลดังกล่าว เว้นแต่บุคคลตาม 1. เป็นบริษัทที่จัดตั้งในต่างประเทศ
(ค) นิติบุคคลที่บริษัทจัดการถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลดังกล่าวเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้ง
หมดหรือจำนวนหุ้นส่วน
(ง) นิติบุคคลที่มีบุคคลที่ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนเกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือจำนวนหุ้นส่วนของ
นิติบุคคลดังกล่าว เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจัดการเกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท
จัดการด้วย
(จ) ผู้บริหารของบริษัทจัดการ
(ฉ) ผู้จัดการกองทุนของกองทุนนั้น
(ช) นิติบุคคลที่บุคคลตาม (จ) หรือ (ฉ) ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้ว
ทั้งหมดหรือจำนวนหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้น
(ซ) ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนเกินร้อยละสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น ใน
กรณีที่เป็นการจัดการกองทุนรวม
(ฌ) บุคคลที่เป็นที่ปรึกษา
(ญ) กองทุนอื่นที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
(2) ในกรณีการทำธุรกรรมเพื่อกองทุนส่วนบุคคล นอกจากที่กำหนดไว้ตาม (1) ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
(ก) บริษัทที่บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นกรรมการหรือถือหุ้นเกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่าย
ได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น หรือบริษัทที่บุคคลดังกล่าวถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้ง
หมดของบุคคลนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่ากรณีใดให้นับหุ้นที่คู่สมรสหรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวเป็นหุ้นของ
บุคคลนั้นด้วย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ