ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 26/2551
เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และ
การให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต
(ฉบับที่ 9)
________________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 39/2540 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 และข้อ 4(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ ที่ กด. 30/2540 เรื่อง การขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 18/2551 เรื่อง การขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้น
อยู่ในครอบครอง ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “ลูกค้า” ในข้อ 1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่
4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
““ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อใช้ในการซื้อหลักทรัพย์ หรือผู้ที่ทำสัญญายืมหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อใช้ในการขายชอร์ต แต่ไม่รวมถึงผู้ยืมหลักทรัพย์ที่มีฐานะเป็นลูกค้าสถาบัน”
ข้อ 2 ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ลูกค้าสถาบัน” ระหว่างบทนิยามคำว่า “ลูกค้า” และบทนิยามคำว่า “บัญชีมาร์จิ้น” ในข้อ 1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์
และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 17/2545 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์
แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2545
“คำว่า “ลูกค้าสถาบัน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามคำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว”
ข้อ 3 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์” ในข้อ 1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด
หลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540
ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(1) จัดให้มีบัญชีมาร์จิ้นสำหรับลูกค้าแต่ละราย”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความใน (4) ของข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 17/2545 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(4) กำหนดประเภทของทรัพย์สินที่ลูกค้าอาจนำมาวางเพิ่มเติมเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น
ในกรณีที่ทรัพย์สินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับเพิ่มเติมจากลูกค้าเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นมิใช่ทรัพย์สิน ตราสารทางการเงิน และหนังสือสัญญาในประเภทต่อไปนี้ ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าเพื่อประโยชน์ในการคำนวณใด ๆ ตามประกาศนี้
(ก) เงินสด
(ข) หลักทรัพย์จดทะเบียน
(ค) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดที่กำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ (daily redemption fund)
(ง) ตั๋วเงินคลัง
(จ) พันธบัตรรัฐบาลไทย
(ฉ) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
(ช) พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออกหรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข
(ซ) ตราสารแห่งหนี้ที่ตัวตราสารนั้นเอง หรือผู้ออกตราสาร ผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้รับรองโดยเป็นการรับรองตลอดไป ผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือผู้สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยทั้งจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ตั้งแต่ระดับบีบีบี (BBB) ขึ้นไปหรือเทียบเท่า
(ฌ) บัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก หรือ
(ญ) หนังสือค้ำประกันที่สถาบันการเงินออกให้ไว้แก่บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้า โดยสถาบันการเงินนั้นยินยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าหนังสือนั้นจะออกเป็นเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกัน
ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับเพิ่มเติมจากลูกค้าเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นเพื่อประโยชน์ในการคำนวณอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้เฉพาะกรณีที่ทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินตาม (ก) หรือ (ข) ของวรรคก่อน”
ข้อ 6 ให้ยกเลิกความใน (ก) ของวรรคสองใน (5) ของข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 71/2543 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2543 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(ก) ให้ใช้ราคาปิด ณ สิ้นวันทำการก่อนหน้าวันที่คำนวณมูลค่าที่ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือราคาอ้างอิง ณ สิ้นวันทำการก่อนหน้าวันที่คำนวณมูลค่าที่ประกาศโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย Reuters Bloomberg หรือผู้ประกอบธุรกิจให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สำนักงานยอมรับ หรือ”
ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในข้อ 5/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 30/2545 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 5/2 ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นเดิม กรรมการหรือพนักงานของบริษัท หรือบุคคลในวงจำกัด ซึ่งลูกค้าได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทนั้นและมีหุ้นของบริษัทดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นอยู่ด้วย ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นหลักประกันได้ตั้งแต่วันที่ลูกค้าทราบแน่นอนถึงจำนวนและราคาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนจนถึงวันก่อนวันที่ลูกค้าชำระเงินค่าจองซื้อ วันที่ลูกค้าปฏิเสธสิทธิในการจองซื้อ หรือวันพ้นกำหนดชำระเงินค่าจองซื้อ แต่มิให้นับรวมมูลค่าสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้า ทั้งนี้ เมื่อลูกค้าได้ชำระเงินค่าจองซื้อแล้ว ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าสิทธิที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุนเป็นหลักประกันและอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้ ตั้งแต่วันที่บริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีมาตรการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อลูกค้าได้รับหุ้นเพิ่มทุนที่จองซื้อแล้วจะนำหุ้นดังกล่าวทั้งจำนวนมาจดทะเบียนจำนำหรือดำเนินการอื่นใดตามวิธีการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีบุริมสิทธิเหนือหุ้นนั้น จนถึงวันก่อนวันที่บริษัทผู้ออกหุ้นทำการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้น
ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อบุคคลใด ๆ และลูกค้าได้ชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวแล้ว ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าสิทธิที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุน เป็นหลักประกันและอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้ ตั้งแต่วันที่ลูกค้าทราบแน่นอนถึงจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่ได้รับการจัดสรรและบริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีมาตรการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อลูกค้าได้รับหุ้นเพิ่มทุนที่จองซื้อแล้วจะนำหุ้นดังกล่าวทั้งจำนวนมาจดทะเบียนจำนำหรือดำเนินการอื่นใดตามวิธีการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีบุริมสิทธิเหนือหุ้นนั้น จนถึงวันก่อนวันที่บริษัทผู้ออกหุ้นทำการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้น
การคำนวณมูลค่าสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือมูลค่าสิทธิที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุนเป็นหลักประกันและอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณโดยวิธีดังต่อไปนี้
(1) กรณีลูกค้ายังไม่ได้ชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ให้คำนวณมูลค่าสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยการนำราคาตลาดของหุ้นที่มีการออกหุ้นเพิ่มทุนหักด้วยราคาจองซื้อและคูณด้วยจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่จะได้รับตามสิทธิ
(2) กรณีลูกค้าชำระเงินค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้ว ให้คำนวณมูลค่าสิทธิที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุนโดยการนำราคาตลาดของหุ้นที่มีการออกหุ้นเพิ่มทุนคูณด้วยจำนวนหุ้นเพิ่มทุนที่จะได้รับจากการจัดสรร”
ข้อ 8 ให้ยกเลิกความในข้อ 5/3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 35/2547 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 5/3 ในกรณีที่มีการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการพร้อมกับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนให้แก่ผู้เสนอขายตามคำเสนอซื้อหลักทรัพย์นั้น และลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ประสงค์จะขอถอนหลักทรัพย์ของกิจการดังกล่าวที่เป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นเพื่อไปเสนอขายตามคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมมูลค่าหุ้นที่ลูกค้าจะได้รับจากการจองซื้อหุ้นที่ออกใหม่ดังกล่าวเป็นหลักประกันและอำนาจซื้อหรืออำนาจขายชอร์ตของลูกค้าได้ ตั้งแต่วันที่บริษัทหลักทรัพย์ได้ดำเนินการถอนหลักทรัพย์ที่เป็นประกันนั้นออกจากบัญชีมาร์จิ้นและบริษัทหลักทรัพย์ได้จัดให้มีมาตรการที่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อลูกค้าได้รับหุ้นที่ออกใหม่ดังกล่าวแล้วจะนำหุ้นดังกล่าวทั้งจำนวนมาจดทะเบียนจำนำหรือดำเนินการอื่นใดตามวิธีการที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีบุริมสิทธิเหนือหุ้นนั้น ตลอดจนผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้มีการระบุสัดส่วนของหุ้นที่ออกใหม่ที่ลูกค้าจะได้รับไว้อย่างชัดเจนแล้ว ทั้งนี้ จนถึงวันก่อนวันที่ผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ได้ออกหุ้นใหม่
การคำนวณมูลค่าหุ้นที่ลูกค้าจะได้รับจากผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณโดยการนำราคาตลาดของหุ้นดังกล่าวคูณด้วยจำนวนหุ้นที่ลูกค้าจะได้รับนั้น
เพื่อประโยชน์ตามความในข้อนี้ คำว่า “กิจการ” หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์”
ข้อ 9 ให้ยกเลิกความในข้อ 6 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 41/2541 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2541 และให้ใช้
ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 6 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์มียอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายใดรายหนึ่ง เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของเงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ และห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์มียอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้าทุกรายรวมกันภายหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่าห้าเท่าของเงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์
การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ารายใดตามนัยมาตรา 258 ให้นับรวมเป็นการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้าตามวรรคหนึ่งด้วย โดยอนุโลม
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณยอดหนี้คงค้างตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์มีการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบงาน สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์และหลักประกัน ในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์นับรวมยอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้ยืมหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นยอดหนี้คงค้างตามวรรคหนึ่งด้วย โดยอนุโลม
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้กับกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายใดรายหนึ่งหรือทุกรายรวมกันสูงกว่าอัตราที่กำหนดเนื่องจากเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังนี้
(1) หลักทรัพย์ที่ยืมมีมูลค่าสูงขึ้น
(2) การเรียกเก็บดอกเบี้ยตามข้อ 5(6)
(3) การซื้อหลักทรัพย์เพื่อนำมาคืนการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต
(4) เงินกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์ลดลง
ในกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายใดรายหนึ่งหรือทุกรายรวมกัน สูงเกินกว่าอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าการนั้นจะเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใด ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกจนกว่ายอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายนั้นจะเป็นไปตามอัตราที่กำหนด และห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายใดเพิ่มเติมอีกจนกว่ายอดหนี้คงค้างของลูกค้าทุกรายรวมกันภายหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจะเป็นไปตามอัตราที่กำหนด แล้วแต่กรณี”
ข้อ 10 ให้ยกเลิกข้อ 7 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 41/2541 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2541
ข้อ 11 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้คือ เพื่อขยายประเภทลูกค้าสถาบันให้ครอบคลุมกว้างขึ้น รวมถึงผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้กู้
ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการสามารถให้บริการได้ตรงตามความต้องการของ
ลูกค้ายิ่งขึ้น ตลอดจนปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการกับหลักทรัพย์ที่เป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าเพื่อให้
สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 195 และมาตรา 228/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.
2551 จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้