ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ. 25/2551
เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบงาน สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์และหลักประกัน
ในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
_______________________
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 ข้อ 5 ข้อ 6(2) และ (5) ข้อ 7(2) และ (3) และข้อ 10 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 8/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สด. 39/2540 เรื่อง ลักษณะและสาระสำคัญของสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ลงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2540
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 19/2542 เรื่อง ลักษณะและสาระสำคัญของสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2542
(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 20/2542 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักประกันในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2542
(4) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 15/2543 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักประกันในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2543
(5) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 70/2543 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักประกันในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2543
(6) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 10/2548 เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักประกันในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
(7) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 72/2543 เรื่อง ระยะเวลาในการยืมหลักทรัพย์ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2543
(8) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 51/2544 เรื่อง การกำหนดประเภทนิติบุคคลในฐานะผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ที่อาจมีข้อตกลงกับผู้ประกอบกิจการในการดำเนินการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือหลักประกัน เป็นประการอื่นได้ ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544
(9) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 39/2546 เรื่อง การกำหนดประเภทนิติบุคคลในฐานะผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ที่อาจมีข้อตกลงกับผู้ประกอบกิจการในการดำเนินการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่ให้ยืมหรือหลักประกัน เป็นประการอื่นได้ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2546
ข้อ 3 ในประกาศนี้
(1) "ผู้ประกอบกิจการ" หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
(2) “หลักประกันเริ่มต้น” หมายความว่า จำนวนทรัพย์สินขั้นต่ำที่ผู้ยืมต้องวางเป็นประกันก่อนที่จะยืมหลักทรัพย์รายการใดรายการหนึ่ง
(3) คำว่า “เงินกองทุน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วย การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต
หมวด 1
ระบบงานและการควบคุมการปฏิบัติงาน
___________________
ข้อ 4 ในการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยง ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีระบบการวางหรือเรียกหลักประกันที่สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงของคู่สัญญา
(2) จัดให้มีการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ยืมหรือให้ยืมหรือเป็นหลักประกันอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาพคล่องและผลกระทบที่จะมีต่อการประกอบธุรกิจในภาพรวม
(3) จัดให้มีการประมวลผลและรายงานข้อมูลให้ผู้บริหารทราบถึงระดับความเสี่ยงในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ และ
(4) จัดให้มีการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับปริมาณและความซับซ้อนของการทำธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ
ข้อ 5 ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการมียอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันรายใดรายหนึ่ง เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของเงินกองทุนของผู้ประกอบกิจการ และห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการมียอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้ยืมหลักทรัพย์
แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันทุกรายรวมกันภายหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว เมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินกว่าห้าเท่าของเงินกองทุนของผู้ประกอบกิจการ
การให้ยืมหลักทรัพย์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ารายใดตามนัยมาตรา 258 ให้นับรวมเป็นการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าตามวรรคหนึ่งด้วย โดยอนุโลม
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณยอดหนี้คงค้างตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมีการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และ
การให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ให้ผู้ประกอบกิจการนับรวมยอดหนี้คงค้างเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นยอดหนี้คงค้างตามวรรคหนึ่งด้วย โดยอนุโลม
ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้กับกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายใดรายหนึ่งหรือทุกรายรวมกันสูงกว่าอัตราที่กำหนดเนื่องจากเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังนี้
(1) หลักทรัพย์ที่ยืมมีมูลค่าสูงขึ้น
(2) การเรียกเก็บดอกเบี้ยตามข้อ 5(6) ของประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สธ. 42/2540 เรื่อง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต ลงวันที่ 4 ธันวาคม
พ.ศ. 2540
(3) การซื้อหลักทรัพย์เพื่อนำมาคืนการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต
(4) เงินกองทุนของผู้ประกอบกิจการลดลง
ในกรณีที่ยอดหนี้คงค้างของลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันรายใดรายหนึ่งหรือทุกรายรวมกันสูงเกินกว่าอัตราที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าการนั้นจะเกิดขึ้นเนื่องจากเหตุใด ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกจนกว่ายอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายนั้นจะเป็นไปตาม
อัตราที่กำหนด และห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้ารายใดเพิ่มเติมอีกจนกว่ายอดหนี้คงค้างของลูกค้าทุกรายรวมกันภายหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจะเป็นไปตามอัตราที่กำหนด แล้วแต่กรณี
ข้อ 6 ผู้ประกอบกิจการต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้
(1) ไม่กระทำการโดยทุจริต หลอกลวง ยักยอก หรือฉ้อโกงทรัพย์สินของลูกค้า
(2) ไม่เบียดบังและไม่แสวงหาผลประโยชน์จากลูกค้าโดยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น
(3) ไม่แสดงข้อความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งอันเป็นการหลอกลวงลูกค้าหรืออาจทำให้ลูกค้าสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
ข้อ 7 ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และการวางหรือการคืนหลักประกัน และจัดส่งให้แก่ลูกค้าภายในวันทำการถัดจากวันที่เกิดธุรกรรม
เอกสารหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ประเภทของการทำธุรกรรม
(2) วันที่เกิดธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ และการวางหรือการคืนหลักประกัน แล้วแต่กรณี
(3) หลักทรัพย์ที่ยืมและให้ยืม และหลักประกันที่วางหรือคืน แล้วแต่กรณี
(4) ประเภท จำนวน และมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ยืมและให้ยืม และของหลักประกัน แล้วแต่กรณี และ
(5) อัตราค่าธรรมเนียมในการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
หมวด 2
ลักษณะและสาระสำคัญของสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์
____________________
ข้อ 8 เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ข้อ 9 สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ที่ใช้ในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือโดยต้องมีลักษณะและสาระสำคัญอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) หลักทรัพย์ที่ให้ยืมและหลักประกันในการยืมหลักทรัพย์ สัญญาต้องมีข้อกำหนดให้ผู้ให้ยืมต้องโอนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ยืมโดยปลอดจากบุริมสิทธิหรือภาระผูกพันใด ๆ โดยผู้ยืมต้องส่งมอบหลักประกันให้แก่ผู้ให้ยืมเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ และผู้ให้ยืมจะส่งมอบหลักประกันคืนให้แก่ผู้ยืม เมื่อผู้ยืมคืนหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ให้ยืม
การคืนหลักทรัพย์ที่ยืมและการคืนหลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่เป็นหลักประกันให้ใช้หลักทรัพย์หรือตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยนิติบุคคลเดียวกัน ประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้
ในกรณีที่วางหลักประกันเป็นเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกัน
ที่สถาบันการเงินออกให้ไว้แก่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์ การคืนหลักประกันให้กระทำโดยการยกเลิกหรือ
ลดวงเงินของเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกันที่นำมาวางไว้ แล้วแต่กรณี
(2) การปรับจำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์หรือหลักประกันที่ต้องคืน สัญญาต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนในการปรับจำนวนหรือมูลค่าของหลักทรัพย์หรือหลักประกันที่ต้องคืนเมื่อมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนดคืนอันจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ยืมหรือผู้ให้ยืมเมื่อมีการโอนหลักทรัพย์หรือหลักประกันคืน
(ก) การให้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นตามส่วนจำนวนหุ้นที่มีอยู่ก่อนแล้ว
(ข) การเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้อันเป็นผลให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง
(ค) การไถ่ถอนหลักทรัพย์
(ง) การรวมกิจการ การควบกิจการ หรือการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ
(จ) การจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้น
(ฉ) การแปลงสภาพหลักทรัพย์ หรือ
(ช) กรณีอื่นใดในทำนองเดียวกัน
(3) การชดเชยสิทธิประโยชน์ให้แก่คู่สัญญา สัญญาต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชดเชยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ที่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์หรือผู้ยืมหลักทรัพย์พึงได้รับ หากยังถือหลักทรัพย์หรือหลักประกันไว้ แล้วแต่กรณี โดยต้องกำหนดให้การจ่ายชดเชยสิทธิประโยชน์ดังกล่าวมีมูลค่าไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ผู้ออกหลักทรัพย์หรือผู้ออกตราสารจ่ายให้แก่ผู้ถือหลักทรัพย์หรือตราสารนั้น ทั้งนี้ เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงเป็นประการอื่น
(4) ข้อกำหนดในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดนัดหรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้หนี้ถึงกำหนดชำระโดยพลัน สัญญาต้องมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาตลอดจนมีวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดนัดหรือมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้หนี้ถึงกำหนดชำระโดยพลัน
ในกรณีที่ผู้ให้ยืมเป็นลูกค้าสถาบัน ผู้ให้ยืมและผู้ยืมอาจตกลงกำหนดลักษณะและสาระสำคัญของสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักประกันไว้เป็นประการอื่นก็ได้
ข้อ 9 สัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อการขายชอร์ตผ่านบัญชีมาร์จิ้นให้เป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของสำนักงาน
หมวด 3
ประเภทของหลักประกัน การรักษาสัดส่วนของมูลค่าหลักประกันต่อมูลค่า
หลักทรัพย์ที่ให้ยืม และการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์และหลักประกัน
_______________________
ข้อ 10 ให้ทรัพย์สิน ตราสารทางการเงิน และหนังสือสัญญาดังต่อไปนี้ สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันการให้ยืมหลักทรัพย์ที่ผู้ประกอบกิจการอาจดำเนินการให้มีการวางหรือเรียกหลักประกันได้
(1) เงินสด
(2) หลักทรัพย์จดทะเบียน
(3) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดที่กำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ (daily redemption fund)
(4) ตั๋วเงินคลัง
(5) พันธบัตรรัฐบาลไทย
(6) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย
(7) พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออกหรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข
(8) ตราสารแห่งหนี้ที่ตัวตราสารนั้นเอง หรือผู้ออกตราสาร ผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้รับรองโดยเป็นการรับรองตลอดไป ผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือผู้สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยทั้งจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
ตั้งแต่ระดับบีบีบี (BBB) ขึ้นไปหรือเทียบเท่า
(9) บัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก หรือ
(10) หนังสือค้ำประกันที่สถาบันการเงินออกให้ไว้แก่ผู้ให้ยืมหลักทรัพย์เพื่อเป็นประกันการยืมหลักทรัพย์ของผู้ยืม โดยสถาบันการเงินนั้นยินยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าหนังสือนั้นจะออกเป็นเล็ตเตอร์ออฟเครดิตหรือหนังสือค้ำประกัน
ข้อ 11 ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ผู้ยืมที่มิใช่ลูกค้าสถาบัน ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการเรียกหลักประกันและรักษาสัดส่วนของมูลค่าหลักประกันต่อมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืมตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ผู้ประกอบกิจการต้องเรียกให้ผู้ยืมวางหลักประกันเริ่มต้นไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งร้อยห้าสิบของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดในวรรคสอง
ผู้ประกอบกิจการอาจดำเนินการเรียกหลักประกันเริ่มต้นต่ำกว่าอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่งได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้
(ก) ผู้ประกอบกิจการทำหน้าที่เป็นนายหน้าหรือตัวแทนของผู้ยืมในการขายหลักทรัพย์ที่ยืมดังกล่าว และสามารถขายหลักทรัพย์นั้นได้ภายในวันที่ยืมหลักทรัพย์ และ
(ข) ผู้ยืมมีข้อตกลงยินยอมให้ผู้ประกอบกิจการนำเงินค่าขายหลักทรัพย์ที่ผู้ยืมจะได้รับจากการขายตาม (ก) มาเป็นหลักประกัน โดยเงินค่าขายหลักทรัพย์ดังกล่าวเมื่อรวมกับหลักประกันเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งร้อยห้าสิบของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม
(2) เมื่อมูลค่าหลักประกันอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละหนึ่งร้อยสี่สิบของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม ผู้ประกอบกิจการต้องเรียกให้ผู้ยืมวางหลักประกันเพิ่มเพื่อให้สัดส่วนมูลค่าหลักประกันต่อมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืมไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งร้อยสี่สิบของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม
(3) ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ผู้ยืมวางหลักประกันเพิ่มตาม (2) ให้แล้วเสร็จก่อนเวลาปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ยืมไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงในวันทำการถัดจากวันที่ได้เรียกให้ผู้ยืมวางหลักประกันเพิ่ม
(4) ในกรณีที่ผู้ยืมไม่สามารถวางหลักประกันเพิ่มตาม (3) ได้ ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ผู้ยืมรายนั้นเพิ่มอีกจนกว่าจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม (2) แล้ว
ข้อ 12 เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 13 ผู้ประกอบกิจการที่กระทำการในฐานะดังต่อไปนี้ ต้องดำเนินการให้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง การดำรงมูลค่าหลักประกันที่ผู้ให้ยืมได้รับอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม
(1) ตัวแทนของผู้ให้ยืม
(2) ผู้ยืมหรือตัวแทนของผู้ยืม ในกรณีที่ผู้ให้ยืมมิได้เป็นผู้ประกอบกิจการหรือมิได้มีการแต่งตั้งผู้ประกอบกิจการเป็นตัวแทนในการให้ยืมหลักทรัพย์
ข้อ 13 ในกรณีที่เป็นการยืมหลักทรัพย์ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบกิจการที่กระทำการในฐานะเดียวกับที่กำหนดในข้อ 12 ต้องดำเนินการให้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง การดำรงมูลค่าหลักประกันที่ผู้ให้ยืมได้รับอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าราคาใช้สิทธิซื้อหลักทรัพย์ตามสิทธิที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดสรรหุ้นเกินกว่าจำนวนที่จัดจำหน่าย ได้รับจากบริษัทมหาชนจำกัดหรือจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทดังกล่าวคูณด้วยจำนวนหลักทรัพย์ที่ให้ยืม
(1) ผู้ยืมเป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินซึ่งยืมหลักทรัพย์ดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งมอบหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นส่วนเกินในกรณีที่มีการจองซื้อหุ้นเกินกว่าจำนวนที่จัดจำหน่าย และได้ดำเนินการดังนี้
(ก) ผู้ยืมได้วางเงินสดไว้แก่ผู้ให้ยืมเพื่อเป็นหลักประกันการยืมหลักทรัพย์
(ข) ผู้ยืมได้เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงต่อผู้ให้ยืมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ให้ยืมซึ่งอาจทำให้หลักประกันที่ผู้ให้ยืมได้รับไว้ไม่เพียงพอที่จะไปซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวคืนในกรณีที่ผู้ยืมไม่สามารถคืนหลักทรัพย์แก่ผู้ให้ยืมได้ รวมทั้งดำเนินการให้ผู้ให้ยืมรับทราบความเสี่ยงดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นรายกรณี และ
(ค) ผู้ยืมได้ดำเนินการแยกหลักทรัพย์ที่ได้ซื้อมาเพื่อการส่งคืนให้แก่ผู้ให้ยืมไว้ต่างหากจากทรัพย์สินของผู้ยืมและได้จัดทำบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวแยกออกจากบัญชีทรัพย์สินของตนในระหว่างที่ผู้ยืมทำการทยอยซื้อหลักทรัพย์คืนแก่ผู้ให้ยืม โดยผู้ยืมจะไม่นำหลักทรัพย์ที่แยกไว้เพื่อการส่งคืนดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่น หรือ
(2) ผู้ยืมที่มิได้เป็นผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินซึ่งทำการยืมหลักทรัพย์เพื่อนำมาให้ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินยืมต่ออีกทอดหนึ่งเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งมอบหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นส่วนเกินในกรณีที่มีการจองซื้อหุ้นเกินกว่าจำนวนที่จัดจำหน่าย โดยผู้ยืมและผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินดังกล่าวได้ดำเนินการตามเงื่อนไขใน (1)(ก) และ (ข) และผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินนั้นได้ดำเนินการตามเงื่อนไขใน (1)(ค) ด้วยแล้ว
ข้อ 14 ในการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืมและมูลค่าหลักประกันที่มิใช่เงินสด เล็ตเตอร์ออฟเครดิต หรือหนังสือค้ำประกันที่ออกโดยสถาบันการเงิน ที่เป็นสกุลเงินบาท ให้ผู้ประกอบกิจการคำนวณตามวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ให้ใช้ราคาปิด ณ สิ้นวันทำการก่อนหน้าวันที่คำนวณมูลค่าที่ประกาศโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือราคาอ้างอิง ณ สิ้นวันทำการก่อนหน้าวันที่คำนวณมูลค่าที่ประกาศโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย Reuters Bloomberg หรือผู้ประกอบธุรกิจให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สำนักงานยอมรับ หรือ
(2) ให้ใช้ราคาที่เห็นว่าสามารถสะท้อนถึงมูลค่าตลาดในปัจจุบันของหลักทรัพย์หรือหลักประกันแต่ละประเภท
ประกาศ ณ วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้คือ เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับระบบงานและการควบคุมการปฏิบัติงาน ลักษณะและสาระสำคัญ
ของสัญญายืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ประเภทของหลักประกัน การรักษาสัดส่วนของมูลค่าหลักประกันต่อมูลค่าหลักทรัพย์ที่ให้ยืม และการ
คำนวณมูลค่าหลักทรัพย์และหลักประกันในธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้.