การพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 13, 2008 10:11 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ กค. 12/ 2551

เรื่อง การพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติสัญญา

ซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์

เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

_________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (1) มาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และมาตรา 8 (1) มาตรา 74 มาตรา 75 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) “การพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า การดำเนินการที่เกี่ยวกับการพิจารณาโทษทางปกครอง

(2) “โทษทางปกครอง” หมายความว่า โทษทางปกครองที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(3) “ผู้ถูกกล่าวหา” หมายความว่า บุคคลซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว เห็นว่ามีพฤติการณ์การกระทำที่มีมูลเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดที่มีโทษทางปกครอง

(4) “ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง และสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วแต่กรณี

(5) “คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

(6) “เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมวด 1

บททั่วไป

_________________

ข้อ 3 ในการพิจารณาและมีคำสั่งลงโทษทางปกครอง และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว นอกจากที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 4 การแจ้งข้อกล่าวหา การแจ้งกำหนดนัด การแจ้งคำสั่งลงโทษทางปกครอง การแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ หรือการอย่างอื่น ให้กระทำเป็นหนังสือ

ข้อ 5 ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนหรือผู้รับได้แสดงความจำนงให้แจ้งด้วยวิธีอื่น การแจ้งข้อกล่าวหา การแจ้งกำหนดนัด การแจ้งคำสั่งลงโทษทางปกครอง การแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ หรือการอย่างอื่น จะใช้วิธีส่งทางโทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นตามที่ผู้รับได้แจ้งความจำนงไว้ก็ได้ แต่ต้องมีหลักฐานการส่ง และต้องจัดส่งหนังสือแจ้งให้แก่ผู้รับในทันทีที่อาจกระทำได้ ในกรณีนี้ให้ถือว่าผู้รับได้รับแจ้งตามวัน เวลาที่ปรากฏในหลักฐานการส่งโทรสาร จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นนั้น เว้นแต่จะมีการพิสูจน์ได้ว่าไม่มีการได้รับหรือได้รับก่อนหรือหลังจากนั้น

หมวด 2

การพิจารณาและการมีคำสั่งลงโทษทางปกครอง

_________________

ข้อ 6 เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. รวบรวมข้อเท็จจริงและพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว เห็นว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์การกระทำที่มีมูลควรจะได้รับโทษทางปกครอง ให้ดำเนินการดังนี้

(1) ในกรณีที่ประเภทของโทษซึ่งผู้ถูกกล่าวหาควรจะได้รับอยู่ในอำนาจของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามความในหมวดนี้

(2) ในกรณีที่ประเภทของโทษซึ่งผู้ถูกกล่าวหาควรจะได้รับไม่อยู่ในอำนาจของสำนักงาน ก.ล.ต. ให้สำนักงาน ก.ล.ต. เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการพิจารณาทางปกครองตามความในหมวดนี้ต่อไป

ข้อ 7 ให้ฝ่ายคดี สำนักงาน ก.ล.ต. ปฏิบัติงานธุรการรวมทั้งดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้วแต่กรณี มอบหมาย

ส่วนที่ 1

การพิจารณาทางปกครอง

_________________

ข้อ 8 การพิจารณาทางปกครองให้รวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) การแสวงหาพยานหลักฐานที่เห็นว่าจำเป็นแก่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง

(2) การรับฟังพยานหลักฐาน คำชี้แจง หรือความเห็นของสำนักงาน ก.ล.ต. ผู้ถูกกล่าวหา หรือพยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญที่สำนักงาน ก.ล.ต. และผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้าง เว้นแต่ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่จำเป็น ฟุ่มเฟือย หรือเพื่อประวิงเวลา

(3) การขอข้อเท็จจริงหรือความเห็นจากพยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ

(4) การขอให้ผู้ครอบครองเอกสารส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง

(5) การออกไปตรวจสถานที่

ผู้ถูกกล่าวหาต้องให้ความร่วมมือกับผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และมีหน้าที่แจ้งพยานหลักฐานที่ตนทราบแก่ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง

ข้อ 9 เมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ให้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเพื่อโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน โดยผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองจะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น

(1) เมื่อได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งเสร็จสิ้นแล้วก่อนสำนักงาน ก.ล.ต. เสนอเรื่องต่อผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง

(2) เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

(3) เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกกล่าวหาเองได้ให้ไว้ในคำชี้แจงหรือในการให้ถ้อยคำต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต.

(4) เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่าการให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้

(5) เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ หากจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ

ข้อ 10 การแจ้งข้อกล่าวหา ให้ทำเป็นหนังสือโดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) ชื่อผู้ถูกกล่าวหา

(2) การกระทำทั้งหลายที่เข้าข่ายเป็นความผิดที่มีโทษทางปกครอง พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว

(3) บทบัญญัติ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ที่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม

ข้อ 11 เมื่อผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองได้พิจารณาพยานหลักฐาน ประกอบกับคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองมีคำสั่งยกข้อกล่าวหา แต่ถ้าเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด ให้พิจารณากำหนดโทษทางปกครอง แล้ว มีคำสั่งลงโทษทางปกครองต่อไป

ให้สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว

ข้อ 12 การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครองต้องมีกรรมการมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุม การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่ใช่การวินิจฉัยชี้ขาดตามข้อ 11 ถ้าปรากฏว่าคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานในที่ประชุมอาจออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 13 ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครองหรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดตามข้อ 11 คณะกรรมการอาจมอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินการหรือปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดในนามของคณะกรรมการได้ ซึ่งให้หมายความรวมถึงการดำเนินการหรือปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) การลงนามในหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาหรือแจ้งกำหนดนัด

(2) การลงนามในหนังสือเชิญให้บุคคลใดมาชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ความเห็น หรือส่งเอกสารหรือพยานหลักฐาน

(3) การสอบและบันทึกคำชี้แจงหรือความเห็นของผู้ถูกกล่าวหา พยานบุคคล หรือพยานผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนที่ 2

การกำหนดโทษทางปกครอง

_________________

ข้อ 14 ในการพิจารณาโทษทางปกครองที่จะใช้กับผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดโทษทางปกครองอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองต้องคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

(1) พฤติการณ์แห่งความผิด ซึ่งโดยทั่วไปให้พิจารณาจาก

(ก) ความผิดเกิดขึ้นโดยความจงใจ หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเป็นเพียงจากการขาดความระมัดระวังตามสมควร

(ข) ประโยชน์ที่ผู้กระทำผิดหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดหรือบุคคลอื่นได้รับหรือจะได้รับจากการกระทำนั้น

(ค) พฤติการณ์แห่งความผิดเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ หลักเกณฑ์ คำสั่ง หรือเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญ หรือเป็นการขัดต่อหน้าที่ที่ต้องดำเนินธุรกิจหรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวัง หรือเป็นเพียงการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านเทคนิค

(2) ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้น ซึ่งโดยทั่วไปให้พิจารณาจาก

(ก) ระดับของความเสียหายที่มีต่อตลาดเงินหรือตลาดทุนหรือต่อลูกค้าหรือบุคคลอื่น

(ข) ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความเสียหายประเภทที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ (เช่น การขาดประโยชน์ หรือการเพิ่มขึ้นของต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย เป็นต้น) หรือเป็นความเสียหายที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ (เช่น การส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดหรือของธุรกิจ)

(3) ข้อเท็จจริงอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยทั่วไปให้พิจารณาจาก

(ก) ช่วงระยะเวลาและความถี่ของการกระทำผิด

(ข) ความผิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงข้อด้อยของระบบบริหารจัดการหรือระบบควบคุมภายใน และระบบจัดการหรือระบบควบคุมภายในที่มีข้อด้อยนั้นเป็นระบบที่ใช้ในธุรกิจทั้งหมดหรือธุรกิจบางส่วนของผู้กระทำผิด

(ค) ความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นโดยการกระทำหรือการรับรู้ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในระดับสูงของนิติบุคคลผู้กระทำผิด

(ง) เรื่องที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติเป็นเรื่องที่มีประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดแนวทางที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว

(จ) ผู้กระทำผิดแจ้งหรือรายงานความผิดนั้นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ภายในเวลาอันสมควร และเป็นการให้ข้อมูลทั้งหมดที่ทราบหรือให้ข้อมูลเพียงบางส่วน ตลอดจนลักษณะการรายงานข้อมูลและเหตุผลที่รายงานข้อมูล

(ฉ) การเยียวยาความเสียหายของผู้กระทำผิด หรือการดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิดนั้น

(ช) ระดับของความร่วมมือที่ผู้กระทำผิดให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล ระดับความร่วมมือดังกล่าวหมายความรวมถึง ความชัดเจนของนิติบุคคลที่กำหนดให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ก.ล.ต.

(ซ) ประวัติการถูกลงโทษทางปกครองของผู้กระทำผิด หรือในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงประวัติการถูกลงโทษทางปกครองของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของนิติบุคคลนั้น

(ฌ) ระดับโทษทางปกครองที่เคยใช้กับผู้กระทำผิดรายอื่นในความผิดทำนองเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน

ส่วนที่ 3

คำสั่งลงโทษทางปกครอง

_________________

ข้อ 15 คำสั่งลงโทษทางปกครองให้ทำเป็นหนังสือระบุ วัน เดือน ปีที่ทำคำสั่ง ลงโทษทางปกครองที่ลง รวมทั้งชื่อ ลายมือชื่อ และตำแหน่ง ของผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองที่ทำคำสั่ง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ลงลายมือชื่อ

ข้อ 16 คำสั่งลงโทษทางปกครองต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย

(1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ

(2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง

(3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องระบุอีก

(2) เป็นกรณีที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับ

(3) เป็นกรณีเร่งด่วน แต่ต้องให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาอันควรหากผู้ถูกลงโทษร้องขอ

ข้อ 17 การออกคำสั่งลงโทษทางปกครอง ผู้มีอำนาจพิจารณาทางปกครองอาจกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนการกำหนดเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในกรณีดังต่อไปนี้ ตามความเหมาะสมแก่กรณีด้วย

(1) การกำหนดให้โทษทางปกครองเริ่มมีผลหรือสิ้นผล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง

(2) การกำหนดให้การเริ่มมีผลหรือสิ้นผลของโทษทางปกครองต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน

(3) การกำหนดให้ผู้ถูกลงโทษกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อแก้ไขหรือป้องกันมิให้เกิดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ซ้ำอีกได้

ข้อ 18 คำสั่งลงโทษทางปกครองให้มีผลใช้ยันต่อผู้ถูกลงโทษตั้งแต่ขณะที่ผู้ถูกลงโทษได้รับแจ้งเป็นต้นไป

หมวด 3

การอุทธรณ์

_________________

ข้อ 19 การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางปกครองของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือคณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง ตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 หรือ มาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(2) ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ในกรณีที่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

ในการยื่นอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ผู้อุทธรณ์อาจยื่นด้วยตนเอง หรืออาจส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ และเพื่อประโยชน์ในการนับระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในกรณีการยื่นอุทธรณ์โดยทางไปรษณีย์ ให้ถือว่าวันที่เจ้าพนักงานไปรษณีย์ต้นทางประทับตราไปรษณียากรบนซองหนังสืออุทธรณ์ เป็นวันยื่นอุทธรณ์

ข้อ 20 คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ โดยระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องอุทธรณ์ เหตุผลที่เป็นข้อโต้แย้งว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษทางปกครองอย่างชัดเจน และต้องมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย

บรรดาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อุทธรณ์ซึ่งผู้อุทธรณ์เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์ ต่อการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ผู้อุทธรณ์แนบเอกสารดังกล่าวมาพร้อมกับคำอุทธรณ์ด้วย

ข้อ 21 ให้ฝ่ายคดี สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจคำอุทธรณ์ ถ้าเห็นว่าคำอุทธรณ์ไม่มีรายการตามข้อ 20 ให้เสนอเลขาธิการเพื่อมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่ฝ่ายคดี สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่าคำอุทธรณ์มิได้ยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 19 หรือในกรณีที่เลขาธิการได้มีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ผู้อุทธรณ์มิได้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้นำเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อมีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา แล้วมีหนังสือแจ้งผู้อุทธรณ์ทราบต่อไป

ข้อ 22 เมื่อฝ่ายคดี สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจคำอุทธรณ์แล้ว ไม่มีกรณีตามข้อ 21 หรือผู้อุทธรณ์ได้ดำเนินการแก้ไขคำอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามคำสั่งของเลขาธิการตามข้อ 21 วรรคหนึ่ง แล้ว ให้ฝ่ายคดี สำนักงาน ก.ล.ต. ลงทะเบียนรับคำอุทธรณ์ และออกใบรับอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ หรือมีหนังสือแจ้งการรับอุทธรณ์ให้ผู้อุทธรณ์ทราบ แล้วแต่กรณี

ใบรับอุทธรณ์หรือหนังสือแจ้งการรับอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อความแสดงถึงวัน เดือน ปี ที่รับอุทธรณ์

ข้อ 23 เมื่อได้ลงทะเบียนรับคำอุทธรณ์แล้ว ให้ฝ่ายคดี สำนักงาน ก.ล.ต. จัดทำบันทึกการพิจารณาคำอุทธรณ์ โดยระบุเรื่องหรือข้อโต้แย้งที่ผู้อุทธรณ์ยกขึ้นเป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์อย่างชัดเจนและครบถ้วนทุกประเด็น และให้แสดงเหตุผลหรือข้อพิจารณาในการมีคำสั่งลงโทษทางปกครองอันเป็นเหตุให้มีการอุทธรณ์นั้นด้วย แล้วเสนอคำอุทธรณ์และบันทึกการพิจารณาคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณา

ข้อ 24 ในการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับคำอุทธรณ์

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย

ข้อ 25 ในการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถพิจารณาทบทวนคำสั่งลงโทษทางปกครองได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมตลอดถึงความเหมาะสมของการทำคำสั่งลงโทษทางปกครอง โดยอาจขอให้ผู้อุทธรณ์หรือสำนักงาน ก.ล.ต. จัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมหรือชี้แจงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับเรื่องที่อุทธรณ์เพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือรับฟังความคิดเห็นจากผู้อุทธรณ์หรือบุคคลใดตามที่เห็นสมควรด้วยก็ได้

ข้อ 26 ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นสมควรให้ผู้อุทธรณ์เข้าแถลงด้วยวาจา ให้สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งกำหนดนัดให้ผู้อุทธรณ์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาจแจ้งกำหนดนัดล่วงหน้าน้อยกว่านั้นก็ได้

ในการเข้าแถลงด้วยวาจา ผู้อุทธรณ์จะต้องยื่นหนังสือสรุปคำแถลงต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. อย่างช้าในวันที่กำหนดให้มีการแถลงด้วยวาจานั้น ทั้งนี้ หนังสือสรุปคำแถลงจะยกข้อเท็จจริงที่ไม่เคยยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ไม่ได้ เว้นแต่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นสำคัญในการอุทธรณ์ ซึ่งผู้อุทธรณ์สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นหรือพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ไม่อาจเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ก่อนหน้านั้น

คำแถลงด้วยวาจาของผู้อุทธรณ์ต้องกระชับและอยู่ในประเด็น โดยไม่อาจยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำแถลงเป็นหนังสือ มิฉะนั้นคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจไม่อนุญาตให้แถลงด้วยวาจา

ข้อ 27 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางปกครอง คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวนไม่เกินสามคน ให้มีหน้าที่สรุปข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พร้อมทั้งเสนอความเห็นในเรื่องที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้

ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ไม่ได้มอบหมายให้กรรมการคนใดหรือคณะบุคคลใดทำหน้าที่ไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือเป็นกรณีที่มีการมอบหมายตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่เรื่องที่อุทธรณ์ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ให้ประธานกรรมการ ก.ล.ต. หรือรองประธานกรรมการ ก.ล.ต. ที่ประธานกรรมการ ก.ล.ต. มอบหมาย มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งกรรมการหรือคณะบุคคลตามวรรคหนึ่งแทนคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ข้อ 28 เมื่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาอุทธรณ์เสร็จสิ้นแล้ว ให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์ทราบพร้อมด้วยเหตุผล ทั้งนี้ ให้นำข้อ 16 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ข้อ 29 การยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษทางปกครอง แต่ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำขอทุเลาการบังคับดังกล่าวมาพร้อมกับการยื่นอุทธรณ์ได้ โดยชี้แจงเหตุผลอันเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการขอทุเลาการบังคับดังกล่าว

ให้ฝ่ายคดี สำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาคำขอตามวรรคหนึ่งเป็นการเร่งด่วน และรีบทำความเห็นเสนอคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาต่อไป และให้นำข้อ 27 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และคำขอนั้นมีเหตุสมควรอันแท้จริง จะมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรโดยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ตามที่จำเป็นด้วยก็ได้ และให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้อุทธรณ์ทราบ

ประกาศ ณ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

พ.ศ. 2546 และมาตรา 74 มาตรา 75 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 บัญญัติให้

การสั่งลงโทษทางปกครอง การพิจารณาและการมีคำสั่งลงโทษทางปกครอง และการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ประกอบกับเป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวขึ้นใช้บังคับ จึงจำเป็น

ต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ