การเรียกและการวางหลักประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 5, 2008 10:49 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 25/2551

เรื่อง การเรียกและการวางหลักประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

___________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 และ มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

(1) “ตัวแทนซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(2) “ลูกค้าสถาบัน” หมายความว่า ลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลดังต่อไปนี้

(ก) ธนาคารพาณิชย์

(ข) บริษัทเงินทุน

(ค) บริษัทหลักทรัพย์

(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

(จ) บริษัทประกันวินาศภัย

(ฉ) บริษัทประกันชีวิต

(ช) นิติบุคคลประเภทบรรษัท

(ซ) กองทุนรวม

(ฌ) กองทุนส่วนบุคคล

(ญ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(ฎ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ฏ) ธนาคารแห่งประเทศไทย

(ฐ) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(ฑ) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(ฒ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

(ณ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

(ด) นิติบุคคลซึ่งมีบุคคลตามที่กำหนดใน (ก) — (ณ) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

(ต) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับบุคคลตามที่กำหนดใน (ก) — (ด) โดยอนุโลม

(3) “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” หมายความว่า บุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องไว้กับศูนย์ซื้อขายสัญญา เพื่อทำหน้าที่สร้างสภาพคล่องในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญา

(4) “หลักประกันเริ่มต้น” (initial margin) หมายความว่า จำนวนทรัพย์สินขั้นต่ำที่ลูกค้าต้องวางเป็นประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อมีการสร้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้นใหม่

(5) “หลักประกันรักษาสภาพ” (maintenance margin) หมายความว่า จำนวนทรัพย์สินขั้นต่ำที่ลูกค้าต้องดำรงไว้ตลอดเวลาที่มีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเป็นประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(6) “ศูนย์ซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

(7) “สำนักหักบัญชีสัญญา” หมายความว่า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการเป็นตัวแทนในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญา

ข้อ 3 ในการประกอบการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กำหนดฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสูงสุดที่ลูกค้ารายใดรายหนึ่งอาจมีได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง (single client total open position limit) รวมทั้งอัตราหรือมูลค่าหลักประกันที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาจะเรียกจากลูกค้าสำหรับการมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยพิจารณาจากความผันผวนของราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ฐานะทางการเงิน ความสามารถในการวางหลักประกันและประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า

(2) เรียกให้ลูกค้านำทรัพย์สินมาวางเป็นหลักประกันเริ่มต้น (initial margin) ในอัตราหรือมูลค่าไม่ต่ำกว่าที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

(3) คำนวณมูลค่าตลาด (market price) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ทำการซื้อขายเพื่อลูกค้า ตลอดจนผลกำไรหรือขาดทุนจากฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าเพื่อทำการปรับมูลค่าหลักประกันของลูกค้า อย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ

การคำนวณมูลค่าตลาดของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์ซื้อขายสัญญากำหนด

(4) เรียกให้ลูกค้าวางหลักประกันเพิ่มในจำนวนที่เป็นผลให้อัตราหรือมูลค่าหลักประกันของลูกค้ารายดังกล่าวไม่ต่ำกว่าอัตราหรือมูลค่าหลักประกันเริ่มต้น เมื่ออัตราหรือมูลค่าหลักประกันของลูกค้ารายนั้นลดลงต่ำกว่าอัตราหรือมูลค่าหลักประกันรักษาสภาพ (maintenance margin) ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

ทรัพย์สินที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาเรียกให้ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกันตามวรรคหนึ่ง (2) และ (4) ต้องเป็นทรัพย์สินประเภทเดียวกันกับที่สำนักหักบัญชีสัญญาเรียกจากสมาชิกเพื่อเป็นประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และการคำนวณมูลค่าหลักประกันให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สำนักหักบัญชีสัญญากำหนด

ข้อ 4 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางประกันให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีเป็นการวางหลักประกันเริ่มต้น

(ก) สำหรับลูกค้าสถาบันหรือผู้ดูแลสภาพคล่อง ให้วางประกันก่อนเวลาปิดทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงในวันทำการถัดจากวันที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ลูกค้า

(ข) นอกจากกรณีตาม (ก) ให้วางประกันก่อนเริ่มทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้แก่ลูกค้า

(2) ในกรณีเป็นการวางหลักประกันเพิ่ม ให้วางประกันก่อนเวลาปิดทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงในวันทำการถัดจากวันที่ตัวแทนซื้อขายสัญญาได้เรียกให้ลูกค้าวางประกันเพิ่ม

ข้อ 5 ในกรณีที่ลูกค้ารายใดไม่สามารถวางประกันภายในกำหนดเวลาตามข้อ 4(1)(ก) หรือข้อ 4(2) ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) งดการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอันจะเป็นผลให้มีการสร้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้นใหม่ให้แก่ลูกค้ารายดังกล่าว เว้นแต่การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่จะทำให้ความเสี่ยงจากฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่คงค้างอยู่ของลูกค้ารายนั้นลดลง

(2) ล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายดังกล่าวก่อนเวลาปิดทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงในวันทำการถัดไป ทั้งนี้ ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องล้างฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายดังกล่าว จนเป็นผลให้อัตราหรือมูลค่าหลักประกันสำหรับการมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้ารายนั้นไม่ต่ำกว่าอัตราหรือมูลค่าหลักประกันเริ่มต้นตามที่กำหนดในข้อ 3(2)

ข้อ 6 ตัวแทนซื้อขายสัญญาต้องวางหลักประกันสำหรับการมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าแต่ละรายกับสำนักหักบัญชีสัญญาตามที่สำนักหักบัญชีสัญญากำหนด โดยไม่ให้นำฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าต่างรายกันมาหักกลบลบกัน

ข้อ 7 ห้ามมิให้ตัวแทนซื้อขายสัญญาให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อนำมาวางประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 8 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 67/2547 เรื่อง การเรียกและการวางหลักประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขาย ล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ ใช้บังคับ

ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และระบบการซื้อขาย

และการชำระหนี้ในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้ผู้ดูแลสภาพคล่องสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ขึ้น จึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกและการวางหลักประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วง

หน้า นอกจากนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้การออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์

เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปฏิบัติ เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนแทนอำนาจของคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ดังนั้น ในการเรียกและการวางหลักประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจึงให้ปฏิบัติให้เป็นไปตาม

ประกาศฉบับนี้แทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 67/2547 เรื่อง การเรียกและการวางหลัก

ประกันในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 จึงจำเป็นต้องออก

ประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ