การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 15, 2008 14:11 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 28/2551

เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 89/27 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 14/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ข้อ 3 ในประกาศนี้ และในแบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ที่กำหนดตามประกาศนี้

(1) คำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” “บริษัทจดทะเบียน” “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” “บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน” “บริษัทร่วม” “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” “ผู้บริหาร” “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” “ผู้มีอำนาจควบคุม” “บุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง” และ “งบการเงินรวม” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์

(2) “การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ” หมายความว่า การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ โดยกำหนดราคาเสนอขายไว้ต่ำกว่าร้อยละเก้าสิบของราคาตลาด

(3) “กรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน” หมายความว่า กรรมการที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร กรรมการที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการใด ๆ เยี่ยงผู้บริหาร และให้หมายความรวมถึงกรรมการที่มีอำนาจลงนามผูกพัน เว้นแต่จะแสดงได้ว่าเป็นการลงนามผูกพันตามรายการที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติไว้แล้ว และเป็นการลงนามร่วมกับกรรมการรายอื่น

ข้อ 4 วิธีการคำนวณราคาเสนอขายและการกำหนดราคาตลาดตามที่กำหนดไว้ในบทนิยามคำว่า “การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ” ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 5 บริษัทมหาชนจำกัดหรือผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ จะได้รับอนุญาตจากสำนักงานต่อเมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

ในกรณีที่สำนักงานมีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าผู้ขออนุญาตจะมีคุณลักษณะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การอนุญาตหรือมีลักษณะการดำเนินการอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแสดงข้อพิสูจน์อื่นใดเพื่อหักล้างข้อสงสัยดังกล่าว ในการนี้ สำนักงานจะพิจารณาคำขออนุญาตต่อไปก็ต่อเมื่อผู้ขออนุญาตสามารถแสดงข้อพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสงสัยดังกล่าวได้

ข้อ 6 บริษัทมหาชนจำกัดจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามประกาศนี้ ก็ต่อเมื่อบริษัทมหาชนจำกัดนั้นไม่มีหุ้นที่ได้ซื้อคืนมาและยังจำหน่ายไม่หมด เว้นแต่จะเป็นการนำหุ้นที่ได้ซื้อคืนมาเสนอขายพร้อมกับหุ้นที่ออกใหม่ โดยจัดสรรการขายหุ้นที่ซื้อคืนในลำดับก่อนการขายหุ้น ที่ออกใหม่

ข้อ 7 ในการพิจารณาว่าคำขออนุญาตใดมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้หรือไม่ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายหุ้นมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่า ความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายหุ้นนั้น เข้าลักษณะเป็นการ หลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหุ้นตามคำขออนุญาตได้ ทั้งนี้ สำนักงานต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน

(2) ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาตได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบ การตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยก็ได้

(ก) ประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนของผู้ขออนุญาตในการปฏิบัติ และมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น

(ข) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(ค) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

ข้อ 8 ในการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตมาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่มาชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่นั้นอีกต่อไป

หมวด 1

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชน

_____________________________

ส่วนที่ 1

การขอและการอนุญาต

_____________________________

ข้อ 9 บริษัทมหาชนจำกัดที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาต ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

การยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่ง ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบเป็นผู้ร่วมจัดทำคำขออนุญาตด้วย

ข้อ 10 ให้ผู้ขออนุญาตชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตต่อสำนักงานในวันยื่นแบบคำขออนุญาต ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องไปเยี่ยมชมกิจการ หรือสถานที่อื่นใดของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อยซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล ผู้ขออนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าที่พักและค่าพาหนะเดินทางที่เกิดขึ้นจากการเยี่ยมชมกิจการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 11 ผู้ขออนุญาตจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนได้ ต่อเมื่อแสดงให้สำนักงานเห็นได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี และหลักเกณฑ์คุณสมบัติอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ซึ่งหากผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทจดทะเบียน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 19

(1) การรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม

(ก) มีโครงสร้างการถือหุ้นที่ชัดเจน เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12 และข้อ 13

(ข) ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่มีผลประโยชน์อื่นที่อาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่ดีที่สุดของกิจการ เว้นแต่ผู้ขออนุญาตสามารถแสดงได้ว่ามีกลไกที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า การบริหารจัดการบริษัทจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของกิจการและผู้ถือหุ้นโดยรวม

(ค) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่ากลไกการบริหารจัดการจะไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น หรือไม่สามารถปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม

(2) บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุม

(ก) คณะกรรมการเข้าใจบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบของตนที่มีต่อผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี และแสดงได้ว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้

(ข) โครงสร้างคณะกรรมการและการจัดการมีการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) กันอย่างเพียงพอ โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 16

(ค) ผู้บริหารเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารตามประกาศที่เกี่ยวกับข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทที่ออก หลักทรัพย์

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน กรรมการของสภาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศเกี่ยวกับข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

(ง) ผู้มีอำนาจควบคุมไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศเกี่ยวกับข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลม

(3) การเปิดเผยข้อมูล

(ก) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าข้อมูลที่เปิดเผยต่อประชาชนไม่ครบถ้วน ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน หรือมีข้อความที่อาจทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด

(ข) งบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชีล่าสุด และงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอต้องถูกต้อง น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 17

(ค) ไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าผู้ขออนุญาตไม่มีระบบเพียงพอที่จะทำให้สามารถจัดทำและเปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้อย่างต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ

(4) คุณสมบัติอื่น ๆ

(ก) ธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุที่ทำให้สงสัยว่าจะไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

(ข) การประกอบธุรกิจของผู้ขออนุญาตและบริษัทย่อยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่อยู่ระหว่างถูกกล่าวหาจากหรือมีข้อพิพาทกับหน่วยงานของรัฐในเรื่องดังกล่าว

(ค) ไม่มีประวัติการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ในเรื่องที่มีนัยสำคัญ

(ง) ได้รับมติโดยชัดแจ้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทอนุมัติการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ และมตินั้นได้มาแล้วไม่เกินหนึ่งปีจนถึงวันยื่นคำขออนุญาต

ข้อ 12 โครงสร้างการถือหุ้นของผู้ขออนุญาต บริษัทย่อย และบริษัทร่วมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) สามารถสะท้อนอำนาจในการควบคุมและส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นได้อย่างชัดเจน

(2) ไม่มีบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งของผู้ขออนุญาตถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมนั้น เว้นแต่แสดงได้ว่าการจัดโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ ที่ดีที่สุดของผู้ขออนุญาตแล้ว

ข้อ 13 โครงสร้างการถือหุ้นระหว่างผู้ขออนุญาตกับบริษัทอื่นต้องไม่มีลักษณะเป็นการถือหุ้นไขว้ระหว่างกันที่ขัดหรือแย้งต่อหลักเกณฑ์ตามข้อ 14 เว้นแต่จะแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นกรณีตามข้อ 15เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามข้อ 14 และข้อ 15

(1) การพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น ให้คำนวณตามจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของนิติบุคคลที่ถูกถือหุ้น

(2) คำว่า “บริษัทอื่น” ให้หมายความรวมถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

ข้อ 14 ผู้ขออนุญาตและบริษัทอื่นต้องไม่มีการถือหุ้นไขว้ระหว่างกันที่ขัดหรือแย้งต่อหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กรณีการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่น ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละห้าสิบ ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาต

(ค) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบในบริษัทอื่นตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไป ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นเหล่านั้นถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน

(2) กรณีการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า แต่ไม่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละสิบ ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า แต่ไม่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ

(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า แต่ไม่เกินกว่าร้อยละห้าสิบ ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละสิบ

(3) กรณีการถือหุ้นไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า

(ก) ผู้ขออนุญาตต้องไม่ถือหุ้นไขว้ในบริษัทอื่นเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า ในกรณีที่บริษัทอื่นเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า

(ข) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่นไม่เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้า ต้องไม่ปรากฏว่าบริษัทอื่นถือหุ้นไขว้ในผู้ขออนุญาตเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง

(1) การพิจารณาการถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือของบริษัทอื่น ให้นับการถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของบุคคลดังต่อไปนี้ รวมเป็นการถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือของบริษัทอื่น ตามแต่กรณีด้วย

(ก) การถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี ที่มีการถือหุ้นโดยทางอ้อมผ่านนิติบุคคลอื่นทุกทอดตลอดสายเท่าที่การถือหุ้นในแต่ละทอดยังคงเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของนิติบุคคลอื่นนั้น

(ข) ผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตหรือผู้ถือหุ้นของบุคคลตาม (ก) ที่เป็นสายของผู้ขออนุญาต ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและถือหุ้นในผู้ขออนุญาตหรือบุคคลตาม (ก) เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของของผู้ขออนุญาตหรือบุคคลตาม (ก) นั้น

(ค) ผู้ถือหุ้นของบริษัทอื่นหรือผู้ถือหุ้นของบุคคลตาม (ก) ที่เป็นสายของบริษัทอื่น ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและถือหุ้นในบริษัทอื่นหรือบุคคลตาม (ก) เกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของบริษัทอื่นหรือบุคคลตาม (ก) นั้น

(ง) การถือหุ้นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ถือหุ้นตาม (ข) หรือ (ค)

(2) ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดการนับรวมการถือหุ้นของบุคคลที่มีลักษณะเป็นการถือหุ้นไขว้โดยทางอ้อมซึ่งมีผลต่อความชัดเจนในโครงสร้างการถือหุ้น

ข้อ 15 ผู้ขออนุญาตอาจได้รับการผ่อนผันให้ถือหุ้นไขว้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมกับบริษัทอื่นโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามข้อ 14 ได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) มีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ไม่เป็นบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ ถือหุ้นในผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี รวมกันในสัดส่วนที่มากกว่าการถือหุ้นตามข้อ 14 ของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณี ซึ่งสามารถถ่วงดุลการใช้อำนาจควบคุมในผู้ขออนุญาตหรือบริษัทอื่น แล้วแต่กรณีได้

(2) การถือหุ้นไขว้มีเหตุจำเป็นและสมควร และไม่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำว่า “บุคคลที่มีสายสัมพันธ์” ให้หมายความถึงบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยอนุโลม

ข้อ 16 โครงสร้างคณะกรรมการและการจัดการของผู้ขออนุญาต ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มีกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดของผู้ขออนุญาตแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามคน

(2) กรรมการอิสระแต่ละคนของผู้ขออนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ถือหุ้นไม่เกินร้อยละหนึ่งของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ทั้งนี้ ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้น ๆ ด้วย

(ข) ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน

(ค) ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมาย ในลักษณะที่เป็น บิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุม ของบริษัท หรือบริษัทย่อย

(ง) ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน รวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการอิสระ หรือผู้บริหาร ของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน

ความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามวรรคหนึ่ง รวมถึงการทำรายการทางการค้าที่กระทำเป็นปกติเพื่อประกอบกิจการ การเช่าหรือให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รายการเกี่ยวกับสินทรัพย์หรือบริการ หรือการให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน ด้วยการรับหรือให้กู้ยืม ค้ำประกัน การให้สินทรัพย์เป็นหลักประกันหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์อื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตหรือคู่สัญญามีภาระหนี้ที่ต้องชำระต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่ร้อยละสามของสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิของผู้ขออนุญาตหรือตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ทั้งนี้ การคำนวณภาระหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามวิธีการคำนวณมูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกันตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน โดยอนุโลม แต่ในการพิจารณาภาระหนี้ดังกล่าว ให้นับรวมภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างหนึ่งปีก่อนวันที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบุคคลเดียวกัน

(จ) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง และไม่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้งสังกัดอยู่ เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน

(ฉ) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใด ๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่าสองล้านบาทต่อปีจาก บริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ให้บริการ ทางวิชาชีพเป็นนิติบุคคล ให้รวมถึงการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ กรรมการซึ่งไม่ใช่กรรมการอิสระ ผู้บริหาร หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วย เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน

(ช) ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัท ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท

(ซ) ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท

ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระที่มีลักษณะเป็นไปตามวรรคหนึ่ง (ก) ถึง (ซ) แล้ว กรรมการอิสระอาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบขององค์คณะ (collective decision) ได้

ความในวรรคหนึ่ง (ข) (ง) (จ) และ (ฉ) ในส่วนที่กำหนดให้พิจารณาคุณสมบัติของกรรมการอิสระของผู้ขออนุญาตในช่วงสองปีก่อนวันที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน ให้ใช้บังคับกับคำขออนุญาตที่ยื่นต่อสำนักงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

(3) มีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยสามคน ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทให้เป็นกรรมการตรวจสอบ

(ข) เป็นกรรมการอิสระที่เป็นไปตาม (2) และต้อง

1. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง และ

2. ไม่เป็นกรรมการของบริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทย่อยลำดับเดียวกันเฉพาะที่เป็นบริษัทจดทะเบียน

(ค) มีหน้าที่ในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในประกาศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ

(ง) มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้ ต้องมีกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยหนึ่งคนที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้

(4) ในกรณีที่คณะกรรมการมีการมอบหมายให้ผู้จัดการ หรือบุคคลอื่นปฏิบัติการแทนคณะกรรมการในเรื่องใด การมอบหมายดังกล่าวต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบันทึกเป็นมติคณะกรรมการในรายงานการประชุมคณะกรรมการอย่างชัดเจน และมีการระบุขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ผู้รับมอบอำนาจไว้อย่างชัดเจน

ข้อ 17 งบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดปีบัญชีล่าสุด และงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่ใช้บังคับกับบริษัทมหาชนจำกัด และเป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่นที่ออกตามความในมาตรา 56

(2) ผ่านการตรวจสอบ หรือสอบทาน (กรณีงบการเงินรายไตรมาส) จากผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยผู้สอบบัญชีดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนตามมาตรฐานการสอบบัญชี

(3) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีตาม (2) ต้องไม่มีความหมายในลักษณะ ดังต่อไปนี้

(ก) ไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวม หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง

(ข) แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี

(ค) แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ขออนุญาตหรือผู้บริหาร

ข้อ 18 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตตามข้อ 11 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง ผู้ขออนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) มีการถือหุ้นในบริษัทย่อยซึ่งเป็นธุรกิจหลักของผู้ขออนุญาตในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทย่อยนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) มีเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่มีการประกอบธุรกิจรวมกันในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดของผู้ขออนุญาต เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน และมีมาตรการที่แสดงได้ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือขอบเขต การลงทุนที่มีนัยสำคัญ ต้องได้รับอนุมัติโดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน

(3) แสดงได้ว่าผู้ขออนุญาตมีอำนาจในการจัดการและควบคุมกิจการของบริษัทย่อยตาม (1)

(4) บริษัทย่อยตาม (1) ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ในข้อ 11 ไม่ว่าบริษัทย่อยดังกล่าวจะเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด

ข้อ 19 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทจดทะเบียน ผู้ขออนุญาตจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ขออนุญาตไม่อยู่ระหว่างการค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี หรือไม่อยู่ระหว่างการฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่อยู่ระหว่างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรายงานต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 57 แล้วแต่กรณี หรือไม่อยู่ระหว่างการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) ผู้ขออนุญาตมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 11 เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตและบริษัทอื่นมีการถือหุ้นไขว้ที่ไม่เป็นไปตามข้อ 13 ผู้ขออนุญาตอาจได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ได้ต่อเมื่อผู้ขออนุญาตผูกพันที่จะดำเนินการแก้ไขโครงสร้างการถือหุ้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2552

(3) ผู้ขออนุญาตที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ต้องมีโครงสร้างคณะกรรมการและการจัดการของผู้ขออนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(ก) มีกรรมการอิสระอย่างน้อยสามคน ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. ถือหุ้นไม่เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง

2. ไม่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง

3. ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมาย ในลักษณะที่เป็น บิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตรของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท หรือบริษัทย่อย

4. ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือนิติบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตน และไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท

(ข) มีคณะกรรมการตรวจสอบอย่างน้อยสามคน ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบ โดยกรรมการตรวจสอบแต่ละรายต้องเป็นกรรมการอิสระตาม (ก) และต้องมีคุณสมบัติและหน้าที่ในลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยคุณสมบัติและขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ

2. มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอที่จะสามารถทำหน้าที่ในการสอบทานความน่าเชื่อถือของงบการเงินได้ รวมทั้งการทำหน้าที่อื่นในฐานะกรรมการตรวจสอบ

(ค) ในกรณีที่คณะกรรมการมีการมอบหมายให้ผู้จัดการ หรือบุคคลอื่นปฏิบัติการแทนคณะกรรมการในเรื่องใด การมอบหมายดังกล่าวต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบันทึกเป็นมติคณะกรรมการในรายงานการประชุมคณะกรรมการอย่างชัดเจน และมีการระบุขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้รับมอบอำนาจไว้อย่างชัดเจน

(4) ผู้ขออนุญาตที่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานภายหลังการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 16(1) (2) (3) และ(4) โดยอนุโลม แต่การพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการอิสระตามข้อ 16(2) สำหรับช่วงเวลาในอดีต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่เป็นกรรมการอิสระรายใหม่ ซึ่งไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการอิสระในวาระเดิม หากเป็นการแต่งตั้งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป กรรมการอิสระรายดังกล่าว ต้องไม่เคยเป็นบุคคลตามข้อ 16(2) วรรคหนึ่ง (ข) (ง) (จ) และ (ฉ) ในระยะเวลาสองปีก่อนได้รับการแต่งตั้งด้วย

(ข) กรณีที่กรรมการอิสระได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระต่ออีกวาระหนึ่ง หากเป็นการแต่งตั้งในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป กรรมการอิสระรายดังกล่าว ต้องไม่เคยเป็นบุคคลตามข้อ 16(2) วรรคหนึ่ง (ง) (จ) และ (ฉ) ในวาระเดิมก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอิสระในวาระปัจจุบันด้วย เว้นแต่กรณีดังกล่าวจะเป็นรายการที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการตามข้อ 16(2) วรรคหนึ่ง (ง) หรือ (ฉ) ที่มีขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของผู้ขออนุญาตด้วยมติเป็นเอกฉันท์ โดยมีเหตุจำเป็นและสมควร และเป็นรายการที่มิได้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ขออนุญาตได้เปิดเผยข้อมูลรายการที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือการให้บริการที่ได้รับอนุมัติดังกล่าวไว้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นในวาระการเสนอแต่งตั้งกรรมการอิสระรายดังกล่าวแล้ว

(5) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตประสงค์จะเสนอขายให้เฉพาะบุคคลที่กำหนด (placement) และเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) ในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้บริษัทเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ บริษัทได้จัดส่งหนังสือนัดประชุมถึงผู้ถือหุ้นล่วงหน้าอย่างน้อยสิบสี่วันก่อนวันประชุม

(ข) หนังสือนัดประชุมตาม (ก) มีข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. วัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ

2. รายละเอียดเกี่ยวกับหุ้นที่ออกในเรื่อง จำนวนหุ้นที่เสนอขาย และราคาเสนอขายซึ่งเป็นการระบุราคาที่แน่นอน หรือระบุส่วนลดสูงสุดที่แน่นอน

3. ราคาตลาดที่ใช้เปรียบเทียบกับราคาเสนอขาย รวมทั้งวิธีการคำนวณ

4. ในกรณีที่กำหนดราคาเสนอขายที่แน่นอน (fixed price) ต้องระบุกลุ่มบุคคลที่คาดว่าจะเสนอขาย

5. ผลกระทบที่มีต่อผู้ถือหุ้นจากการเสนอขายหุ้นที่ขออนุมัติออกในครั้งนี้ โดยอย่างน้อยให้ระบุผลกระทบต่อราคาตลาดของหุ้น (price dilution) เมื่อมีการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ และผลกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรหรือสิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้นเดิม (control dilution)

6. สิทธิของผู้ถือหุ้นในการคัดค้านการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำตาม (ง)

7. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทที่แสดงถึงความจำเป็นในการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ โดยอธิบายถึงความคุ้มค่าของประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับเปรียบเทียบกับส่วนต่างของราคาเสนอขายกับราคาตลาดที่บริษัทต้องสูญเสียไป รวมทั้งความเหมาะสมและเหตุผลของราคาตลาดที่ใช้ และการกำหนดราคาเสนอขายดังกล่าว

8. ข้อมูลอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

(ค) จัดส่งหนังสือมอบฉันทะไปพร้อมหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยมีการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการอิสระอย่างน้อยหนึ่งราย ที่ผู้ถือหุ้นซึ่งไม่สามารถเข้าประชุมและใช้สิทธิออกเสียงด้วยตนเองสามารถมอบฉันทะให้เป็นผู้ใช้สิทธิแทนผู้ถือหุ้นได้ และในกรณีที่กรรมการอิสระดังกล่าวเป็นบุคคลที่อาจได้รับการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ขออนุมัติ ให้แสดงส่วนได้เสียพิเศษของกรรมการอิสระดังกล่าวด้วย

(ง) ได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง และไม่มีผู้ถือหุ้นรวมกันตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุม ออกเสียงคัดค้านการเสนอขายหุ้นนั้น

ความใน (5) ไม่ให้ใช้บังคับกับกรณีต่อไปนี้

(ก) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทที่ต้องเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแผนนั้นแล้ว

(ข) กรณีอื่นใดที่มีเหตุจำเป็นและสมควร โดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

ข้อ 20 ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 11(2)(ค) วรรคสอง (2)(ง) หรือ (4)(ค) หรือข้อ 19(2) ประกอบข้อ 11(2)(ค) วรรคสอง (2)(ง) หรือ (4)(ค) ในการแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการพิจารณาคำขออนุญาตในคราวต่อไป โดยคำนึงถึงความมีนัยสำคัญของพฤติกรรมอันเป็นลักษณะต้องห้าม หรือการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์เป็นรายกรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการกำหนดระยะเวลา ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตต่อผู้ขออนุญาต

เมื่อพ้นระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อผู้ยื่นคำขออนุญาตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดแล้ว มิให้สำนักงานนำข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการสั่งการตามวรรคหนึ่งมาประกอบการพิจารณาคำขอในครั้งใหม่อีก

ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าเหตุที่ทำให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตาม ข้อ 11(2)(ค) วรรคสอง (2)(ง) หรือ (4)(ค) หรือข้อ 19(2) ประกอบข้อ 11(2)(ค) วรรคสอง (2)(ง) หรือ (4)(ค) เป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หรือได้มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการป้องกันแล้ว สำนักงานอาจไม่นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดคุณลักษณะดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้

ส่วนที่ 2

เงื่อนไขการอนุญาต

________________________

ข้อ 21 ให้ผู้ได้รับอนุญาตตามส่วนที่ 1 ของหมวดนี้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนนี้

ข้อ 22 ในกรณีที่สำนักงานพบว่าภายหลังการอนุญาตมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตตามส่วนที่ 1 ของหมวดนี้มีลักษณะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับอนุญาต และผู้ได้รับอนุญาตไม่สามารถแก้ไขลักษณะให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้สำนักงาน มีอำนาจแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตระงับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาต และเมื่อมีการแจ้งแล้ว ให้ถือว่าการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในส่วนที่ยังมิได้เสนอขายหรือยังไม่มีผู้จองซื้อเป็นอันสิ้นสุดลง

ข้อ 23 ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ผู้ได้รับอนุญาตที่จะนำหุ้นของบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องไม่กำหนดราคาหุ้นในบางส่วนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไป สูงกว่าราคาหุ้นในส่วนที่แบ่งสรรไว้เป็นการเฉพาะเพื่อการเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนด ไม่ว่าการเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนดดังกล่าว จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปหรือในช่วงเก้าสิบวันก่อนการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป เว้นแต่การเสนอขายต่อบุคคลที่กำหนดดังกล่าวเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) การเสนอขายต่อกรรมการและพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น

(ข) การเสนอขายต่อบุคคลใดตามโครงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

(ค) เป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรโดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) ผู้ได้รับอนุญาตที่เข้าข่ายดังต่อไปนี้ ต้องจัดให้มีคำเตือนในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และในหนังสือชี้ชวน ที่สามารถทำให้ผู้ลงทุนได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและเข้าใจถึงโอกาสของความเสี่ยงจากการลดลงของราคาหุ้นดังกล่าวเมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

(ก) ผู้ได้รับอนุญาตมีวัตถุประสงค์จะนำหุ้นที่เสนอขายเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก และ

(ข) ผู้ได้รับอนุญาตมีการเสนอขายหุ้นประเภทเดียวกันต่อบุคคลใดในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่เสนอขายในครั้งนี้ โดยการเสนอขายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างหกเดือนก่อนการเสนอขายในครั้งนี้และหุ้นที่เสนอขายในระหว่างหกเดือนดังกล่าวรวมกันแล้วเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้น ทั้งหมดที่เสนอขายในครั้งนี้

(3) นับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ หากผู้ได้รับอนุญาตจะจัดให้มีการโฆษณาชี้ชวนเกี่ยวกับหลักทรัพย์โดยวิธีการอื่นนอกจากการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน ผู้ได้รับอนุญาตต้องส่งข้อมูลที่จะใช้ในการโฆษณาชี้ชวนให้สำนักงานพิจารณาก่อนจะดำเนินการดังกล่าว และจะกระทำได้ต่อเมื่อสำนักงานมิได้แจ้งทักท้วงการใช้ข้อมูลดังกล่าวภายในสามวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับข้อมูลนั้น ในการนี้ สำนักงานอาจกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการจัดให้มีคำเตือนประกอบการโฆษณาตามที่กำหนดไว้ในประกาศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ โดยอนุโลม ด้วยก็ได้

(4) ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการขายหุ้นให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งการอนุญาต หากไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาดังกล่าวและยังประสงค์จะเสนอขายหุ้นต่อไป ให้ผู้ได้รับอนุญาตมีหนังสือถึงสำนักงานก่อนพ้นระยะเวลาดังกล่าว ไม่น้อยกว่าสามสิบวันเพื่อขอขยายระยะเวลาเสนอขาย โดยต้องแจ้งเหตุผลของการขอขยายระยะเวลา และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของผู้ได้รับอนุญาตตามข้อ 11 ในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย (ถ้ามี) ในกรณีนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจขยายระยะเวลาให้อีกได้ตามที่เห็นควร แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินสิบสองเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาตครั้งแรก ทั้งนี้ ในการพิจารณาผ่อนผัน สำนักงานอาจเรียกให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งข้อมูลหรือเอกสารเพิ่มเติมก็ได้

(5) นับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่จนถึงวันก่อนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว สำหรับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาตในครั้งนั้น ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ดำเนินการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติที่อาจมีผลกระทบต่อผู้ที่จะลงทุนในหุ้นที่ ออกใหม่ที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร

(6) ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามความในมาตรา 56 ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันที่ให้ไว้ในคำขออนุญาต หรือแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน รวมทั้งดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้บริหาร และผู้มีอำนาจควบคุมปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะได้มีมติเป็นอย่างอื่น

(7) ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหุ้นที่ได้รับอนุญาตมีผลใช้บังคับ หากที่ปรึกษาทางการเงินที่ร่วมจัดทำคำขออนุญาตประสงค์จะได้รับหรือตรวจดูข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ที่ปรึกษาทางการเงินในการเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่มีผลกระทบต่อผู้ได้รับอนุญาตตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินและขอบเขตการดำเนินงาน ผู้ได้รับอนุญาตต้องให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ที่ปรึกษา ทางการเงินด้วย

ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ผู้ได้รับอนุญาตต้องกำกับและควบคุมให้บริษัทย่อยตามข้อ 18(1) ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (5) และ (6) โดยอนุโลมด้วย

หมวด 2

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด

_________________________

ส่วนที่ 1

การอนุญาต

_________________________

ข้อ 24 การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด หมายถึง การเสนอขายที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกินห้าสิบรายภายในรอบระยะเวลาสิบสองเดือน

(2) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ที่มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินยี่สิบล้านบาทภายในรอบระยะเวลาสิบสองเดือน ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่ารวมของหุ้นดังกล่าว ให้ถือเอาราคาเสนอขายหุ้นนั้นเป็นเกณฑ์

(3) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบัน

การนับจำนวนผู้ลงทุนตาม (1) หรือการคำนวณมูลค่ารวมการเสนอขายหุ้นตาม (2) ไม่นับรวมส่วนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนตาม (3) ทั้งนี้ ไม่ว่าการเสนอขายดังกล่าวจะกระทำในเวลาเดียวกันหรือต่างเวลากัน

ข้อ 25 ให้บริษัทมหาชนจำกัดหรือผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดได้โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว และผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตตามส่วนที่ 2

ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดเนื่องจากบริษัทที่ต้องเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแผนนั้นแล้ว ให้บริษัทดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดเกี่ยวกับการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และให้บริษัทเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด

การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัดในกรณีใด ที่บริษัทที่ได้รับอนุญาตขอผ่อนผันการปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตต่อสำนักงาน หากบริษัทที่ได้รับอนุญาตสามารถแสดงได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7(2) สำนักงานอาจผ่อนผันให้ บริษัทดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยก็ได้

ข้อ 26 การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นหรือมีการลงทุนในลักษณะที่เป็นเครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามหมวด 1 มิให้ถือเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบันตามข้อ 24(3) เว้นแต่กรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามวรรคสาม ให้การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งในลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นการเสนอขายที่มิให้ถือเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบันตามข้อ 24(3)

(1) กองทุนรวมนั้นมิได้จำกัดการเสนอขายหน่วยลงทุนเฉพาะต่อผู้ลงทุนสถาบัน

(2) การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ให้กองทุนรวมเป็นไปตามข้อตกลงหรือสัญญาระหว่างผู้เสนอขายหลักทรัพย์กับบริษัทจัดการ โดยบริษัทจัดการดังกล่าวไม่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นที่เสนอขายนั้นในระดับเดียวกับการบริหารกองทุนรวมทั่วไป และ

(3) มีการลงทุนของกองทุนรวมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(ก) ลงทุนในหุ้นที่เสนอขายของบริษัทใดบริษัทหนึ่งในแต่ละครั้งมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมนั้น หรือ

(ข) ลงทุนในหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่ารวมของหุ้นที่ออกใหม่ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

ในกรณีที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ประสงค์จะเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อกองทุนรวมที่มีลักษณะตามที่กำหนดในวรรคสอง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อกองทุนรวมนั้นเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนสถาบัน ให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวยื่นคำขอความเห็นชอบต่อสำนักงานพร้อมทั้งคำชี้แจงและเอกสารหลักฐาน และให้สำนักงานมีอำนาจให้ความเห็นชอบให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์สามารถเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อกองทุนรวมในฐานะเป็นผู้ลงทุนสถาบันในครั้งนั้นได้

เพื่อประโยชน์ตามความในข้อนี้

“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับ อนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

ส่วนที่ 2

เงื่อนไขภายหลังการอนุญาต

_________________________

ข้อ 27 ให้ผู้ได้รับอนุญาตตามส่วนที่ 1 ของหมวดนี้ ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตโฆษณาการเสนอขายหุ้นที่จะออกใหม่ต่อบุคคลเป็นการทั่วไป และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารที่เกี่ยวกับหุ้นที่จะเสนอขายหรือกำลังเสนอขาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจกจ่ายไปให้กับบุคคลเฉพาะเจาะจงหรือบุคคลเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การเสนอขายหุ้นดังกล่าวอยู่ภายในลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อ 24(1) (2) หรือ (3) เท่านั้น และผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีข้อความตาม (2) ในเอกสารดังกล่าวด้วย

(2) ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว ซึ่งต้องไม่มีหุ้นหรือหุ้นรองรับที่สามารถเสนอขายได้โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้วคงค้างอยู่ ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ลงลายมือชื่อเพื่อรับรองความถูกต้องของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนที่ผู้ถือหุ้นของผู้ได้รับอนุญาตยื่นต่อสำนักงานเพื่อเสนอขายหุ้นดังกล่าวต่อประชาชน หรือดำเนินการให้หุ้นนั้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่ผู้ได้รับอนุญาตจะได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนตามหมวด 1 หรือผู้ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทจดทะเบียน

(3) ผู้ได้รับอนุญาตต้องเสนอขายหุ้นให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

ข้อ 28 ในกรณีผู้ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามส่วนที่ 1 ของหมวดนี้ เป็นบริษัทจดทะเบียนและเป็นการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำ บริษัทจดทะเบียนดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 19(5) วรรคหนึ่งด้วย โดยอนุโลม

ส่วนที่ 3

การยื่นเอกสารพร้อมรายงานผลการขาย

_______________________

ข้อ 29 ให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ ยื่นเอกสารหลักฐานต่อสำนักงานพร้อมกับรายงานผลการขาย ทั้งนี้ ตามแนวทางที่สำนักงานจัดไว้ในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์

หมวด 3

บทเฉพาะกาล

ข้อ 30 ในกรณีที่สำนักงานได้รับคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ไว้แล้ว ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้การขออนุญาตและการอนุญาตเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 12/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้น ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2543 และประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป เว้นแต่ผู้ที่ยื่นคำขออนุญาตดังกล่าวจะแจ้งเป็นหนังสือต่อสำนักงาน แสดงความประสงค์จะปฏิบัติตามประกาศนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ 31 ให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ แต่ยังมิได้ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานเพื่อเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นดังกล่าว หรือยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานแล้วแต่แสดงความประสงค์ที่จะปฏิบัติตามประกาศนี้ ต้องเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2552 หรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับมติดังกล่าว แล้วแต่เวลาใดจะสิ้นสุดลงภายหลัง

ข้อ 32 ให้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สจ. 12/2543 เรื่อง แบบคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่และวิธีการยื่นคำขออนุญาตลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2543 และแบบแนบท้าย ยังคงมีผลใช้บังคับภายใต้ประกาศนี้ และประกาศ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ 33 ให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กจ. 12/2543 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2543 ไปแล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาต ให้บริษัทดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขภายหลังการอนุญาตตามประกาศดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการถือหุ้นไขว้ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการถือหุ้นไขว้ตามประกาศนี้แทน

ประกาศ ณ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ทั้งนี้ ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยว

กับการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อบุคคลในวงจำกัด โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เข้าข่ายเป็นการเสนอ

ขายหุ้นที่ออกใหม่ในราคาต่ำหรือไม่ แต่ยังคงมีเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยกำหนดให้บริษัท

ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอและต้องขออนุมัติการเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวจากผู้ถือหุ้นของบริษัท จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ