คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์(ฉบับที่ 2)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday May 2, 2006 10:52 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ/น/ข. 14/2549
เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่น
ของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์
(ฉบับที่ 2)
___________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 103(9) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ/น/ข. 4/2548 เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ 3 ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(1) มีคุณวุฒิทางการศึกษา และมีประสบการณ์ในการทำงานตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน
(ก) สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท กรรมการอิสระ ผู้จัดการ หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น
1. สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่าที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง และมีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าสามปี หรือ
2. สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าห้าปี
(ข) สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้จัดการสาขา หรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น
1. สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่าที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรอง และมีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือ
2. สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าสามปี
(2) ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระต้อง
(ก) ถือหุ้นไม่เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง
(ข) ไม่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง
(ค) ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมาย ในลักษณะที่เป็นบิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตร รวมทั้งคู่สมรสของบุตร ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทย่อย
(ง) ไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทใหญ่ บริษัทอยบริษัทร่วม หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง ในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้จารณญาณอย่างอิสระของตน และไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์
คำว่า “บริษัทใหญ่” “บริษัทย่อย” “บริษัทร่วม” “บุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง” “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” และ “ผู้มีอำนาจควบคุม” ให้อนุโลมตามบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์
(3) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้จัดการสาขาและผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่น ต้องสามารถทำงานให้บริษัทหลักทรัพย์ได้เต็มเวลาเว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว หรือบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นตามมาตรา 103(7) หรือ (8) (ข) หรือ (ค) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
(นายทนง พิทยะ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ