การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 13, 2009 11:06 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 14/2552

เรื่อง การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย

________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 มาตรา 56 มาตรา 67 มาตรา 69(11) และมาตรา 70(9) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 19/2551 เรื่อง การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ข้อ 2 ในประกาศนี้ คำว่า “แบบแสดงรายการข้อมูล” “ผู้ลงทุนสถาบัน” “ผู้ลงทุนรายใหญ่” และ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศที่ผู้ออกหลักทรัพย์แสดงหลักฐานต่อสำนักงานได้ว่าการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ดังกล่าวในประเทศไทยได้ดำเนินการภายใต้ข้อผูกพันที่กำหนดและอนุญาตโดยกระทรวงการคลัง โดยให้ผู้ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวปฏิบัติดังนี้

(1) ในกรณีเป็นการเสนอขายพันธบัตร ก่อนการเสนอขายในแต่ละครั้งให้ผู้ออกหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือ ชี้ชวนตามประกาศนี้ เว้นแต่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ว่าด้วยการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้

(2) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ ให้กระทำได้โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานแล้ว แต่ผู้ออกหลักทรัพย์ยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังนี้

(ก) ยื่นเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้ต่อสำนักงานก่อนการเสนอขายหุ้นกู้ในแต่ละครั้ง

1. ร่างข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 42(1) ถึง (9)

2. แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามประกาศนี้ เว้นแต่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้

(ข) เสนอขายหุ้นกู้ให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง

ข้อ 4 ในกรณีที่มีบุคคลใดแสดงความประสงค์ต่อผู้ออกหลักทรัพย์ที่จะลงทะเบียนการโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ให้ผู้ออกหลักทรัพย์ตรวจสอบความถูกต้องของการโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้ หากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนที่ได้จดไว้กับสำนักงาน ผู้ออกหลักทรัพย์ต้องไม่ลงทะเบียน การโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้น เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก

ในกรณีที่ผู้ออกหลักทรัพย์จัดให้มีนายทะเบียนหลักทรัพย์ ผู้ออกหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้นายทะเบียนหลักทรัพย์ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 5 ก่อนการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ตามประกาศนี้ในแต่ละครั้ง ให้ผู้ออกหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือ ชี้ชวนต่อสำนักงานจำนวนสามชุด โดยแบบแสดงรายการข้อมูลต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามข้อ 6

(1) มีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 69(1) ถึง (10) และมาตรา 70(1) ถึง (8)

(2) มีข้อความดังต่อไปนี้แสดงไว้อย่างชัดเจนในหน้าแรกของแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

“ข้อมูลที่เปิดเผยตามแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนเป็นข้อมูลที่ผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้เปิดเผยตามที่เห็นว่าเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนซึ่งมีข้อมูลอย่างน้อยตามหัวข้อที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย โดยในกรณีที่ข้อมูลที่เปิดเผยไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวนมีข้อความหรือรายการที่เป็นเท็จ หรือขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญ ผู้ถือหลักทรัพย์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เสนอขายหลักทรัพย์ได้ตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

การมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมิได้เป็นการแสดงว่ากระทรวงการคลัง คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับรองฐานะของผู้ออกหลักทรัพย์ หรือความถูกต้องของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และในหนังสือชี้ชวนดังกล่าว และมิได้แสดงว่ากระทรวงการคลัง คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ประกันราคาของหลักทรัพย์ที่เสนอขายนั้น”

(3) มีข้อมูลที่แสดงถึงฐานะทางการเงินของผู้ออกหลักทรัพย์ลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) งบการเงินซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) หรือ Financial Accounting Standards (FAS) หรือ United States Generally Accepted Accounting Principles (US GAAP) หรือมาตรฐานการบัญชีอื่นที่สำนักงานยอมรับ ในกรณีที่งบการเงินไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว ให้ผู้ออกหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่แตกต่างกันของมาตรฐานการบัญชีตามที่สำนักงานกำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลที่เปิดเผยไม่ด้อยกว่ามาตรฐานการบัญชีที่สำนักงานยอมรับ

(ข) ข้อมูลทางเศรษฐกิจการเงินและการคลังของประเทศ (เฉพาะกรณีที่ผู้ออกหลักทรัพย์เป็นรัฐบาลต่างประเทศ) ห้าปีล่าสุด ก่อนวันยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน โดยอย่างน้อยต้องแสดงถึงรายได้ประชาชาติ ดุลการค้า ดุลบริการ ข้อมูลการนำเข้าและส่งออก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ภาระหนี้สินในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งประมาณการการชำระหนี้ต่างประเทศอย่างน้อยห้าปี เริ่มในปีที่ผู้ออกหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน

ในกรณีที่ผู้ออกหลักทรัพย์เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการออกเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทยตามประกาศนี้ ต้องมีข้อมูลตามวรรคหนึ่งของบุคคลที่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกหลักทรัพย์หรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของผู้ออกหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญด้วย

(4) มีข้อมูลถูกต้องและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนทราบลักษณะและเงื่อนไขของพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่เสนอขาย แหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาชำระคืนหนี้ตามพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรหรือหุ้นกู้ หรือของผู้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ หรือผู้ค้ำประกันการชำระหนี้เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหลักทรัพย์ ซึ่งต้องเป็นการจัดอันดับโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน รวมทั้งโอกาสและความเสี่ยง ของผู้ถือตราสารในการได้รับชำระคืนหนี้

(5) มีข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและสถานที่ทำการของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากผู้ออกหลักทรัพย์ให้เป็นตัวแทนของผู้ออกหลักทรัพย์ในประเทศไทยในการรับหนังสือ คำสั่ง หมายเรียก หรือเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ในประเทศไทย

(6) มีลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามผูกพันผู้ออกหลักทรัพย์เพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

ข้อ 6 ในกรณีที่ผู้ออกหลักทรัพย์ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับตั้งแต่ investment grade ขึ้นไป และผู้ออกหลักทรัพย์ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานตามข้อ 5 แล้ว การเสนอขายครั้งต่อไปที่กระทำภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ ผู้ออกหลักทรัพย์นั้นยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนดังกล่าวต่อสำนักงาน ผู้ออกหลักทรัพย์อาจยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนซึ่งแสดงเฉพาะข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงจากแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามข้อ 5 ที่ยื่นไว้ต่อสำนักงานก็ได้

ข้อ 7 นอกจากการยื่นข้อมูลในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์แล้ว ให้ผู้ออกหลักทรัพย์ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน พร้อมทั้ง คำแปล (ถ้ามี) ต่อสำนักงานในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลตามแนวทางที่สำนักงานกำหนดด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลที่ยื่นต่อสำนักงาน ทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์และรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีข้อความถูกต้องตรงกัน

ข้อ 8 ภายใต้บังคับมาตรา 75 เมื่อผู้ออกหลักทรัพย์ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน และได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนดแล้ว ให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือ ชี้ชวนที่ยื่นตามข้อ 5 มีผลใช้บังคับดังต่อไปนี้

(1) เมื่อพ้นกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน สำหรับกรณีทั่วไป

(2) เมื่อพ้นกำหนดเวลาสามวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน สำหรับกรณีที่ผู้ออกหลักทรัพย์มีสถานะเป็นรัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือกรณีเป็นการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยมีการจดข้อจำกัดการโอนให้จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนดังกล่าว

ข้อ 9 ภายหลังการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ให้ผู้ออกหลักทรัพย์มีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานต่อสำนักงาน ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีเป็นการเสนอขายพันธบัตร ให้ผู้ออกหลักทรัพย์ปฏิบัติตามข้อผูกพันที่กำหนดและอนุญาตโดยกระทรวงการคลัง

(2) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ ให้ผู้ออกหลักทรัพย์ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดตามความในมาตรา 56

ข้อ 10 ผู้ออกหลักทรัพย์อาจเลือกจัดทำเอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นต่อสำนักงานตามประกาศนี้เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมคำแปลภาษาไทยที่มีการรับรองความถูกต้องของคำแปลไว้ด้วย เว้นแต่กรณีเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ไม่ต้องแปลเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานเป็นภาษาไทย

ข้อ 11 ในกรณีที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ ซึ่งได้ยื่นไว้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2549 เรื่อง การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศ ในประเทศไทย ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2549 ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้แบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้บังคับประกาศฉบับดังกล่าวต่อไป

ข้อ 12 ให้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้ ยังคงมีผลใช้บังคับภายใต้บังคับประกาศนี้ต่อไปจนกว่าจะได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สย. 37/2549 เรื่อง การให้ความเห็นชอบสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการเสนอขายตราสารหนี้ ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2549

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สจ. 32/2550 เรื่อง รายชื่อผู้ออกพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศที่ได้รับยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ข้อ 13 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย ทั้งนี้

ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ของบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่เสนอ

ขายในวงจำกัดด้วย จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ