การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 13, 2009 14:27 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 12/2552

เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 มาตรา 40(11) มาตรา 41(3) และ (4) มาตรา 42(10) และมาตรา 43(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) คำว่า “หุ้นกู้อนุพันธ์” “ผู้ลงทุนสถาบัน” “ผู้ลงทุนรายใหญ่” “บริษัทจดทะเบียน” “บริษัทย่อย” “ผู้บริหาร” “ผู้มีอำนาจ ควบคุม” “บุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง” และ “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท

(2) “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

(3) “หุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้น” หมายความว่า หุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันที่ออกหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น

(4) “ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์และผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์

(5) “สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” หมายความว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยที่ได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนกับสำนักงาน

(6) “ตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน” หมายความว่า ตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

(7) “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” หมายความว่า หุ้นกู้ไม่มีประกันที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ไว้ด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไป

ข้อ 3 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีประกาศใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายโดยอยู่ภายใต้บังคับของประกาศดังต่อไปนี้

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายหุ้นกู้ต่างประเทศต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายพันธบัตรต่างประเทศหรือหุ้นกู้ต่างประเทศในประเทศไทย

ข้อ 4 ผู้ใดประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ในกรณีทั่วไป ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวด 1

(2) การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ในวงจำกัด ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวด 2 การขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้แปลงสภาพรวมอยู่ด้วย ให้การขออนุญาตและการอนุญาตอยู่ภายใต้บังคับของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกใหม่ด้วย

ข้อ 5 บริษัทที่มีสถานะดังต่อไปนี้จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามประกาศนี้ ก็ต่อเมื่อบริษัทดังกล่าวปฏิบัติตาม หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้

(1) บริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือ

(2) ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งมีสาขาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์เป็นสาขาเต็มรูปแบบในประเทศไทย โดยธนาคารต่างประเทศดังกล่าวมีความรับผิดต่อเจ้าหนี้ในการชำระหนี้อย่างเต็มจำนวนจากทรัพย์สินของตนในกรณีที่บริษัทประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีปัจจัยอ้างอิงเป็นราคาทองคำ ดัชนีราคาทองคำ หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริษัทดังกล่าวต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับอนุพันธ์ที่มีปัจจัยอ้างอิงเป็นราคาหรือดัชนีราคาทองคำ หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แล้วแต่กรณี

ข้อ 6 หุ้นกู้อนุพันธ์ที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามหมวด 1 และหมวด 2 ต้องมีปัจจัยอ้างอิงใดปัจจัยอ้างอิงหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ราคาหรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์ไทย กลุ่มหลักทรัพย์ไทย หรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ไทย

(2) ราคาหรือผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ต่างประเทศดังกล่าว เฉพาะกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่

(3) กระแสรายรับหรือรายจ่าย

(4) ราคาสินค้าหรือดัชนีราคาสินค้า

(5) ราคาทองคำหรือดัชนีราคาทองคำ

(6) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

(7) อันดับความน่าเชื่อถือ หรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารหนี้ พันธบัตร หรือตราสารแห่งหนี้อื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรืออันดับความน่าเชื่อถือ หรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารดังกล่าวหรือของลูกหนี้ของผู้ขออนุญาต

(8) ปัจจัยอ้างอิงอื่นใดที่สำนักงานประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ข้อ 7 ในการพิจารณาว่าคำขออนุญาตใดมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศนี้หรือไม่ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่า ความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์นั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ตามคำขออนุญาตได้ ทั้งนี้ สำนักงานต้องแจ้งให้ผู้ขออนุญาตทราบถึงเหตุผลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน

(2) ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณาคำขออนุญาต หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาตได้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยก็ได้

(ก) ประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนของผู้ขออนุญาตในการปฏิบัติ และมีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น

(ข) ผู้ขออนุญาตมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(ค) ผู้ขออนุญาตมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

ข้อ 8 เอกสารหรือหลักฐานที่ต้องยื่นต่อสำนักงานตามที่ประกาศนี้กำหนด ไม่ว่าก่อนหรือภายหลังได้รับอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด

หมวด 1

การเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ในกรณีทั่วไป

_________________________

ส่วนที่ 1

หลักเกณฑ์การอนุญาต

_________________________

ข้อ 9 ให้บริษัทที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานตามข้อ 8 และชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทผู้ยื่นคำขอเป็นธนาคารต่างประเทศ ให้สำนักงานสาขาเป็นผู้ดำเนินการยื่นคำขอได้

ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้น บริษัทดังกล่าวต้องยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงต่อสำนักงานตามข้อ 8 และชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ในวันที่ยื่นคำขอ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดลักษณะของหุ้นอ้างอิงที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นคำขอตรวจสอบดังกล่าวต่อสำนักงานไว้ด้วยก็ได้

ข้อ 10 ในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องไปเยี่ยมชมกิจการ หรือสถานที่อื่นใดของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อยซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล ผู้ขออนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเช่าที่พักและค่าพาหนะเดินทางที่เกิดขึ้นจากการเยี่ยมชมกิจการ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 11 ในการพิจารณาคำขอ ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอมาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มาชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอ ไม่ประสงค์จะขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้นอีกต่อไป

ข้อ 12 ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามหมวดนี้ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี ที่ออกตามงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวมประจำงวดการบัญชีปีล่าสุด และงบการเงินไตรมาสสุดท้ายก่อนยื่นคำขอ ต้องไม่มีความหมายในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงินของผู้ขออนุญาตและงบการเงินรวม หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง

(ข) แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ใช้บังคับกับบริษัทมหาชนจำกัด

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นธนาคารต่างประเทศตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง (2) รายงานการสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีต้องไม่แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี หรือ International Financial Reporting Standards (IFRS) หรือ Financial Accounting Standards (FAS) หรือ United States Generally Accepted Accounting Principle (US GAAP) หรือมาตรฐานการบัญชีอื่นที่สำนักงานยอมรับ

(ค) แสดงความเห็นว่าถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยการกระทำหรือไม่กระทำของผู้ขออนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหาร

(2) ไม่อยู่ระหว่างค้างการนำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทต่อสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาตรา 56 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 แล้วแต่กรณี หรือไม่อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขงบการเงินหรือ รายงานที่มีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดส่งตามมาตรา 56 หรือมาตรา 57 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 56 หรือมาตรา 57 ตามที่สำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขนั้นหรือไม่อยู่ระหว่างการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของสำนักงานหรือตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยตามมาตรา 58 หรือมาตรา 199 ประกอบมาตรา 58 แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(3) มีกรรมการและผู้บริหารที่มีรายชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ตามประกาศที่เกี่ยวกับข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์

ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นธนาคารต่างประเทศตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง (2) ผู้ขออนุญาตต้องมีกรรมการหรือผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งในสาขาในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง

(4) มีผู้มีอำนาจควบคุมที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศที่เกี่ยวกับข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์โดยอนุโลม

(5) ไม่เคยเสนอขายหลักทรัพย์โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศที่เกี่ยวข้องที่ใช้บังคับตามแต่กรณี

(6) เป็นผู้ได้รับอนุญาตหรือได้รับการขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 แต่ถ้าผู้ขออนุญาตมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตหรือมิใช่ผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ผู้ขออนุญาตจะต้องมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) มีกระแสรายรับหรือรายจ่ายเกิดจากธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอ้างอิงของหุ้นกู้อนุพันธ์

(ข) มีธุรกิจหลักที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าหรือดัชนีราคาสินค้าซึ่งจะเป็นปัจจัยอ้างอิงของหุ้นกู้อนุพันธ์

(ค) ยื่นหนังสือต่อสำนักงานเพื่อยืนยันว่าก่อนดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ ผู้ขออนุญาตจะมีฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กับผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้าพ.ศ. 2546 เพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์

ข้อ 13 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาลักษณะของผู้ขออนุญาตตามข้อ 12 ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน

ข้อ 14 ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 12(4) หรือ (5) ในการแจ้งผลการขาดลักษณะดังกล่าวของผู้ขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการพิจารณาคำขอในคราวต่อไป โดยคำนึงถึงความมีนัยสำคัญของพฤติกรรมอันเป็น ลักษณะต้องห้าม หรือการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์เป็นรายกรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการกำหนดระยะเวลา ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินสิบห้าปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวต่อผู้ขออนุญาต เมื่อพ้นระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อผู้ขออนุญาตได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนดแล้ว มิให้สำนักงานนำข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการสั่งการตามวรรคหนึ่งมาประกอบการพิจารณาคำขอในครั้งใหม่อีกในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าเหตุที่ทำให้ผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 12(4) หรือ (5) เป็นเรื่องไม่ร้ายแรง หรือได้มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการป้องกันแล้ว สำนักงานอาจไม่นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขาดลักษณะดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาก็ได้

ข้อ 15 ภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลการอนุญาตว่าผู้ขออนุญาตเป็นผู้ที่มีลักษณะตามข้อ 12 ผู้ขออนุญาตดังกล่าวจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ได้ทุกลักษณะโดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขายต่อเมื่อ

(1) กรณีทั่วไป ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ในแต่ละครั้ง เมื่อผู้ขออนุญาตได้ยื่นเอกสารหลักฐานตามข้อ 8 ที่แสดงถึงลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จะเสนอขาย รวมทั้งที่แสดงถึงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมตามส่วนที่ 2 ของหมวดนี้แล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์สำหรับครั้งนั้นในวันที่มีการยื่นเอกสารหลักฐานดังกล่าวถูกต้องครบถ้วน เว้นแต่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้น หากผู้ขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นที่มีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 2 ของหมวดนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นนั้น และให้ผู้ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวรายงานลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นนั้นต่อสำนักงานตามข้อ 8

(2) กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ต้องมีการตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงด้วย นอกจากการปฏิบัติตาม (1) แล้ว ผู้ขออนุญาตต้องยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงตามข้อ 9 วรรคสอง และให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวในวันที่สำนักงานได้แจ้งยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิง ในกรณีที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าได้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวด้วย

ความในข้อนี้มิให้นำมาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นที่ผู้ขออนุญาตแสดงความประสงค์ที่จะจำกัดมูลค่าการเสนอขายตามข้อ 16

ข้อ 16 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตแสดงความประสงค์ไว้ตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอว่าจะทำการเสนอขายเฉพาะหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นในลักษณะที่จำกัดมูลค่าการเสนอขายโดยเมื่อรวมกับมูลค่าหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายในลักษณะดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว ไม่เกินระยะเวลาและมูลค่าตามที่สำนักงานประกาศกำหนด หากผู้ขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นที่มีลักษณะและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 2 ของหมวดนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นนั้น และให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จากสำนักงานในวันเดียวกัน ทั้งนี้ ให้ผู้ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวรายงานลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นนั้นต่อสำนักงานตามข้อ 8 กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นที่ต้องมีการตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงด้วย นอกจากการปฏิบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงตามข้อ 9 วรรคสอง และให้ถือว่าได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวในวันที่สำนักงานได้แจ้งยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิง

ให้ผู้ขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งผลอนุญาตว่าผู้ขออนุญาตเป็นผู้ที่มีลักษณะตามข้อ 12

ข้อ 17 ระหว่างระยะเวลาตามข้อ 15 หรือข้อ 16 หากปรากฏต่อมาในภายหลังว่าผู้ขออนุญาตมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 12 ผู้ขออนุญาตจะดำเนินการตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง หรือข้อ 16 วรรคสาม ไม่ได้ และให้ผู้ขออนุญาตแจ้งกรณีเช่นนั้นต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตได้แก้ไขกรณีนั้นได้ก่อนสิ้นระยะเวลาตามข้อ 15 หรือข้อ 16 ให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง หรือข้อ 16 วรรคสามต่อไปได้ ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตจงใจหรือเพิกเฉยไม่แจ้งการมีลักษณะไม่เป็นไปตามข้อ 12 ต่อสำนักงาน ผู้ขออนุญาตไม่สามารถที่จะดำเนินการตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง หรือข้อ 16 วรรคสามได้อีกต่อไป แม้จะได้แก้ไขกรณีนั้นได้ก่อนสิ้นระยะเวลาตามข้อ 15 หรือข้อ 16 แล้วก็ตาม

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์การอนุญาตเพิ่มเติม

_________________

ข้อ 18 ในการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการจัดให้หุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกและเสนอขายมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) มีคำเรียกชื่อเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงถึงหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ คำเรียกชื่อหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวต้องแสดงถึงปีที่ครบกำหนดไถ่ถอน และลักษณะพิเศษของหุ้นกู้อนุพันธ์ (ถ้ามี) ไว้โดยชัดเจน

(2) มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้น

ข้อ 19 ในกรณีหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวต้องด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญเฉพาะในเรื่องการรับชำระหนี้ตามหุ้นกู้อนุพันธ์นั้นเมื่อเกิดกรณีดังต่อไปนี้

(1) ผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย

(2) มีการชำระบัญชีเพื่อการเลิกบริษัท หรือ

(3) กรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 20 ในกรณีหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท (perpetual bond) ต้องมีการระบุให้ชัดเจนถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ไถ่ถอนหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวก่อนมีการเลิกบริษัท

(2) ผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์มีสิทธิเรียกให้ผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ไถ่ถอนหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวก่อนมีการเลิกบริษัทตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ข้อ 21 ในกรณีหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้มีประกันไม่ว่าหลักประกันของหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น จะได้จัดให้มีพร้อมกับการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์หรือจัดเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง หลักประกันของหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวต้องมีลักษณะดังนี้

(1) เป็นทรัพย์สินหรือการค้ำประกันที่มีการดำเนินการให้มีผลบังคับได้ตามกฎหมายโดยคำนึงถึงสภาพของหลักประกันแต่ละประเภท สามารถดำรงได้ตลอดอายุหุ้นกู้อนุพันธ์ และดูแลได้โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(2) ในกรณีที่หลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสัญญาเช่าระยะยาว ผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ต้องจัดให้มีการประเมินค่าของหลักประกันดังกล่าวโดยผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ การประเมินราคาหรือการคำนวณมูลค่าของหลักประกันต้องคำนึงถึงสิทธิและภาระผูกพันใด ๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยบทกฎหมายหรือโดยสัญญาที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นด้วย และต้องจัดทำขึ้นไม่เกินกว่าหนึ่งปีก่อนวันที่ออกหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ราคาหรือมูลค่าของหลักประกันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์จัดให้มีการประเมินค่าหลักประกันดังกล่าวใหม่

ข้อ 22 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้น ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงนั้นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความเป็นธรรมและระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดลักษณะของหุ้นที่จะนำมาใช้เป็นปัจจัยอ้างอิงสำหรับการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้นได้

สำนักงานสามารถผ่อนผันข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงตามข้อนี้ได้ เมื่อไม่มีเหตุให้สงสัยว่าการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ขออนุญาตจะมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) หุ้นกู้อนุพันธ์ที่ขออนุญาตมีข้อกำหนดให้มีการชำระหนี้ทั้งหมดโดยการส่งมอบเป็นหุ้นอ้างอิงหรือชำระเป็นเงินเท่านั้น แต่ทั้งนี้ ในกรณีที่จะชำระเป็นเงิน มูลค่าที่ต้องชำระต้องไม่อ้างอิงกับหุ้นอ้างอิงดังกล่าว และ

(2) ผู้ได้รับอนุญาตแสดงได้ว่ามีหุ้นอ้างอิงในจำนวนที่เพียงพอสำหรับส่งมอบเพื่อชำระหนี้ตามหุ้นกู้อนุพันธ์ และมีกลไกในการดูแลรักษาหุ้นอ้างอิงดังกล่าว โดยกลไกนั้นจะต้องสามารถป้องกันมิให้มีการนำหุ้นอ้างอิงไปใช้เพื่อการอื่นได้

ข้อ 23 หุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายต้องมีมูลค่าไถ่ถอนรวมของหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละแปดสิบของมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันเป็นการเฉพาะจากสำนักงาน

ข้อ 24 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

(2) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้อนุพันธ์ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้อนุพันธ์ หรือ

(3) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ได้รับอนุญาต เฉพาะในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นที่ไม่ใช่หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานว่าไม่สามารถทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้อนุพันธ์นั้นได้โดยมีเหตุอันสมควร และเหตุนั้นมิได้เกิดจากผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ สำนักงานอาจผ่อนผันให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น กระทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นที่สำนักงานกำหนดได้

(2) กรณีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยมีเหตุจำเป็นและสมควร หรือเป็นกรณีที่พิจารณาได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ส่วนที่ 3

เงื่อนไขการอนุญาต

_________________

ข้อ 25 ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เป็นไปตามข้อ 24 อย่างต่อเนื่องจนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้อนุพันธ์จะระงับลง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้อนุพันธ์ โดยกำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ลงทุนในการมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น

ข้อ 26 ผู้ได้รับอนุญาตต้องยื่นคำขอให้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยพิจารณารับหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกและเสนอขายเป็นตราสารหนี้ขึ้นทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันออกหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าว

ข้อ 27 ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ ผู้ได้รับอนุญาตต้องมีหนังสือถึงสำนักงาน เพื่อรับรองว่าได้จัดให้มีข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีความชัดเจนและไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาอย่างไม่เป็นธรรม และมีการลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามผูกพันผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์และประทับตราสำคัญของผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ (ถ้ามี) ทั้งนี้ รายการและสาระสำคัญของข้อกำหนดสิทธิสำหรับหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาตตามหมวดนี้ ให้เป็นไปตามแนวทางของข้อกำหนดสิทธิตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 28 ในกรณีหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้สัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดสิทธิ โดยอย่างน้อยต้องมีรายการและสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) ชื่อและที่อยู่ของคู่สัญญา

(2) วันที่สัญญามีผลใช้บังคับ

(3) อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญา โดยมีข้อตกลงที่ระบุให้ผู้ได้รับอนุญาตและผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดตามข้อกำหนดสิทธิทุกประการ

(4) อัตราและวิธีการจ่ายค่าตอบแทน หรือบำเหน็จในการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งต้องกำหนดไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน รวมทั้งอัตราและวิธีการจ่ายคืนเงินทดรองซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้จ่ายไปเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามข้อกำหนดภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(5) การสิ้นสุดของสัญญา

ข้อ 29 ในกรณีการออกหุ้นกู้อนุพันธ์มีประกันโดยหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เป็นผู้รับทรัพย์สินนั้นเป็นประกันตามกฎหมายด้วย

ข้อ 30 ในการเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ภายหลังการออกหุ้นกู้อนุพันธ์ ให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งเอกสารต่อสำนักงานตามข้อ 8 เมื่อผู้ได้รับอนุญาตได้ส่งเอกสารตามวรรคหนึ่งต่อสำนักงานครบถ้วนแล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้โดยถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้ว และให้ผู้ได้รับอนุญาตส่งสำเนาสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้นั้น

ข้อ 31 การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิ หน้าที่ ความรับผิด หรือหลักประกันตามหุ้นกู้อนุพันธ์ภายหลังการออกหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมิได้ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดของหมวดนี้และการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวได้ดำเนินการโดยชอบตามข้อกำหนดสิทธิ โดยผู้ได้รับอนุญาตต้องแจ้งการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวพร้อมทั้งส่งสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานและสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่การแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลใช้บังคับ

ในกรณีที่การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิซึ่งได้กำหนดให้กระทำได้โดยการมีมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์ หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์ต้องระบุอย่างชัดเจนถึงสาเหตุแห่งการแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดสิทธิ และผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือ อาจเกิดขึ้นกับผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์

หมวด 2

การเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ในวงจำกัด

____________________

ส่วนที่ 1

หลักเกณฑ์การอนุญาต

____________________

ข้อ 32 การเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ในวงจำกัดต้องมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ แต่ไม่รวมถึงการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่ได้จดข้อจำกัดการโอนไว้ไม่เกินสิบราย ในรอบระยะเวลาสี่เดือนใด ๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการเสนอขายตาม (2)

(2) เสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงซึ่งมีจำนวนไม่เกินสิบราย ในรอบระยะเวลาสี่เดือนใด ๆ

ในกรณีที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ผู้รับฝากทรัพย์สิน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ค้าหลักทรัพย์หรือบุคคลอื่นใด มีการถือครองหุ้นกู้อนุพันธ์แทนบุคคลอื่น การนับจำนวนผู้ลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้นับจากบุคคลที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงของหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น

(3) เสนอขายต่อบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทอยู่แล้วก่อนการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ เพื่อประโยชน์ในการปรับโครงสร้างหนี้

(4) เสนอขายโดยได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน โดยผู้ที่จะได้รับอนุญาตต้องแสดงได้ว่า

(ก) มีเหตุจำเป็นและสมควร

(ข) การเสนอขายดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง และ

(ค) มีมาตรการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนอย่างเพียงพอแล้ว

ข้อ 33 ในกรณีเป็นการขอผ่อนผันเพื่อเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามข้อ 32(4) ผู้ที่จะขอผ่อนผันต้องแสดงได้ถึงเหตุจำเป็นและสมควรของกรณีดังกล่าว การไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในวงกว้าง และการมีมาตรการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ และสำนักงานอาจผ่อนผันมิให้นำหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวก็ได้เท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและเพียงพอของมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุน

ข้อ 34 ให้บริษัทตามข้อ 5 สามารถเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ทั้งจำนวนต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นหรือรับรองโดยกฎหมายต่างประเทศ หรือเป็นการเสนอขายตามข้อ 32(2)(3) หรือ (4) ได้ โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้น เมื่อได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ และให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 2 ของหมวดนี้ด้วย ทั้งนี้ ให้บริษัทดังกล่าวรายงานลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์นั้นต่อสำนักงานตามข้อ 8

(1) จดข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จะเสนอขายกับสำนักงานซึ่งแสดงข้อความว่าผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์จะไม่รับจดทะเบียนการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่ว่าทอดใด ๆ หากการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวจะทำให้หุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายในครั้งนั้นไม่สามารถคงลักษณะการเสนอขายทั้งจำนวนต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นหรือรับรองโดยกฎหมายต่างประเทศ หรือการเสนอขายตามข้อ 32(2) (3) หรือ (4) แล้วแต่กรณี เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก ทั้งนี้ ให้ถือว่าสำนักงานรับจดข้อจำกัดการโอนดังกล่าวในวันที่สำนักงานได้รับการแสดงเจตนาจดข้อจำกัดการโอนที่มีข้อความดังกล่าวแล้ว

(2) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกันหรือหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้บริษัทเสนอร่างข้อกำหนดสิทธิและร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มาพร้อมกับการจดข้อจำกัดการโอนตาม (1)

ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ต้องมีการตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิง ให้นำความในวรรคสองของข้อ 9 มาใช้บังคับ และให้ถือว่าวันที่สำนักงานแจ้งยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงเป็นวันอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าว

ข้อ 35 ในกรณีที่บริษัทตามข้อ 5 ประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 32(1) บริษัทนั้นต้องยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานตามข้อ 8 และชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการอนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ และให้นำความในวรรคสองของข้อ 9 มาใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้น ทั้งนี้ บริษัทจะได้รับอนุญาตต่อเมื่อ

(1) มีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 12(6) และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 22 ด้วย

(2) จดข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จะเสนอขายกับสำนักงาน ซึ่งแสดงข้อความว่าผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์จะไม่รับจดทะเบียนการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่ว่าทอดใด ๆ หากการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวจะทำให้หุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายในครั้งนั้นไม่สามารถคงลักษณะการเสนอขายไว้ในกลุ่ม ผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 32(1) เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก ทั้งนี้ ให้ถือว่าสำนักงานรับจดข้อจำกัดการโอนดังกล่าวในวันที่สำนักงานได้รับการแสดงเจตนาขอจดข้อจำกัดการโอนที่มีข้อความดังกล่าวแล้ว

ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกันหรือเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เมื่อสำนักงานได้อนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จากสำนักงานในวันเดียวกันด้วย

ข้อ 36 ในการพิจารณาคำขออนุญาตที่ยื่นตามข้อ 35 ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอมาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มาชี้แจง หรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอไม่ประสงค์จะขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่นั้นอีกต่อไปในกรณีที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องไปเยี่ยมชมกิจการ หรือสถานที่อื่นใดของผู้ขออนุญาตหรือบริษัทย่อยซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานครหรือปริมณฑล ผู้ขออนุญาตต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเช่าที่พักและค่าพาหนะเดินทางที่เกิดขึ้นจากการเยี่ยมชมกิจการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 37 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตที่ยื่นตามข้อ 35 ภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วน

ข้อ 38 ให้ผู้ได้รับอนุญาตที่ยื่นคำขอตามข้อ 35 รายงานลักษณะของหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น ต่อสำนักงานตามข้อ 8 และมีสิทธิเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้น ให้เสนอขายได้โดยไม่จำกัดมูลค่าและจำนวนครั้งที่เสนอขายภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอนุญาต

(2) การเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์อื่นที่มิใช่หุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้น ให้เสนอขายในแต่ละครั้งให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอนุญาต

ส่วนที่ 2

เงื่อนไขการอนุญาต

______________________

ข้อ 39 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ทั้งจำนวนต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นหรือรับรองโดยกฎหมายต่างประเทศ หรือเป็นการเสนอขายตามข้อ 32(2) (3) หรือ (4) ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้ได้มาซึ่งมติโดยชัดแจ้งจากคณะกรรมการบริษัทให้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ได้ ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น เว้นแต่ผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ต้องได้รับมติให้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

ความใน (1) มิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทต้องออกหุ้นกู้ตามแผนฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแผนนั้นแล้ว หรือกรณีอื่นใดที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้น ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 22

(3) ในกรณีหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้มีประกัน หรือเป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ข้อ 40 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 32(1) ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ในแต่ละครั้ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ โดยสถาบัน จัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง

(2) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้อนุพันธ์ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้อนุพันธ์ หรือ

(3) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ได้รับอนุญาต แต่ไม่รวมถึงกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีลักษณะของหุ้นกู้ด้อยสิทธิรวมอยู่ด้วย ให้นำข้อกำหนดเกี่ยวกับการผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามที่กำหนดในวรรคสองของข้อ 24 และการจัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องตามข้อ 25 มาใช้บังคับกับกรณีตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 41 ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้หุ้นกู้อนุพันธ์ที่จะออกและเสนอขายมีลักษณะดังนี้

(ก) เป็นหุ้นกู้อนุพันธ์ชนิดระบุชื่อผู้ถือ และต้องมีข้อความในใบหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายแต่ละครั้งแสดงว่าผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์จะไม่รับจดทะเบียนการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่ว่าในทอดใด ๆ หากการโอนนั้นจะขัดกับข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ตามที่ระบุไว้ ซึ่งต้องเป็นข้อจำกัดการโอนเดียวกับที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน

(ข) มีลักษณะเป็นไปตามข้อ 18(1)

(ค) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 19 และข้อ 20 กรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ด้อยสิทธิหรือหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกบริษัท (perpetual bond) แล้วแต่กรณี

(ง) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 32(1) ต้องจัดให้มีข้อกำหนดสิทธิที่มีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42(1) ถึง (9) และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 31 วรรคหนึ่ง

(2) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ในวงจำกัดตามข้อ 32(2) (3) หรือ (4) ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่โฆษณาการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ และหากจะมีการแจกจ่ายเอกสารประกอบการเสนอขาย ผู้ได้รับอนุญาตต้องแจกจ่ายให้เฉพาะบุคคลที่มีลักษณะหรือมีจำนวนอยู่ภายใน ขอบเขตที่กำหนดไว้ในข้อ 32(2) (3) หรือ (4) ตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

(3) จัดให้เอกสารประกอบการเสนอขาย (ถ้ามี) มีข้อความที่ระบุถึงข้อจำกัดการโอนตาม (1)(ก) และในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ให้ระบุการด้อยสิทธินั้นไว้ให้ชัดเจน

(4) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ต่อผู้ลงทุนสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ตามข้อ 32(1) ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการยื่นคำขอต่อสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 26 ด้วย

ข้อ 42 ในกรณีที่มีบุคคลใดแสดงความประสงค์ต่อผู้ได้รับอนุญาตที่จะลงทะเบียนการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ ให้ผู้ได้รับอนุญาตตรวจสอบความถูกต้องของการโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ หากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน ผู้ได้รับอนุญาตต้องไม่ลงทะเบียน การโอนหุ้นกู้อนุพันธ์ เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก

ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตจัดให้มีนายทะเบียนหุ้นกู้ ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้นายทะเบียนหุ้นกู้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

หมวด 3

บทเฉพาะกาล

______________

ข้อ 43 คำขออนุญาตที่ได้ยื่นต่อสำนักงานพร้อมเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กย. 31/2549 เรื่อง การขออนุญาต และการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้การขออนุญาตและการอนุญาตยังคงเป็นไปตามประกาศดังกล่าวและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ 44 ให้หุ้นกู้อนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กย. 31/2549 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ยังคงอยู่ภายใต้บังคับของประกาศดังกล่าวและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ 45 ให้หุ้นกู้อนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2546 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ยังคงอยู่ภายใต้บังคับของประกาศดังกล่าวและประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข้อ 46 ให้ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ดังต่อไปนี้ ยังคงมีผลใช้บังคับภายใต้ประกาศนี้จนกว่าจะได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

(1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สจ. 35/2545 เรื่อง ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ ลงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2545

(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สจ. 30/2546 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการขอตรวจสอบ และการยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิง และการจัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับการใช้หุ้นอ้างอิง ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546

(3) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สย. 37/2549 เรื่อง การให้ความเห็นชอบสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการเสนอขายตราสารหนี้ ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2549

ข้อ 47 การเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ระยะสั้นตามข้อ 16 ให้มีระยะเวลาและมูลค่าการเสนอขายตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สย. 20/2550 เรื่อง การกำหนดมูลค่าและระยะเวลาการเสนอขายหุ้นกู้ระยะสั้นหรือตั๋วเงินระยะสั้น ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อ 16 จนกว่าจะได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ประกาศ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ และเพื่อให้ตลาดตราสารหนี้ไทยมีการ

พัฒนาและขยายตัวมากขึ้น จึงได้ทำการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวด้วย อันจะช่วยให้ภาคเอกชน

สามารถออกหุ้นกู้ในลักษณะดังกล่าวได้สะดวกขึ้น รวมทั้งจัดกลุ่มประเภทผู้ลงทุนในวงจำกัดขึ้นใหม่ โดยให้รวมถึงการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์

ต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการจัดกลุ่มตามมาตรฐานสากล จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ