ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กจ. 5/2552
เรื่อง การกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับ
การออกและเสนอขายตราสารหนี้ทุกประเภท
______________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 11/2551 เรื่อง การกำหนดนิยามผู้ที่เกี่ยวข้องตามประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551
ข้อ 2 เว้นแต่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น ให้ใช้บทนิยามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ในประกาศคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่
(2) การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ออกใหม่
(3) การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(4) การยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้
(5) การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้
(6) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
ข้อ 3 ในประกาศและในแบบท้ายประกาศตามข้อ 2
(1) บทนิยามที่เกี่ยวกับประเภทตราสาร
(ก) “ตราสารหนี้” หมายความว่า พันธบัตร หุ้นกู้ หรือตั๋วเงิน
(ข) “หลักทรัพย์แปลงสภาพ” หมายความว่า หุ้นกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้อนุพันธ์
(ค) “หุ้นกู้ระยะสั้น” หมายความว่า หุ้นกู้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันที่ออกหุ้นกู้ แต่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพ
(ง) “หุ้นกู้อนุพันธ์” หมายความว่า หุ้นกู้ที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชำระหนี้ตามหุ้นกู้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
1. มูลค่าผลตอบแทนที่ชำระขึ้นอยู่กับปัจจัยอ้างอิงที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งปัจจัยอ้างอิงดังกล่าวไม่ใช่อัตราดอกเบี้ย
2. มูลค่าต้นเงินทั้งหมดหรือบางส่วนที่ไถ่ถอนขึ้นอยู่กับปัจจัยอ้างอิงที่กำหนดไว้ล่วงหน้า หรือ
3. ให้สิทธิผู้ออกในการไถ่ถอนต้นเงินหรือจ่ายผลตอบแทน หรือให้สิทธิผู้ถือในการได้รับชำระคืนต้นเงินหรือผลตอบแทน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นหลักทรัพย์ซึ่งมิใช่หุ้นที่ออกใหม่โดยผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์หรือทรัพย์สินอื่น
(จ) “ตั๋วเงิน” หมายความว่า ตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะของตั๋วเงินที่เป็นหลักทรัพย์
(ฉ) “ตั๋วเงินระยะสั้น” หมายความว่า ตั๋วเงินที่มีกำหนดเวลาใช้เงินไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันที่ออกตั๋ว หรือตั๋วเงินที่ถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น
(2) บทนิยามที่เกี่ยวกับประเภทผู้ลงทุน
(ก) “ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า
1. ธนาคารพาณิชย์
2. บริษัทเงินทุน
3. บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
4. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
5. บริษัทประกันภัย
6. ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
7. ธนาคารแห่งประเทศไทย
8. สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
9. กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
10. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
11. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
12. กองทุนรวม
13. ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม 1. ถึง 12. โดยอนุโลม
(ข) “ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า
1. บุคคลธรรมดาที่มีทรัพย์สินตั้งแต่สี่สิบล้านบาทขึ้นไป ทั้งนี้ ไม่รวมหนี้สินของบุคคลดังกล่าว
2. นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่สองร้อยล้านบาทขึ้นไป
(3) บทนิยามที่เกี่ยวกับประเภทบุคคล
(ก) “บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ข) “บริษัทใหญ่” หมายความว่า
1. บริษัทที่ถือหุ้นในผู้ออกตราสารหนี้เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกตราสารหนี้
2. บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทตาม 1. เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มี สิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
3. บริษัทที่ถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทตาม 2. โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในแต่ละทอดมีจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
4. บริษัทที่ถือหุ้นในผู้ออกตราสารหนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมรวมกัน เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกตราสารหนี้นั้น
การถือหุ้นของบริษัทตาม 1. หรือ 2. หรือ 3. หรือ 4.ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
(ค) “บริษัทย่อย” หมายความว่า
1. บริษัทที่ผู้ออกตราสารหนี้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
2. บริษัทที่บริษัทตาม 1. ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
3. บริษัทที่ถูกถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากการถือหุ้นของบริษัทตาม 2. ในบริษัทที่ถูกถือหุ้น โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในแต่ละทอดมีจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
4. บริษัทที่ผู้ออกตราสารหนี้หรือบริษัทตาม 1. หรือ 2. หรือ 3. ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
5. บริษัทที่ผู้ออกตราสารหนี้หรือบริษัทตาม 1. หรือ 2. หรือ 3. หรือ 4. มีอำนาจควบคุมในเรื่องการกำหนดนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทนั้น
การถือหุ้นของผู้ออกตราสารหนี้หรือของบริษัทตาม 1. หรือ 2. หรือ 3. หรือ 4. ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
(ง) “บริษัทร่วม” หมายความว่า
1. บริษัทที่ผู้ออกตราสารหนี้หรือบริษัทย่อยถือหุ้นรวมกันตั้งแต่ร้อยละยี่สิบแต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
2. บริษัทที่ผู้ออกตราสารหนี้หรือบริษัทย่อยมีอำนาจในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัท แต่ไม่ถึงระดับที่จะควบคุมนโยบายดังกล่าว และไม่ถือเป็นบริษัทย่อยหรือกิจการร่วมค้า
การถือหุ้นของผู้ออกตราสารหนี้หรือบริษัทย่อยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
(จ) “ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารสี่รายแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารรายที่สี่ทุกราย และให้หมายความรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหารในสายงานบัญชีหรือการเงินที่เป็นระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปหรือเทียบเท่า
(ฉ) “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นในผู้ออกตราสารหนี้เกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ออกตราสารหนี้ การถือหุ้นดังกล่าวให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
(ช) “ผู้มีอำนาจควบคุม” หมายความว่า ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลอื่นซึ่งโดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ หรือการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าอิทธิพลดังกล่าวจะสืบเนื่องจากการเป็นผู้ถือหุ้น หรือได้รับมอบอำนาจตามสัญญา หรือการอื่นใดก็ตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือบุคคลที่เข้าลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
1. บุคคลที่มีสิทธิออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท
2. บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการของบริษัทนั้นได้
3. บุคคลที่ตามพฤติการณ์สามารถควบคุมผู้ซึ่งรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัทให้ปฏิบัติตามคำสั่งของตนในการกำหนดนโยบาย การจัดการหรือการดำเนินงานของบริษัท
4. บุคคลที่ตามพฤติการณ์มีการดำเนินงานในบริษัทหรือมีความรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทเยี่ยงกรรมการหรือผู้บริหาร รวมทั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าวของบริษัทนั้น
(ซ) “ผู้ที่เกี่ยวข้อง” หมายความว่า บุคคลหรือห้างหุ้นส่วนที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลใดในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
1. คู่สมรสของบุคคลดังกล่าว
2. บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว
3. ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งบุคคลดังกล่าวหรือบุคคลตาม 1. หรือ 2. เป็นหุ้นส่วน
4. ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลตาม 1. หรือ 2. เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละสามสิบของหุ้นทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัด
5. บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลตาม 1.หรือ 2. หรือห้างหุ้นส่วนตาม 3. หรือ 4. ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น หรือ
6. บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่บุคคลดังกล่าวหรือบุคคลตาม 1. หรือ 2. หรือห้างหุ้นส่วนตาม 3. หรือ 4. หรือบริษัทตาม 5. ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น
7. นิติบุคคลที่บุคคลดังกล่าวสามารถมีอำนาจในการจัดการในฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคล
(ฌ) “บุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง” หมายความว่า บุคคลดังต่อไปนี้
1. กรรมการหรือผู้บริหารของผู้ออกตราสารหนี้
2. ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ออกตราสารหนี้
3. ผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ออกตราสารหนี้
4. บุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต ทางการสมรส หรือโดยการจดทะเบียน ตามกฎหมายกับบุคคลตาม 1. หรือ 2. หรือ 3. ซึ่งได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือญาติสนิทอื่น
5. นิติบุคคลใด ๆ ที่บุคคลตาม 1. หรือ 2. หรือ 3. ถือหุ้น หรือมีอำนาจควบคุมหรือมีส่วนได้เสียอื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญ
(ญ) “บุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง” หมายความว่า บุคคลที่อยู่ในฐานะที่อาจมีโอกาสล่วงรู้ข้อมูลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงอันเนื่องมาจากการมีโครงสร้างการถือหุ้นหรือการจัดการร่วมกับบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ด้วย
1. ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง
2. มีบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
3. มีผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกับผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
4. มีกรรมการหรือผู้บริหารเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกับกรรมการที่มีอำนาจลงนามผูกพันหรือผู้บริหารของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง
5. มีโครงสร้างการถือหุ้นหรือการจัดการในลักษณะอื่นใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำขออนุญาตมีอำนาจควบคุมบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง หรือมีบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงเป็นผู้มีอำนาจควบคุม หรือมีผู้มีอำนาจควบคุมเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีอำนาจควบคุมบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงการนับรวมจำนวนหุ้นตาม 1. หรือ 2. หรือ 3. ให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวด้วย และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล ให้นับรวมการถือหุ้นของกรรมการและผู้บริหารในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ของนิติบุคคลดังกล่าวด้วย
(ฎ) “นิติบุคคลตามกฎหมายเฉพาะ” หมายความว่า นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ
(ฏ) “สถาบันสินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์
(4) บทนิยามอื่น ๆ
(ก) “การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ ของผู้ออกตราสารหนี้ ของผู้ค้ำประกันตราสารหนี้ หรือของผู้รับอาวัลผู้ออกตั๋วเงิน
(ข) “การใช้สิทธิตามหลักทรัพย์แปลงสภาพ” หมายความว่า การใช้สิทธิแปลงสภาพตามหุ้นกู้แปลงสภาพ หรือการใช้สิทธิส่งมอบหลักทรัพย์อ้างอิงตามหุ้นกู้อนุพันธ์ แล้วแต่กรณี
(ค) “การเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง” หมายความว่า การที่ผู้ออกตราสารหนี้ยังมีการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1. นำส่งงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดตามความในมาตรา 56 กรณีผู้ออกตราสารหนี้เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
2. ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ให้ไว้กับสำนักงานในการจัดทำงบการเงินหรือรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนดตามความในมาตรา 56 และรายงานต่อสำนักงานโดยไม่ชักช้าเมื่อมีเหตุการณ์ตามมาตรา 57 กรณีผู้ออกตราสารหนี้มิใช่บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด
(ง) “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผล ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
(จ) “งบการเงินรวม” หมายความว่า งบการเงินรวมของผู้ออกตราสารหนี้และบริษัทย่อย
(ฉ) “แบบแสดงรายการข้อมูล” หมายความว่า แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552
(นายวิจิตร สุพินิจ)
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ขายตราสารหนี้ทุกประเภทไว้เป็นประกาศกลาง จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้