หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 14, 2009 09:59 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 20/2552

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบ

ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 135 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ทำหน้าที่คณะกรรมการ กำกับตลาดทุนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

(1) “ผู้รับฝากทรัพย์สิน” หมายความว่า ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

(2) “สินทรัพย์สภาพคล่อง” หมายความว่า สินทรัพย์ดังต่อไปนี้

(ก) เงินสดและเงินฝากธนาคาร

(ข) บัตรเงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือบริษัทเงินทุน

(ค) ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน

การเงิน และ

(ง) สินทรัพย์สภาพคล่องอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

ทั้งนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องตาม (ก) (ข) (ค) และ (ง) ต้องเป็นสินทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพัน

(3) “ลูกค้า” หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลที่มอบหมายให้บริษัทจัดการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(4) “บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(5) “ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน” หมายความว่า บุคคลที่ผู้รับฝากทรัพย์สินตั้งให้เป็นตัวแทนในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวกับการ

รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

(6) “ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน” หมายความว่า

(ก) ธนาคารพาณิชย์

(ข) บริษัทเงินทุน

(ค) บริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการ

โครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

(จ) บริษัทประกันภัย

(ฉ) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นบุคคลตาม (ฌ)

(ช) ธนาคารแห่งประเทศไทย

(ซ) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(ฌ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

(ญ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

(ฎ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(ฏ) กองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(ฐ) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป

(ฑ) นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม (ก) ถึง(ฐ) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

(ฒ) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (ก) ถึง (ฑ) โดยอนุโลม

(ณ) นิติบุคคลตามที่สำนักงานอนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งนิติบุคคลนั้นต้องประกอบธุรกิจหลักสอดคล้องกับธุรกิจหลักที่กองทุนรวมต้อง

การลงทุนตามที่กำหนดไว้ในนโยบายการลงทุน

ข้อ 2 บุคคลที่จะยื่นคำขอรับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินตามข้อ 3 จะต้องเป็นสถาบันการเงินดังต่อไปนี้

(1) ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

(3) บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยประกันชีวิต หรือ

(4) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ

ข้อ 3 บุคคลตามข้อ 2 จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินได้ต่อเมื่อมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) มีฐานะการเงินในลักษณะดังนี้

(ก) ในกรณีที่ผู้ขอรับความเห็นชอบเป็นสถาบันการเงินซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่

ไม่มีหน้าที่ต้องดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยล้าน

บาท

(ข) ในกรณีที่ผู้ขอรับความเห็นชอบเป็นสถาบันการเงินอื่นนอกจาก (ก) สถาบันการเงินดังกล่าวต้องมีเงินกองทุนและเงิน

สำรองไม่น้อยกว่าหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนั้น

(2) ภายในระยะเวลาสามปีย้อนหลังก่อนปีที่ยื่นคำขอจนถึงวันที่ได้รับความเห็นชอบต้องไม่มีประวัติการกระทำความผิดตามกฎหมายที่ ควบคุมการประกอบธุรกิจของบุคคลนั้น หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับธุรกิจทางการเงินในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขาย หลักทรัพย์หรือการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการหลอกลวง ฉ้อฉลหรือทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทั้งนี้ ไม่ ว่าจะเป็นกฎหมายของประเทศไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ รวมทั้งต้องไม่มีประวัติการดำเนินกิจการใดที่มีลักษณะอันเป็นการหลอกลวงหรือไม่ซื่อสัตย์สุจริต หรือแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของลูกค้า หรือแสดงถึงการขาดความรอบคอบหรือสะท้อนถึงวิธีการทำธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่น่าเชื่อถือ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน เนื่องจากผู้ขอรับความเห็นชอบแสดงให้เห็นได้ว่ามีการปรับปรุงแก้ไขระบบบริหารงานและบุคลากร เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำดังกล่าวอีก

(3) แสดงได้ว่าจะมีระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

(ก) ระบบการแยกทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลออกจากทรัพย์สินของผู้รับฝากทรัพย์สิน และระบบการดูแลรวมทั้งการเก็บรักษา

ทรัพย์สินดังกล่าว ตลอดจนการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้โดยทุจริต

(ข) ระบบการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล ตลอดจนข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่

เกี่ยวข้อง รวมทั้งระบบการควบคุมการรับจ่ายทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

(ค) ระบบการตรวจสอบและตรวจนับทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลเพื่อความถูกต้องครบถ้วน

(ง) ระบบการจัดทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อแสดงรายการและจำนวนทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล ตลอดจนการบันทึกรายการรับหรือ

จ่ายทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลแต่ละกองทุน

(จ) ระบบการดูแลและติดตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล

(ฉ) ระบบการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการเก็บรักษาความลับของกองทุนส่วนบุคคล

(ช) ในกรณีที่ผู้ขอรับความเห็นชอบประสงค์จะตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน ผู้ขอรับความเห็นชอบต้องแสดงได้ว่ามี

ระบบงานดังต่อไปนี้

1. ระบบการพิจารณาคัดเลือกตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินมีระบบงานที่มีความพร้อมในการเก็บรักษาทรัพย์สิน

2. ระบบการติดต่อประสานงานกับตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินเพื่อให้ผู้ขอรับความเห็นชอบสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินได้อย่างถูกต้องครบถ้วน

3. ระบบการดูแลให้ตัวแทนเก็บรักษาทรัพย์สินปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรับฝากไว้

(ซ) ระบบอื่นใดที่แสดงถึงความพร้อมในการประกอบธุรกิจตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

(4) แสดงได้ว่าจะมีความพร้อมด้านบุคลากรของหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานด้านการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน โดยบุคลากรดังกล่าวจะต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่เหมาะสมกับลักษณะงานที่รับผิดชอบ และมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ในการประกอบวิชาชีพผู้รับฝากทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบตามข้อนี้จะต้องดำรงคุณสมบัติตามประกาศนี้ไว้ตลอดเวลา

ข้อ 4 ให้ผู้ขอรับความเห็นชอบยื่นคำขอตามข้อ 3 พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบตามที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 5 ให้สำนักงานพิจารณาคำขอรับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน

ข้อ 6 ผู้รับฝากทรัพย์สินจะเริ่มประกอบธุรกิจได้ต่อเมื่อสำนักงานตรวจสอบแล้วเห็นว่า ผู้รับฝากทรัพย์สินได้จัดให้มีระบบงานและบุคลากรที่พร้อมจะประกอบการตามที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว

ข้อ 7 การเปลี่ยนแปลงระบบงานให้แตกต่างจากที่สำนักงานได้เคยพิจารณาไว้ ผู้รับฝากทรัพย์สินต้องแจ้งให้สำนักงานทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งหากสำนักงานไม่ทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแจ้ง ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินดำเนินการเปลี่ยนแปลงระบบงานได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบงานอย่างเร่งด่วน ผู้รับฝากทรัพย์สินอาจแจ้งต่อสำนักงานเพื่อขอทราบผลการพิจารณาโดยไม่ต้องรอให้ครบระยะเวลาสิบห้าวันดังกล่าวก็ได้

ข้อ 8 ในกรณีที่ผู้รับฝากทรัพย์สินไม่สามารถดำรงฐานะการเงินตามข้อ 3(1) ได้ ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินดำเนินการแจ้งให้สำนักงานและลูกค้าทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่ผู้รับฝากทรัพย์สินรู้ถึงการไม่สามารถดำรงฐานะการเงินนั้นได้ และหากผู้รับฝากทรัพย์สินได้รับแจ้งจากลูกค้าว่าประสงค์จะเปลี่ยนผู้รับฝากทรัพย์สิน ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินโอนทรัพย์สินที่เก็บรักษาไว้ไปให้ผู้รับฝากทรัพย์สินรายอื่นแทนภายในสิบห้าวัน

ข้อ 9 ในระหว่างที่ผู้รับฝากทรัพย์สินไม่สามารถดำรงฐานะการเงินตามข้อ 3(1) ห้ามมิให้ผู้รับฝากทรัพย์สินขยายการประกอบธุรกิจ จนกว่าจะสามารถดำรงฐานะการเงินได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ขยายการประกอบธุรกิจได้เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง “การขยายการประกอบธุรกิจ” ให้หมายถึง

(1) การทำสัญญาเก็บรักษาทรัพย์สินสัญญาใหม่

(2) การต่ออายุสัญญาเก็บรักษาทรัพย์สินสัญญาเดิม

(3) กระทำการอื่นใดที่สำนักงานประกาศกำหนด

ข้อ 10 ให้ผู้รับฝากทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบตามประกาศนี้รับฝากทรัพย์สินของลูกค้าที่ตนเองเป็นผู้บริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้ ทั้งนี้ การรับฝากทรัพย์สินในกรณีดังกล่าวให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หรือกรณีที่ลูกค้าที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและหลักทรัพย์และทรัพย์สินของลูกค้ามีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไป

ข้อ 11 ให้ถือว่าบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบตามประกาศนี้

(1) ผู้รับฝากทรัพย์สินที่สามารถประกอบธุรกิจได้โดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศที่บริษัทจัดการมีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน อื่นเพื่อกองทุนส่วนบุคคล หรือของประเทศที่ผู้รับฝากทรัพย์สินตั้งอยู่ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ลูกค้ามิได้มีภูมิลำเนาในประเทศไทยหรือลูกค้ามีนโยบายการลงทุนทั้งหมดในต่างประเทศเท่านั้น

(2) สถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาทรัพย์สินภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานหรือองค์กรกำกับดูแลอื่น ทั้งนี้ เฉพาะการเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลของสถาบันการเงินดังกล่าวทั้งนี้ มิให้นำความในข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9 มาใช้บังคับกับผู้รับฝากทรัพย์สินที่ได้รับความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง

ข้อ 12 ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้รับฝากทรัพย์สินฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 และข้อ 10 สำนักงานอาจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ภาคทัณฑ์

(2) สั่งพักการให้ความเห็นชอบการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินตามระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนด

(3) เพิกถอนการให้ความเห็นชอบการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน ทั้งนี้ สำนักงานอาจนำข้อมูลดังกล่าวมาเพื่อประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินในครั้งต่อไปได้

ข้อ 13 ให้ถือว่าผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินอยู่แล้วในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เป็นผู้รับฝากทรัพย์สินที่ได้รับความ เห็นชอบตามประกาศนี้และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้ด้วย

ข้อ 14 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวาง แนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 69/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้ บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดในประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 15 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 69/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ให้การอ้างอิง ดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้

ข้อ 16 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ (1) เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 กำหนด
ให้การออกหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบการเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงเห็นควรออกประกาศเพื่อทดแทนประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 69/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการให้ความเห็นชอบผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และ (2) เพื่อให้บริษัทจัดการสามารถแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินต่างประเทศ (global custodian) เพื่อทำหน้าที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าที่มิได้มีภูมิลำเนาในประเทศไทยหรือที่มีนโยบายการลงทุนในต่างประเทศทั้งจำนวน ตลอดจนสามารถแต่งตั้งสถาบันการเงินที่มีการประกอบธุรกิจการเก็บรักษาทรัพย์สิน เป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลของสถาบันการเงิน
ดังกล่าวได้ ประกอบกับบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานในต่างประเทศหรือองค์กรที่มีอำนาจกำกับดูแลอื่นอยู่แล้ว สมควรให้ความเห็นชอบเป็นการทั่วไปให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลได้ จึงจำเป็นต้องออกประกาศฉบับนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ