นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 18, 2009 11:18 —ประกาศ ก.ล.ต.

18 มิถุนายน 2552

เรียน ผู้จัดการ

บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ

กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท

ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย

ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย

นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน

ที่ น.(ว) 7/2552 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ด้วยสำนักงานได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 13/2552 เรื่อง การลงทุนและการ มีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552 (“ประกาศ สน. 13/2552”)

เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความ เข้าใจเกี่ยวกับประเด็นในประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องโดยมีรายละเอียดดังนี้

1. กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลรายย่อย และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ได้ ทั้งนี้ เฉพาะเพื่อการลดความเสี่ยง (hedging) จากการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ หรือการเข้าทำธุรกรรมสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเท่านั้น ในกรณีกองทุน ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่ใช่กองทุนส่วนบุคคลรายย่อยสามารถเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ได้ทุกลักษณะ

2. ประเภทสัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่อนุญาตจะจำกัดเฉพาะธุรกรรมที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ดังต่อไปนี้

2.1 single-name credit default swap (CDS)

2.2 first-to-default swap (FTDS)

2.3 proportionate credit default swap (Proportionate CDS) และ

2.4 total rate of return swap (TRORS)

3. บริษัทจัดการต้องไม่ใช้สัญญาเครดิตอนุพันธ์เพื่อเลี่ยงเกณฑ์การกระจายตัวการลงทุนของกองทุน เช่น กรณีที่กองทุนลงทุนเต็ม junk limit แล้ว ผู้จัดการกองทุนเข้าทำสัญญาเครดิตอนุพันธ์เพื่อให้สามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน junk ได้ เป็นต้น

4. ต้องใช้สัญญามาตรฐานที่กำหนดโดย ISDA หรือสัญญามาตรฐานตามที่สำนักงานยอมรับ และมีข้อตกลงที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่นใด
  • ไม่มีข้อกำหนดที่ทำให้สิทธิที่กำหนดไว้ในตราสารแห่งหนี้หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สัญญาเครดิตอนุพันธ์นั้นอ้างอิงเสื่อมไป
  • ผู้ขายประกันความเสี่ยงต้องไม่มีสิทธิไล่เบี้ยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกองทุน

5. โดยที่ในกรณีที่เกิดเหตุทางด้านเครดิต (credit event) ผู้ขายประกันความเสี่ยงจะเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยความเสียหายให้ แก่กองทุนตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ดังนั้น สำนักงานจึงกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราส่วนการลงทุน ดังนี้

5.1 กรณีสัญญาเครดิตอนุพันธ์เข้าข่ายเป็นสัญญาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถปิดความเสี่ยงด้านเครดิตได้อย่างครบถ้วน และอันดับ ความน่าเชื่อถือของผู้ขายประกันความเสี่ยงต้องไม่ต่ำไปกว่าทรัพย์สินที่ต้องการป้องกันความเสี่ยง (underlying obligation) ให้บริษัทจัดการ คิด company limit ที่ผู้ขายประกันความเสี่ยงแทน underlying obligation ได้ โดยให้คิดเท่ากับมูลค่าชดเชยสูงสุดที่ต้องชำระตามสัญญา ส่วน underlying obligation ให้คิด company limit เท่ากับมูลค่ายุติธรรมของ underlying obligation หักด้วยมูลค่าชดเชยสูงสุด ดังกล่าว แต่หากมูลค่าดังกล่าวติดลบ บริษัทจัดการไม่สามารถอาศัยส่วนต่างดังกล่าวในการลงทุนเพิ่มเติมใน underlying ได้

                            มูลค่าชดเชยสูงสุด 100 ลบ.      มูลค่าชดเชยสูงสุด 100 ลบ.        มูลค่าชดเชยสูงสุด 100 ลบ.
                          MTM underlying = 100 ลบ.    MTM underlying = 90 ลบ.     MTM underlying = 120 ลบ.
 อัตราส่วนการลงทุนของคู่สัญญา            100 ลบ.                    100 ลบ.                       100 ลบ.
 อัตราส่วนการลงทุน                      0                          0                            20 ลบ.
 ของ underlying                 (100 — 100)                 (90 — 100)                    (120 — 100)

5.2 กรณีสัญญาเครดิตอนุพันธ์ไม่เข้าข่ายเป็นสัญญาที่มีประสิทธิภาพ หรืออันดับความน่าเชื่อถือของผู้ขายประกันความเสี่ยงต่ำกว่า underlying obligation ให้บริษัทจัดการคิด company limit ใน underlying obligation เสมือนไม่มีการเข้าทำสัญญาเครดิตอนุพันธ์ และคิด company limit ของผู้ขายประกันความเสี่ยงเท่ากับส่วนที่เพิ่มขึ้นของราคาตลาดของสัญญาเครดิตอนุพันธ์ (replacement cost)

มูลค่าชดเชยสูงสุด 100 ลบ.

MTM สัญญา (replacement cost) = 20 ลบ.

MTM underlying = 100 ลบ.

อัตราส่วนการลงทุนของคู่สัญญา                                     20 ลบ.
อัตราส่วนการลงทุนของ underlying                              100 ลบ.

อนึ่ง เนื่องจากสัญญา FTDS เป็นสัญญาที่กำหนดทรัพย์สินตามสัญญาไว้หลายรายการ และผู้ขายประกันความเสี่ยงจะชดเชยความ เสียหายให้แก่กองทุนเมื่อเกิด credit event กับทรัพย์สินใดทรัพย์สินหนึ่ง เป็นทรัพย์สินแรก บริษัทจัดการจึงไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่า จะเกิด credit event กับทรัพย์สินใด และควรจะคิด company limit ที่ผู้ขายประกันความเสี่ยงแทนทรัพย์สินใด ดังนั้น จึงให้ถือว่าสัญญา FTDS เป็นสัญญาที่ไม่มีประสิทธิภาพ

6. สัญญาเครดิตอนุพันธ์ที่มีประสิทธิภาพต้องเข้าเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

6.1 ความเสี่ยงด้านเครดิตถูกโอนย้ายไปยังผู้ขายประกันความเสี่ยงทั้งจำนวน

6.2 underlying obligation ต้องเป็นทรัพย์สินเดียวกันกับ reference obligation เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(ก) underlying obligation และ reference obligation มีผู้ออกเป็นบุคคลเดียวกัน

(ข) underlying obligation มีลำดับการรับชำระหนี้คืนลำดับเดียวกันหรือก่อน reference obligation

(ค) ต้องมี cross default clause กล่าวคือ reference obligation และ underlying obligation ต้องผิด นัดชำระหนี้พร้อมกัน เมื่อ obligation ใด obligation หนึ่งผิดนัดชำระหนี้

(ง) ในกรณีที่เป็น physical settlement ต้องมีข้อกำหนดให้ underlying obligation เป็นทรัพย์สินที่ส่งมอบได้ (deliverable obligation)

6.3 อายุคงเหลือของสัญญาเครดิตอนุพันธ์เท่ากับอายุคงเหลือของ underlying obligation เว้นแต่เป็นสัญญาที่มีอายุคงเหลือมากกว่า underlying obligation อย่างไม่มีนัยสำคัญ

6.4 สกุลเงินของสัญญาเครดิตอนุพันธ์และ underlying obligation เป็นสกุลเงินเดียวกัน

6.5 สัญญาเครดิตอนุพันธ์ต้องครอบคลุมความเสี่ยงทุกกรณี กล่าวคือ ขั้นต่ำต้องครอบคลุมกรณี (1) ล้มละลาย (bankruptcy) (2) ไม่สามารถชำระหนี้ได้ (failure to pay) และ (3) ปรับโครงสร้าง (restructuring)

7. คณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการอื่นที่เป็นอิสระจากฝ่ายจัดการลงทุนและได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท ต้องให้ ความเห็นชอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation) ระหว่างความเสี่ยงของ underlying obligation และผู้ขายประกันความเสี่ยง โดยค่า correlation ดังกล่าวต้องเหมาะสม และไม่สูงจนเกินไป

8. ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ

ขอแสดงความนับถือ

(นายประกิด บุณยัษฐิติ)

ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

เลขาธิการแทน

สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 13/2552

เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 4)

ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

โทรศัพท์ 0-2695-9693

โทรสาร 0-2695-9914

ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน

บันทึก

เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุญาตให้กองทุนเข้าทำสัญญา

เครดิตอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง

ตามที่สำนักงานได้ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 13/2552 เรื่อง การลงทุนและการ มีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552 (ประกาศ สน. 13/2552) โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป นั้น

สายงานเห็นควรมีหนังสือเพื่อนำส่งประกาศที่ สน. 13/2552 รวมทั้งซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศดังกล่าวถึงบริษัทหลักทรัพย์ ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย ตามนัยที่แนบมาพร้อมนี้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

(นางสาวจอมขวัญ คงสกุล)

ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส

มิถุนายน 2552

สิ่งที่ส่งมาด้วย หนังสือเวียนถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลทุกรายและผู้ที่เกี่ยวข้อง

สุรศักดิ์ 9693

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ